เปิดข้อมูลที่มาและการรักษาภาวะไส้เลื่อน ภาวะที่เป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ใครปวดท้องและมีก้อนนูนที่ขาหนีบ ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร อย่ารอช้าที่จะอ่านบทความนี้
ให้ข้อมูลโดย นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ หรือ “หมอฟง” แพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดรักษาเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อนทุกรูปแบบผ่านกล้อง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติหมอฟงได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอฟง” อาจารย์แพทย์ และแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาโรคอ้วน โรคเกี่ยวกับช่องท้องที่ซับซ้อนมาแล้วหลายเคส]
สารบัญ
- ภาวะไส้เลื่อนคืออะไร? เกิดจากอะไร?
- การไม่ใส่กางเกงชั้นใน เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนหรือไม่?
- การออกกำลังกายอย่างหนัก การยกของหนักเป็นสาเหตุของภาวะไส้เลื่อนหรือไม่?
- สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน?
- อาการแบบไหนที่บ่งชี้ถึงภาวะไส้เลื่อน
- ภาวะไส้เลื่อนในผู้หญิงและผู้ชาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นเท่ากันหรือไม่?
- ภาวะไส้เลื่อนที่พบบ่อยบริเวณขาหนีบ มีความแตกต่างกันอย่างไร?
- ทำไมภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบ จึงเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
- วิธีตรวจภาวะไส้เลื่อนด้วยตนเองทำอย่างไร
- ถ้าตรวจเจอสัญญาณภาวะไส้เลื่อน ต้องไปพบแพทย์ทันทีหรือไม่?
- ภาวะไส้เลื่อนรักษาให้หายเองได้หรือไม่?
- ภาวะไส้เลื่อนรักษาให้หายแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำไหม?
- ทำไมคนอ้วนลงพุงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถึงมีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนกว่าคนทั่วไป?
- การป้องกันภาวะไส้เลื่อน ทำได้อย่างไรบ้าง?
- ขั้นตอนการผ่าตัดรักษาภาวะไส้เลื่อน
- ก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน ต้องสวนท่อปัสสาวะหรือไม่?
- ก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน ต้องโกนขนในที่ลับหรือไม่?
- แผลผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยเทคนิคส่องกล้องอยู่ตรงไหน?
- การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องมีข้อดีอย่างไร?
- การใช้ตาข่ายสังเคราะห์ช่วยให้แผลผ่าตัดฟื้นตัวเร็วขึ้นได้อย่างไร?
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- การดูแลตนเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- หากเคยไส้เลื่อนข้างหนึ่งแล้ว อีกข้างจะเสี่ยงเป็นด้วยไหม?
- ผู้สูงอายุผ่าตัดไส้เลื่อนได้หรือไม่?
- วิธีลดปัจจัยการเกิดภาวะไส้เลื่อน
- ผ่าตัดไส้เลื่อนจะส่งผลกระทบต่อถุงอัณฑะหรือไม่?
- ภาวะไส้เลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คุณหมอพบได้ในขนาดเท่าไร?
- ผ่าตัดรักษาภาวะไส้เลื่อนด้วยเทคนิคส่องกล้องกับ นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ด้วยบริการจาก HDcare
ภาวะไส้เลื่อนคืออะไร? เกิดจากอะไร?
ภาวะไส้เลื่อน เกิดจากอวัยวะที่อยู่ในช่องท้อง เช่น ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ได้หลุดออกมาผ่านรูบริเวณผนังช่องท้อง และไม่สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปด้านในรูได้ จนทำให้เกิดอาการจุกเสียด แน่นท้อง เจ็บหรือปวดท้อง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาจนเสี่ยงถึงแก่ชีวิตได้
การไม่ใส่กางเกงชั้นใน เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนหรือไม่?
ไม่เกี่ยวข้องกัน และไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดโรคไส้เลื่อนแต่อย่างใด เพราะโรคไส้เลื่อนนั้นเกิดจากรูในผนังหน้าท้องซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่กำเนิดหรือพบได้ภายหลัง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมไม่ใส่กางเกงชั้นในแต่อย่างใด
ความเชื่อเรื่องไม่ใส่กางเกงชั้นในอาจเกิดจากความเข้าใจที่ผิดในสมัยก่อน ที่หลายคนเข้าใจว่า การใส่กางเกงชั้นในที่รัดแน่นๆ จะสามารถช่วยปิดรูในช่องท้องให้สนิทได้ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะไส้เลื่อน
แต่ในปัจจุบันได้มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เปิดเผยแล้วว่า การใส่กางเกงชั้นในรัดๆ ในคนไข้ที่มีภาวะไส้เลื่อนอาจยิ่งทำให้ลำไส้ที่หลุดออกมาจากรูเคลื่อนกลับเข้าไปด้านในได้ยากขึ้น และอาจทำให้ลำไส้ขาดเลือดจนเกิดภาวะลำไส้ตายได้
การออกกำลังกายอย่างหนัก การยกของหนักเป็นสาเหตุของภาวะไส้เลื่อนหรือไม่?
