Default fallback image

เจาะลึกวิธีผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียง

อวัยวะเพศชายเอียงเป็นปัญหาที่หลายคนอาจรู้สึกกังวลและไม่กล้าเปิดเผย แต่ความจริงแล้วสามารถรักษาได้ โดยเฉพาะในกรณีที่รุนแรง การผ่าตัดถือเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสูง

บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักสาเหตุของอาการอวัยวะเพศเอียง วิธีการรักษาแต่ละแบบ ขั้นตอนการผ่าตัด การเตรียมตัวก่อน–หลังการรักษา รวมถึงผลลัพธ์ เพื่อให้คุณตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

อวัยวะเพศชายเอียงเกิดจากอะไร?

อวัยวะเพศชายที่โค้งงอผิดปกติเมื่อแข็งตัว อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะการเกิดพังผืด หรือเนื้อเยื่อแผลเป็น (Fibrous Plaque) ที่สะสมบริเวณเนื้อเยื่อ Tunica Albuginea ซึ่งเป็นชั้นที่ห่อหุ้มเนื้อเยื่อฟองน้ำขององคชาต ทำให้เสียสมดุลด้านความยืดหยุ่น ส่งผลให้อวัยวะเพศโค้งงอไปในทิศทางที่มีพังผืด

ภาวะนี้พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนขึ้นไป และมีชื่อทางการแพทย์ว่า โรคเพย์โรนี (Peyronie’s Disease) โดยสาเหตุที่เป็นไปได้ ได้แก่

  • การบาดเจ็บซ้ำๆ บริเวณอวัยวะเพศ เช่น ขณะมีเพศสัมพันธ์ ท่าที่รุนแรง การกระแทกจากภายนอก หรือการดัดงอโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจไม่สังเกตเห็นในขณะนั้น แต่เมื่อบาดเจ็บซ้ำบ่อยครั้งจะทำให้เกิดแผลเป็นและพังผืดในระยะยาว
  • การอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อ เช่น การอักเสบจากการติดเชื้อ หรืออาการแพ้ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นตามมา
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม พบว่าบางคนมีความโน้มเอียงทางพันธุกรรมต่อการเกิดพังผืด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเพย์โรนี หรือมีภาวะพังผืดในส่วนอื่นของร่างกาย เช่น นิ้วงอผิดปกติ (Dupuytren’s Contracture)
  • ภาวะผิดปกติตั้งแต่กำเนิด (Congenital Penile Curvature) ภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากการบาดเจ็บหรือพังผืด แต่เป็นความไม่เท่ากันของโครงสร้างภายใน ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด

อาการของภาวะอวัยวะเพศชายเอียง

  • มีความโค้งงอของอวัยวะเพศเมื่อแข็งตัว โดยอาจโค้งขึ้น ลง ซ้าย หรือขวา
  • มีอาการปวดขณะอวัยวะเพศแข็งตัว โดยเฉพาะในระยะแรก
  • คลำพบเนื้อแข็งหรือก้อนพังผืดใต้ผิวหนังบริเวณลำอวัยวะเพศ
  • ความผิดปกติในการแข็งตัว เช่น แข็งตัวไม่เต็มที่ หรือแข็งในบางส่วน
  • มีผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เจ็บ ปลายองคชาตหักมุม หรือสอดใส่ลำบาก

อวัยวะเพศชายเอียงรักษาได้อย่างไรบ้าง?

แนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการและดุลยพินิจของแพทย์ โดยหลักๆ มี 3 แนวทางดังนี้

  • การใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการ: เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือมีอาการเจ็บขณะอวัยวะเพศแข็งตัว โดยใช้ยาแก้ปวดหรือยาต้านการอักเสบ เพื่อลดอาการปวดหรืออักเสบบริเวณพังผืด ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตัวขึ้นในระหว่างรอการรักษาหรือสังเกตอาการ
  • การฉีดยารักษา: เป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด โดยแพทย์จะฉีดยาเข้าไปตรงบริเวณพังผืด ยาที่ใช้ เช่น Collagenase Clostridium Histolyticum (CCH) ช่วยย่อยสลายคอลลาเจนที่สะสมผิดปกติ ช่วยลดความโค้งงอของอวัยวะเพศในบางราย แต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
  • การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศเอียง: เป็นทางเลือกที่ได้ผลดีที่สุดในผู้ป่วยที่มีความโค้งงอมาก หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบไม่ผ่าตัด โดยแพทย์จะเลือกเทคนิคผ่าตัดตามตำแหน่งและระดับของความโค้ง เพื่อรับรูปร่างให้อวัยวะเพศกลับมาตรงใกล้เคียงปกติ 

ผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียง คืออะไร? ทำได้อย่างไร?

การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียงเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการโค้งงอรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและการฉีดยาเฉพาะจุด โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมกับลักษณะและระดับความผิดปกติของผู้ป่วยแต่ละราย การผ่าตัดมีหลายเทคนิคหลักๆ ดังนี้

  1. เทคนิคการเย็บรั้งด้านตรงข้ามกับจุดโค้งงอ (Plication Technique)

เป็นวิธีที่นิยมใช้ในผู้ป่วยที่มีความโค้งงอไม่มาก ช่วยให้อวัยวะเพศกลับมาตรงใกล้เคียงปกติ โดยแพทย์จะเปิดแผลเล็กๆ บริเวณด้านตรงข้ามกับจุดที่โค้ง และเย็บรั้งเนื้อเยื่อให้ตึง 

อย่างไรก็ตาม เทคนิคนี้อาจทำให้อวัยวะเพศมีความยาวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการเย็บรั้งเนื้อเยื่อ

  1. เทคนิคการเลาะพังผืดและเสริมเนื้อเยื่อเทียม (Plaque Incision/Excision with Grafting)

เหมาะสำหรับผู้ที่มีพังผืดหนาแน่นและความโค้งงอมาก วิธีนี้ช่วยรักษารูปทรงของอวัยวะเพศ และในบางรายสามารถคงความยาวของอวัยวะเพศไว้ได้มากกว่าเทคนิคเย็บรั้ง โดยแพทย์จะเลาะหรือผ่าตัดพังผืดที่เป็นต้นเหตุของความโค้งออก จากนั้นนำเนื้อเยื่อเทียม เช่น แผ่นชีววัสดุ หรือวัสดุสังเคราะห์ มาเสริมแทนเนื้อเยื่อเดิมที่ถูกเลาะออก

ขั้นตอนการผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียง

การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียงเป็นหัตถการเฉพาะทางที่ต้องทำโดยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะร่วมกับทีมวิสัญญี และบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลที่มีความชำนาญการ โดยทั่วไปจะมีขั้นตอนดังนี้

  1. การเตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด: เจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและเตรียมพื้นที่ผ่าตัดให้ปลอดเชื้อ ผู้ป่วยอาจต้องงดน้ำและอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ก่อนเข้าห้องผ่าตัด
  2. การให้ยาระงับความรู้สึก: วิสัญญีแพทย์จะให้ยาสลบผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดตลอดการผ่าตัด
  3. การผ่าตัดปรับโครงสร้าง: แพทย์จะเปิดแผลบริเวณใกล้โคนหรือใต้ขอบของอวัยวะเพศ จากนั้นแยกเส้นเลือด เส้นประสาท และท่อปัสสาวะออกอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย จากนั้นจะเย็บรั้งด้านตรงข้ามกับด้านที่โค้ง (กรณีความโค้งไม่รุนแรง) หรือเลาะพังผืดและใส่เนื้อเยื่อเทียม (กรณีที่มีพังผืดหนาแน่น)
  4. การทดสอบการแข็งตัว: แพทย์จะทำให้เกิดการแข็งตัวของอวัยวะเพศชั่วคราว เพื่อประเมินความตรงหลังการแก้ไข หากยังมีความโค้งเล็กน้อย อาจมีการเย็บปรับเพิ่มเติมให้ตรงมากขึ้น
  5. การปิดแผล: เมื่อได้ตำแหน่งและรูปร่างที่เหมาะสมแล้ว แพทย์จะเย็บปิดแผล แล้วตรวจสอบความเรียบร้อยก่อนส่งตัวผู้ป่วยเข้าสู่ห้องพักฟื้น

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด

การเตรียมตัวอย่างเหมาะสมก่อนผ่าตัดจะช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน และช่วยให้ฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้ดียิ่งขึ้น โดยมีแนวทางที่ควรปฏิบัติดังนี้

