hemodialysis pd treatment comparison

เปรียบเทียบการฟอกไตทางหลอดเลือด VS การฟอกไตทางช่องท้อง

สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ จำเป็นต้องมีการรักษาด้วย การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือการฟอกไตทางช่องท้อง ซึ่งทั้ง 2 วิธี มีวัตถุประสงค์ในการรักษาที่เหมือนกันคือ ขจัดสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย รักษาสมดุลเกลือแร่ต่างๆ ให้ร่างกาย กลับมาทำงานได้เหมือนปกติที่สุด

แต่หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว 2 วิธีนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไร เหมาะกับใคร ข้อดี และข้อเสียเป็นอย่างไร บทความนี้เรามีคำตอบให้คุณ

ป่วยเป็นไตวายเรื้อรังมานาน ต้องฟอกไตเมื่อไหร่?

ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เริ่มวางแผนรักษาด้วยการฟอกไต ตั้งแต่ระยะที่ 4 และมีแนวโน้มที่ค่าอัตราการกรองของไตจะลดลงไปเรื่อยๆ จนต้องได้รับการฟอกเลือดภายใน 6 เดือน 

โรคไตคืออะไร มีกี่ระยะ จะรู้ได้ยังไงว่าเราเป็นโรคไตระยะไหน คลิกอ่านต่อ

ปัจจุบันการฟอกไตมี 2 วิธีหลักๆ คือ การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และ การฟอกไตทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD)

การฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) คืออะไร?

คือการนำเลือดออกจากร่างกายผู้ป่วยโรคไต ผ่านทางหลอดเลือดดำ เข้าสู่เครื่องไตเทียม ซึ่งทำหน้าที่กรองของเสียแทนไตที่เสื่อมสภาพ จากนั้นนำเลือดที่ฟอกแล้ว กลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยอีกครั้ง  

การฟอกไตทางหลอดเลือดนี้ จะต้องทำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับระยะของโรค และต้องทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต หรือจนกว่าจะได้รับการปลูกถ่ายไต

อย่างไรก็ตามในทุกๆ ครั้งที่ฟอกไต จะต้องมีการใช้เข็มเจาะเปิดเส้นเลือดเลือดดำ และเมื่อฟอกเลือดเสร็จ เส้นเลือดก็จะมีการสมานตัวเองตามธรรมชาติ หากทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เส้นเลือดอาจจะตีบตัน ทำให้เลือดไหลผ่านเข้าสู่เครื่องไตเทียมได้น้อยลง และประสิทธิภาพในการกรองของเสียก็จะน้อยลงด้วย

จึงต้องมีการทำเส้นเลือดสำหรับฟอกไต เพื่อเตรียมเส้นทางการไหลของเลือด รองรับการฟอกเลือดซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยการทำเส้นฟอกไตนั้น จะมี 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  1. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula: AVF) 
  2. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft : AVG) 
  3. การผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ (Permanent Catheter)

ทั้งนี้การทำเส้นฟอกไตทั้ง 3 รูปแบบก็จะมีข้อดี และข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งเหมาะกับอาการของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา เลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

ทำเส้นฟอกไตมีกี่แบบ เส้นเลือดตัวเอง เส้นเลือดเทียม เจาะคอ แบบไหนดีกว่า ข้อดี ข้อจำกัด คลิกอ่านต่อ

ข้อดีของการฟอกไตทางหลอดเลือด

  • ขจัดของเสียโมเลกุลขนาดกลางและขนาดใหญ่ได้ดี
  • ลดภาวะของเสียคั่งค้างได้ดี
  • ความเสี่ยงติดเชื้อต่ำ เพราะรับบริการ ในโรงพยาบาล และอยู่ในความดูแลของผู้ชำนาญการ
  • ผู้ป่วยสามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ปกติ เช่น อาบน้ำ ว่ายน้ำ เป็นต้น
  • สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตและหัวใจ จะทำให้การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดมีความคงที่ขึ้น

ข้อจำกัดของการฟอกไตทางหลอดเลือด

  • ผู้ป่วยเดินทางไปทำที่โรงพยาบาลเท่านั้น สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ซึ่งอาจกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน
  • ผู้ป่วยไม่สามารถกำจัดของเสียได้ตลอดเวลาเหมือนการฟอกไตทางช่องท้อง ต้องรอจนกว่าจะเดินทางไปฟอกไต
  • ผู้ป่วยต้องจำกัดน้ำและอาหารมากกว่าการฟอกไตทางช่องท้อง เพราะมีโอกาสที่ของเสียจะสะสม คั่งค้างมากเกินไป
  • เส้นเลือดที่ใช้ในการฟอกเลือดอาจมีลักษณะโป่งพองออกมาจนเห็นได้ชัด และมีโอกาสตีบตันได้

การฟอกไตทางหลอดเลือดเหมาะกับใคร

  • ผู้ป่วยไตวายทั่วไป ทั้งไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและไตวายเฉียบพลัน
  • ผู้ที่สะดวกเดินทางไปฟอกไตที่โรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่กังวลเรื่องความสะอาด และความเสี่ยงในการติดเชื้อทางช่องท้อง

การฟอกไตทางช่องท้อง (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialysis: CAPD)