จริงๆ แล้วการออกกำลังกายเป็นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อรวมถึงกล้ามเนื้อที่ผนังหน้าท้องให้แข็งแรง ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการออกกำลังกายในลักษณะที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ รวมถึงพฤติกรรมยกของหนักอย่างต่อเนื่อง โรคประจำตัวที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น การไอแรงๆ การเบ่งปัสสาวะแรงๆ บ่อยครั้ง ก็มีโอกาสทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนได้ เนื่องจากแรงดันจะไปเพิ่มขนาดของรูให้ขยายใหญ่ขึ้น
สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน?
หลายคนมักเข้าใจว่า โรคไส้เลื่อนไม่เป็นอันตรายรุนแรง เป็นโรคที่ประวิงเวลารักษาออกไปก่อนได้ หรือรักษาเองก็ได้ อาจใช้วิธีซื้อกางเกงชั้นในหรืออุปกรณ์ที่สามารถรัดหน้าท้องแน่นๆ จนช่วยปิดรูในช่องท้องเอง
แต่ความจริงแล้วโรคไส้เลื่อนเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่คนไข้ต้องรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อนำอวัยวะที่หลุดออกมาจากรูกลับเข้าไปอย่างถูกวิธี มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิต
อาการแบบไหนที่บ่งชี้ถึงภาวะไส้เลื่อน
อาการบ่งชี้ภาวะไส้เลื่อนที่สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง คือ คนไข้รู้สึกว่ามีก้อนบริเวณขาหนีบนูนออกมา โดยเฉพาะระหว่างที่ยืน แต่เมื่อเอนตัวลงนอน ก้อนดังกล่าวก็มักจะยุบหายเข้าไป
ภาวะไส้เลื่อนในผู้หญิงและผู้ชาย มีความเสี่ยงที่จะเป็นเท่ากันหรือไม่?
โดยทั่วไป ผู้ชายจะเป็นเพศที่เสี่ยงเป็นโรคไส้เลื่อนมากกว่า โดย 1 ใน 4 หรือประมาณ 25% ของกลุ่มผู้ชายทั่วไป มักตรวจพบภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบได้อยู่แล้ว ส่วนในผู้หญิงนั้นมีโอกาสพบไส้เลื่อนอยู่ที่ 2% แต่หากเป็นแล้ว มักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ยังตรวจวินิจฉัยได้ยากกว่า
ชนิดของภาวะไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในผู้หญิง คือ ภาวะไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) ซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายกับภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบในผู้ชาย แต่มีโอกาสที่จะเกิดภาวะลำไส้ตายได้มากกว่า แพทย์จึงนิยมใช้เทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องในคนไข้ที่เป็นผู้หญิง เพื่อแก้ไขลำไส้ที่ถูรูบีบรัดไว้ให้เร็วที่สุด
ภาวะไส้เลื่อนที่พบบ่อยบริเวณขาหนีบ มีความแตกต่างกันอย่างไร?
ภาวะไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยบริเวณขาหนีบแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- ภาวะไส้เลื่อนที่ออกมาตามรูบริเวณขาหนีบ (Indirect Inguinal Hernia) โดยเกิดจากรูเปิดที่มีอยู่ที่บริเวณขาหนีบอยู่แล้ว และมีอวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมา เป็นประเภทของโรคไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยถึง 70-80% ของคนไข้
- ภาวะไส้เลื่อนที่เกิดจากการความอ่อนแอของผนังหน้าท้อง (Direct Inguinal Hernia) มักพบในคนไข้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวทำให้ไอเรื้อรัง ต้องเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ มีอาการท้องผูก
ทำไมภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบ จึงเป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด
สาเหตุนั้นมาจากภายในบริเวณขาหนีบของมนุษย์จะมีรูเปิดอยู่ประมาณ 4-5 รูอยู่แล้ว ซึ่งต่างจากตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่ได้มีรูเปิดมากถึงเพียงนี้ และไม่ทำให้เกิดโอกาสที่อวัยวะจะหลุดออกมาจากรูเหล่านี้เหมือนบริเวณขาหนีบ
อย่างไรก็ตาม นอกจากบริเวณขาหนีบ คนไข้บางรายก็อาจพบภาวะไส้เลื่อนบริเวณสะดือได้เช่นกัน หรือบริเวณแผลผ่าตัดที่ช่องท้อง
โดยเฉพาะหากคนไข้เคยผ่าตัดด้วยเทคนิคแบบเปิดก่อน ซึ่งมีโอกาสที่เมื่อระยะเวลาผ่านไป กล้ามเนื้อผนังหน้าท้องอาจอ่อนกำลังลง หรือรูแผลที่เคยผ่าตัดอาจขยายใหญ่ขึ้นอีก และทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมาผ่านรูแผลนั้น ในกรณีนี้จะพบได้บ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
วิธีตรวจภาวะไส้เลื่อนด้วยตนเองทำอย่างไร
ในกรณีสังเกตภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยให้ลองลุกขึ้นยืน และให้สังเกตว่า มีก้อนนูนยื่นออกมาที่ขาหนีบหรือไม่ หากมี ให้ลองเปลี่ยนเป็นนอนราบ หากก้อนนูนดังกล่าวยุบตัวลงไป ก็มีโอกาสสูงที่อาการดังกล่าวจะเกิดจากภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบ
ส่วนภาวะไส้เลื่อนที่ผนังหน้าท้อง ให้ลองเบ่งหน้าท้องหรือไอจามออกมา หากสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาที่หน้าท้อง ก็มีโอกาสที่จะเป็นสัญญาณของภาวะไส้เลื่อนที่ผนังหน้าท้องได้
ถ้าตรวจเจอสัญญาณภาวะไส้เลื่อน ต้องไปพบแพทย์ทันทีหรือไม่?
หากลองตรวจหาด้วยตนเอง แล้วพบสัญญาณต้องสงสัย ให้คนไข้รีบเดินทางมาพบแพทย์โดยทันที ห้ามประวิงเวลาออกไปอีกโดยเด็ดขาด มิฉะนั้นลำไส้หรืออวัยวะที่หลุดออกมาอาจถูกรูรัดจนขาดเลือดและเน่าได้ ซึ่งก็จะทำให้ขั้นตอนการรักษาซับซ้อนและเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตมากขึ้นไปอีก
ภาวะไส้เลื่อนรักษาให้หายเองได้หรือไม่?
ไม่ได้ วิธีเดียวในการรักษาภาวะไส้เลื่อน คือ วิธีผ่าตัดกับแพทย์เท่านั้น เพื่อให้แพทย์ได้เย็บซ่อมรูเปิดและเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้องด้วยแผ่นปะหรือตาข่ายเทียม
ภาวะไส้เลื่อนรักษาให้หายแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำไหม?
มีโอกาส โดยอาจเกิดจากแผลผ่าตัดที่หน้าท้องซึ่งต้องผ่าอีกในอนาคต และเมื่อระยะผ่านไป รูแผลก็ได้ขยายใหญ่จนอวัยวะเคลื่อนออกมา หรืออาจเกิดจากโรคทางระบบเมตาบอลิซึม แผ่นปะผนังหน้าท้องปิดไม่สนิท หรือรูที่ผนังหน้าท้องเกิดการหดตัวอีกโดยมีอวัยวะด้านในได้เคลื่อนตัวออกมาด้วย
ทำไมคนอ้วนลงพุงทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ถึงมีโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนกว่าคนทั่วไป?
กลุ่มผู้ที่อ้วนลงพุงทุกเพศจะมีปัญหากล้ามเนื้อผนังหน้าท้องที่อ่อนแรง และมีแรงดันในช่องท้องสูง ซึ่ง 2 ปัญหานี้สามารถส่งผลให้เกิดรูเล็กๆ ภายในช่องท้องได้ และมีแรงดันที่สามารถผลักดันให้อวัยวะต่างๆ ในช่องท้องเคลื่อนออกมาจากรูนั้น
การป้องกันภาวะไส้เลื่อน ทำได้อย่างไรบ้าง?
- คุมน้ำหนักตัวอย่าให้เกินเกณฑ์
- ออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งสามารถช่วยป้องกันภาวะไส้เลื่อนบางชนิดได้ แต่ในกรณีที่เป็นไส้เลื่อนขาหนีบ ซึ่งมักเกิดจากรูเปิดด้านในที่คนไข้มีแต่กำเนิด หากพบอาการที่น่าสงสัยก็ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
- หากมีโรคประจำตัวที่ทำให้ไอเรื้อรัง ต้องเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ ให้รีบรักษาให้หาย เพื่อลดการเกิดแรงดันในช่องท้อง
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นประจำ
ขั้นตอนการผ่าตัดรักษาภาวะไส้เลื่อน
โดยทั่วไปการผ่าตัดรักษาภาวะไส้เลื่อนจะโฟกัสที่การรักษาภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบเป็นหลัก ซึ่งแบบเทคนิคการผ่าตัดออกเป็น 2 เทคนิค ได้แก่
- การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าลงแผลที่หน้าท้องยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร จากนั้นแพทย์จะดึงไส้เลื่อนหรืออวัยวะที่เคลื่อนออกมาจากรูกลับลงมา แล้วเย็บซ่อมผนังหน้าท้อง ตามด้วยวางตาข่ายเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง มีขั้นตอนการผ่าตัดคล้ายกับแบบเปิด แต่แผลจะเล็กกว่า โดยแพทย์จะเจาะรูแผลประมาณ 5 มิลลิเมตร- 1 เซนติเมตร จากนั้นเข้าไปตรวจดูไส้เลื่อนจากด้านหลังคนไข้ แล้วค่อยๆ ดึงไส้เลื่อนหรืออวัยวะที่เคลื่อนออกมาจากรูกลับลงมา
ปัจจุบันการผ่าตัดภาวะไส้เลื่อนนั้นนิยมใช้เทคนิคผ่าตัดแบบส่องกล้องมากกว่า เนื่องจากทำให้คนไข้เจ็บแผลน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยเฉพาะในคนไข้ที่มีข้อบ่งชี้ภาวะไส้เลื่อน 3 รูปแบบดังต่อไปนี้ จัดเป็นข้อบ่งชี้ที่แพทย์จะใช้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องในการผ่าตัด
- คนไข้เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบทั้ง 2 ข้างซ้ายขวา
- คนไข้ที่เป็นเพศหญิง
- คนไข้ที่เคยผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยเทคนิคแบบเปิดมาก่อน และกลับมาเป็นซ้ำอีก
ก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน ต้องสวนท่อปัสสาวะหรือไม่?
โดยปกติแพทย์จะใส่สายสวนปัสสาวะให้คนไข้หลังดมยาสลบเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากหลังวางยาสลบ กระเพาะปัสสาวะของคนไข้จะฟีบลง ทำให้กายวิภาคศาสตร์สำหรับการผ่าตัดชัดเจนขึ้น ทำให้แพทย์ผ่าตัดไส้เลื่อนได้ง่ายและลดโอกาสบาดเจ็บที่กระเพาะปัสสาวะได้
ก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน ต้องโกนขนในที่ลับหรือไม่?
ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ต้องผ่าเปิดแผล หากคนไข้ไม่ได้มีขนบริเวณที่ผ่าเปิดแผลมากจนเป็นอุปสรรคในการผ่าตัด ก็ไม่จำเป็นต้องโกน
แผลผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยเทคนิคส่องกล้องอยู่ตรงไหน?
แผลผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องจะอยู่กึ่งกลางร่างกาย โดยจะอยู่บริเวณสะดือ 1 แผล และอีก 2 แผลเล็กถัดลงมาจากด้านล่างสะดือ ต่างจากแผลผ่าตัดแบบเปิดที่จะอยู่ด้านซ้ายหรือด้านขวาของหน้าท้อง ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน หรือหากเป็นทั้ง 2 ข้าง ก็จะมีแผลทั้งด้านซ้ายและขวา
การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องมีข้อดีอย่างไร?
การผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้องมีข้อดีด้านอาการเจ็บแผลผ่าตัดที่น้อยกว่า รวมถึงคนไข้สามารถฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด นอกจากนี้การใช้เทคนิคส่องกล้องในการผ่าตัดยังช่วยให้แพทย์มองเห็นกายวิภาคศาสตร์ของคนไข้ได้ชัดเจนกว่า ทำให้การผ่าตัดสะดวกและปลอดภัยกว่าด้วย
ด้วยเหตุนี้ การผ่าตัดแบบส่องกล้องจึงเป็นที่นิยมมากกว่าการผ่าตัดแบบเปิด
การใช้ตาข่ายสังเคราะห์ช่วยให้แผลผ่าตัดฟื้นตัวเร็วขึ้นได้อย่างไร?
สำหรับการผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้อง แพทย์จะใช้ตาข่ายปิดลงไปที่บริเวณด้านหลังของผนังหน้าท้อง ซึ่งช่วยให้ความรู้สึกของคนไข้หลังผ่าตัดนั้นเจ็บแผลและระคายเคืองน้อยกว่า รวมถึงไม่รู้สึกว่าตาข่ายปิดทับอยู่ที่ผนังหน้าท้องด้วย ต่างจากเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดที่แพทย์จะวางตาข่ายบริเวณด้านหน้า
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- คนไข้จะต้องตรวจสุขภาพทั่วไปตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด
- แจ้งประวัติยาประจำตัวทุกชนิดล่วงหน้ากับแพทย์ หากมียาประจำตัวที่เป็นยาละลายลิ่มเลือด หรือยาที่ส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือด ต้องงดยาล่วงหน้าก่อนผ่าตัดตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
การดูแลตนเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง
- คนไข้นอนโรงพยาบาล 1 คืนหลังจากนั้นก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
- สามารถกินอาหารทุกชนิดได้ไม่จำกัด ขอเพียงเป็นอาหารที่สุกและสะอาดก็พอ
- หลีกเลี่ยงและระวังการยกของหนัก การออกกำลังกายหนักๆ ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
- หลัง่าตัด 10-14 วันก็สามารถเปิดแผลได้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว แผลมักจะหายดีแล้ว
หากเคยไส้เลื่อนข้างหนึ่งแล้ว อีกข้างจะเสี่ยงเป็นด้วยไหม?
มีโอกาสเป็นได้ โดยเฉพาะในผู้ชาย เช่น หากเคยเป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบข้างขวา ในอนาคตก็อาจเป็นที่ข้างซ้ายได้ราว 30% อย่างไรก็ตาม หากคนไข้เคยผ่าตัดไส้เลื่อนด้วยเทคนิคส่องกล้อง แพทย์ก็สามารถตรวจดูโอกาสไส้เลื่อนอีกข้างได้ด้วยในการผ่าตัดครั้งนั้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่าเปิดแผลเพิ่มแต่อย่างใด
ต่างจากการผ่าตัดแบบเปิด ที่หากลงแผลข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะไม่สามารถตรวจสอบโอกาสเกิดภาวะไส้เลื่อนที่ขาหนีบอีกข้างได้ นอกเสียจากแพทย์จะต้องผ่าเปิดแผลเพิ่มอีก
ผู้สูงอายุผ่าตัดไส้เลื่อนได้หรือไม่?
สามารถผ่าได้อย่างไม่จำกัด นอกจากนี้กลุ่มผู้สูงอายุยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะไส้เลื่อนได้มากกว่าคนอายุน้อยด้วย
วิธีลดปัจจัยการเกิดภาวะไส้เลื่อน
หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือโรคประจำตัวที่ต้องเพิ่มแรงดันในช่องท้อง เช่น ยกของหนัก ไอเรื้อรัง ปัสสาวะหรืออุจจาระแรงๆ ภาวะต่อมลูกหมากโต
ผ่าตัดไส้เลื่อนจะส่งผลกระทบต่อถุงอัณฑะหรือไม่?
ไม่ส่งผลใดๆ และไม่เกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
ภาวะไส้เลื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คุณหมอพบได้ในขนาดเท่าไร?
นพ. เสฐียรพงษ์เล่าว่า เคสคนไข้ที่มีไส้เลื่อนขนาดใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่ 40 เซนติเมตร แต่ก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องอย่างราบรื่น คนไข้สามารถฟื้นตัวในวันถัดมาและเดินทางกลับบ้านได้เลย แต่ความท้าทายของการผ่าตัดครั้งนี้ อยู่ที่อวัยวะซึ่งเคลื่อนออกมาจากรูซึ่งมีอยู่หลายส่วน แพทย์ต้องค่อยๆ ดึงกลับเข้ามาให้หมด
ผ่าตัดรักษาภาวะไส้เลื่อนด้วยเทคนิคส่องกล้องกับ นพ. เสฐียรพงษ์ จันทวิบูลย์ ด้วยบริการจาก HDcare
การใช้เทคนิคผ่าตัดแบบส่องกล้องในการรักษาภาวะไส้เลื่อน นอกจากจะฟื้นตัวเร็วแล้ว คนไข้ยังมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ทำให้เจ็บแผลได้น้อย กลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็ว ใครที่ตรวจด้วยตนเองและพบว่า มีก้อนนูนบริเวณขาหนีบ พอล้มตัวลงนอนก้อนก็ยุบกลับเข้าไป อย่ารอช้าที่จะติดตามทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
จะคุยผ่านวีดีโอคอลหรือไปที่โรงพยาบาลก็เลือกได้ตามความสะดวก และหากต้องการรับการผ่าตัด ก็สามารถแจ้งทางทีมงาน HDcare ให้ประสานงานโรงพยาบาลที่คุณสะดวกไปใช้บริการได้ทันทีเช่นกัน
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย