Default fallback image

ปวดท้องน้อย สัญญาณโรคอะไรบ้าง อันตรายไหม

ปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ ปวดเกร็ง ปวดจี๊ดๆ ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร…คุณกำลังมีอาการที่ว่ามานี้อยู่หรือเปล่า? รู้หรือไม่ว่า อาการปวดท้องน้อยนั้นเป็นสัญญาณความผิดปกติของหลายๆ โรค ซึ่งเป็นได้ทั้งโรคที่ไม่ร้ายแรง และโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงขั้นต้องผ่าตัด

แต่อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องน้อยเพียงอย่างเดียว อาจไม่สามารถระบุโรคได้แน่ชัด จึงจำเป็นต้องสังเกตอาการอื่นๆ ข้างเคียงร่วมด้วย 

บทความนี้จะมาบอกรายละเอียด ให้คุณได้สังอาการเบื้องต้นว่า อาการปวดท้องน้อยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ กับทั้งผู้ชายและผู้หญิงนั้น เป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคอะไรได้บ้าง

1. โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

สำหรับผู้หญิงคงคุ้นเคยกับอาการปวดท้องน้อยขณะที่มีประจำเดือนเป็นอย่างดี แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกปวดไม่มาก และปวดเฉพาะช่วงที่มีประจำเดือนเท่านั้น เมื่อประจำเดือนหมด อาการปวดก็จะหายไป 

แต่หากมีอาการปวดท้องน้อย ร่วมกับอาการอื่นๆ ดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ได้ 

    • ปวดท้องน้อยรุนแรง โดยอาจปวดร้าวไปทั้งหลัง เอว สะโพก ต้นขา ก้น หรือขาหนีบ 
    • ปวดท้องน้อยอย่างเฉียบพลันทันที
    • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง แม้ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือนก็ยังรู้สึกปวด อาจเป็นๆ หายๆ หรือปวดอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นต่อเนื่องนานหลายเดือน
    • ประจำเดือนผิดปกติ เช่น มากระปริบกระปรอย มามากผิดปกติ มานานผิดปกติ หรือมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อน
    • ตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็น เป็นสีขุ่น รู้สึกคัน หรือระคายเคือง
    • คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย หรือหน้าท้องใหญ่ผิดปกติ
    • ปวดท้องน้อยขณะปัสสาวะ หรือมีเพศสัมพันธ์

หากคุณมีอาการปวดท้องน้อย ร่วมกับอาการข้างต้น อาจสันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่า คุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็น โรคเนื้องอกมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคเนื้องอกในรังไข่ โรคถุงน้ำในรังไข่ มดลูกอักเสบ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือโรคทางนรีเวชอื่นๆ จำเป็นต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดเพิ่มเติม

2. โรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศชาย

อาการปวดท้องน้อย พบได้ไม่บ่อยนักในเพศชาย แต่หากเกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นสัญญาณความผิดปกติเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศชายได้เช่นกัน โดยมากอาการปวดท้องน้อยในผู้ชาย จะมาพร้อมกับอาการผิดปกติเกี่ยวกับการปัสสาวะ เช่น 

  • ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • ปวดเอวค่อนไปทางด้านหลัง
  • รู้สึกปวดอัณฑะ และบริเวณโดยรอบ เช่น ทวารหนัก ท้องน้อย ขาหนีบ

บางครั้งอาจมีไข้ หรือมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะบ่งบอกถึงความผิดปกติเกี่ยวกับ ต่อมลูกหมาก เช่น ต่อมลูกหมากอักเสบ ต่อมลูกหมากโต หรือกระทั่ง โรคมะเร็งต่อลูกหมาก หากมีอาการเหล่านี้ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

3. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ

อาการปวดท้องน้อย เป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะได้เช่นกัน โดยมักมีอาการร่วมกับการปัสสาวะผิดปกติ เช่น 

  • รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะไม่ค่อยสุด ปัสสาวะหยด หรือไหลซึมบ่อยๆ
  • ปวดเบ่ง แต่ปัสสาวะไม่ออก
  • ช่วงที่ปัสสาวะสุดแล้ว จะรู้สึกปวดเกร็ง ปวดหน่วงๆ 
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บางครั้งอาจเล็ดออกมา
  • ปัสสาวะมีสีขุ่น มีเลือดปน เป็นฟอง

ให้สัญญาณเหล่านี้อาจเป็นอาการบ่งชี้ของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือนิ่ว เป็นต้น ทั้งนี้หากการอักเสบนั้นรุนแรง ผู้ป่วยอาจมีไข้สูง หนาวสั่น ซึ่งแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที

4. โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดท้องหรือปวดท้องน้อย ร่วมกับอาการแสดงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว
  • ขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสีย ถ่ายเหลว
  • อุจจาระมีมูก หรือมีเลือดปน
  • มีไข้ อาจเป็นไข้สูง หรือไข้ต่ำๆ 
  • หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย

หากมีอาการเหล่านี้รวมกับปวดท้องน้อย อาจเกิดจากโรคลำไส้อักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ อาหารเป็นพิษ ลำไส้แปรปรวน หรือติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

5. โรคหรือภาวะความผิดปกติอื่นๆ 

นอกจากกลุ่มโรคที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อาการปวดท้องน้อย ยังอาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้อีกหลายรูปแบบ เช่น

    • โรคไส้เลื่อน มักคลำพบก้อนบริเวณขาหนีบ จะพบบ่อยเวลาเบ่งท้อง ไอ จาม แต่ถ้าดันกลับ หรือนอนราบก้อนอาจจะหายไป แต่ถ้าเป็นนานๆ ก้อนอาจจะค้างอยู่ตลอด ไม่หายไป ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรักษา
    • โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ หรือกล้ามเนื้อฉีกขาด อาจเกิดจากการยกของหนัก เคลื่อนไหวผิดท่า หรือออกกำลังกลายหนัก
    • ภาวะไส้ติ่งอักเสบ อาจค่อยๆ เริ่มปวดทีละนิด บริเวณรอบๆ สะดือ หรือหน้าท้องด้านขวา หรือปวดอย่างเฉียบพลันก็ได้ โดยมักจะปวดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหว เดิน ไอ จาม และอาจมีไข้ หนาวสั่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน

จะเห็นได้ว่า อาการปวดท้องน้อย อาจเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ และจะมีอาการร่วมที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย หรือตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อจะได้วางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและตรงกับโรคมากที่สุด

ปวดท้องน้อยบ่อยๆ เราป่วยเป็นอะไรกันแน่? อยากคุยกับคุณหมอ นัดตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top