12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IVF scaled

12 เรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IVF

การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization, IVF) เพื่อรักษาภาวะมีบุตรยาก เป็นวิธีการรักษาผู้มีบุตรยากยอดนิยมและหลายคนให้ความสนใจ เพราะมีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จมากกว่าการฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูก และยังสามารถตรวจโครโมโซมได้ ในบทความนี้เราจึงรวบรวมเรื่องที่คนอยากรู้และเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IVF มาฝาก

เรื่องที่คนอยากรู้เกี่ยวกับการทำ IVF

สารบัญ

1. การรักษาผู้มีบุตรยากด้วยวิธี IVF เหมาะกับใคร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร

ตอบ: IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เป็นที่นิยม เป็นการนำสเปิร์มและไข่ออกมาทำการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ ตามด้วยการฝังตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์ ถือเป็นวิธีการที่มีความซับซ้อนกว่าการทำ IUI โดยใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ตั้งแต่การเตรียมตัว การเก็บไข่จนถึงการตั้งครรภ์

  • เหมาะสำหรับ: ฝ่ายชายที่อสุจิไม่แข็งแรง หรือฝ่ายหญิงที่ท่อนำไข่อุดตัน เคยทำหมันโดยตัดท่อนำไข่ หรือคู่ที่มีโรคทางพันธุกรรม
  • ข้อดี: ตรวจโครโมโซมได้ ลดความผิดปกติทางพันธุกรรมได้
  • ข้อจำกัด: ราคาสูง มีโอกาสติดเชื้อ อาจเกิดลูกแฝด หรือคลอดก่อนกำหนด หรือท้องนอกมดลูก
  • โอกาสท้อง: ผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี ประมาณ 18-43% ส่วนผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป 13-18%

เช็คโปรฯ รักษาภาวะมีบุตรยาก พร้อมเปรียบเทียบราคา และแพ็กเกจพิเศษ คลิกเลย

2. การทำ IVF และ ICSI แตกต่างกันอย่างไร

ตอบ: การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) และการฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ หรือ อิ๊กซี่ (ICSI) แม้จะมีวิธีคล้ายกัน นั่นคือการนำไข่และอสุจิออกมาปฏิสนธินอกร่างกาย แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว

สำหรับการทำ IVF เป็นการปล่อยให้อสุจิและไข่ผสมกันเองตามธรรมชาติ ส่วนการทำ ICSI นั้นเป็นการคัดเชื้ออสุจิที่แข็งแรงสมบูรณ์ที่สุดเพียงหนึ่งตัวแล้วฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง

3. ผู้หญิงทำหมันแล้ว สามารถทำ IVF ได้หรือไม่

ตอบ: ผู้หญิงที่ทำหมันแล้ว สามารถทำ IVF ได้ เนื่องจากการทำหมันของในผู้หญิง เป็นการผูก รัด หนีบ หรือตัดท่อนำไข่ทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้อสุจิสามารถว่ายผ่านไปปฏิสนธิกับไข่ 

ฉะนั้นแม้ว่าจะไม่มีท่อนำไข่แล้ว ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะการทำ IVF นั้นไม่ต้องอาศัยท่อนำไข่ในการทำให้เกิดการตั้งครรภ์ แต่เป็นการปฏิสนธินอกร่างกาย โดยการนำไข่และอสุจิผสมกัน เพาะเลี้ยงจนเป็นตัวอ่อน แล้วจึงนำตัวอ่อนฉีดกลับเข้าสู่โพรงมดลูก

4. ทำไมต้องย้ายตัวอ่อนในวันที่ 5

ตอบ: การที่ตัวอ่อนที่ถูกเลี้ยงและเติบโตมาได้จนถึงวันที่ 5 ในระยะบลาสโตซิสต์ (Blastocyst) แล้วรอดชีวิต แสดงว่า ตัวอ่อนมีการเจริญเติบโตปกติ เป็นตัวอ่อนที่แข็งแรงและมีคุณภาพดี เมื่อย้ายกลับไปใส่ในโพรงมดลูกจะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ การเก็บตัวอ่อนในวันที่ 5 ถือเป็นการเลียนแบบการเจริญเติบโตของตัวอ่อน จากการตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ ระยะนี้จะเป็นระยะที่ตัวอ่อนเดินทางมาฝังตัวอยู่ที่โพรงมดลูก 

5. หลังจากย้ายตัวอ่อนกลับมาใส่มดลูกแล้ว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ตอบ: หลังจากย้ายตัวอ่อนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกแล้ว คุณแม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ไม่ควรทำกิจกรรมผาดโผน หรือกิจกรรมที่ต้องออกแรง หรือเคลื่อนไหวร่างกายหนักๆ งดการยืนหรือเดินมากเกินไป ทางที่ดีควรนอนพักผ่อนให้มาก ในช่วง 3-5 วันแรก 

6. การตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVF มีวิธีการดูแลครรภ์ต่างจากการตั้งครรภ์ธรรมชาติอย่างไร

ตอบ: การตั้งครรภ์ด้วยวิธี IVF ต้องมีวิธีการดูแลครรภ์ต่างจากการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติในช่วงแรกๆ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้ยาหรือฮอร์โมน ประมาณ 4-6 สัปดาห์แรก และต้องเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจเลือด วัดระดับฮอร์โมน และอัลตราซาวด์บ่อยกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติเล็กน้อย แต่หลังจากสัปดาห์ที่ 10 เป็นต้นไป สามารถดูแลการตั้งครรภ์เหมือนการท้องตามธรรมชาติได้เลย

7. สามารถรู้เพศลูกล่วงหน้าได้เมื่อไหร่

ตอบ: การทำ IVF สามารถรู้เพศลูกล่วงหน้าได้ ในช่วงที่ตัวอ่อนอยู่ในหลอดทดลอง 3-5 วัน ซึ่งในช่วงเวลานั้นจะสามารถตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมระยะก่อนฝังตัว (PGD)* ได้ และสามารถรับรู้เพศของลูกล่วงหน้าได้ด้วย

*การตรวจ PGD (Preimplantation Genetic Diagnosis) เหมาะสำหรับคู่ที่มีโรคทางพันธุกรรม หรือฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งมีแนวโน้มว่าลูกอาจมีความผิดปกติทางพันธุกรรม

8. ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้การทำ IVF ประสบความสำเร็จ

ตอบ: ความสำเร็จจากการทำ IVF ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนและคุณภาพของไข่ที่กระตุ้นได้และเก็บได้ในแต่ละรอบ คุณภาพของอสุจิ คุณภาพของตัวอ่อน โครโมโซม ความหนาและความเรียบของเยื่อบุโพรงมดลูก สุขภาพและอายุของฝ่ายหญิง 

ยังลังเลใช่ไหม ไม่รู้ว่าควรรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยวิธีไหนดี ไม่แน่ใจว่า วิธีไหนจะเพิ่มโอกาสท้องได้ดีที่สุด นัดคุยกับคุณหมดเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ IVF

9. การตั้งครรภ์โดยวิธี IVF มีความเสี่ยงแท้งง่ายกว่าปกติใช่ไหม

ตอบ: ความเสี่ยงในการแท้งบุตรของการตั้งครรภ์โดยวิธี IVF กับวิธีการทางธรรมชาตินั้น ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นัก เพราะการแท้งไม่ได้มีสาเหตุมาจากวิธีการที่ทำให้ตั้งครรภ์ แต่มีผลมาจากปัจจัยอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แพทย์ที่ดูแลจะช่วยประเมินความเสี่ยง โดยสอบประวัติ ตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรม และการติดตามการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยในการพิจารณาความเสี่ยงและให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม

10. อยากมีลูกแฝด ทำ IVF แล้วจะปลอดภัย เสี่ยงน้อยกว่าหรือเปล่า

ตอบ: จริงอยู่ว่า การตั้งครรภ์ลูกแฝดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้วหรือ IVF แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์แฝด เช่น เมื่อแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย ตัวเหลืองตาเหลือง มีปัญหาด้านการรับสารอาหาร มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 

นอกจากนี้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์แฝดก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้ เช่น แพ้ท้องรุนแรง มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีอาการครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด 

ดังนั้น คุณหมอจึงไม่แนะนำให้ตั้งท้องลูกแฝดเวลาทำเด็กหลอดแก้ว เพราะเด็กมีโอกาสเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีร่างกายไม่สมบูรณ์มากกว่าการท้องแฝดธรรมชาติ 

11. เด็กหลอดแก้วจะอ่อนแอ ป่วยง่ายกว่าเด็กทั่วไปหรือเปล่า

ตอบ: หลายคู่กังวลว่า การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF จะส่งผลให้เด็กที่เกิดมาอ่อนแอ ป่วยง่าย แต่ความจริงแล้วเด็กที่เกิดขึ้นจากการปฏิสนธิภายนอกนั้นจะมีความแข็งแรงเท่ากับเด็กที่ตามธรรมชาติ 

เพราะในทุกขั้นตอนที่ทำให้เกิดการปฏิสนธินั้น แพทย์จะคัดเลือกไข่และน้ำเชื้อที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดมาปฏิสนธิกัน ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า เด็กที่เกิดมาจะไม่เป็นเด็กอ่อนแอและป่วยง่าย

12. เด็กหลอดแก้วมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมมากกว่าปกติจริงไหม

ตอบ: ในกระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF นั้น จะสามารถตรวจคัดกรองโครโมโซมของตัวอ่อนก่อนการฝังตัวได้ ซึ่งจะช่วยลดอัตราเสี่ยงของทารกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย กล้ามเนื้อลีบ 

เชื่อว่า หลายคู่น่าจะหมดกังวลและคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีการ IVF นอกจากนี้ยังสามารถตัดสินใจได้ง่ายมากยิ่งขึ้นว่า เราและคู่รักเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ 

ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top