obesity disease confusion

5 เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคอ้วน

โรคอ้วน เป็นโรคที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ได้อีกหลายประการ หลายคนที่มีน้ำหนักเกิน หรือเข้าข่ายภาวะโรคอ้วน จึงพยายามลดน้ำหนัก ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ซึ่งฟังเหมือนง่าย แต่ทำให้สำเร็จได้ยาก 

บทความนี้จะรวบรวบความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ โรคอ้วน เช่น ความอันตรายของโรคนี้ พร้อมไขข้อเท็จจริงว่าทำไมการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีภาวะอ้วนนั้นจึงต้องอาศัยความพยายามมาก เพียงแค่ความตั้งใจอย่างเดียวอาจไม่พอ

1. คนที่โครงร่างใหญ่ อวบอ้วน หรือค่า BMI เกินเกณฑ์ เป็นโรคอ้วนทุกกรณี

ข้อเท็จจริง: ไม่จริง โรคอ้วน ไม่ได้พิจารณาจากรูปร่างภายนอกเท่านั้น แต่จะใช้วิธีคำนวณว่าในร่างกายของคนคนหนึ่งนั้นมีไขมันมากเกินไปหรือไม่

วิธีง่ายที่สุด เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป และทุกคนสามารถทำได้เอง คือ การคำนวณค่า BMI (Body Mass Index) หรือดัชนีมวลกาย โดยใช้น้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ถ้าตัวเลขที่ออกมามากกว่า 25 จะจัดว่าคนคนนั้นเป็นโรคอ้วน โดยอาจแบ่งย่อยต่อไปอีกว่า ตัวเลข 25-29.90 จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 1 ถ้า 30 ขึ้นไป จัดเป็นโรคอ้วนระดับที่ 2 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าในสูตรคำนวณค่า BMI ไม่ได้มีการแยกแยะว่าในน้ำหนักนั้นเป็นไขมันหรือกล้ามเนื้อ ดังนั้นผลที่ออกมาจึงอาจไม่แม่นยำ 100% 

ในกลุ่มนักกีฬาที่มีมวลกล้ามเนื้อสูง เช่น นักกีฬาเพาะกาย หรือในผู้ป่วยโรคตับ ไต ที่มีภาวะบวมน้ำ กลุ่มนี้อาจมีค่า BMI สูงโดยไม่ได้เป็นโรคอ้วน ดังนั้นในผู้ที่ต้องการตรวจอย่างละเอียด จึงอาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจด้วยอุปกรณ์เฉพาะ ซึ่งสามารถวัดระดับความหนาแน่นของมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และไขมันได้

2. อ้วน ไม่ใช่ โรค ไม่ถือว่าเป็นภาวะที่ร้ายแรง

ข้อเท็จจริง: แม้คำว่า อ้วน จะใช้อธิบายลักษณะรูปร่างของคน ซึ่งค่อนข้างเจ้าเนื้อมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ แล้ว ความอ้วน ถือเป็นโรคชนิดหนึ่งด้วย

โรคอ้วนถือเป็นโรคซับซ้อนเรื้อรัง เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายมีไขมันสะสมอยู่เยอะเกินไปจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เช่น

  • โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และมะเร็งบางชนิด
  • โรคอ้วนทำให้สุขภาพกระดูกเสื่อมถอย และทำให้การสร้างกระดูกเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
  • โรคอ้วนส่งผลกระทบด้านลบต่อการนอนหลับและการเคลื่อนไหวร่างกาย

มีการศึกษาพบว่า ยิ่งอ้วนมาก ก็ยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าคนทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 7-10 ปีเลยทีเดียว

3. ใครๆ ก็ลดน้ำหนักได้ ถ้ามีความตั้งใจ

ข้อเท็จจริง: มักมีคำแนะนำว่า เมื่อน้ำหนักเกิน ก็ควรลดน้ำหนัก โดยวิธีการหลัก คือ รับประทานอาหารให้น้อยลง และออกกำลังกายให้มากขึ้น 

แต่ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน การลดน้ำหนักไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกระบวนการภายในร่างกายหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว

ส่วนหนึ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการลดน้ำหนัก คือ ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ตามปกติเมื่อฮอร์โมนนี้หลั่งออกมา จะทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม แต่คนเป็นโรคอ้วนมักมีอาการดื้อเลปติน คือถึงแม้ฮอร์โมนนี้จะหลั่งออกมามาก แต่ร่างกายกลับไม่ค่อยแสดงการตอบสนองใดๆ พูดอีกอย่างก็คือทำให้รู้สึกหิวอยู่ตลอด จึงกินได้อยู่เรื่อยๆ

