prostate disease faq scaled

รวมข้อควรรู้เกี่ยวกับต่อมลูกหมาก โรคต่อมลูกหมากโต อักเสบ มะเร็งต่อมลูกหมาก

เมื่อพูดถึง ต่อมลูกหมาก หลายคนอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่า อวัยวะนี้ทำหน้าที่อะไร อยู่ตรงไหน ถ้าเกิดความผิดปกติ เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก จะมีอาการผิดปกติยังไงบ้าง การตรวจคัดกรองโรคทำได้ยังไง ฯลฯ บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักต่อมลูกหมากในทุกแง่มุม เพื่อที่หากเกิดความผิดปกติใดๆ ขึ้น จะได้วางแผนการรักษาได้ทัน

1. ต่อมลูกหมากอยู่ตรงไหน?

ตอบ: ต่อมลูกหมากเป็นต่อมขนาดเล็กคล้ายกับลูกเกาลัด อยู่ภายในร่างกายของเพศชาย บริเวณรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น ซึ่งอยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหลังกระดูกหัวหน่าว เป็นอวัยวะที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

ต่อมลูกหมาก คืออะไร มีหน้าที่อะไร

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

2. ต่อมลูกหมากทำหน้าที่อะไร?

ตอบ: ต่อมลูกหมากมีหน้าที่หลักในการผลิตน้ำเมือก สำหรับหล่อเลี้ยงเซลล์อสุจิ ช่วยให้เซลล์อสุจิอยู่ในภาวะที่แข็งแรงและมีโอกาสว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ได้สำเร็จ รวมถึงมีความเป็นด่างที่สามารถต่อต้านกับความเป็นกรดของช่องคลอดฝ่ายหญิงได้ 

3. ต่อมลูกหมาก กับ ลูกอัณฑะ ใช่อวัยวะเดียวกันไหม?

ตอบ: ไม่ใช่ ต่อมลูกหมากกับลูกอัณฑะเป็นอวัยวะที่อยู่คนละส่วนกัน แต่หลายคนมักเข้าใจผิดว่าเป็นอวัยวะเดียวกัน โดยลูกอัณฑะเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอวัยวะเพศชาย ที่มองเห็นได้จากภายนอก มีลักษณะเป็นถุงต่อมรูปไข่ 2 ถุง ทำหน้าที่หลักในการผลิตเซลล์อสุจิ และสร้างฮอร์โมนเพศชายอย่างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone)

ต่างจากต่อมลูกหมาก ที่ทำหน้าที่สร้างของเหลวหล่อเลี้ยงเซลล์อสุจิและอยู่ภายในร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก

4. ต่อมลูกหมากอักเสบ มีอาการยังไง?

ตอบ: โรคต่อมลูกหมากอักเสบ เป็นอีกโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมากที่พบได้บ่อย โดยมักเกิดจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ และลุกลามเข้าไปยังต่อมลูกหมากด้วย อาการที่พบได้บ่อยจากโรคนี้ ได้แก่

  • หนาวสั่น มีไข้ 
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไม่ออก
  • รู้สึกปวดหรือแสบระหว่างปัสสาวะ
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ปวดเอวค่อนไปทางด้านหลัง
  • ปวดอัณฑะ อาจรวมถึงบริเวณโดยรอบด้วย เช่น ทวารหนัก ท้องน้อย ขาหนีบ

5. สัญญาณเตือนว่าต่อมลูกหมากผิดปกติมีอะไรบ้าง

ตอบ: อาการของโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก จะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แต่โดยส่วนมากจะมีความเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะที่ผิดปกติหรือแย่ลง เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ใกล้กับทางเดินปัสสาวะ

อาการที่พบได้บ่อยของโรคเกี่ยวกับต่อมลูกหมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคต่อมลูกหมากโต โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคต่อมลูกหมากอักเสบ ได้แก่

  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะไม่สุด
  • ปัสสาวะไหลช้าหรือไหลๆ หยุดๆ 
  • ปวดปัสสาวะบ่อยครั้งอย่างผิดสังเกต อาจทั้งกลางวันและกลางคืน
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ปวดเอวค่อนไปด้านหลัง
  • ปวดอัณฑะ อาจรวมถึงบริเวณโดยรอบด้วย เช่น ทวารหนัก ท้องน้อย ขาหนีบ

6. ถ้าเป็นโรคต่อมลูกหมากโต อนาคตจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากใช่ไหม?

ตอบ:  ไม่เสมอไป จริงๆ แล้วโรคต่อมลูกหมากโตไม่สามารถลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในภายหลังได้ 

แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต และมีเซลล์บริเวณอื่นของต่อมลูกหมากที่เจริญเติบโตผิดปกติด้วย ก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากไปพร้อมกับเป็นโรคต่อมลูกหมากโตได้เช่นกัน

7. โรคต่อมลูกหมากโต หายเองได้ไหม?

ตอบ: โรคต่อมลูกหมากโตไม่สามารถหายเองได้ หากมีอาการ หรือพบความผิดปกติ ควรรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีรักษาจากแพทย์เท่านั้น เพราะปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคได้แน่ชัด การพยายามรักษาโรคด้วยตนเอง อาจยิ่งทำให้โรคลุกลาม และอาการแย่ลงได้

ทั้งนี้โรคต่อมลูกหมากโต มีวิธีรักษาหลากหลายแนวทาง เช่น การปรับพฤติกรรมการกินอาหาร การกินยา การรักษาด้วยไอน้ำ หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัด ก็สามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้องได้ ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย และระยะเวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว

8. ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ห้ามกินอะไร?

ตอบ: แพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้อาการจากโรคต่อมลูกโตลุกลาม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วย และโรคประจำตัวอื่นๆ ด้วย แต่โดยส่วนมาก อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หากเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ได้แก่

  • เนื้อสัตว์ที่เป็นเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง สามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่ต่อมลูกหมากได้
  • อาหารไขมันและน้ำตาลสูง เช่นเดียวกับอาหารประเภทเนื้อแดงที่มีสารอาหารประเภทไขมันอิ่มตัวสูง และสามารถทำให้การอักเสบที่ต่อมลูกหมากรุนแรงขึ้นได้
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานทางเดินปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้น และอาจยิ่งทำให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคืองกว่าเดิม
  • อาหารที่มีโซเดียมสูงหรือเค็มจัด เนื่องจากอาจไปกระตุ้นให้อาการผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะรุนแรงขึ้น ทางที่ดีควรกินอาหารที่รสไม่จัด หรือรสเผ็ดจนเกินไป จนกว่าอาการจะดีขึ้น

9. ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ค่า PSA ไม่ควรเกินเท่าไหร่ ?

ตอบ: การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือตรวจค่า PSA เป็นหนึ่งในการคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีประสิทธิภาพ

โดยค่า PSA (Prostate Specific Antigen) คือค่าของสารโปรตีนที่ผลิตขึ้นจากเซลล์ของต่อมลูกหมากและอยู่ในส่วนประกอบของน้ำอสุจิ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เข้ารับการตรวจหาค่า PSA อย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ค่าปกติของ PSA นั้น ควรจะอยู่ที่ต่ำกว่า 4 ng/mL แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย โดยอายุที่มากขึ้น ก็ทำให้ค่า PSA สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนี้

  • อายุ 40-49 ปี ค่า PSA ควรอยู่ที่น้อยกว่า 2.5 ng/mL
  • อายุ 50-59 ปี ค่า PSA ควรอยู่ที่น้อยกว่า 3.5 ng/mL
  • อายุ 60-69 ปี ค่า PSA ควรอยู่ที่น้อยกว่า 4.5 ng/mL
  • อายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป ค่า PSA ควรอยู่ที่น้อยกว่า 6.5 ng/mL

สำหรับเกณฑ์ของค่า PSA ที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะอยู่ที่มากกว่า 10 ng/mL 

อย่างไรก็ตามค่า PSA ที่สูงผิดปกติก็ไม่ได้หมายถึงการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเสมอไป แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ค่า PSA สูงขึ้นได้ เช่น

  • โรคต่อมลูกหมากโต
  • โรคต่อมลูกหมากอักเสบ
  • ภาวะปัสสาวะไม่ออก
  • ประวัติการสวนปัสสาวะ
  • ประวัติการส่องกล้องท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ
  • ประวัติการเจาะตรวจชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมาก แม้เป็นอวัยวะขนาดเล็ก ที่ดูเหมือนไม่ได้มีความผิดปกติที่ร้ายแรงนัก แต่กลับมีสถิติผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ในเพศชาย โดยจากสถิติพบว่า โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในเพศชายทั้งหมด และกว่า 50% ของผู้ชายทั่วโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไป มักมีปัญหาเรื่อง ต่อมลูกหมากโต และอัตราการป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในกลุ่มผู้ชายที่อายุ 70 ปีขึ้นไป

ฉะนั้นหากคุณเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ หรือสงสัยว่าตัวเองอาจมีความผิดปกติที่ต่อมลูกหมาก ก็ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะยิ่งตรวจพบได้เร็ว รักษาได้เร็ว โอกาสหายขาดก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับต่อมลูกหมากใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top