prepare before breast surgery in sex reassignment scaled

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนการผ่าตัดหน้าอกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชาย

การผ่าตัดหน้าอกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชายนั้น จัดเป็นการผ่าตัดขั้นแรกที่จะทำให้สัญลักษณ์การเป็นผู้หญิงที่เด่นชัดหมดไป เพื่อคลายความทรมานของผู้เข้ารับบริการที่ต้องการปกปิดอวัยวะส่วนนี้ได้เร็วที่สุด

แม้การผ่าตัดหน้าอกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชาย จะมีความซับซ้อนน้อยที่สุดในบรรดากระบวนการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ผู้เข้ารับบริการยังจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดและการดูแลหลังผ่าตัดอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

สิ่งเหล่านี้ HDmall.co.th ได้หาคำตอบมาให้แล้วในบทความนี้

ผ่าตัดหน้าอกแปลงเพศหญิงเป็นชาย เตรียมตัวอย่างไร?

หลังผ่านการประเมินสภาพจิตใจจากจิตแพทย์อย่างน้อย 2 ท่าน ก่อนว่า ผู้เข้ารับบริการมีภาวะ “Gender dysphoria (GD)” หรือ เป็นผู้ทีไม่มีความสุขกับสรีระทางเพศแต่กำเนิดอย่างรุนแรง และมีความพร้อมที่จะผ่าตัดแปลงเพศจริง สำหรับการตรวจประเมินครั้งที่ 2 นั้นมีคำแนะนำว่า ยิ่งตรวจประเมินใกล้กำหนดการผ่าตัดได้ยิ่งดี เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้มีเวลาตัดสินใจ ทบทวนอีกครั้ง

นอกจากนี้ผู้เข้ารับการผ่าตัดยังต้องมีคุณสมบัติร่วมสำคัญ ได้แก่

  • อายุ 20 ปีบริบูรณ์ หรือหากมีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 20 ปี ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครอง
  • เคยทดลองใช้ชีวิตในแบบเพศตรงข้ามมาแล้วอย่างน้อย 1 ปี
  • มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • ไม่มีโรค หรือภาวะทางจิตเวช

ผู้เข้ารับบริการสามารถติดต่อโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เช่น ตรวจเลือด การทำงานของไตปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยเฉพาะการตรวจสภาพหน้าอกโดยรวม และรับฟังคำแนะนำในการผ่าตัด เทคนิคการผ่าตัดที่เหมาะสม รวมทั้งผลลัพธ์ ความเสี่ยงต่างๆ จากศัลยแพทย์ก่อน

หากยังคงยืนยันเข้ารับการผ่าตัดหน้าอก แปลงเพศหญิงเป็นชาย ศัลยแพทย์จะแนะนำการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด ดังต่อไปนี้

  • หยุดรับประทานวิตามิน ซี และ อี และหยุดใช้ฮอร์โมนเพศตรงข้ามอย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด
  • หยุดรับประทานยาประเภทแอสไพริน ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดการอักเสบบางชนิด อย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะเลือดไม่แข็งตัว เลือดออกผิดปกติ
  • หยุดสูบบุหรี่อย่างน้อย 14 วันก่อนการผ่าตัด เพื่อให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงแผลได้ดี ลดโอกาสเนื้อตาย
  • เตรียมลาหยุดงานประมาณ 3 – 5 วัน สำหรับการพักผื้นในโรงพยาบาลและที่บ้าน
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • ควรเตรียมเสื้อเชิ้ตหลวมๆ ไว้ใส่เมื่อเวลาออกจากโรวพยาบาล
  • ถ่ายรูปสภาพหน้าอกก่อนผ่าตัดเพื่อเก็บไว้เปรียบเทียบผลลัพธ์จากการผ่าตัด

ขั้นตอนการผ่าตัดหน้าอก แปลงเพศหญิงเป็นชาย มีอะไรบ้าง?

  • ดมยาสลบ หรือตามแต่วิธีที่ศัลยแพทย์เห็นว่า เหมาะสม
  • หากเป็นการผ่าตัดเต้านมแผลรูปตัวที (T) หรือผู้เข้ารับบริการที่มีหน้าอกขนาดใหญ่ ค่อนข้างหย่อนคล้อย ศัลยแพทย์จะวาดตำแหน่งเต้านม ปานนม และหัวนมใหม่ตามที่ต้องการ
  • ศัลยแพทย์เริ่มผ่าตัดเปิดแผลที่เต้านมเพื่อให้สามารถเลาะเนื้อเต้านมออกให้หมด หากมีผิวหนังส่วนเกินจะตัดแต่งให้เรียบร้อย และใส่สายยางเพื่อระบายเลือดเสียและน้ำเหลืองที่บาดแผลออกจากหน้าอกข้างละ 1 เส้น
  • ศัลยแพทย์จะเย็บแผลโดยซ่อนแผลเป็นไว้ใต้รักแร้ จากนั้นจึงเย็บปานนมปิดดังเดิม แล้วพันผ้ารัดหน้าอกแบบหลวมๆ ไม่แน่นจนเกินไป

