Default fallback image

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คืออะไร สาเหตุ อาการ การรักษา

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคที่เกิดอย่างเฉียบพลัน เป็นอันตรายถึงชีวิต และยังเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งนี้การนำผู้ป่วยส่งถึงมือแพทย์ในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมอย่างเร็วที่สุด ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือเป็นอัมพฤกษ์ – อัมพาตของผู้ป่วยลงได้

บทความนี้จะพาคุณมาทำความรู้จักโรคหลอดเลือดสมองโดยละเอียด พร้อมวิธีการสังเกตอาการเบื้องต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้รับมือได้ทันท่วงที

โรคหลอดเลือดสมอง คืออะไร?

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ โรคที่ระบบประสาทมีอาการผิดปกติอย่างเฉียบพลันโดยเกิดจากหลอดเลือดสมอง สาเหตุมาจากมีหลอดเลือดตีบ อุดตัน จนสมองขาดออกซิเจนจากเลือดไปเลี้ยง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลาย หรืออีกสาเหตุคือหลอดเลือดแตก ทำให้มีลิ่มเลือดไปกดเนื้อสมอง ทำให้สมองทำงานผิดปกติ

ชนิดของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่

  1. โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เป็นชนิดโรคหลอดเลือดสมองที่พบประมาณ 80% อาจเป็นได้ทั้งหลอดเลือดในสมองเองที่ตีบหรืออุดตัน หรือเกิดการตีบและอุดตันในบริเวณอื่น จนทำให้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงเซลล์สมองได้เพียงพอ
  2. โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) เป็นชนิดโรคหลอดเลือดสมองที่พบประมาณ 20% หลอดเลือดที่แตกอาจเป็นหลอดเลือดในสมอง หรือเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง

สาเหตุโรคหลอดเลือดสมอง

สำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบ สาเหตุมีทั้งหลอดเลือดเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น หรือภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน 

รวมไปถึงพฤติกรรมที่ทำให้หลอดเลือดในร่างกายหนาและแข็งขึ้น ยืดหยุ่นน้อยลง ความสามารถในการลำเลียงเลือดน้อยลง เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่หรือได้รับพิษจากควันบุหรี่ 

ทั้งหมดนี้สามารถทำให้หลอดเลือดในสมองเกิดการตีบแคบลงหรืออุดตัน เลือดจึงถูกขวางไม่ให้เข้าไปเลี้ยงเซลล์สมองบางส่วน กลายเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

อีกสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ คือ หลอดเลือดสมองเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือดนอกสมอง โดยอาจเกิดในบริเวณที่หลอดเลือดขนาดใหญ่ เช่น ที่หัวใจ ที่คอ แล้วเมื่อเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองซึ่งมีเส้นเลือดขนาดเล็กกว่า จึงเกิดการอุดตันขึ้น 

การเกิดลิ่มเลือดดังกล่าวเป็นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยาบางชนิดเช่นยาคุมกำเนิดหลังคลอด การเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่มีท่าสะบัดคอแรงๆ หรืออาจมาจากอุบัติเหตุที่ทำให้หลอดเลือดบริเวณคอบาดเจ็บ มีเลือดออก และเลือดนั้นแข็งตัวกลายเป็นลิ่มเลือดขึ้น

โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันนี้ยังอาจมาจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด โรคเลือดบางชนิด หรือภาวะเลือดข้นผิดปกติก็ได้

ส่วนโรคหลอดเลือดสมองแตก ที่ทำให้เกิดเลือดออกในสมอง มักสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษามาเป็นเวลานาน พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด

อาการโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคอันตรายร้ายแรง ที่มักแสดงอาการอย่างเฉียบพลัน อาการที่ว่านี้ ได้แก่

  • ทรงตัวไม่ได้ เดินเซ
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรงโดยเฉียบพลัน
  • ชัก หมดสติ
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองไม่เห็น ตามัว เห็นภาพซ้อน
  • หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว มุมปากตก
  • แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายอ่อนแรง แม้ให้ยกแขนสองข้างขึ้นก็จะพบว่าแขนข้างหนึ่งตกลงมาเอง
  • การสื่อสารผิดปกติ เช่น พูดไม่รู้เรื่อง สับสน เลือกคำที่ถูกต้องมาใช้ไม่ได้
  • กลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่อยู่

ผู้เป็นโรคหลอดเลือดสมองอาจมีอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีหลายอาการพร้อมกัน ขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่ถูกทำลาย โดยอาการอาจมีเพียงเบาๆ หรือรุนแรง ก็ขึ้นอยู่กับว่าสมองถูกทำลายมากน้อยขนาดไหน

ถ้าสังเกตว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้โดยเฉียบพลัน จำเป็นต้องรีบไปสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทร. ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่เบอร์ 1669

บางกรณีอาจพบว่าผู้ป่วยมีอาการโรคหลอดเลือดสมองแบบชั่วขณะแล้วดีขึ้นได้เอง แต่ไม่ได้หมายถึงว่าปลอดภัยแล้ว เพราะอาการดังกล่าวอาจบ่งบอกถึง ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack: TIA) ก็ได้ ดังนั้นจึงยังควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ถ้าปล่อยไว้อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมองจริงๆ ได้ในไม่ช้าไม่นาน

กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

ผู้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง คือผู้ที่มีภาวะสุขภาพหรือพฤติกรรมที่ทำให้หลอดเลือดสมองไม่ยืดหยุ่น แข็ง ตีบแคบ หรือมีการไหลเวียนของโลหิตหรือเส้นเลือดในร่างกายไม่ค่อยดี

ภาวะสุขภาพที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น

  • ความดันโลหิตสูง
  • เบาหวาน
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจ
  • โรคซิฟิลิส
  • ภาวะเลือดแข็งตัวเร็วกว่าปกติ

พฤติกรรมที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น

  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • ทำกิจกรรมที่มีการบิดหรือสะบัดคอแรงๆ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งทำให้เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น ได้แก่

  • อายุที่มากขึ้น มาพร้อมกับหลอดเลือดที่เสื่อมลงตามธรรมชาติ มีไขมันและหินปูนเกาะที่ผิวด้านในของหลอดเลือดมากขึ้นจนมีลักษณะหนา แข็ง ช่องทางให้เลือดไหลผ่านจะค่อยๆ แคบลงเรื่อยๆ ข้อมูลจาก Cleveland Clinic ระบุว่า ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
  • เพศ เพศชายเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าเพศหญิง

วิธีตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง

แนวทางหลักในการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง คือการใช้เทคนิคถ่ายภาพภายในเนื้อสมองของผู้ป่วย ได้แก่การทำ CT Scan กับการทำ MRI โดยทั้ง 2 วิธีมีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน ดังนี้

ตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการทำ CT Scan

การทำ CT Scan เป็นการตรวจเพื่อให้ได้ภาพภายในสมองโดยใช้รังสีเอกซ์ มักใช้เป็นแนวทางแรกในการตรวจโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากเครื่อง CT Scan มักมีใช้แพร่หลายในสถานพยาบาล และสามารถตรวจได้รวดเร็วกว่าการทำ MRI ทำให้แพทย์มีข้อมูลสำหรับเป็นแนวทางรักษาโรคหลอดเลือดสมองได้ในเวลาจำกัด

การทำ CT Scan สมอง ทำให้แพทย์มองเห็นทางไหลเวียนของเลือด บริเวณที่หลอดเลือดสมองมีการอุดตัน และยังวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง ออกไปได้

ส่วนข้อจำกัดของการตรวจ CT Scan คือ ให้ภาพที่คมชัดน้อยกว่าการตรวจ MRI

ตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองด้วยการทำ MRI

การทำ MRI สมองเป็นการตรวจเพื่อให้ได้ภาพภายในสมองโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ วิธีนี้ให้ภาพที่ละเอียดคมชัดกว่าการตรวจ CT Scan ตรวจพบได้แม้เนื้อเยื่อผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากๆ สามารถตรวจบริเวณหลอดเลือดสมองที่อุดตันและดูความเสียหายของเนื้อสมองได้

แม้จะเป็นการตรวจที่ให้ผลดี แต่การตรวจ MRI มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น

  • ใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้ผู้ป่วยที่มีโลหะอยู่ในร่างกายไม่สามารถตรวจโดยวิธีนี้ได้ เพราะอาจทำให้โลหะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม
  • ใช้เวลาตรวจนานกว่า CT Scan ในขณะที่โรคหลอดเลือดสมองจำเป็นต้องรักษาโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์สมองเสียหายน้อยที่สุด
  • บางสถานพยาบาลอาจไม่มีเครื่อง MRI 

ถ้าพบผู้ป่วยที่มีอาการหลอดเลือดสมอง แพทย์อาจให้ตรวจ CT Scan ก่อนเพื่อความรวดเร็ว จากนั้นจึงค่อยพิจารณาให้ตรวจ MRI ซ้ำ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและบริเวณของโรคที่พบ

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีวิธีตรวจเพื่อหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ตั้งแต่ผู้รับการตรวจยังไม่ได้แสดงอาการใดๆ เพื่อจะได้เตรียมตัวป้องกันโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่น ตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ตรวจหาการอักเสบของหลอดเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

วิธีการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด ความรุนแรงมากแค่ไหน บริเวณที่สมองถูกทำลายเป็นส่วนใด

กรณีเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์มักเน้นรักษาด้วยการทำให้เลือดกลับมาไหลเวียนได้ปกติ

  • ถ้าผู้ป่วยถึงมือแพทย์ภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ แพทย์มักรักษาด้วยวิธีให้ยาละลายลิ่มเลือดทางเส้นเลือดดำ ถ้าเนื้อสมองยังไม่เสียหาย และไม่มีเลือดออกในสมอง วิธีนี้มักรักษาได้ดี
  • กรณีผู้ป่วยถึงเมือแพทย์ช้ากว่า 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ การให้ยาละลายลิ่มเลือดอาจไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาอื่น เช่น ผ่าตัดใส่สายสวนหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ เข้าไปลากลิ่มเลือดออกจากสมอง ทำให้เลือดดีสามารถไปเลี้ยงสมองที่ยังไม่ตายได้ทัน

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดหลอดเลือดสมองแตก แพทย์มักมุ่งควบคุมปริมาณเลือดที่ออกในสมอง โดยอาจให้ยารักษาระดับความดันโลหิต หรืออาจต้องผ่าตัดสมอง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่ผู้ป่วยแต่ละคนเป็น

โรคหลอดเลือดสมองเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ถ้ามีอาการขึ้นแล้วจำเป็นต้องแข่งกับเวลาเพื่อพบแพทย์ในสถานพยาบาลที่มีความพร้อมด้านการรักษาโรคอย่างเร็วที่สุด การรับการรักษาไม่ทันอาจนำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์-อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันก่อนเกิดโรค โดยอาจทำร่วมกับการตรวจสุขภาพเพื่อให้ทราบความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ขึ้น

เคยมีอาการวิงเวียน เดินเซ คล้ายอาการโรคหลอดเลือดสมอง แล้วหายเอง ไม่แน่ใจว่าอันตรายหรือเปล่า มีความเสี่ยงไหม ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top