ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง เช่น เลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน มีตกขาวผิดปกติ ปวดท้องน้อย อาจมีสาเหตุจากความผิดปกติในอวัยวะภายใน วิธีหนึ่งที่จะช่วยตรวจความผิดปกติที่ซ่อนอยู่ คือการทำ CT Scan และการทำ MRI มดลูก
การตรวจมดลูกทั้ง 2 วิธี สามารถให้ภาพอวัยวะภายในออกมาได้ แต่ลักษณะภาพที่ได้จะแตกต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า อาการใด เหมาะกับการตรวจรูปแบบใด
สารบัญ
หลักการการทำงานของ CT Scan กับ MRI
การทำ CT Scan และ MRI ช่วยให้เห็นภาพอวัยวะภายในของผู้ป่วยแบบ 3 มิติ แต่มีหลักการการสร้างภาพและให้รายละเอียดภาพต่างกัน
CT Scan (Computed Tomography Scan) จะใช้หลักการปล่อยรังสีเอกซ์จากเครื่องที่มีลักษณะคล้ายโดนัทขนาดใหญ่ ผ่านบริเวณที่ต้องการตรวจ
ด้วยลักษณะตัวเครื่องทำให้รังสีเอกซ์ถูกปล่อยจากมุมต่างๆ โดยรอบตัวผู้ป่วย ทำให้ได้ภาพเป็นร้อยๆ ภาพ ซึ่งจะถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งเมื่อแพทย์จะวินิจฉัยโรค ก็สามารถดูภาพทั้งแนวระนาบและแนวตัดขวาง สามารถหมุนเปลี่ยนดูมุมมองต่างๆ รวมถึงขยายเพื่อดูส่วนใดส่วนหนึ่งโดยเฉพาะให้ชัดเจนขึ้นได้
ส่วน MRI (Magnetic Resonance Imaging) ผู้ตรวจจะให้ผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็ก ลักษณะเป็นอุโมงค์ขนาดพอดีตัว จากนั้นปล่อยคลื่นวิทยุออกมาระยะหนึ่ง ก่อนจะหยุดการปล่อยคลื่นวิทยุ
จากการที่ร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยน้ำ หรือ H2O ปริมาณมาก โดย H ใน H2O หมายถึงไฮโดรเจน และไฮโดรเจนมีโปรตอนที่เป็นอนุภาคมีประจุบวก
ปกติแล้ว โปรตอนเหล่านี้จะหมุนไปในทิศทางต่างๆ กัน แต่เมื่อเจอกับแม่เหล็กอย่างในเครื่อง MRI โปรตอนเหล่านี้จะถูกดึงดูดไปทางแม่เหล็กและเริ่มเรียงตัวเป็นระเบียบ
คลื่นวิทยุจะถูกส่งมาเพื่อกระตุ้นโปรตอน ทำให้โปรตอนหมุน และเมื่อเครื่องตรวจถูกควบคุมให้หยุดปล่อยคลื่นวิทยุ โปรตอนก็จะกลับมาเรียงตัวตามแนวแม่เหล็กอีกครั้ง ระหว่างที่พวกมันกลับมาเรียงตัวนี้เอง โปรตอนจะปล่อยสัญญาณออกมา แล้วเครื่อง MRI จึงนำสัญญาณเหล่านี้มาแปลงเป็นภาพ เพื่อแสดงโครงสร้างภายในร่างกายของผู้ป่วย
CT Scan ให้ผลดีกับการตรวจโครงสร้างกระดูกหรือสิ่งใดๆ ในร่างกายที่มีลักษณะแข็ง เช่น ก้อนหินปูน ส่วน MRI มีข้อเด่นคือการตรวจความแตกต่างของเนื้อเยื่อ ทำให้พบเนื้อเยื่อที่มีความหนาแน่นต่างกัน หรือเห็นร่องรอยการอักเสบในเนื้อเยื่อ รวมถึงสามารถมองละเอียดไปถึงเส้นประสาทได้
แม้ว่าทั้ง CT Scan และ MRI จะให้ภาพ 3 มิติของอวัยวะในร่างกายเหมือนกัน แต่ภาพที่ได้นั้นแตกต่างกัน ดังนั้นแพทย์อาจสั่งตรวจเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการตรวจ หรือสิ่งที่พบจากการตรวจก่อนหน้า
การเตรียมตัวและขั้นตอนการทำ CT Scan มดลูก
การเตรียมตัวก่อนทำ CT Scan มดลูก ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้
บางกรณี แพทย์อาจให้ผู้ป่วยงดอาหารก่อนตรวจประมาณ 4-6 ชั่วโมง หรืองดรับประทานยาบางอย่าง
เมื่อถึงขั้นตอนตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นชุดใส่สบาย รวมถึงให้ถอดแว่นตา ฟันปลอม เครื่องช่วยฟัง และเครื่องประดับต่างๆ ออกทั้งหมด
นอกจากนี้อาจให้สารทึบรังสีในลักษณะของเหลวสำหรับดื่ม หรือให้ทางสายให้สารน้ำทางเส้นเลือด เพื่อให้ภาพจากการตรวจ CT Scan เห็นชัดเจนขึ้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการตรวจ
ถ้าต้องรับสารทึบรังสี ผู้ป่วยอาจต้องรอประมาณ 60-90 นาทีให้สารนั้นเข้าสู่ร่างกายอย่างเต็มที่เสียก่อน
เมื่อพร้อมตรวจแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงตรวจ แล้วเคลื่อนเตียงตรวจเข้าไปในเครื่องทำ CT Scan จากนั้นจึงควบคุมให้เครื่องตรวจปล่อยรังสีเอกซ์ออกมาจากมุมต่างๆ รอบตัวผู้ป่วย
ระหว่างตรวจเจ้าหน้าที่อาจขอให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งๆ และกลั้นหายใจเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันภาพสั่น
การตรวจ CT Scan มดลูกโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 10 นาที
การเตรียมตัวและขั้นก่อนการทำ MRI มดลูก
การเตรียมตัวก่อนทำ MRI มดลูก ผู้ป่วยจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับสิ่งต่อไปนี้
- อุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ที่ฝังอยู่ในร่างกาย
- ประวัติการผ่าตัด
- ประวัติการแพ้ยา
ในบางกรณี แพทย์อาจให้ยาระบายแก่ผู้ป่วย เพื่อระบายของเสียทั้งหมดออกจากลำไส้ หรือให้งดอาหาร 4-6 ชั่วโมง หรืออาจให้ดื่มน้ำจนกระเพาะปัสสาวะมีน้ำอยู่เต็มก่อนตรวจ
เมื่อถึงขั้นก่อนการตรวจ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโลหะในร่างกาย จากนั้นให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกาย ถ้าต้องใช้สารให้ความต่างสี (Contrast Dye) พยาบาลหรือแพทย์จะฉีดสารนี้เข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางสายให้สารน้ำทางเส้นเลือด ผู้ป่วยอาจต้องรอสักพักให้สารให้ความต่างสีไหลเวียนทั่วร่างกายก่อนเริ่มการตรวจ
เมื่อพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนลงบนเตียงสำหรับใช้กับเครื่อง MRI บางกรณีอาจวางขดลวดขนาดเล็กไว้รอบบริเวณเชิงกรานของผู้ป่วยเพื่อให้ได้ภาพภายในร่างกายที่ชัดเจนขึ้น จากนั้นเจ้าหน้าที่จะย้ายไปอยู่ในห้องควบคุมเครื่อง MRI แล้วบังคับเครื่องให้เคลื่อนเตียงตรวจเข้าสู่อุโมงค์ ก่อนปล่อยรังสีวิทยุออกมาในอุโมงค์เพื่อถ่ายภาพที่ต้องการ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านไมโครโฟนได้
ระหว่างตรวจ เครื่อง MRI อาจส่งเสียงดัง เป็นลักษณะเสียงหึ่งๆ หรือเสียงกระแทกขณะถ่ายภาพ บางสถานพยาบาลอาจมีที่อุดหูให้ผู้ป่วยสวมไว้ หรืออาจมีหูฟังให้ผู้ป่วยผ่อนคลายระหว่างตรวจ
ขณะเครื่องถ่ายภาพ เจ้าหน้าที่อาจขอให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจเป็นเวลาสั้นๆ เพื่อให้ได้ภาพคมชัด
การทำ MRI มดลูกโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที
ความเสี่ยงของการทำ CT Scan และ MRI มดลูก
การทำ CT Scan และ MRI ถือเป็นการตรวจที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม ผู้รับการตรวจจำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะการตั้งครรภ์ วิธีการคุมกำเนิด พฤติกรรมการให้นมบุตร รวมถึงแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์อื่นใดที่ติดตั้งอยู่ในร่างกาย เนื่องจากการตรวจ CT Scan และ MRI อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
ตัวอย่างความเสี่ยงของการทำ CT Scan มดลูก
- อันตรายต่อทารกในครรภ์เนื่องจากรังสีเอกซเรย์
- อันตรายจากรังสีก่อไอออน (Ionizing Radiation)
ตัวอย่างความเสี่ยงของการทำ MRI มดลูก
