kidney disease faq

9 ข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไต ไตวายเรื้อรัง อ่านก่อนไตเสื่อม

‘ป่วยเป็นโรคไต ต้องฟอกไตทุกคน ฉี่เป็นฟองเป็นโรคไตแน่นอน ป่วยเป็นไตไม่ต้องรักษา กินสมุนไพรบำรุงก็หาย เป็นโรคไต ต้องกินน้ำเยอะๆ’ ความเชื่อเกี่ยวกับโรคไต ไตวายเรื้อรัง เหล่านี้ มีข้อเท็จจริงแค่ไหน เรามาหาคำตอบกัน

1. โรคไต รักษาให้หายขาดได้

ตอบ: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความผิดปกติที่เกี่ยวขึ้นกับไต แบ่งได้ 2 รูปแบบหลักๆ คือ 

    • ภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Renal Failure) เป็นภาวะที่ไตสูญเสียการทำงานไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1-2 วันเท่านั้น ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ร่างกายสูญเสียสารน้ำหรือเกลือแร่อย่างรวดเร็ว รุนแรง ร่างกายได้รับสารพิษ หรือติดเชื้อรุนแรง ฯลฯ โดยภาวะไตวายเฉียบพลันนี้ หากรักษาอย่างถูกวิธี และทันเวลา ไตก็จะเริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติได้
    • โรคไตวายเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นภาวะที่ไตค่อยๆ เสื่อมการทำงานลงอย่างช้าๆ มักใช้เวลานานเป็นปีๆ เกิดจากหลายสาเหตุเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่มักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ซึ่งการเสื่อมในรูปแบบนี้ ไตจะไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ ต้องใช้วิธีรักษาโดยการประคับประคองอาการ ให้ไตเสื่อมลงช้าที่สุด

โดยโรคไตวายเรื้อรังนี้เอง คือโรคที่เรารู้จักกันดี และจากสถิติในปี 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคนี้สูงถึง 11 ล้านคน

2. ป่วยเป็นโรคไต ไม่ต้องกินยา รักษาด้วยสมุนไพรบำรุงไต ปลอดภัยกว่า รักษาหายขาด

ตอบ: ไม่เป็นความจริง และหากทำเช่นนี้อาจยิ่งทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย เนื่องจากไตของเรา มีหน้าที่สำคัญคือ กำจัดของเสียต่างๆ ผ่านทางปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี วิตามินหรือเกลือแร่ที่เกินความจำเป็นต่อร่างกาย

ทั้งนี้ตามปกติไตจะเสื่อมการทำงานลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยไม่สามารถฟื้นกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิม ฉะนั้นการรับประทานยาสมุนไพรที่เชื่อว่ามีฤทธิ์บำรุง บำบัด หรือฟื้นฟูไต เช่น ถั่งเช่า เห็ดหลินจือ โสม แปะก๊วย หญ้าหวาน มะระขี้นก ฯลฯ ไม่สามารถรักษาโรคไตวายเรื้อรังได้

นอกจากนี้สมุนไพรบางชนิด คิดเป็นประมาณ ​10-20% ของสมุนไพรทั้งหมด ยังเป็นพิษต่อไต หากรับประทานมาก จะยิ่งทำให้การทำงานของไตเสื่อมเร็วขึ้นอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นกระบวนการผลิตยาสมุนไพรส่วนใหญ่ ยังอาจมีการปนเปื้อนของสารแปลกปลอม 

ทางที่ดีหากตรวจพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางและรับประทานยา ปรับพฤติกรรมตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย

3. กินยาเบาหวาน ยาประจำตัว ทำให้ไตเสื่อมเร็ว ควรหยุดยาบ้าง เพื่อชะลอไตเสื่อม

ตอบ: ไม่เป็นความจริง เนื่องจากยาโรคประจำตัวของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ มีการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยอย่างยาวนานว่ามีความปลอดภัยสูง และก่อนสั่งจ่ายยาทุกชนิด แพทย์เจ้าของไข้จะมีการประเมินแล้วว่าผู้ป่วยโรคไตสามารถรับประทานยานี้ได้อย่างปลอดภัย

การหยุดยาเองทุกชนิด โดยปราศจากคำสั่งของแพทย์อาจมีความเสี่ยงถึงชีวิตได้ เช่น การหยุดยาโรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้เส้นเลือดในสมองหรือเส้นเลือดหัวใจ ตีบ แตกได้อย่างฉับพลัน หรือการหยุดยาโรคเบาหวาน จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น อาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และเป็นอันตรายถึงชีวิต 

นอกจากนี้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาโรคเบาหวาน ยังส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคไตด้วย เนื่องจากยาออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจะช่วยลดความดันโลหิตในระยะยาว เป็นผลดีต่อไต ชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าลงด้วย และปัจจุบันยังมียาเบาหวานกลุ่มใหม่ๆ ที่มีงานวิจัยรองรับว่า ช่วยป้องกันการเกิดภาวะไตเสื่อม โดยจะช่วยลดภาวะโปรตีนรั่วได้ด้วย

ดังนั้นผู้ป่วยโรคไต ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย จึงไม่ควรหยุดหรือปรับลดยาเองโดยเด็ดขาด

4. ปวดหัว เป็นไข้ ป่วยนิดหน่อย ไม่ต้องไปหาหมอ กินยาชุดเดี๋ยวก็หาย นานๆ กินที ไม่เสี่ยงโรคไต

ตอบ: หลายคนที่มีอาการป่วย มักไม่ค่อยไปพบแพทย์ เพราะคิดว่าไม่อยากเสียเวลา ไม่อยากลางาน แค่ซื้อยาชุดตามร้านขายยาก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว การกินยาชุด เป็นการเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคไต

เนื่องจากยาชุดส่วนใหญ่ ไม่ได้จัดโดยบุคลากรทางการแพทย์ และจะจัดเป็นชุดๆ ให้กินพร้อมกันครั้งละหลายเม็ด ซึ่งมักประกอบไปด้วยยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ซ้ำๆ กัน ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาเกินขนาด โดยหากได้รับปริมาณที่มากและนานพอ ก็จะทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น

นอกจากนี้ยาชุดประมาณ 30% ที่พบในท้องตลาด ยังมีสารสเตียรอยด์เจือปน ซ้ำยังตรวจพบบ่อยๆ ว่ายาชุดเหล่านี้ ไม่ได้คุณภาพ หรือหมดอายุอีกด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้ไตทำงานหนักขึ้นในการขับสารแปลกปลอม หรือสารพิษออกจากร่างกาย จึงถือว่าเป็นยาต้องห้าม ที่ทั้งคนทั่วไปและผู้ป่วยโรคไตไม่ควรรับประทาน

หากมีอาการป่วยแม้เพียงเล็กน้อย ควรไปพบแพทย์ หรือปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาที่ได้มาตรฐาน จะปลอดภัยที่สุด

5. ฉี่เป็นฟอง สัญญาณโรคไต 100%

ตอบ: ไม่จริงเสมอไป ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง อาจจะมีอาการฉี่เป็นฟองหรือไม่ก็ได้ โดยอาการฉี่เป็นฟองนั้นมีสาเหตุมาจากโปรตีนรั่วออกจากเส้นเลือดฝอยของไต และขับออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งผู้ป่วยโรคไตบางรายก็อาจไม่พบอาการนี้

ขณะเดียวกัน อาการฉี่เป็นฟองก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือฉี่เป็นฟองหลังมีเพศสัมพันธ์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโรคไตเลย

ฉะนั้นหากมีอาการฉี่เป็นฟองที่ผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดจะปลอดภัยที่สุด

6. ดื่มน้ำเยอะๆ ดีต่อไต

ตอบ: การดื่มน้ำมากๆ ประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน ถือเป็นสิ่งที่ดีต่อร่างกาย เพื่อช่วยปรับสมดุลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ

แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไตในระยะท้ายๆ หรือระยะที่ 4 ขึ้นไป จำเป็นต้องมีการควบคุมหรือจำกัดปริมาณ เนื่องจากไตอาจจะไม่สามารถขับน้ำออกจากร่างกายได้เต็มประสิทธิภาพ หากดื่มน้ำมากเกินไปอาจจะเป็นอันตรายได้ 

โรคไต ไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง มีกี่ระยะ? รู้จักโรคไตเพิ่มขึ้น อ่านต่อคลิกเลย

โดยจะทำให้น้ำคั่งในร่างกายมากขึ้น เกิดอาการขาบวม ตัวบวม หน้าบวม น้ำหนักขึ้นผิดปกติ หากเกิดการคั่งค้างมากๆ อาจมีอาการน้ำท่วมปอด หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้

ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำเป็นต้องปรับปริมาณการดื่มน้ำตามคำแนะนำของแพทย์เจ้าของไข้อย่างใกล้ชิด 

7. ป่วยเป็นไต ต้องกินผัก ผลไม้เยอะๆ จะได้แข็งแรง 

ตอบ: เช่นเดียวกันกับการดื่มน้ำ หากเป็นคนปกติทั่วไป ก็สามารถรับประทานผักและผลไม้ได้ตามปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต จำเป็นต้องมีความระมัดระวังค่อนข้างมาก

เนื่องจากอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของไตคือการรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในเลือด เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อไรก็ตามที่ไตเสื่อมการทำงานลง ความสามารถในการรักษาสมดุล ขับเกลือแร่ ออกจากร่างกาย ก็จะเสื่อมลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ผัก และผลไม้บางชนิด ก็มีปริมาณโพแทสเซียมสูง ซึ่งโพแทสเซียมนี้เองเป็นแร่ธาตุที่ส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง (โดยเฉพาะในระยะท้ายที่ต้องฟอกเลือด) ต้องระมัดระวังและจำกัดปริมาณการรับประทานเป็นพิเศษ 

ทั้งนี้ผัก ที่ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดปริมาณ​ จะอยู่ในกลุ่มผักใบเขียว และพืชหัวบางชนิด เช่น คะน้า กวางตุ้ง ดอกกะหล่ำ บล็อกโคลี่ ผักโขม ฟักทอง แครอท มันเทศ มันฝรั่ง เผือก 

ส่วนผลไม้ เช่น มะม่วง กล้วย ขนุน ทุเรียน มะขามหวาน ลำไย แคนตาลูป น้ำมะพร้าว มะเฟือง เป็นต้น

โรคไต ห้ามกินอะไร? กินอะไรได้บ้าง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ที่ควรเลี่ยง อ่านต่อ คลิกเลย

8. ผู้ป่วยโรคไต ต้องฟอกไตทุกคน

ตอบ: ไม่จริงเสมอไป หากตรวจพบโรคไตในระยะเริ่มแรก ที่ไตยังเสื่อมการทำงานไม่มาก และผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสม ก็สามารถชะลอการเสื่อมของไตออกไปได้ และอาจไม่จำเป็นต้องฟอกไตเลยก็ได้

ทั้งนี้เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ประเมินว่า ควรฟอกไตแล้วหรือยัง คือ ดูจากค่าอัตราการกรองของเสียของไต หรือ eGFR (Estimated Glomerular Filtration Rate) หากค่า eGFR น้อยกว่า 15 หน่วย มล./นาที/1.73 ตร.ม. หรือไตวายเรื้อรังระยะที่ 5 แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการฟอกไต

9. ไม่กินเค็ม ไม่เป็นโรคไต

ตอบ: จริงบางส่วน อย่างที่ทราบกันว่า พฤติกรรมการกินเค็มเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคไต เพราะการรับประทานเกลือโซเดียม (หรือเกลือแกงที่เราคุ้นเคย) ที่มากเกินไป ไตก็ต้องทำงานหนักขึ้นในการเร่งขับโซเดียมออก เพื่อรักษาสมดุลร่างกาย

ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่า แค่ลดเค็มลง เช่น ลดปริมาณเกลือ ซีอิ๊ว น้ำปลา ซอสปรุงรส ฯลฯ ที่ใช้ปรุงอาหารก็เพียงพอ แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอาหารอีกหลากหลายชนิดที่มีโซเดียมแอบแฝงอยู่

โดยเฉพาะอาหารแปรรูป จำพวก ไส้กรอก แฮม หมูยอ กุนเชียง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมซองขบเคี้ยวทุกชนิด รวมไปถึงของหมักดองทุกชนิด เช่น ไข่เค็ม ปลาเค็ม ผักกาดดอง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม 

อาหารเหล่านี้ มักมีการใช้เกลือปริมาณมาก เพื่อเพิ่มรสชาติ รวมทั้งยืดอายุผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้เราได้รับโซเดียมในปริมาณที่มากเกินกำหนด ซึ่งกระทบต่อไตโดยตรง

นอกจากปัจจัยเรื่องการกินอาหารแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคไตอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น 

  • มีโรคประจำตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกิน โรคเก๊าท์ โรคแพ้ภูมิตัวเอง 
  • เกิดความผิดปกติที่ไต เช่น โรคไตอักเสบ โรคถุงน้ำที่ไต หรือมีภาวะหลอดเลือดฝอยในไตอักเสบ 
  • เป็นโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ที่มีเกิดการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือมีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะบ่อยครั้ง 
  • มีภาวะไตผิดปกติ หรือไม่สมบูรณ์ตั้งแต่กำเนิด เช่น มีไตข้างเดียว ไตฝ่อ เป็นต้น
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือ มีโรคไตอักเสบ หรือถุงน้ำในไต
  • ดื่มน้ำน้อย เกิดภาวะขาดน้ำจนไตทำงานบกพร่อง
  • รับประทานยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ติดต่อกันเป็นเวลานาน 

ฉะนั้นแล้ว แม้การลดเค็มจะเป็นเรื่องที่ดีต่อไต แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะห่างไกลจากโรคไตโดยสมบูรณ์ ควรปรับพฤติกรรมอื่นๆ ที่เร่งให้ไตเสื่อมลงควบคู่กันไปด้วย

เรื่องที่คุณรู้มาเกี่ยวกับโรคไต เป็นเรื่องจริงไหม? อยากคุยกับคุณหมอ สอบถามให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top