  • นัดปรึกษาแพทย์ล่วงหน้า: ควรนัดหมายเพื่อเข้าพบแพทย์ก่อนวันผ่าตัด เพื่อประเมินสภาพร่างกาย วางแผนการรักษา และตอบข้อสงสัยต่างๆ อย่างละเอียด
  • แจ้งประวัติสุขภาพอย่างครบถ้วน: รวมถึงโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาและอาหารเสริมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และประวัติการรักษาที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ เช่น การขริบ หรือการฉีดสารแปลกปลอม เพื่อให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างปลอดภัย
  • งดยาและอาหารเสริมบางประเภท: หยุดใช้ยาละลายลิ่มเลือด ยาในกลุ่มแอสไพริน (Aspirin), ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) รวมถึงวิตามิน น้ำมันปลา สมุนไพร และอาหารเสริมทุกชนิดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนวันผ่าตัด หรือภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • งดบุหรี่และแอลกอฮอล์: หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดีและลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ: ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 8–10 ชั่วโมงในคืนก่อนผ่าตัด เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุด
  • มีผู้ดูแลมาด้วยในวันผ่าตัด: เนื่องจากหลังผ่าตัด ยาระงับความรู้สึกอาจยังคงออกฤทธิ์ หรือผู้ป่วยอาจเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงควรมีญาติหรือผู้ดูแลติดตามมาด้วยอย่างน้อย 1 คน เพื่อช่วยดูแลและอำนวยความสะดวกหลังการผ่าตัด

การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัด

การดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีหลังการผ่าตัดมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัว และทำให้เกิดผลลัพธ์หลังการผ่าตัดที่ดี โดยควรปฏิบัติดังนี้

  • การแกะผ้าก๊อซและทำแผล: นัดเข้ามาแกะผ้าก๊อซหลังผ่าตัดในช่วง 3-5 วันแรก หรือแพทย์อาจให้ถ่ายรูปอัปเดตอาการก่อนแกะผ้าก๊อซ เพื่อติดตามอาการ
  • การอาบน้ำ: หลังแกะผ้าก๊อซออกแล้วประมาณ 7 วัน สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ควรหลีกเลี่ยงการถูสบู่โดยตรงบริเวณแผล
  • การเลือกเสื้อผ้า: ควรสวมกางเกงในที่ใส่สบาย ไม่รัดแน่นในช่วง 2-3 วันแรก เพื่อลดการเสียดสีและกดทับบริเวณแผล
  • การบรรเทาอาการปวด: หากรู้สึกปวดหรือเจ็บแผล สามารถประคบเย็น หรือรับประทานยาแก้ปวดตามคำสั่งแพทย์เพื่อบรรเทาอาการ
  • การทำความสะอาดแผล: ซับแผลให้แห้งอย่างอ่อนโยน ทายาขี้ผึ้งบางๆ บริเวณแผล และเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผล หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล
  • งดกิจกรรมทางเพศและกิจกรรมที่มีการกดทับ: งดมีเพศสัมพันธ์และงดการช่วยตัวเอง รวมถึงงดกิจกรรมที่มีการกดทับบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การขี่จักรยาน อย่างน้อย 1-2 เดือน หรือจนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากแพทย์

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับผลลัพธ์หลังการผ่าตัด

หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลลัพธ์และความคาดหวังหลังการผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียง ดังนี้

  1. จะหายขาดหรือไม่ และสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้หรือไม่?

ตอบ: โดยทั่วไปการผ่าตัดสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในบางเทคนิคอาจทำให้อวัยวะเพศมีความยาวลดลงเล็กน้อย หลังผ่าตัดแล้วโดยมากมักไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

  1. มีการการันตีผลลัพธ์หรือไม่?

ตอบ: ผลลัพธ์และรูปทรงจะดีขึ้นอย่างแน่นอน แต่ผลลัพธ์อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและเทคนิคที่ใช้ในการผ่าตัด

  1. การผ่าตัดเจ็บไหม?

ตอบ: ระหว่างผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการดมยาสลบ ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวดเลย ส่วนหลังผ่าตัดอาจมีอาการปวดระบมบ้าง ซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่แพทย์สั่ง

การผ่าตัดแก้ไขอวัยวะเพศชายเอียงเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ชายหลายคนกลับมามีความมั่นใจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ หากคุณประสบปัญหานี้ ไม่ควรลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสม

กำลังกังวลกับปัญหาอวัยวะเพศชายเอียง หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศอยู่หรือเปล่า? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศชาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top