kidney stones disease definition

ปวดเอว ปวดหลัง ปัสสาวะขุ่น แสบขัด สัญญาณเสี่ยงโรคนิ่วในไต

ปวดท้อง ปวดหลังบ่อยๆ บางทีก็อาจไม่ได้เกิดจากความผิดปกติที่กล้ามเนื้อ กระดูก หรือระบบทางเดินอาหารเสมอไป แต่อาจเกิดจากการมีก้อนนิ่วสะสมอยู่ที่ไตก็ได้ แถมโรคนี้ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานช่วงอายุ 30-40 ปีอีกด้วย 

มาเช็กข้อมูลพร้อมกันว่าโรคนิ่วในไตเกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่ ถ้าไม่อยากมีนิ่วต้องดูแลตนเองเพื่อป้องกันอย่างไรบ้าง

โรคนิ่วในไต คืออะไร?

โรคนิ่วในไต (Kidney Stones) คือ การมี “ก้อนนิ่ว” ซึ่งเป็นก้อนหรือเม็ดแข็งสะสมอยู่ในกรวยไตและทางเดินปัสสาวะ จนก่อให้เกิดอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการปัสสาวะและลักษณะปัสสาวะที่ไม่เหมือนเดิม โดยกลุ่มอาการจากโรคนิ่วในไตที่พบได้บ่อย ได้แก่ 

  • มีไข้ มีอาการหนาวสั่น
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดเอวข้างที่มีก้อนนิ่ว
  • ปวดหลัง
  • ปวดช่องท้องส่วนล่าง โดยอาจปวดที่ข้างใดข้างหนึ่ง และอาจลามไปยังขาหนีบ
  • ปัสสาวะแล้วเจ็บ หรือรู้สึกแสบขัด 
  • ปัสสาวะมีสีขุ่น 
  • ปัสสาวะเป็นเลือด 
  • ปัสสาวะเป็นหนอง 
  • ปัสสาวะมีเศษคล้ายก้อนกรวดปน ซึ่งเกิดจากก้อนนิ่วที่แตกเล็กและไหลปนมากับปัสสาวะ
  • เกิดภาวะไตวาย

โรคนิ่วในไต สาเหตุเกิดจากอะไร?

ก้อนนิ่วในไตหรือในทางเดินปัสสาวะ เกิดจากการสะสมของสารแร่ธาตุในปัสสาวะซึ่งอยู่ในปริมาณที่สูงเกินไป เช่น สารแคลเซียมออกซาเลต สารแคลเซียมฟอสเฟต กรดยูริก และตกผลึกกลายเป็นก้อนแข็งที่มีขนาดแตกต่างกัน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดก้อนนิ่วในไต มีดังต่อไปนี้

  • เพศ โดยเพศชายจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนิ่วในไตได้มากกว่าเพศหญิง 
  • ช่วงอายุ โรคนิ่วในไตมักจะพบในกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานตั้งแต่ 30-40 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นโรคนิ่วในไตมาก่อน ก็มีโอกาสที่ผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดคนอื่น ๆ จะเป็นโรคนิ่วในไตด้วยเช่นกัน
  • กลั้นปัสสาวะบ่อย ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะได้ง่าย และส่งผลให้เกิดการตกตะกอนของเกลือแร่ในทางเดินปัสสาวะได้มากขึ้น จนกลายเป็นก้อนนิ่ว
  • ดื่มน้ำน้อย ทำให้น้ำปัสสาวะมีความเข้มข้นจนสารเกลือภายในปัสสาวะตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วในง่ายขึ้น
  • กินวิตามินเสริมบางชนิดมากเกินไป จนสามารถกระตุ้นทำให้เกิดสารที่สะสมกลายเป็นนิ่วได้ เช่น วิตามินซีเสริม โดยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ควรกินวิตามินซีเสริมไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • กินอาหารที่มีสารอาหารกระตุ้นทำให้เกิดก้อนนิ่วได้มากเกินไป เช่น อาหารที่มีแคลเซียมสูง อาหารที่มีโปรตีนสูง อาหารที่มีไซเดียมสูง

สีปัสสาวะแบบนี้ ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอวแบบนี้เพราะเป็นนิ่วหรือเพราะเป็นอะไร อยากคุยกับคุณหมอให้สบายใจ ทักหาแอดมิน HDcare ได้เลย

โรคนิ่วในไต รักษาได้อย่างไร?