- โลหะในร่างกายอาจเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจเป็นโลหะจากห่วงคุมกำเนิด ข้อต่อเทียม สะโพกเทียม เหล็กดามสะโพก เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ เนื่องจากอุโมงค์ตรวจ MRI เป็นสนามแม่เหล็กกำลังสูง
- เกิดปัญหาการได้ยิน เนื่องจากเสียงดังของเครื่องตรวจ MRI
- อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นระหว่างทำ MRI
- ถ้ามีการใช้สารให้ความต่างสี (Contrast Dye) เพื่อให้ภาพจากการทำ MRI เห็นชัดเจนขึ้น ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะแพ้สารให้ความต่างสีได้ อย่างไรก็ตามการแพ้นี้มักไม่รุนแรง และสามารถควบคุมได้ด้วยยา แต่ถ้าผู้ป่วยอยู่ระหว่างให้นมบุตร ควรเว้นการให้นมบุตรไปก่อนในช่วง 24-48 ชั่วโมงหลังทำ MRI
- อาการกลัวที่แคบกำเริบ ถ้ามีอาการนี้แต่จำเป็นต้องตรวจ MRI แพทย์อาจให้ยาคลายกังวลหรือยาระงับประสาท เพื่อให้ผู้ป่วยสบายขึ้น
ทำ CT Scan และ MRI เจ็บไหม?
การทำ CT Scan และ MRI ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด เนื่องจากไม่มีการผ่า เจาะ หรือ ฝังเครื่องมือตรวจใดๆ เข้าสู่ร่างกายผู้รับการตรวจ
ทำ CT Scan และ MRI มดลูก ราคาเท่าไหร่?
ค่าใช้จ่ายในการทำ CT Scan จะเริ่มต้นที่ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป ขณะที่ MRI อยู่ที่ 7,000 บาทขึ้นไป ราคาจะขึ้นอยู่กับค่าแพทย์ และค่าบริการของสถานบริการแต่ละแห่ง และขึ้นอยู่กับว่ามีการฉีดสารใดๆ เพิ่มเติมหรือไม่ด้วย
ทำ CT Scan และ MRI มดลูก เบิกประกันสังคมได้ไหม?
กรณีเจ็บป่วย ถ้าพบข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ให้ทำ CT Scan หรือ ทำ MRI มดลูก ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 จะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนล่างได้ ณ สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษา หรือ ณ สถานพยาบาลเครือข่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการตรวจรักษาภาวะมีบุตรยาก จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้
ส่วนผู้ที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือ 39 ที่จ่ายเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง การรักษาพยาบาลหรือตรวจสุขภาพจะไปใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือที่เรียกกันว่า บัตรทอง 30 บาท
การใช้สิทธิประกันสังคมหรือ สปสช. ทำได้โดยเข้าไปยังสถานพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ์อยู่ แล้วเตรียมบัตรประชาชนแก่เจ้าหน้าที่เพื่อแสดงสิทธิ์นั้นๆ
การทำ CT Scan และ MRI เป็นการตรวจเพื่อให้ได้ภาพภายในร่างกายที่คมชัด แต่จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับสิ่งที่แพทย์ต้องการตรวจสอบ ในบางกรณีอาจใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกันก็ได้ ในฝั่งผู้ป่วย สิ่งที่สำคัญคือแจ้งข้อมูลทางสุขภาพส่วนตัวให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจากการตรวจ
ไปหาหมอเกี่ยวกับอาการทางนรีเวช มีเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวผิดปกติ กังวลเรื่องมีบุตรยาก แล้วแพทย์แนะนำให้ทำ CT Scan กับ MRI แต่ไม่แน่ใจว่าจะมีผลข้างเคียงอะไรไหม? มีวิธีตรวจอื่นใดใช้แทนกันได้หรือเปล่า? อยากขอความเห็นที่สองจากคุณหมอท่านอื่นจะได้ไหม?
ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคทางนรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย