questions colon cancer treatment faq

9 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

1. อาการแบบไหนควรตรวจลำไส้ ส่องกล้องลำไส้?

ตอบ: ผู้ที่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป จำเป็นต้องรับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการผิดปกติ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่มักมีโอกาสตรวจพบความผิดปกติของลำไส้ได้มากกว่าคนทั่วไป

ส่วนกลุ่มอาการผิดปกติที่มีโอกาสต้องรับการตรวจลำไส้อย่างละเอียด หรือรับการส่องกล้องลำไส้เพื่อตรวจหาสาเหตุได้แก่  

  • อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • อาการปวดท้องเรื้อรังโดยไม่รู้สาเหตุ 
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง
  • อาการท้องผูกสลับท้องเสีย 
  • อาการถ่ายไม่สุดหลังถ่ายอุจจาระแต่ละครั้ง 
  • คลำพบก้อนที่ท้อง
  • มีอาการปวดท้อง ท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสีย และมีอาการน้ำหนักลด อ่อนเพลียง่ายอย่างไม่ทราบสาเหตุด้วย
  • อุจจาระมีลักษณะผิดปกติไป เช่น ลีบเล็กลง เป็นเม็ดเล็กๆ มีสีแดงหรือสีดำเข้มซึ่งสีของอุจจาระที่มีเลือดปน

2. ตรวจอุจจาระแม่นยำแค่ไหน?

ตอบ: การตรวจอุจจาระเพื่อหาความผิดปกติของลำไส้จะมีความแม่นยำต่างกันไปตามประเภทของการตรวจ

  • การตรวจอุจจาระเพื่อหาสารประกอบในเม็ดเลือดแดง หรือการตรวจ gFOBT (Guaiac-Based Fecal Occult Blood Test) มีความแม่นยำในการตรวจจับเซลล์มะเร็งอยู่ที่ประมาณ 64.3%
  • การตรวจอุจจาระเพื่อหาเลือดแฝงผ่านการใช้สารแอนติบอดี หรือการตรวจ iFOBT (Fecal Immunochemical Tests) มีความแม่นยำในการตรวจจับเซลล์มะเร็งอยู่ที่ประมาณ 82%
  • การตรวจอุจจาระเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงของสาร DNA ที่สัมพันธ์กับการเกิดเซลล์มะเร็งที่ลำไส้ (Stool-DNA Test) มีความแม่นยำอยู่ที่ 87-92%

นอกจากนี้การตรวจอุจจาระเพื่อหารอยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังมีโอกาสที่ผลตรวจจะให้ผลลบปลอม (False Negative) หรือผลบวกปลอม (False Positive) ได้ ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยอาจพบเลือดปนในอุจจาระ แต่ไม่ได้เกิดจากโรคมะเร็ง หรือผู้ป่วยมีเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่กลับตรวจไม่พบเลือดปะปนอยู่ในอุจจาระ ทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดไป

ดังนั้นโดยทั่วไป แพทย์มักจะไม่ใช้การตรวจอุจจาระเป็นวิธีคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพียงวิธีเดียว แต่จะตรวจร่วมกับวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำของผลตรวจ เช่น การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

3. อุจจาระลีบเล็กเป็นแบบไหน เมื่อไหร่ถือว่าอันตราย?

ตอบ: อุจจาระที่ลีบเล็กจนเป็นเม็ดคล้ายลูกกระสุนหรือขี้กระต่าย เป็นลักษณะของอุจจาระที่เกิดจากการอาการท้องผูก ทำให้อุจจาระแข็งและแห้งจนขับออกมาได้ไม่หมด และยังมีอุจจาระบางส่วนติดค้างอยู่ในลำไส้ 

นอกจากนี้หากผู้ป่วยพบว่า สีอุจจาระเป็นสีดำหรือสีแดง แสดงว่า มีโอกาสจะเกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร และควรเดินทางไปรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์โดยเร็ว

4. อุจจาระเหลวเป็นแบบไหน เมื่อไหร่ถือว่าอันตราย?

ตอบ: อาการอุจจาระเหลวเป็นน้ำที่ผู้ป่วยควรรีบเดินทางไปพบแพทย์ ได้แก่

  • อุจจาระเหลวเป็นน้ำ และลองรักษาผ่านวิธีดื่มเกลือแร่และจิบน้ำบ่อยๆ แล้วผ่านไป 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น 
  • อุจจาระเหลวเป็นน้ำ และมีอาการท้องผูกหรือขับถ่ายอุจจาระไม่ออกสลับกัน หรือที่เรียกว่า อาการท้องผูกสลับท้องเสีย ซึ่งเป็นหนึ่งในอาการบ่งชี้ของโรคลำไส้แปรปรวน และสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • พบอุจจาระเหลวและอุจจาระเป็นสีดำหรือสีแดง ซึ่งเป็นสีอุจจาระที่บ่งบอกว่า มีภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

5. ผ่าตัดมะเร็งลำไส้นอนโรงพยาบาลกี่วัน?

ตอบ: หากเป็นการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคแบบเปิด ผู้ป่วยจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-10 วัน แต่หากเป็นการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยเทคนิคแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 3-5 วัน ขึ้นอยู่กับการประเมินการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังผ่าตัดจากแพทย์อีกครั้ง

6. การส่องกล้องลำไส้ตรวจดูอะไรบ้าง ใช้สิทธิ์บัตรทองได้ไหม?

ตอบ: การส่องกล้องลำไส้สามารถช่วยให้แพทย์มองเห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ส่วนต้นจนถึงส่วนปลาย รวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย และทวารหนักได้อย่างละเอียด ทำให้ช่วยตรวจคัดกรองความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับบริเวณเหล่านี้ได้อย่างแม่นยำ เช่น การมีติ่งเนื้อ การมีเลือดออกในลำไส้ การติดเชื้อ การอักเสบภายในลำไส้

ในส่วนของการตรวจส่องกล้องลำไส้โดยใช้สิทธิ์บัตรทอง ในเบื้องต้นผู้ป่วยในกลุ่มที่อายุ 50-70 ปี สามารถใช้สิทธิ์บัตรทองในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ผ่านวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระก่อนได้ทุกๆ 2 ปี หากพบความผิดปกติ แพทย์จะประเมินให้เข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ต่อไป โดยที่ใช้สิทธิ์บัตรทองได้เช่นกัน

7. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันได้ไหม?

ตอบ: โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มีสาเหตุที่ทำให้เกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในร่างกายซึ่งยากที่จะป้องกันได้ เช่น อายุ พันธุกรรม การเกิดติ่งเนื้อที่ลำไส้ และปัจจัยภายนอกร่างกายอย่างเช่น พฤติกรรมการกินอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยที่เราสามารถป้องกันได้ ผ่านการปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้ดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น รวมถึงปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพอื่นๆ เช่น

  • กินอาหารที่มีใยอาหารเป็นประจำ รวมถึงอาหารประเภทธัญพืช เพื่อเสริมระบบขับถ่ายให้ทำงานคล่องตัว ลดโอกาสเกิดโรคท้องผูก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เช่น อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์  ผักโขม ข้าวกล้อง แอปเปิล ส้ม แครอท กีวี มะละกอ
  • กินผักและผลไม้หลากสี เพื่อเพิ่มสารวิตามินและแร่ธาตุที่ช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง เช่น
    • สีแดง เช่น มะเขือเทศ แอปเปิล บีทรูท ทับทิม
    • สีเหลืองและสีส้ม เช่น ส้ม สัปปะรด แครอท ฟักทอง แครอท
    • สีเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า พริกหยวก ฝรั่ง มะม่วง
    • สีม่วง เช่น ลูกพรุน กะหล่ำม่วง มันม่วง
    • สีขาว เช่น ขิง กระเทียม กะหล่ำปลี เห็ด
  • ปรุงอาหารโดยใส่เครื่องเทศ เช่น พริก ขมิ้น กระเทียม ขิง เนื่องจากเป็นกลุ่มเครื่องปรุงที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายและลดโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้
  • ดื่มน้ำให้เพียงพออยู่เสมอ เพื่อลดอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภทเนื้อแดง และเลือกกินเนื้อสัตว์ประเภทปลาแทน
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง
  • งดสูบบุหรี่ และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อย
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่วิธีปรุงเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เช่น อาการปิ้งย่าง อาหารที่ทอดโดยใช้น้ำมันซ้ำ อาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารแปรรูป
  • หมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ
  • เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ให้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ถึงแม้จะไม่มีสัญญาณอาการผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นก็ตาม

8. ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ต้องผ่าตัดทุกเคสเลยไหม?

ตอบ: ไม่เสมอไป แต่โดยส่วนใหญ่การผ่าตัดเป็นทางเลือกที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วย โดยอาจเป็นการผ่าตัดร่วมกับใช้วิธีรักษาอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ผู้รักษา โดยนอกเหนือจากวิธีผ่าตัด วิธีรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่วิธีอื่นๆ จะได้แก่ การฉายแสง การทำเคมีบำบัด การใช้ยามุ่งเป้าเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง 

9. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รักษาหายหรือเปล่า?

ตอบ: การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้หายขาดจะขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค ยิ่งผู้ป่วยตรวจเจอโรคเร็วมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้มากขึ้น โดยระยะของโรคมะเร็งลำไส้ที่มีโอกาสหายได้มากที่สุดจะอยู่ที่ระยะที่ 1 

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จนหายขาด ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะสามารถละเลยพฤติกรรมดูแลสุขภาพได้ เพราะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในอนาคต ดังนั้นถึงแม้ผู้ป่วยจะหายจากโรคนี้แล้ว ก็ยังต้องคอยระวัง และรักษาสุขภาพของระบบทางเดินอาหารไว้ให้ดีอยู่เสมอ

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งจากสถิติพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี การดูแลและใส่ใจการกินอาหารเพื่อสุขภาพ และเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุครบ 40 ปี

หรือหากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด มีปัญหาด้านการขับถ่าย และรู้สึกไม่สบายใจ ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอาการ และเพื่อให้แพทย์ได้แนะนำแนวทางการดูแลสุขภาพระบบทางเดินอาหารให้อย่างเหมาะสม

อยากตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ไม่สบายใจและอยากคุยกับคุณหมอ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top