ถ้างดอาหารไม่ได้ แล้วจะหันมาออกกำลังกายแทน น้ำหนักตัวที่มากก็ทำให้มีข้อจำกัดในการออกกำลังกายบางประเภท เพราะอาจส่งผลเสียต่อข้อต่อหรือกระดูก

โดยสรุปคือ สำหรับผู้ที่เป็นโรคอ้วนแล้ว เพียงแค่ความตั้งใจ อาจไม่เพียงพอต่อการลดน้ำหนัก อาจจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อให้ลดน้ำหนักอย่างได้ผลและปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนต่างๆ

4. โรคอ้วน เป็นเพราะกินเยอะและไม่ยอมออกกำลังกาย

ข้อเท็จจริง: พฤติกรรมการกินและการไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของความอ้วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ยังมีสาเหตุอีกหลายประการที่เป็นต้นเหตุของภาวะน้ำหนักเกินไปจนถึงเป็นโรคอ้วน ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาทางจิตเวท

หรือภาวะของโรคบางโรคก็ทำให้ผู้ป่วยมีน้ำหนักเกิน และพัฒนาเป็นโรคอ้วนได้

สาเหตุของโรคอ้วนคืออะไร? มีอะไรบ้าง อ่านต่อ คลิกเลย!

5. การลดอาหารคือการลดน้ำหนักที่ได้ผลและดีต่อสุขภาพ

ข้อเท็จจริง: การลดน้ำหนัก หรืออดอาหารประเภทที่ให้พลังงานและไขมันสูง ดูเหมือนจะเป็นวิธีลดน้ำหนักที่สมเหตุสมผล แต่ความจริงแล้วการลดอาหารอาจทำให้การรับ-เผาผลาญพลังงานของร่างกายเสียสมดุล เช่น มีพลังงานไม่พอสำหรับใช้ประกอบกิจวัตรประจำวัน ทำให้อ่อนเพลีย หรือหากลดปริมาณอาหารต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ร่างกายอาจเข้าใจว่ากำลังเข้าสู่ภาวะขาดสารอาหาร จึงลดกระบวนการเผาผลาญพลังงานลง ดังนั้นเมื่อกลับมารับประทานอาหารตามปกติ น้ำหนักก็จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ในกรณีที่งดอาหารหมู่ใดหมู่หนึ่งไปเลย เช่น งดแป้ง งดไขมัน หรือลดโปรตีน เป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำใ้ห้เกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม

ดังนั้นถ้าต้องการลดน้ำหนักเพื่อแก้ปัญหาโรคอ้วนด้วยวิธีนี้ ควรปรึกษานักกำหนดอาหารหรือแพทย์ เพื่อให้ช่วยวางแผนการควบคุมอาหาร ให้เหมาะกับอายุ เพศ การใช้ชีวิต และภาวะสุขภาพของแต่ละคน จะได้ลดน้ำหนักอย่างได้ผลและปลอดภัย

ถ้าลองคำนวณค่า BMI แล้วพบว่ามีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ควรพิจารณาและทดลองดูว่าจะสามารถลดน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติได้หรือไม่ ถ้าพยายามด้วยตัวเองไม่ได้ผล อย่าเพิ่งโทษตัวเองว่าพยายามไม่มากพอหรือล้มเลิกความตั้งใจ เพราะอย่างที่อธิบายไปในบทความว่าภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วน ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการภายในร่างกายหลายอย่าง อาจเรียกได้ว่ายิ่งอ้วนก็ยิ่งมีแนวโน้มจะอ้วนง่ายขึ้นอีก และลดน้ำหนักยากขึ้นอีก

ทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ ปรึกษาผู้ชำนาญการหรือแพทย์ ปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย เช่น ลดน้ำหนักด้วยอินซูลิน รับประทานยาที่ออกฤทธิ์ควบคุมความหิว ผ่าตัดกระเพาะ ฯลฯ ที่สำคัญคือจำเป็นต้องปรึกษากับผู้ชำนาญการที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้องเท่านั้น ห้ามซื้อยาลดความอ้วนมารับประทานเองอย่างเด็ดขาด

ข้อมูลอื่นๆ ที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top