“เหงื่อออก” เป็นกลไกของร่างกายที่ช่วยลดความร้อน เวลาที่เราอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน ออกกำลังกาย มีไข้ กินอาหารรสเผ็ด หรือแม้แต่เวลาที่เครียดหรือตื่นเต้น มักจะมีเหงื่อออกได้ง่ายเป็นธรรมดา ซึ่งเหงื่อจะเป็นตัวช่วยนำพาความร้อนออกจากร่างกายของเรา
แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มีเหงื่อออกมากผิดปกติ หรือมีเหงื่อออกมากเฉพาะบริเวณ โดยเฉพาะที่ฝ่ามือ นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในร่างกายของเราอยู่
สารบัญ
ภาวะเหงื่อออกมือมากคืออะไร?
ภาวะเหงื่อออกมือมาก (Hyperhidrosis) คือ อาการที่มีเหงื่อออกมากบริเวณฝ่ามือ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศร้อน อาการไข้ การออกกำลังกาย การกินอาหารรสเผ็ด บางรายมีเหงื่อออกมาเป็นหยดในปริมาณมากจนสังเกตเห็นได้
ภาวะเหงื่อออกมือมากนี้พบได้ค่อนข้างมาก ประมาณ 3% ของประชากร แต่ระดับความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันออกไป
แม้ว่าภาวะเหงื่อออกมือมากอาจดูเหมือนเรื่องเล็ก แต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำงานพอสมควร เช่น มีเหงื่อออกมากในขณะขับรถ เขียนหนังสือ ทำงานเอกสาร หรืองานที่ต้องใช้มือมากๆ เช่น ช่างฝีมือ หมอนวด กราฟิกดีไซเนอร์
นอกจากนี้อาจยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย เช่น จับมือหรือสัมผัสผู้อื่นแล้วขาดความมั่นใจ ดังนั้น หากมีอาการเหงื่อออกมือมากผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางรักษา
เหงื่อออกมือมากขนาดไหน เรียกว่าผิดปกติ?
หลายคนอาจสงสัยว่า อาการเหงื่อออกมือที่เราเป็นอยู่นั้นผิดปกติหรือไม่ ลองมาดูกันว่า อาการเหงื่อออกมือแบบไหนที่ควรปรึกษาแพทย์
- เหงื่อออกบริเวณฝ่ามือและนิ้วมือทั้งสองข้างมากผิดปกติ เช่น ไหลเป็นหยดหรือเป็นน้ำจนมือเปียกโชก และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
- เหงื่อออกบริเวณฝ่ามือมากกว่าคนปกติ ทั้งที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน หรือเป็นอาการเหงื่อออกโดยไม่สัมพันธ์กับปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอากาศร้อน อาการไข้ การออกกำลังกาย การกินอาหารรสเผ็ด ความเครียด หรือตื่นเต้น
- เหงื่อออกบริเวณฝ่ามือมากตั้งแต่ก่อนอายุ 25 ปี
- เหงื่อออกฝ่ามือมาก ร่วมกับอาการผิดปกติของโรคต่างๆ เช่น มีเหงื่อออกมือมาก ร่วมกับอาการหิว และใจสั่น ซึ่งเป็นอาการของโรคเบาหวาน มีเหงื่อออกมือมากโดยเฉพาะตอนกลางคืน โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- เหงื่อออกบริเวณฝ่ามือมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ส่งผลกับความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ทำให้ขาดความมั่นใจ หรือไม่กล้าเข้าสังคม
เหงื่อออกมือบ่อยๆ เป็นเรื่องผิดปกติหรือเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน ได้ ที่นี่
ภาวะเหงื่อออกมือมาก เกิดจากสาเหตุใด?
ภาวะเหงื่อออกมือมาก เกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งสาเหตุของการเกิดได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- ภาวะความผิดปกติในร่างกาย: ภาวะเหงื่อออกมือมากของคนในกลุ่มนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย หรือเป็นผลข้างเคียงของโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โรคเครียดหรือวิตกกังวล
- การทำงานผิดปกติของประสาทอัตโนมัติ: ในบางรายที่มีภาวะเหงื่อออกมือมาก พบว่า เกิดจากความผิดปกติของประสาทอัตโนมัติ ที่ไม่สามารถควบคุมต่อมเหงื่อที่ออกตามบริเวณต่างๆ ของร่างกายได้ รวมไปถึงโรคจากระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคมะเร็งระบบประสาท
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา: ภาวะเหงื่อออกมือมาก ในบางครั้งอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิด เช่น Fluoxetine, Venlafaxine, Doxepin
- ไม่ทราบสาเหตุ: บางรายมีภาวะเหงื่อออกมือมาก โดยที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติใน 3 ข้อข้างต้น มักมีเพียงอาการเดียว คือ มีเหงื่อออกเฉพาะจุดมากผิดปกติ ส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มคนอายุน้อย บางรายพบว่า มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม คือมีญาติสายตรง หรือพ่อแม่ที่มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
ภาวะเหงื่อออกมือมาก รักษาอย่างไร
ภาวะเหงื่อออกมือมาก รักษาได้หลากหลายวิธี ดังนี้
-
- ทายาลดเหงื่อ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่มาก โดยยาลดเหงื่อนี้จะอยู่ในกลุ่มอลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminum Chloride) 20-30 เปอร์เซ็นต์ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขับเหงื่อมากเกินไป แต่เป็นการรักษาชั่วคราว หากหยุดทาจะกลับมาเป็นได้อีก
- กินยาลดเหงื่อ การกินยาในกลุ่มแอนตีโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) เพื่อช่วยต้านการทำงานของต่อมเหงื่อ ช่วยให้เหงื่ออกน้อยลง แต่อาจมีผลข้างเคียงตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง และท้องผูก
- ฉีดโบท็อกซ์ โดยโบท็อกซ์จะเข้าไปทำหน้าที่ลดการทำงานของประสาทอัตโนมัติที่จะสั่งการให้ต่อมเหงื่อทำงาน หลังจากฉีด 2-3 วัน จะเริ่มเห็นผล โดยมากมักจะคุมอาการได้ประมาณ 3-6 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องมาฉีดซ้ำ
- การผ่าตัดรักษาเหงื่อออกมือ เป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ช่วยรักษาภาวะเหงื่อออกมือมากให้หายขาดได้ โดยจะผ่าตัดส่องกล้องเข้าไปจี้ทำลายปมประสาทอัตโนมัติ ซิมพาเทติก (Sympathetic Nervour System) ออก ทำให้ไม่มีเหงื่อออกมืออีกต่อไป นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ เจ็บน้อย มีแผลขนาดเล็ก และฟื้นตัวไว
ภาวะเหงื่อออกมือมาก นอกจากจะสร้างความรำคาญใจในการใช้ชีวิตแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณที่เตือนให้รู้ว่า ร่างกายของเรากำลังเกิดความผิดปกติได้อีกด้วย ดังนั้น หากพบว่า ตัวเองมีภาวะเหงื่อออกมือมาก แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อหาทางรักษา
ใครที่เหงื่อออกมือมาก จนส่งผลต่อชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว จนเริ่มขาดความมั่นใจ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย พร้อมช่วยคุณทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาภาวะเหงื่อออกมือมาก จากโรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย