Default fallback image

แก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับด้วยคลื่นความถี่วิทยุ กับ พญ. เพชรรัตน์ แสงทอง ด้วยบริการจาก HDcare

มีปัญหานอนกรน คนข้าง ๆ เริ่มบ่นรำคาญ หรือตื่นเช้ามารู้สึกไม่สดชื่น ปวดศีรษะ ความจำก็แย่ลงทั้ง ๆ ที่ชั่วโมงการนอนก็เพียงพอ อาการเหล่านี้จัดเป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับได้

อย่างไรก็ตามภาวะนี้สามารถรักษาได้ไม่ยาก เพียงใช้คลื่นความถี่วิทยุจี้ตรงทางเดินหายใจที่มีปัญหาก็แก้ไขอาการให้ดีขึ้นได้ในทันที ซึ่งเราจะมาเจาะลึกพร้อมกันในบทความนี้

ให้ข้อมูลโดยพญ. เพชรรัตน์ แสงทอง หรือ “หมอเชอร์รี่” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก และเชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอเชอร์รี่ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอเชอร์รี่” คุณหมอหู คอ จมูกกับประสบการณ์รักษาโรคเกี่ยวกับการนอนกรน และประสาทสัมผัสของร่างกาย]

สารบัญ

อาการนอนกรนสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับอย่างไร?

อาการนอนกรนเป็นสัญญาณเตือนของทางเดินหายใจที่ตีบแคบลง ในคนไข้บางรายอาจตีบแคบเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บางรายอาจตีบแคบมากจนทางเดินหายใจปิดสนิท ทำให้เกิดเป็นภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนระหว่างนอนหลับ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสมองและระบบหัวใจได้

ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับมีอาการอย่างไร?

อาการสำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ คือ อาการสำลักน้ำลายตนเองระหว่างนอนหลับ ส่วนอาการรองลงมาที่พบได้บ่อยเช่นกัน คือ อาการปวดศีรษะ อาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน ปัญหาความจำไม่ดี ทั้ง ๆ ที่นอนหลับในจำนวนชั่วโมงที่เพียงพอแล้ว นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้

ทำไมการกินยานอนหลับถึงทำให้นอนกรน และเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ?

เนื่องจากยานอนหลับมีกลไกช่วยกระตุ้นให้ทางเดินหายใจส่วนบนผ่อนคลายลง จึงทำให้ผู้ที่กินมีเสียงนอนกรนและหยุดหายใจขณะนอนหลับได้

หากเลิกกินยานอนหลับ จะช่วยให้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับดีขึ้นหรือไม่?

หากคนไข้สามารถเลิกกินยานอนหลับและตัวยาสลายไปจากในร่างกายจนหมด ทั้งอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับก็สามารถดีขึ้นได้

อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ รักษาได้กี่วิธี?

ปัจจุบันทั้ง 2 อาการนี้สามารถรักษาได้ 2 วิธีหลัก ๆ ได้แก่ 

  • วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก การใส่ทันตอุปกรณ์เข้าช่องปาก
  • วิธีรักษาแบบผ่าตัด เพื่อแก้การอุดกั้นภายในทางเดินหายใจ เช่น บริเวณจมูก เพดานอ่อน โคนลิ้น ต่อมทอนซิล

การผ่าตัดแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในปัจจุบันมีกี่วิธี?

ตัวอย่างแนวทางผ่าตัดเพื่อแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับในปัจจุบัน ได้แก่

  • การผ่าตัดต่อมทอนซิล
  • การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์
  • การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อน
  • การผ่าตัดแก้โครงกระดูกใบหน้าเพื่อดึงขากรรไกรออกมา
  • การผ่าตัดแก้ผนังกั้นจมูกที่คด
  • การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ จัดเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในยุคปัจจุบัน

การแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ คืออะไร?

การแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ คือ การใช้เข็มที่สามารถปล่อยคลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency: RF) จี้ไปยังบริเวณเนื้อเยื่อทางเดินหายใจที่หย่อนยาน จากนั้นคลื่นความถี่วิทยุจะปล่อยพลังงานความร้อนที่ทำให้เนื้อเยื่อตำแหน่งดังกล่าวหดตัวลง และมีการสร้างพังผืดเกิดขึ้นตามมา ทำให้ทางเดินหายใจของคนไข้เปิดกว้าง และทำให้คนไข้หายใจสะดวกขึ้น

คนไข้แบบใดที่เหมาะต่อการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ?

  • คนไข้ที่เยื่อบุจมูกบวม
  • คนไข้ที่เพดานอ่อนหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ
  • คนไข้ที่โคนลิ้นโตจนปิดกั้นทางเดินหายใจ

คนไข้แบบใดที่ไม่เหมาะต่อการรักษาด้วยคลื่นวิทยุ?

  • คนไข้ที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • คนไข้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้นขั้นรุนแรง เนื่องจากการจี้ด้วยคลื่นวิทยุอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ทางเดินหายใจเปิดกว้างขึ้นได้มากพอ

การแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ ทำครั้งเดียวแล้วเห็นเลยหรือไม่?

โดยส่วนมากอาการของคนไข้จะดีขึ้นตั้งแต่การรักษาครั้งแรก แต่บางรายหากผลลัพธ์หลังการรักษาในครั้งแรกยังไม่น่าพึงพอใจ ก็สามารถกลับมารักษาซ้ำได้อีก

ข้อดีของการแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ

  • มีแผลหลังการผ่าตัดไม่ใหญ่
  • แผลหลังการผ่าตัดหายเร็ว
  • ทำให้เจ็บแผลน้อย
  • เห็นผลการรักษาชัดเจน

การแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ มักใช้กับทางเดินหายใจตำแหน่งใด?

การใช้คลื่นวิทยุเพื่อแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะใช้จี้รักษาบริเวณทางเดินหายใจ 3 ตำแหน่งด้วยกัน ได้แก่ เยื่อบุจมูก เพดานช่องปาก และโคนลิ้น

ขั้นตอนการแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ

  • ในกรณีที่คนไข้ไม่ดมยาสลบ แพทย์จะฉีดสเปรย์ยาชาให้ก่อน จากนั้นตามด้วยฉีดยาชาเข้าไปยังตำแหน่งทางเดินหายใจที่ต้องการรักษา
  • แพทย์ใช้เข็มขนาดเล็กจี้ลงไปยังตำแหน่งทางเดินหายใจที่อุดกั้น ตัวเข็มจะปล่อยพลังงานความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุออกมา หลังการรักษาไม่จำเป็นต้องเย็บแผล เนื่องจากแผลมีขนาดเป็นรูเล็ก ๆ เท่านั้น
  • แพทย์ให้คนไข้พักดูอาการหลังผ่าตัดสักครู่ หากไม่มีอาการเวียนศีรษะ ไม่เจ็บแผลมาก ก็จะอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้เลย

การเตรียมตัวก่อนแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ

  • นอนหลับให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงอย่าให้ตนเองเป็นหวัด เป็นโรคทอนซิลอักเสบ หรือติดเชื้อในทางเดินหายใจ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเดินทางมารักษา
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารเสริมที่ทำให้เลือดออกได้ง่าย เช่น วิตามินอี น้ำมันปลา (Fish Oil) น้ำมันตับปลา โสม แปะก๊วย
  • แจ้งประวัติโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบล่วงหน้า และตรวจสุขภาพก่อนผ่าตัดตามรายการที่แพทย์แนะนำ เช่น ตรวจเลือด ตรวจการนอนหลับ

การดูแลตนเองหลังแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ

  • กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ เพื่อให้อาการปวดระบมแผลทุเลาลง โดยเฉพาะในคืนแรกหลังผ่าตัด
  • อมน้ำแข็งบ่อย ๆ เพื่อให้แผลยุบบวม
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อลดโอกาสกลับมามีอาการนอนกรนซ้ำ

ผลข้างเคียงหลังแก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับด้วยคลื่นวิทยุ

หลังการรักษา คนไข้มักจะมีอาการปวดแผลอยู่ประมาณ 1-3 วันแรก รวมถึงอาจมีอาการลิ้นชา เลือดออกจากแผล แผลบวมซึ่งอาจยังทำให้ยังหายใจลำบากอยู่ชั่วคราว

แก้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ กับ พญ. เพชรรัตน์ ด้วยบริการจาก HDcare

กำลังมีปัญหานอนกรน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คนที่นอนข้าง ๆ ก็รำคาญ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ยังไม่แน่ใจว่าควรรักษาอย่างไร ทีมงาน HDcare สามารถเป็นตัวกลางช่วยให้คำปรึกษาและให้คุณได้นัดหมายพูดคุยกับแพทย์เฉพาะทางผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโรงพยาบาลที่คุณสะดวกเดินทางไปใช้ชีวิตได้

หรือหากได้รับการวินิจฉัยแล้ว และสนใจรับการผ่าตัดรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ก็สามารถซื้อแพ็กเกจบริการผ่าตัดกับ HDcare ซึ่งเป็นบริการผ่าตัดพร้อมพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวได้ ไปโรงพยาบาลคนเดียวก็ยังสะดวกสบาย มีคนช่วยประสานงาน มีคนอยู่ช่วยตอบคำถาม และอยู่เป็นเพื่อนคุณตลอดขั้นตอนการรักษา

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top