หลังผ่าตัดหน้าอกเสร็จ ผู้เข้ารับบริการต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 2 วัน หรือตามที่ศัลยแพทย์พิจารณาความเหมาะสม เพื่อให้ศัลยแพทย์สามารถตรวจดูแผลได้อย่างใกล้ชิด

ดูแลตนเองอย่างไร? หลังผ่าตัดหน้าอก แปลงเพศหญิงเป็นชาย

เมื่อศัลยแพทย์พิจารณาว่า เลือดเสียและน้ำเหลืองระบายออกจากหน้าอกทั้งสองข้างหมดแล้ว ก็จะถอดสายยางออกให้ แล้วตรวจดูความเรียบร้อยของแผลผ่าตัดอีกครั้ง หากแผลเรียบร้อยดี ไม่มีการอักเสบ บวมแดง ก็จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

  • ล้างแผลให้สะอาดตามคำแนะนำ และทำแผลทุกวันโดยใช้ยาที่ให้ทาแผล เช้า-เย็น แล้วพันผ้าทับทุกครั้ง
  • รับประทานยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด ยาลดบวม ตามที่ศัลยแพทย์สั่ง
  • หลังผ่าตัดไม่ควรขับรถเองประมาณ 5 – 7 วัน
  • หลังการผ่าตัดจะมีผ้าพันหน้าอกและสายยางระบายเลือดน้ำเหลืองออกจากหน้าอกข้างละ 1 เส้น เพื่อระบายเลือดและน้ำเหลืองออกจากหน้าอกและป้องกันการเกิดเลือดคั่ง สายยางระบายจะติดอยู่กับตัวจนหมดปริมาณน้ำเหลืองและไม่มีเลือดออก ศัลยแพทย์จึงจะทำการถอดสายยางระบายออก
  • ระหว่างพักฟื้นรอตัดไหมนั้น หากมีเลือด หรือน้ำเหลืองซึมออกมาจากแผล บาดแผลบวมแดง ปวด หรือแสบร้อน และมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบศัลยแพทย์ทันที
  • เมื่อครบกำหนด 7 วัน ศัลยแพทย์จะนัดมาดูแผล ในบางรายที่แผลสมานตัวกันดีอาจตัดไหมได้เลย แต่หากแผลมีขนาดใหญ่อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรอตัดไหมราว 10-14 วัน
  • หลังจากตัดไหมเสร็จ ศัลยแพทย์จะปิดพลาสเตอร์ที่บริเวณรอยเย็บ เพื่อทำให้แผลหายสนิทและป้องกันการแยกของแผล
  • หลังไหมตัด 1-2 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้แผลโดนน้ำได้ แต่ไม่ควรถู หรือขัดบริเวณแผลผ่าตัด เพราะอาจจะทำให้แผลแยกได้
  • ควรใส่เสื้อให้กระชับบริเวณหน้าอกไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อช่วยกระชับผิวหนังบริเวณหน้าอกไม่ให้เหี่ยวย่น

หลังผ่าตัดหน้าอกแปลงเพศหญิงเป็นชาย มีความเสี่ยงอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง?

แม้จะเตรียมตัวก่อนผ่าตัดอย่างดีที่สุดแล้ว แต่ก็มีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการผ่าตัดตามมาได้ ดังนี้

  • อาการเลือดคั่ง หรือเลือดออก เนื่องจากบริเวณหน้าอกมีเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก
  • อาการปวดและบวมหลังการผ่าตัดช่วง 2-3 วันแรก ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
  • แผลติดเชื้อ หากทำแผลไม่สะอาด
  • เนื้อตาย เนื่องจากเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
  • อาการชา หรือหมดความรู้สึกที่หัวนม หรือเต้านม เนื่องจากเส้นประสาทบอบช้ำจากการผ่าตัด หลังผ่าตัด 2-3 อาการชาจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่บางรายที่เส้นประสาทถูกทำลายไป ก็อาจสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกไปด้วย
  • แผลเป็น มีโอกาสเกิดขึ้นได้มาก-น้อย แค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์ และขนาดของแผลผ่าตัด หากแผลเป็นมีขนาดใหญ่ อาจเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งได้ในภายหลัง

แม้การผ่าตัดหน้าอกเพื่อแปลงเพศหญิงเป็นชายจะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน เมื่อเทียบกับการผ่าตัดอื่นๆ ในกระบวนการแปลงเพศหญิงเป็นชาย แต่ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาข้อมูลให้ดีทั้งศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์และสถานพยาบาลที่น่าเชื่อถือ เพื่อรับคำปรึกษาก่อนตัดสินใจ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจและมีความเสี่ยงน้อยที่สุดนั่นเอง

Scroll to Top