สรุปข้อมูลผ่าตัดมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อโรคมะเร็งตัวร้ายอันดับหนึ่งของผู้หญิงมาเยือน จะผ่าตัดรักษาได้อย่างไร ควรสังเกตอาการด้วยตนเองยังไงบ้าง จะได้ตรวจและรักษาได้ก่อนที่จะสาย
ให้ข้อมูลโดย นพ. จิตรภาณุ วงศ์ยงศิลป์ ศัลยแพทย์มะเร็งศาสตร์ ผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยเทคนิคส่องกล้อง และการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare
อ่านประวัติคุณหมอได้ที่นี่ [รู้จัก “คุณหมอจิตรภาณุ” ศัลยแพทย์กับประสบการณ์แพทย์เฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง และรักษาโรคมะเร็ง]
สารบัญ
- อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นสัญญาณโรคมะเร็งเต้านม?
- โรคมะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?
- ใครเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมบ้าง?
- ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านม
- การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม มีกี่แบบ?
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ มีกี่แบบ?
- ข้อควรระวังหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
- ระยะเวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล และที่บ้านหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
- ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
- เป็นโรคมะเร็งเต้านม ถ้าไม่ผ่าตัดจะส่งผลเสียอย่างไร?
- ผ่าตัดมะเร็งเต้านม กับ นพ. จิตรภาณุ ด้วยบริการจาก HDcare
อาการแบบไหนที่เสี่ยงเป็นสัญญาณโรคมะเร็งเต้านม?
โรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกมักไม่มีสัญญาณอาการใด ๆ เกิดขึ้น ดังนั้นคนไข้จึงอาจยังไม่พบอาการแสดงที่ผิดปกติเลย จนกระทั่งระยะของโรคเริ่มลุกลามมากขึ้น ก็มักจะเริ่มคลำพบก้อนในเต้านม หรือมีอาการเจ็บเต้านมอย่างต่อเนื่อง และเจ็บรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากพบอาการเหล่านี้ ให้รีบเดินทางมาตรวจวินิจฉัยกับแพทย์ทันที
โรคมะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?
ระยะของโรคมะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขยายขนาดขึ้นเป็นประมาณ 2-5 เซนติเมตร และเริ่มแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้บริเวณใกล้เคียง
- ระยะที่ 3: ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้มากกว่า 4 ต่อม
- ระยะที่ 4: ก้อนมะเร็งขยายขนาดใหญ่ขึ้นอีก และลุกลามไปถึงอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ปอด ตับ
ใครเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเต้านมบ้าง?
โรคมะเร็งเต้านมสามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่โดยส่วนมากจะพบได้ในผู้หญิงมากกว่า
หากตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมในประชากร 100 คน จะพบโรคนี้ได้ในผู้หญิงถึง 99 คน และสามารถพบได้ตั้งแต่ผู้หญิงช่วงวัยเจริญพันธุ์ไปจนถึงผู้หญิงที่สูงอายุถึง 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พบโรคมะเร็งเต้านมได้ในเด็กเล็กอีกด้วย
ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านม
ความรุนแรงของโรคมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค หากตรวจพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะทำให้โอกาสการพยากรณ์โรคชัดเจนแม่นยำกว่าการตรวจพบโรคนี้ในระยะท้าย ๆ
อาการผิดปกติเมื่อโรคมะเร็งเต้านมเริ่มเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้นจะแตกต่างกันไปในคนไข้แต่ละราย โดยตัวอย่างกลุ่มอาการที่พบได้ จะได้แก่
- อาการเจ็บเต้านม
- การคลำพบก้อนที่ใหญ่ขึ้นในเต้านม
- ผิวหนังเต้านมมีรอยบุ๋มหรือหัวนมบุ๋ม ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้อไปดึงรั้งผิวเต้านม
- มีเลือดออกที่ลานนมหรือหัวนม
- หากเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ตับ กระดูก ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติเฉพาะกับอวัยวะนั้น เช่น หายใจไม่ออก ไอเรื้อรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะบ่อย
การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม มีกี่แบบ?
การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ ซึ่งการประเมินวิธีผ่าตัดในคนไข้แต่ละรายจะขึ้นอยู่กับการประเมินระยะของโรคจากแพทย์อีกครั้ง โดยแจกแจงรูปแบบการผ่าตัดได้ดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดมะเร็งเต้านม แบบตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ในเนื้อเต้านมเลย โดยแพทย์จะกำหนดขอบเขตเนื้อเต้านมที่ต้องผ่าตัดนำออกก่อน จากนั้นเริ่มลงมือผ่าตัด โดยจะผ่าลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เพื่อกำจัดขอบเขตพื้นที่ภายในเต้านมที่พบเซลล์มะเร็งออกให้ได้ทั้งหมด
- การผ่าตัดมะเร็งเต้านม แบบสงวนเต้านม เป็นการผ่าตัดที่เน้นนำส่วนของก้อนมะเร็งออกเท่านั้น และจะเหลือเนื้อเต้านมเดิมไว้ให้คนไข้ให้ได้มากที่สุด โดยแพทย์ใช้เครื่องอัลตราซาวด์ระบุตำแหน่งของก้อนมะเร็ง เพื่อกำหนดขอบเขตเนื้อเต้านมที่ต้องผ่าออกก่อน จากนั้นทำการผ่าตัดนำก้อนมะเร็งและเนื้อเต้านมส่วนที่จำเป็นออก ขนาดแผลจะเล็กกว่าการผ่าตัดแบบตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ มีกี่แบบ?
การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ เป็นอีกการผ่าตัดที่สำคัญสำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจดูการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งที่เต้านมซึ่งอาจลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และเพื่อตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ซึ่งได้รับความเสียหายจากเซลล์มะเร็งที่เต้านมออก โดยแบ่งวิธีการผ่าตัดได้ 2 รูปแบบ ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แบบเอาต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด ใช้ผ่าตัดในกรณีที่แพทย์ตรวจพบเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว ดังนั้นแพทย์ก็จะผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออกทั้งหมด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นอีก
- การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ แบบเซนติเนล ใช้ผ่าตัดในกรณีที่แพทย์ต้องการตรวจดูการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองก่อน โดยจะฉีดสีที่รอบ ๆ หัวนมหรือลานนม และตรวจดูเส้นทางการวิ่งของน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่รักแร้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีโอกาสได้รับการแพร่กระจายจากเซลล์มะเร็งมากที่สุด จากนั้นทำการผ่าตัดนำต่อมน้ำเหลืองต่อมนั้นออกมาเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป ซึ่งก็จะทราบผลในระหว่างการผ่าตัดได้เลย
ข้อควรระวังหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
หลักสำคัญในการดูแลตนเองหลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม คือ การดูแลแผลผ่าตัดให้สมานตัวอย่างเหมาะสม
แพทย์จะจ่ายยาให้คนไข้เพื่อบรรเทาอาการปวดเจ็บแผลหลังผ่าตัด จากนั้นประมาณ 2-3 วัน คนไข้จะสามารถลุกเดินทำกิจวัตรประจำวันได้ แต่จะต้องทำร่วมกับการทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการปวดตึงแผล และลดโอกาสเกิดเนื้อเยื่อพังผืดที่แผลในอนาคต
ระยะเวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล และที่บ้านหลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
หลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม โดยทั่วไปคนจะพักฟื้นอยู่ที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน หากไม่มีสัญญาณอาการแทรกซ้อนและอาการเจ็บที่รุนแรง ก็สามารถเดินทางกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้
แต่ในกรณีที่คนไข้ผ่าตัดเต้านมแบบตัดเนื้อเต้านมออกทั้งหมด ในบางรายก็อาจยังต้องคาสายระบายของเหลวจากด้านในแผลเอาไว้ ซึ่งสามารถนำกลับไปดูแลต่อที่บ้านได้
ข้อควรปฏิบัติหลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม
การทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ คือ ข้อควรปฏิบัติสำคัญที่คนไข้ซึ่งผ่านการผ่าตัดมะเร็งเต้านมควรให้ความสำคัญ
เนื่องจากการทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีที่จะช่วยลดอาการเจ็บปวดแผล ลดความตึงของแผล และยังช่วยให้ข้อต่อหัวไหล่ของคนไข้กลับมาแข็งแรงยิ่งขึ้นได้ด้วย
สาเหตุที่แพทย์มักเน้นย้ำเรื่องการทำกายภาพบำบัดกับคนไข้ที่เคยผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านม ก็เพราะมีคนไข้หลายคนที่ทำกายภาพบำบัดไปจนถึงช่วงเวลาที่แผลผ่าตัดหายเท่านั้น และหลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาทำอย่างต่อเนื่องอีก
แต่ความจริงแล้วการทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมควรจะกินระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี ตามคำแนะนำของแพทย์
เป็นโรคมะเร็งเต้านม ถ้าไม่ผ่าตัดจะส่งผลเสียอย่างไร?
การละเลยไม่รีบรักษาโรคมะเร็งเต้านมสามารถเพิ่มความเสี่ยงทำให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปที่อวัยวะทั่วร่างกายได้ และจะทำให้การพยากรณ์โรคเพื่อหาวิธีรักษาในภายหลังเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงเพิ่มโอกาสทำให้เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้อีกมากมาย ซึ่งสามารถเป็นอันตรายถึงขั้นถึงแก่ชีวิตได้
ผ่าตัดมะเร็งเต้านม กับ นพ. จิตรภาณุ ด้วยบริการจาก HDcare
คลำพบก้อนที่เต้านม มีอาการเจ็บเต้านมอย่างผิดสังเกต อย่าลังเลที่จะรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมทันที
เพราะอาการของโรคมะเร็งเต้านมที่สังเกตได้ชัด มีแนวโน้มจะอยู่ในระยะที่เซลล์มะเร็งเริ่มขยายขนาด หรือลุกลามมากขึ้นแล้ว การรีบตรวจพบและได้วางแผนการรักษาโดยเร็วที่สุด มีโอกาสจะทำให้คนไข้หายจากโรคนี้ได้
หรือหากไม่รู้จะเริ่มต้นช่องทางติดต่อปรึกษาแพทย์ที่ไหน ติดต่อหาแอดมิน HDcare เพื่อทำนัดปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งได้เลย จะคุยทางออนไลน์ก่อนก็ได้ หรือนัดไปคุยปรึกษาและตรวจที่โรงพยาบาลโดยตรงก็ได้เช่นกัน
และหากได้รับการวินิจฉัยแล้ว และต้องการผ่าตัดรักษากับแพทย์เฉพาะทาง คุณก็สามารถซื้อบริการผ่าตัดกับทาง HDcare ได้เช่นกัน ทั้งเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ และยังมีบริการพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวที่จะช่วยดูแลคุณตลอดช่วงเวลาผ่าตัด คอยตอบคำถามที่สงสัย คอยประสานงานกับแพทย์และโรงพยาบาล ไม่ต้องมีญาติไปด้วยก็สบายใจหายห่วง
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย