ข้อสะโพกเสื่อม เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ที่อายุ 55-60 ปีขึ้นไป สาเหตุอาจมาจากความเสื่อมที่เกิดขึ้นเองตามอายุ และ/หรือมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น แรงกดลงบนข้อสะโพก ซึ่งอาจมาจากน้ำหนักตัวหรือการยกสิ่งของ การเคลื่อนไหวในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะอย่างซ้ำๆ ไปจนถึงโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ซึ่งทำให้กระดูกอ่อนที่ข้อสะโพกสึกหรอ จนไม่สามารถทำหน้าที่ห่อหุ้มปกป้องกระดูกข้อสะโพกได้อีกต่อไป
กระดูกข้อสะโพกส่วนหัวกับส่วนเบ้าจึงเสียดสีกัน ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ นำไปสู่อาการเจ็บ ปวด ข้อติด เคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจยิ่งเป็นมากขึ้นจนส่งผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน
บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับโรคข้อสะโพกเสื่อมแบบเจาะลึกทุกแง่มุม เพื่อให้รู้เท่านั้น และป้องกันได้
สารบัญ
- 1. ปวดตรงไหน เป็นสัญญาณบอกข้อสะโพกเสื่อม?
- 2. ข้อสะโพกเสื่อม รักษาด้วยตนเองได้ไหม ต้องทำยังไง?
- 3. กินคอลลาเจน ช่วยป้องกันหรือรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมได้หรือไม่?
- 4. กายภาพท่าไหน ช่วยข้อสะโพกเสื่อม?
- 5. อาการแบบไหนที่บอกว่าจำเป็นต้องหาหมอได้แล้ว?
- 6. ท่าออกกำลังกายที่ไม่ควรทำ เมื่อเป็นข้อสะโพกเสื่อม?
- 7. เป็นข้อสะโพกเสื่อม ไปนวดได้ไหม?
- 8. ทำอย่างไรถึงจะป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อม?
1. ปวดตรงไหน เป็นสัญญาณบอกข้อสะโพกเสื่อม?
ตอบ: โรคข้อสะโพกเสื่อมระยะแรก อาจไม่มีอาการแสดงใดๆ เพราะกระดูกอ่อนบริเวณยังเหลือมากพอให้ข้อสะโพกทำงานได้ตามปกติ หรืออาจจะแสดงอาการเฉพาะวันที่ทำกิจกรรมหนักกว่าปกติ เช่น เดิน วิ่ง ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
เมื่อกระดูกอ่อนบริเวณข้อสะโพกสึกหรอมากขึ้น อาจสังเกตพบอาการผิดปกติ โดยไม่ได้จำกัดที่บริเวณสะโพกเท่านั้น อาการดังกล่าวได้แก่
- ปวดรอบๆ ข้อสะโพก ขาหนีบ ก้น ด้านหน้าของขาอ่อน หรือปวดเข่า และยิ่งเป็นมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
- ข้อสะโพกตึงหรือติดแข็ง โดยเฉพาะตอนเช้าหรือหลังจากนั่งเป็นเวลานานๆ
- กล้ามเนื้อก้นอ่อนแรง
- เคลื่อนไหวลำบาก จะสังเกตได้ชัดเวลาขึ้น-ลงบันได ลุกขึ้นจากเตียง เก้าอี้ หรือลงจากรถ
- มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาลุกหรือนั่ง (แสดงถึงกระดูกเสียดสีกัน)
อาการเหล่านี้อาจเกิดที่ข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย หรืออาจเป็นที่อวัยวะใดอวัยวะหนึ่งก่อน แล้วค่อยลามไปอวัยวะอื่นๆ
ถ้าสังเกตพบความผิดปกติดังกล่าว แล้วไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรรอให้อาการต่างๆ หายไปเอง เพราะยิ่งวินิจฉัยแยกโรคได้เร็ว ทางเลือกในการรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยก็ยิ่งมีมาก
2. ข้อสะโพกเสื่อม รักษาด้วยตนเองได้ไหม ต้องทำยังไง?
ตอบ: กระดูกอ่อนตามข้อต่อของร่างกายสามารถซ่อมแซมตัวเองได้บ้างเล็กน้อย แต่ถ้ากระดูกอ่อนนั้นสึกหรอไปจนถึงจุดหนึ่ง ก็จะไม่สามารถรักษาให้กลับมาดีดังเดิม ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วโรคข้อสะโพกเสื่อมจึงไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยตัวเอง
อย่างไรก็ตาม มีวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการโรคข้อสะโพกเสื่อม ทำให้อาการเจ็บปวดน้อยลง การเคลื่อนไหวเป็นไปได้ดีขึ้น และช่วยชะลอความจำเป็นของการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมให้ช้าออกไปได้ วิธีที่ว่านี้ ได้แก่
- ปรับพฤติกรรมเพื่อลดการลงน้ำหนักที่ข้อต่อสะโพก เช่น เคลื่อนไหวร่างกายเบาๆ ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงขณะเดิน ลดน้ำหนัก
- ประคบร้อนบริเวณสะโพก เพื่อคลายความแข็งตึงของข้อต่อ
- ประคบเย็นบริเวณสะโพก เพื่อลดการอักเสบ
- ทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
3. กินคอลลาเจน ช่วยป้องกันหรือรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมได้หรือไม่?