หรือบางคนอาจคุ้นเคยในชื่อ การล้างไตทางช่องท้อง วิธีนี้ผู้ป่วยจะต้องฝังท่อหรือสายยางแบบถาวรในช่องท้อง เพื่อเป็นช่องทางการเข้า-ออก ของน้ำยาล้างไต โดยปลายสายข้างหนึ่งอยู่ภายในช่องท้อง ส่วนอีกข้างหนึ่งจะโผล่ออกมานอกผิวหนังผู้ป่วย ตำแหน่งต่ำกว่าสะดือเล็กน้อย ซึ่งใช้เป็นจุดเชื่อมต่อกับถุงน้ำยาล้างไต

การล้างไตทางช่องท้องนี้ ใช้หลักการเดียวกับ ‘กาลักน้ำ’ คือ ถ้าต้องการใส่น้ำยาล้างไตเข้าไปในช่องท้อง ก็ยกถุงน้ำยาให้สูงกว่าช่องท้อง (ลักษณะเหมือนแขวนขวดน้ำเกลือ) และเมื่อครบเวลาจึงถ่ายนำ้ยาออก โดยวางถุงให้ต่ำกว่าช่องท้อง น้ำยาก็จะไหลออกมา 

แต่ละครั้งจะต้องค้างน้ำยาไว้ในช่องท้องประมาณ 4-6 ชั่วโมง ยกเว้นครั้งสุดท้ายของวัน ที่จะต้องค้างน้ำยาไว้ในช่องท้องนานกว่าปกติ เพราะต้องแช่ไว้ตลอดทั้งคืน การค้างน้ำยาไว้ในช่องท้องนี้ ก็เพื่อให้น้ำยาเข้าไปล้างของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย โดยผู้ป่วยจะต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตอย่างสม่ำเสมอ วันละ 4-5 ครั้ง 

นอกจากการล้างไตด้วยวิธี CAPD แล้ว ยังมีการพัฒนาการล้างไตทางช่องท้อง ให้สะดวกและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย คือ 

การล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated Peritoneal Dialysis: APD) จากเดิมที่ใช้วิธีกาลักน้ำ ตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งใช้เวลาในการถ่ายน้ำยาออก และใส่น้ำยาประมาณ 1 ชั่วโมง และต้องเปลี่ยนน้ำยาวันละ 4-5 ครั้ง

ก็เปลี่ยนมาเป็นการควบคุมการปล่อย-ถ่ายน้ำยาด้วยเครื่องอัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำยาได้ตามที่แพทย์กำหนด และลดจำนวนการล้างไต เหลือเพียงวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเวลาที่นอนหลับเท่านั้น โดยแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10 ชั่วโมง

หลักการทำงานคล้ายคลึงกับการล้างไตด้วยวิธี CAPD เพียงเติมน้ำยาเข้าเครื่อง ต่อสายท่อล้างไต เข้ากับเครื่องอัตโนมัติ และเปิดเครื่อง ขณะนอนหลับเครื่องจะทำงานเปลี่ยนถ่ายน้ำยาล้างไตโดยอัตโนมัติ เมื่อตื่นนอน เพียงถอดการเชื่อมต่อจากเครื่องล้างไต ก็สามารถไปทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

ข้อดีของการฟอกไตทางช่องท้อง

  • ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถทำเองได้ที่บ้าน
  • มีอิสระในการกินอาหารมากกว่าการฟอกไตทางหลอดเลือด เพราะมีการปล่อยของเสียออกวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งดีต่อร่างกายในการขับของเสียไม่ให้คั่งค้าง
  • มีทางเลือกใหม่ในการใช้เครื่องอัตโนมัติ หรือวิธี APD ประหยัดเวลา และกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันน้อยลง

ข้อจำกัดของการฟอกไตทางช่องท้อง

  • ผู้ป่วยต้องฟอกไตทุกวัน วันละ 3-4 ครั้ง (กรณีเลือกทำวิธี CAPD) ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • มีโอกาสติดเชื้อในช่องท้องได้ง่าย หากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีพอ
  • จำเป็นต้องเข้ารับการติดตามผลจากแพทย์ทุกๆ 1-2 สัปดาห์ 
  • ผู้ป่วยจะมีท่อหรือสายยางคาไว้บริเวณหน้าท้อง ซึ่งอาจรู้สึกเกะกะ รำคาญได้
  • ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถฟอกไตด้วยวิธีนี้ได้ เช่น ผู้ที่มีผนังช่องท้องอ่อนแอ หรือมีความผิดปกติที่ผนังช่องท้อง ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดช่องท้อง ผู้ที่มีปัญหาระบบปอด ลำไส้ หรือมีถุงน้ำในไต เป็นต้น

การฟอกไตทางช่องท้องเหมาะกับใคร

  • ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 
  • ผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางไปฟอกไตโรงพยาบาลบ่อยๆ เช่น ผู้ที่ต้องทำงาน หรือมีภาระหน้าที่อื่นๆ หรือผู้ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล
  • ผู้ที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก เพราะการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมอาจส่งผลกระทบต่ออาการดังกล่าว

ฟอกไตทางหลอดเลือดVSทางช่องท้อง

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง หรือผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย การฟอกไตเป็นทางเลือกในการรักษาที่ช่วยประคับประคองอาการ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตได้ปกติที่สุด แต่จะเลือกการฟอกไตในรูปแบบใด ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อให้เหมาะสมกับอาการ และกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้ป่วยให้น้อยที่สุด

ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ฟอกไตแบบไหนดี อยากคุยกับคุณหมอเฉพาะทางปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top