pexels nadezhda moryak 7467100 scaled

เปรียบเทียบการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ แบบเปิด และแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบเปิด และแบบส่องกล้อง มีรายละเอียดแตกต่างกันอย่างไร วิธีไหนที่เหมาะกับคุณ หากคุณกำลังมีข้อสงสัย เราได้รวบรวมข้อมูลมาให้ครบแล้ว เปรียบเทียบชัดๆ เพื่อตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ มีกี่วิธี?

การผ่าถุงน้ำรังไข่ ณ ปัจจุบัน สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยการรักษาถุงน้ำรังไข่ด้วยวิธีการผ่าตัดนี้ แพทย์จะเลือกใช้ในกรณีทีไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่นๆ และประเมินแล้วว่ามีผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด โดยการผ่าตัดมีรายละเอียดดังนี้

1. การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง หรือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม 

เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณหน้าท้อง อาจเป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ ความยาวประมาณ 6-8 นิ้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของถุงน้ำ ขนาดของมดลูก และความชำนาญของแพทย์ที่ทำการผ่าตัด 

การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ เป็นการผ่าตัดพื้นฐาน ที่สามารถรักษาความผิดปกติได้ทุกกรณี แต่เนื่องจากเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ผู้ป่วยจึงจะมีแผลเป็นบริเวณหน้าท้อง รวมทั้งใช้ระยะเวลาพักฟื้นนานกว่า โดยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ​ 3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1-2 สัปดาห์

ขั้นตอนการผ่าตัดถุงน้ำที่รังไข่แบบเปิดหน้าท้อง

  1. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
  2. แพทย์เปิดแผลที่หน้าท้องประมาณ 12-20 เซนติเมตร
  3. แพทย์จะตัดถุงน้ำที่รังไข่ออก 
  4. หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะเย็บปิดปากแผล จากนั้นจะให้ผู้ป่วยนอนสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่อประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็จะส่งผู้ป่วยกลับไปพักต่อที่หอผู้ป่วย

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบเปิด ใช้ระยะเวลาโดยรวมประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค 

ทั้งนี้ผู้ป่วยอาจจะต้องใส่สายสวนปัสสาวะอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด โดยระยะเวลาขึ้นกับชนิดของการผ่าตัด และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างผ่าตัด

2. การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง 

เป็นการผ่าตัดโดยใช้การส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง โดยจะกรีดเปิดแผลใต้สะดือ เพื่อสอดเครื่องมือเข้าไปในช่องท้อง และทำการผ่าตัดผ่านกล้อง

วิธีนี้ได้รับความนิยมมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง เนื่องจากแผลจะมีขนาดเล็กเจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวได้ไวกว่า ส่วนใหญ่จะพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน และพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 1 สัปดาห์ และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพังผืดในช่องท้อง และภาวะแทรกซ้อนด้วย

ขั้นตอนผ่าตัดถุงน้ำรังไข่โดยการส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง

  1. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
  2. แพทย์เจาะรูที่หน้าท้องบริเวณใต้สะดือ 2-3 จุด ขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เพื่อสอดอุปกรณ์พร้อมกล้องขนาดเล็กเข้าไปทำการผ่าตัด พร้อมใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อให้เกิดช่องว่างในอุ้งเชิงกราน ช่วยให้มองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น
  3. เมื่อผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ออกแล้ว แพทย์จะนําเครื่องมือออก พร้อมไล่ก๊าซในช่องท้องออกจนหมด
  4. หลังจากที่ผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะเย็บปิดปากแผล จากนั้นจะให้ผู้ป่วยนอนสังเกตอาการที่ห้องพักฟื้นต่อประมาณ 1-2 ชั่วโมง ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็จะส่งผู้ป่วยกลับไปพักต่อที่หอผู้ป่วย

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบส่องกล้อง ใช้ระยะเวลาโดยรวมประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบเปิดและแบบส่องกล้อง

การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบเปิดหน้าท้อง ในโรงพยาบาลเอกชน โดยทั่วไปมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 95,000 บาท 

ขณะที่การผ่าตัดถุงน้ำรังไข่แบบส่องกล้อง ในโรงพยาบาลเอกชน มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 110,000 บาท

ทั้งนี้ราคาอาจมีการปรับเปลี่ยนตามโรค ความรุนแรงของอาการ ขั้นตอนการรักษา รวมทั้งค่าบริการของสถานพยาบาลที่แตกต่างกันไป

HDcare Sugery Ovarian Tumor scaled

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ผ่าตัดถุงน้ำรังไข่ที่ไหนดี ปรึกษา ทีม HDcare พร้อมเป็นผู้ช่วยคุณ ทำนัดกับคุณหมอเฉพาะทาง สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องรอคิวนาน ได้ทางไลน์วันนี้ ปรึกษาฟรี (ไม่มีค่าใช้จ่าย) คลิกเลย!

Scroll to Top