ตอบ: คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน เส้นเอ็น และในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน คอลลาเจนยังมีความสำคัญต่อหลายกระบวนการในร่างกาย เช่น การซ่อมแซมเนื้อเยื่อ การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน การสื่อสารระหว่างเซลล์ การเคลื่อนที่ของเซลล์
ตามปกติร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์คอลลาเจนเองได้ แต่จะสังเคราะห์ได้น้อยลงเมื่อเราอายุมากขึ้น ปัจจุบันมีทางเลือกเพิ่มขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์เสริมคอลลาเจนในรูปแบบผงชง แคปซูล และเม็ด ให้บริโภคได้ง่าย โดยอาจใช้วัตถุดิบผลิตคอลลาเจนจากสัตว์
มีงานศึกษาพบว่า การบริโภคคอลลาเจนอาจช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก เส้นเอ็น และกระดูกอ่อนได้ จึงอาจส่งผลช่วยชะลอความรุนแรงของโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าคอลลาเจนชนิดใดให้ประโยชน์มากที่สุดต่อการบรรเทาอาการของโรคนี้
ปริมาณคอลลาเจนที่สามารถบริโภคได้ต่อวันโดยไม่เป็นอันตรายและได้ผลดี ควรอยู่ระหว่าง 2.5-15 กรัม ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมที่ต้องการกินคอลลาเจนเพื่อบรรเทาอาการของโรค อาจปรึกษาแพทย์ประจำตัวถึงผลดี-ผลเสีย และสอบถามถึงปริมาณบริโภคที่พอเหมาะ เนื่องจากแต่ละคนมีภาวะสุขภาพและความรุนแรงของโรคต่างกัน สิ่งที่ควรระวังจึงอาจแตกต่างกันไปด้วย
4. กายภาพท่าไหน ช่วยข้อสะโพกเสื่อม?
ตอบ: การทำกายภาพบำบัดที่ช่วยบรรเทาอาการข้อสะโพกเสื่อม มักประกอบด้วยการยืดเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกและขาหนีบ ร่วมกับเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียง
ท่าที่นักกายภาพบำบัดอาจแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม ได้แก่
- ยืดกล้ามเนื้อสะโพกด้านหลัง เริ่มจากการนอนหงาย งอเข่าข้างหนึ่งขึ้นแล้วใช้มือช่วยดึงเข้ามาชิดอก ค้างไว้โดยนับ 1-20 จากนั้นสลับข้าง
- ยืดกล้ามเนื้อสะโพกด้านข้าง เริ่มจากการนอนหงาย ตั้งเข่าซ้ายขึ้น เอามือขวาดึงเข่าให้พับไปทางขวาโดยพยายามให้ไหล่ซ้ายยังราบติดกับที่นอน ค้างไว้โดยนับ 1-20 แล้วสลับข้าง
- ยืดกล้ามเนื้อสะโพกด้านหน้า เริ่มจากคุกเข่า จากนั้นตั้งขาขวาขึ้นมาให้หัวเข่าตั้งฉาก แล้วค่อยๆ โน้มตัวงอเข่าไปด้านหน้า ค้างไว้โดยนับ 1-20 จากนั้นสลับข้าง
- ยืดกล้ามเนื้อด้านในขาหนีบ วิธีทำคือยืนโดยกางขาเล็กน้อย ปลายเท้าชี้ออกจากกัน จากนั้นงอเข่าขวาแล้วค่อยๆ โน้มตัวไปด้านขวา ให้ขาซ้ายเหยียดตรง ค้างไว้โดยนับ 1-20 จากนั้นเปลี่ยนข้าง
- เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เริ่มจากนอนตะแคงทางซ้าย งอเข่าทั้งสองข้างขึ้นมาเล็กน้อย จากนั้นเปิดเข่าขวาขึ้นให้สูงระดับประมาณหัวไหล่ ค้างไว้โดยนับ 1-3 แล้วค่อยๆ วางเข่าลงที่เดิมช้าๆ จากนั้นเปลี่ยนข้าง
- เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ เริ่มจากนอนหงาย งอเข่าทั้งสองข้างตั้งไว้ วางแขนสองข้างราบข้างลำตัว จากนั้นให้ยกก้นขึ้นลงช้าๆ
เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อรับการตรวจสอบสภาพร่างกายก่อน โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยวางแผนการทำกายภาพบำบัดให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน บางกรณีอาจแนะนำแนวทางการออกกำลังกายแบบอื่นๆ เช่น ออกกำลังกายในน้ำ ออกกำลังกายโดยมีผู้ช่วย หรืออาจใช้อุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดร่วมด้วย
5. อาการแบบไหนที่บอกว่าจำเป็นต้องหาหมอได้แล้ว?