โรคนิ่วในไตมีแนวทางการรักษาได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับอาการ รวมถึงขนาดและจำนวนของก้อนนิ่วที่สะสมข้างในไต โดยหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้

  • วิธีดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อให้เม็ดนิ่วหลุดออกมาพร้อมกับปัสสาวะเอง สามารถใช้รักษาได้ในกรณีที่นิ่วมีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร
  • วิธีกินยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อท่อไต ซึ่งจะช่วยขับนิ่วให้หลุดออกมาได้เร็วขึ้น 
  • วิธีสลายนิ่วด้วยคลื่นกระแทก (Extracorporeal Shock Wave Lithotripsy: ESWL) เป็นการปล่อยคลื่นพลังงานกระแทกผ่านผิวหนังเข้าไปสลายก้อนนิ่วให้แตกเป็นชิ้นเล็ก และขับออกผ่านทางปัสสาวะ เหมาะต่อการสลายก้อนนิ่วที่เนื้อไม่แข็งเกินไป มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร หรือในผู้ป่วยที่สัดส่วนรูปร่างเล็ก
  • วิธีส่องกล้องคล้องนิ่วในไตผ่านผิวหนัง (Percutaneous Nephrolithotomy: PCNL) เป็นการสอดกล้องผ่าตัดและอุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปด้านในเนื้อไตผ่านรูแผลขนาด 1 เซนติเมตรจำนวน 1 รูที่หลังของผู้ป่วย และคล้องนำก้อนนิ่วในไตออกมา หากก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่มาก แพทย์จะใช้อุปกรณ์สลายนิ่วให้แตกมีขนาดเล็กลงก่อน จากนั้นจึงค่อยคล้องก้อนนิ่วออกมา เหมาะต่อการสลายก้อนนิ่วมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เซนติเมตรขึ้นไป
  • วิธีส่องกล้องสลายนิ่วผ่านท่อไตผ่านท่อปัสสาวะ (Flexible Ureterorenoscopy) เป็นการสอดกล้องผ่าตัดผ่านทางท่อปัสสาวะ เข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะลึกจนถึงท่อไตเพื่อปล่อยพลังงานเลเซอร์ที่สามารถลดขนาดนิ่ว หรือทำให้นิ่วแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ ได้ จากนั้นแพทย์จะนำเศษนิ่วทั้งหมดออกจากร่างกาย เหมาะต่อการสลายก้อนนิ่วขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร และก้อนนิ่วในท่อปัสสาวะส่วนบน
  • วิธีผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดเปิดแผลทางผิวหนังเพื่อนำก้อนนิ่วออกจากไต จากนั้นเย็บปิดแผล เหมาะต่อการรักษาก้อนนิ่วทุกขนาดและทุกประเภท แต่เป็นการผ่าตัดที่มีโอกาสเจ็บแผลได้มากกว่าเทคนิคการรักษาอื่น ใช้เวลาพักฟื้นนาน และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า

โรคนิ่วในไต ป้องกันได้อย่างไร?

เราสามารถลดโอกาสเกิดก้อนนิ่วในไตได้ ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพดังต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอทุกวัน ประมาณวันละ 2 ลิตร เพื่อไม่ให้ปัสสาวะเข้มข้นเกินไป
  • งดกินอาหารรสเค็มจัด รสหวานจัด พยายามกินอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่อยู่เสมอ
  • งดกินเนื้อสัตว์มากเกินไป เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารโปรตีนมากเกินความเหมาะสมจนเสี่ยงเกิดการสะสมเป็นก้อนนิ่วได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากการออกกำลังและขยับร่างกายเสมอจะช่วยให้ก้อนนิ่วที่เป็นเม็ดเล็กหลุดออกไปจากร่างกายได้เองด้วย
  • งดการกลั้นปัสสาวะ หากปวดปัสสาวะไม่ควรกลั้นไว้นาน เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซึ่งสามารถนำไปสู่การเกิดก้อนนิ่วได้
  • กินวิตามินและแร่ธาตุเสริมภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ อย่ากินเกินปริมาณที่จำเป็นต่อร่างกาย

โรคนิ่วในไตเป็นโรคที่มักเกิดจากพฤติกรรมดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม และเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ เช่น ต้องกลั้นปัสสาวะบ่อย หรือกินอาหารเมนูซ้ำๆ เดิมๆ ไม่ได้ออกกำลังกาย

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ ควรหันกลับมาใส่ใจพฤติกรรมการกินอาหาร เลี่ยงอาหารรสจัด ดื่มน้ำให้พอ หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดก้อนนิ่วในไตลงไปได้มาก

ปวดท้องด้วย แถมปวดหลังด้วยแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นนิ่วในไตหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคนิ่วในไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top