upper gastrointestinal disease definition

ท้องอืด ปวดท้อง จุกเสียดแน่น แสบร้อนกลางอก สัญญาณเสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

ปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง แสบร้อนกลางอกหรือลำคอ ท้องอืดจนไม่สบายตัว อาการเหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังป่วยเป็นโรคอะไร ร้ายแรงหรือเปล่า? บทความนี้จะพามาสำรวจ 5 โรคระบบทางเดินอาหาร สาเหตุ อาการเบื้องต้น พร้อมวิธีการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งการส่องกล้องทางเดินอาหาร ที่จะช่วยให้คุณวางแผนรักษาได้ตรงจุดที่สุด

สารบัญ

1. ปวดท้อง จุดเสียด แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว สัญญาณโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) โรคนี้มีอาการเด่นชัดเป็นอาการจุกเสียดแน่นท้อง รวมถึงอาการแสบร้อนที่ท้อง ซึ่งมักลามขึ้นมาถึงกลางอกกับลำคอ เกิดจากสารคัดหลั่ง ทั้งกรด ด่าง และแก๊สในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร  มักเป็นหลังจากรับประทานอาหาร ทำให้ผู้ป่วยหลายรายรู้สึกไม่สบายตัวหรืออึดอัด 

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

โรคกรดไหลย้อนมักเกิดจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมถึงเกิดจากความผิดปกติภายในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร ส่งผลทำให้สารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหารจนเกิดการระคายเคืองได้ โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนมี ดังนี้

  • หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารเกิดความผิดปกติ เช่น หย่อนยาน จนทำให้กรดหรือแก๊สจากกระเพาะอาหารเคลื่อนตัวผ่านขึ้นมาที่หลอดอาหาร
  • ความดันบริเวณหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารผิดปกติ
  • ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร 
  • พฤติกรรมการกินอาหารแล้วนอนทันที
  • พฤติกรรมกินอาหารในปริมาณมากต่อมื้อ
  • พฤติกรรมกินอาหารที่มีไขมันสูง
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ 
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่
  • ภาวะเครียด 
  • ภาวะอ้วน
  • การตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนร่างกายจะเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ทำให้หูรูดหลอดอาหารหย่อนตัวลง รวมถึงเกิดได้จากมดลูกที่มีน้ำหนักมากขึ้นและไปเพิ่มแรงต่อกระเพาะอาหารด้วย

อาการของโรคกรดไหลย้อน

  • จุกเสียดแน่นท้อง 
  • จุกลิ้นปี่
  • แสบร้อนที่ท้องและลามขึ้นมาถึงกลางอกกับลำคอ
  • ท้องอืด รู้สึกคล้ายกับอาหารไม่ย่อยเรอเปรี้ยว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • รู้สึกปากขม มีกลิ่นปาก
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเสียงแหบ 

2. ท้องอืด หรือรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย จุกแน่นลิ้นปี่ ตัวเหลือง ตาเหลือง สัญญาณโรคนิ่วในถุงน้ำดี

โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นภาวะที่ “ถุงน้ำดี” ซึ่งเป็นถุงกักเก็บน้ำดีที่ผลิตจากตับ มีก้อนนิ่วสะสมอุดตันอยู่ภายใน โดยก้อนนิ่วนี้ มักเกิดจากการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล หินปูน และสารให้สีในน้ำดี ส่วนใหญ่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มักมีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่สมดุลของสารต่างๆ ภายในถุงน้ำดี โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่พบได้บ่อยดังต่อไปนี้

  • การลดน้ำหนักเร็วเกินไป ทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวน้อยลง จนหลั่งสารที่อยู่ภายในออกมาไม่หมด และตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว
  • ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • การตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีด้วย
  • การใช้ยาลดน้ำหนักหรือยาลดคอเลสเตอรอลบางชนิด

อาการของโรคนิ่วในถุงน้ำดี

  • ท้องอืด หรือรู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย 
  • คลื่นไส้อาเจียน 
  • จุกเสียดแน่นท้อง 
  • จุกลิ้นปี่ เมื่ออาการรุนแรงขึ้นจะปวดนานติดกันหลายชั่วโมง
  • ปวดท้อง ยิ่งอาการรุนแรงขึ้นก็จะยิ่งปวดแรงขึ้นกว่าเดิม
  • ปวดร้าวที่สะบักขวา หรือที่ใต้ชายโครงขวา
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง
  • มีไข้ หรือหนาวสั่น

3. ปวดท้อง จุกเสียด คลื่นไส้ มักเป็นเมื่อท้องว่าง ก่อน-หลัง กินอาหาร สัญญาณเสี่ยงโรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) คือ ภาวะที่เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดแผลหรือการอักเสบ จนทำให้เกิดการระคายเคืองเมื่อได้สัมผัสกับน้ำย่อยที่หลั่งอยู่ภายในกระเพาะอาหาร ทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง มักมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ หรือเป็นแบบเรื้อรังกินระยะเวลานานจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหารสามารถเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori: H.pylori)
  • การกินยาหรือวิตามินที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
  • ภาวะเครียด หรือวิตกกังวล
  • พฤติกรรมกินอาหารไม่ตรงเวลา
  • พฤติกรรมอดอาหาร
  • พฤติกรรมกินอาหารรสจัด รสเปรี้ยวจัด หรือรสเผ็ดจัด
  • การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่

อาการของโรคกระเพาะอาหาร

  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • จุกเสียดแน่นท้อง
  • จุกลิ้นปี่
  • ปวดท้อง โดยเฉพาะช่วงก่อนหรือหลังกินอาหาร ช่วงที่ท้องว่าง หรือช่วงกลางคืน
  • เรอเปรี้ยว 
  • เบื่ออาหาร และทำให้น้ำหนักตัวลดลง
  • คลื่นไส้หรืออาเจียน โดยเฉพาะหลังกินอาหาร
  • ผู้ป่วยบางรายที่อาการถึงขั้นรุนแรงอาจอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายเป็นเลือด

4. ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอก อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีเลือดปน สัญญาณเสี่ยงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer) คือ โรคมะเร็งที่เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นหลอดอาหาร ต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด ลำไส้ หรือรังไข่ ฯลฯ โรคมะเร็งกระเพาะอาหารมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง รวมทั้งพบในกลุ่มคนเชื้อสายเอเชียมากกว่า และยิ่งอายุเพิ่มขึ้น แนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

สาเหตุของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori: H.pylori) ซึ่งเป็นเชื้อที่มักทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารและเพิ่มความเสี่ยงทำให้กลายเป็นโรคมะเร็งได้
  • พฤติกรรมกินอาหารชนิดหมักดอง อาหารตากแห้งที่มีรสเค็มจัด อาหารรมควัน อาหารแปรรูป
  • พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่
  • การทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องสัมผัสฝุ่นควันหรือสารเคมีบางชนิดบ่อย ๆ
  • กรรมพันธุ์ โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะมีโอกาสที่จะพบโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
  • ภาวะอ้วน

อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  • ในระยะแรกของโรค ผู้ป่วยหลายรายมักจะไมมีอาการแสดงใดๆ หรือมีอาการที่คล้ายกับโรคระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ เช่น 
    • ท้องเสีย 
    • ท้องอืด 
    • อาหารไม่ย่อย 
    • คลื่นไส้เล็กน้อย 
    • เบื่ออาหาร 
    • แสบร้อนกลางอก
  • เมื่อเซลล์มะเร็งลุกลามมากขึ้น อาการที่กล่าวไปข้างต้นก็จะรุนแรงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังสามารถพบอาการอื่นๆ ได้อีก เช่น
    • ท้องอืดหลังกินอาหาร
    • ปวดท้องหลังกินอาหาร
    • อาเจียนเป็นเลือด
    • อุจจาระมีเลือดปน
    • น้ำหนักตัวลดลง
    • อ่อนเพลีย

5. ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องเสีย มีไข้ อุจจาระมีเลือดปน สัญญาณโรคลำไส้เล็กอักเสบ คืออะไร?

โรคลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) คือ ภาวะที่เยื่อบุผนังลำไส้เล็กส่วนต้นซึ่งอยู่ติดกับกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ จนทำให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ในบางรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นอุจจาระมีเลือดปนได้อีกด้วย

สาเหตุของโรคลำไส้เล็กอักเสบ

  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส จัดเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคลำไส้เล็กอักเสบ โดยปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดได้จากการกินอาหารที่ไม่สะอาด หรือปนเปื้อนสิ่งสกปรก
  • การกินยาปฏิชีวนะบางชนิด
  • ภาวะความเครียด
  • การบาดเจ็บหรือบาดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
  • พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • พฤติกรรมสูบบุหรี่

อาการของโรคลำไส้เล็กอักเสบ

  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้ต่ำ
  • ปวดเมื่อยตามตัว 
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • ท้องอืด หรือรู้สึกอาหารไม่ย่อย
  • อุจจาระมีเลือดปน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะสังเกตได้ว่าโรคในระบบทางเดินอาหาร มักมีอาการร่วมกันคือ อาการปวดท้อง ท้องอืด รู้สึกจุกเสียดเหมือนอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน ทำให้เมื่อมีอาการ ผู้ป่วยหลายๆ คนมักสับสน หรือไม่ทราบแน่ชัดว่ากำลังป่วยเป็นโรคใด

ดังนั้นเมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้วางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง

การตรวจวินิจฉัยอาการผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร

รายการตรวจมาตรฐานที่แพทย์นิยมใช้ในการตรวจหาสาเหตุของความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร ได้แก่

  • การตรวจร่างกาย รวมถึงให้แพทย์ซักประวัติสุขภาพ และสอบถามอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น
  • การตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุของโรคที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือโรคอื่น ๆ
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อช่วยหาเลือดแฝงในอุจจาระซึ่งสามารถบ่งชี้รอยโรคในระบบทางเดินอาหารได้
  • การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เป็นวิธีที่แม่นยำ ช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพความผิดปกติที่อวัยวะในระบบทางเดินอาหารเฉพาะส่วนบนได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้วางแผนการรักษาในลำดับถัดไปได้อย่างละเอียด

ปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย จุกเสียด แสบร้อนแถวๆ กลางอก ไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นอะไร ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top