ตอบ: อาการเจ็บปวดตามอวัยวะต่างๆ อาจพบได้ทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทุกคนควรหมั่นสังเกตสภาพร่างกายของตัวเอง ไม่ควรปล่อยปละละเลยเพราะคิดว่าน่าจะไม่เป็นอะไรมาก
สำหรับโรคข้อสะโพกเสื่อม ควรพบแพทย์ถ้าอาการปวด ตึง หรือข้อสะโพกติดนั้นมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาการไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นแต่กลับมาเป็นซ้ำ หรือมีอาการข้อสะโพกติดเป็นระยะเวลา 30 นาทีหลังจากตื่นนอน
โดยเฉพาะถ้ารู้สึกปวดอย่างรุนแรง ปวดจนเดินไม่ได้ ปวดจนกระทบต่อการนอน หรือมีอาการชา ควรพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
ถ้าปวดจนเคลื่อนไหวร่างกายลำบาก ไม่ควรพยาบามไปสถานพยาบาลด้วยตนเองเพราะอาจบาดเจ็บยิ่งขึ้น ควรให้บุคคลใกล้ชิดพาไป หรือติดต่อรถโรงพยาบาล หรือบริการรับ-ส่งผู้ป่วย
6. ท่าออกกำลังกายที่ไม่ควรทำ เมื่อเป็นข้อสะโพกเสื่อม?
ตอบ: แม้การออกกำลังกายจะมีประโยชน์ แต่ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมควรงดเว้นการออกกำลังกายหนักเกินไป โดยเฉพาะท่าที่จะเพิ่มแรงกดที่ข้อสะโพก เช่น วิ่ง กระโดด ยกน้ำหนักหนักในท่ายืน ออกกำลังกายท่าสคว็อต ทวิสต์ หรือ ท่าลันจ์
นอกจากนี้ ไม่ควรนั่งนานเกินไป หรือนั่งขัดสมาธิ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างละเอียด ถ้ามีการออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวท่าไหนทำแล้วเจ็บ ควรหยุด ไม่ควรฝืนทำต่อเพราะอาจยิ่งบาดเจ็บมากขึ้น
7. เป็นข้อสะโพกเสื่อม ไปนวดได้ไหม?
ตอบ: การนวดอาจเป็นวิธีหนึ่งซึ่งช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากข้อสะโพกเสื่อม ด้วยหลักการนวดที่จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้บริเวณนั้นๆ อุ่นขึ้น เพิ่มการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปยังบริเวณที่เจ็บปวด โดยควรรับบริการนวดจากผู้มีความรู้ทางกายวิภาค หรือมีความชำนาญเฉพาะเท่านั้น
เพื่อความปลอดภัย ผู้ป่วยโรคข้อสะโพกเสื่อมควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจะนวดได้หรือไม่ รวมถึงมีข้อควรระวังหรือข้อจำกัดอย่างไรบ้าง เช่น ใช้แรงได้แค่ไหน ต้องหลีกเลี่ยงบริเวณใดของร่างกายหรือไม่ เนื่องจากความรุนแรงของโรคของแต่ละคนแตกต่างกัน
ในผู้ที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมอย่างรุนแรง การนวดอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บ
ถ้าเป็นข้อสะโพกเสื่อมระดับที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ไม่ควรนวดหลังผ่าตัดมาใหม่ๆ เพราะอาจทำให้ข้อสะโพกเทียมเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมได้
8. ทำอย่างไรถึงจะป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อม?
ตอบ: แนวทางการป้องกันโรคข้อสะโพกเสื่อมที่ทำได้ด้วยตนเอง ได้แก่
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ให้เกณฑ์ปกติ เพื่อไม่ให้มีแรงกดบริเวณข้อสะโพกมากเกินไป
- ระวังพฤติกรรมหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ข้อสะโพก
- ถ้ามีโรคที่ส่งผลกับข้อต่อ เช่น เกาต์ รูมาตอยด์ ควรรีบรักษา เพราะอาจจะส่งผลให้กระดูกอ่อนเสียหายได้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เสริมความแข็งแรงของกระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ เช่น แคลเซียม วิตามินดี โปรตีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง และชนิดเพิ่มสมรรถภาพทางกาย ช่วงเป็นเด็กถึงผู้ใหญ่ การออกกำลังกายมักให้ประโยชน์ด้านเสริมความแข็งแรงของกระดูก ส่วนการออกกำลังกายในวัยสูงอายุมักให้ผลดีด้านสร้างความสมดุลของร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงของการพลัดตกหกล้ม
เมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมต่างๆ ในร่างกายก็ตามมา รวมถึงโรคข้อสะโพกเสื่อมก็เช่นกัน แต่ยังมีแนวทางปฏิบัติหลายอย่างที่ทำได้ด้วยตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ หรืออย่างน้อยก็ชะลอการเป็นโรคนี้ออกไปให้มากที่สุด
แต่หากเริ่มมีอาการของโรคข้อสะโพกเสื่อมแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะปัจจุบันมีแนวทางรักษาด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อมระยะรุนแรง รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล สามารถกลับมาเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีอีกครั้ง
ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคข้อสะโพกเสื่อมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคข้อสะโพกเสื่อม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย