สารบัญ
- อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?
- อวัยวะตรงไหนของทางเดินหายใจส่วนบนที่หย่อนตัวลงจนกลายเป็นเสียงกรน?
- อาการกรนแบบไหนที่เป็นอันตราย?
- อาการกรน มักพบในผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่า?
- อาการกรน พบได้ตั้งแต่อายุเท่าไร?
- พฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการนอนกรน?
- อาการกรนสามารถนำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง?
- จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองนอนกรน?
- วิธีรักษาอาการนอนกรน
- การร้อยไหมแก้กรน คืออะไร?
- ใครเหมาะกับการร้อยไหมแก้กรน?
- การตรวจวินิจฉัยก่อนการร้อยไหมแก้กรน
- การร้อยไหมแก้กรน ใช้ยาชาหรือยานอนหลับ
- ขั้นตอนการร้อยไหมแก้กรนเป็นอย่างไร? ใช้เวลานานหรือไม่?
- ร้อยไหมแก้กรน ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลและที่บ้านนานแค่ไหน?
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการร้อยไหมแก้กรน?
- หลังร้อยไหม อาการนอนกรนจะดีขึ้นเลยหรือไม่?
- การดูแลตนเองหลังร้อยไหมแก้กรน
- ร้อยไหมแก้กรน ทำให้อาการหายถาวรหรือไม่?
- ไหมที่ใช้ร้อยเพื่อแก้กรนเป็นไหมอะไร?
- หลังจากเส้นไหมละลายหมดแล้ว อาการนอนกรนจะกลับมาอีกหรือไม่?
- ปัจจัยที่ทำให้อาการนอนกรนกลับมา
- ร้อยไหมแก้กรนกับ พญ. เพชรรัตน์ ด้วยบริการจาก HDcare
อาการนอนกรนเกิดจากอะไร?
อาการนอนกรน เกิดจากร่างกายที่ผ่อนคลายลงระหว่างที่เรานอนหลับ จนทำให้อวัยวะในตำแหน่งทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบและหย่อนตัวลง ทำให้เสียงของลมหายใจที่ดังระหว่างนั้นกระพือดังเป็นเสียงกรน
อวัยวะตรงไหนของทางเดินหายใจส่วนบนที่หย่อนตัวลงจนกลายเป็นเสียงกรน?
อวัยวะของทางเดินหายใจส่วนบนที่ทำให้เกิดการหย่อนตัว ได้แก่ เพดานอ่อน ลิ้นไก่ โคนลิ้น และต่อมทอนซิล
อาการกรนแบบไหนที่เป็นอันตราย?
อาการกรนสามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบได้แก่
- อาการกรนปกติ ซึ่งเป็นเพียงเสียงกรนที่ดัง แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- อาการกรนและมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จัดเป็นอาการกรนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรรับการรักษา มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
อาการกรน มักพบในผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่า?
โดยส่วนมากจะพบอาการกรนในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยในประเทศไทยจะพบอาการนี้ได้ในผู้ชายประมาณ 4% ส่วนในผู้หญิงประมาณ 2% เนื่องจากร่างกายผู้หญิงจะมีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งสามารถช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนไม่หย่อนตัวลงมาระหว่างนอนหลับ
อาการกรน พบได้ตั้งแต่อายุเท่าไร?
อาการกรนเป็นอาการที่สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงวัย แต่จากสถิติอุบัติการณ์ของอาการนี้จะพบในผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่อายุน้อย
พฤติกรรมที่ทำให้เกิดอาการนอนกรน?
- พฤติกรรมสูบบุหรี่
- พฤติกรรมบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การทำงานมาอย่างหนัก หรือออกกำลังกายมาอย่างหนัก
- การกินยานอนหลับ ซึ่งในตัวยามักจะมีกลไกทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนหย่อนยานลงมา
อาการกรนสามารถนำไปสู่โรคอะไรได้บ้าง?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ชนิดของอาการกรนที่เป็นอันตราย คือ อาการกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย ซึ่งภาวะนี้จัดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ ตามมา ซึ่งเรียงตามลำดับได้ดังต่อไปนี้
- โรคหัวใจ โดยภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับเป็นอีกปัจจัยกระตุ้นทำให้หัวใจของคนไข้ทำงานหนักขึ้น ร่วมกับมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และสามารถนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือโรคความดันโลหิตสูงได้
- โรคเกี่ยวกับสมอง โดยผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับจะมีโอกาสความจำเสื่อมได้ง่ายและเร็วกว่าคนทั่วไป รวมถึงทำให้มีอาการอ่อนเพลียในช่วงกลางวัน ทำให้ทำงานมีประสิทธิภาพน้อยลง หรือเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุระหว่างขับขี่พาหนะได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอาการอัมพฤกษ์หรืออัมพาตได้อีกด้วย
จะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองนอนกรน?
ในคนไข้บางรายจะสามารถได้ยินเสียงกรนของตัวเองได้ในช่วงใกล้เคลิ้มหลับ แต่ในปัจจุบันเราสามารถเช็กอาการนอนกรนของตนเองได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้แอปพลิเคชันอัดเสียงในโทรศัพท์มือถือ โดยให้กดอัดเสียงไว้ตั้งแต่เริ่มเข้านอน จนกระทั่งตื่นเช้ามาให้หยุดอัด และกลับมาลองฟังเสียงที่อัดไว้อีกครั้ง
หากฟังแล้วพบว่า เสียงส่วนใดมีระดับแอมพลิจูด (Amplitude) ที่สูงขึ้น ก็จะสามารถช่วยตรวจสอบได้ว่า เรานอนกรนดังมากแค่ไหน นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชันเพื่อสุขภาพอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับอัดเสียงนอนกรนโดยเฉพาะด้วย
วิธีรักษาอาการนอนกรน
วิธีรักษาอาการนอนกรนสามารถแบ่งออกได้ 3 ทางเลือก ได้แก่
- วิธีรักษาแบบทางหลัก
- วิธีรักษาแบบทางเลือก
- วิธีรักษาแบบอนุรักษ์
ส่วนรูปแบบของวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันจะแบ่งออกได้ 2 แนวทาง ได้แก่
- วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัด เช่น การใส่เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก หรือการใส่ทันตอุปกรณ์ไว้ในช่องปาก
- วิธีรักษาแบบผ่าตัด เพื่อแก้ไขอวัยวะหรือกล้ามเนื้อส่วนที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนโดยตรง
การร้อยไหมแก้กรน คืออะไร?
การร้อยไหมแก้กรน คือ การร้อยเส้นไหมละลายที่เป็นวัสดุทางการแพทย์เข้าไปที่ตำแหน่งเพดานอ่อนซึ่งหย่อนตัวลงมา ทำให้เพดานอ่อนไม่ว่าจะแนวบนหรือแนวล่างมีความตึงตัวขึ้น และทางเดินหายใจเปิดกว้างกว่าเดิม ช่วยให้อาการนอนกรนบรรเทาหายไป
หากใครเคยทำหัตถการเพื่อความงามด้วยการร้อยไหมบนใบหน้ามาก่อน ก็จัดเป็นการทำหัตถการที่เหมือนกัน เพียงแต่ย้ายทำแหน่งมาทำภายในช่องปากเพื่อแก้อาการนอนกรนแทน
ใครเหมาะกับการร้อยไหมแก้กรน?
- คนไข้ที่น้ำหนักตัวไม่เกินเกณฑ์ โดยจะต้องมีดัชนีมวลกายไม่เกิน 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- คนไข้ที่มีอาการนอนกรนจากกล้ามเนื้อเพดานปากที่หย่อนลงมา
- คนไข้ที่ไม่มีโรคประจำตัวซึ่งเป็นอุปสรรคจากการร้อยไหม
- คนไข้ที่ขนาดลิ้นไม่ใหญ่เกินไป
- คนไข้ที่ขากรรไกรไม่ผิดรูป
การตรวจวินิจฉัยก่อนการร้อยไหมแก้กรน
- คนไข้ต้องรับการตรวจร่างกายกับแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์ประเมินว่า มีอาการที่เหมาะสมต่อการร้อยไหมแก้กรน
- หากแพทย์ประเมินว่า คนไข้ควรร้อยไหมแก้กรน คนไข้จะรับการตรวจสุขภาพตามรายการที่แพทย์กำหนดเพื่อเตรียมตัวก่อนผ่าตัด เช่น ตรวจเลือด ตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจการนอนหลับ
- หลังจากตรวจสุขภาพแล้ว คนไข้ต้องเข้าพบอายุรแพทย์เพื่อเตรียมร่างกายก่อนการผ่าตัดด้วย
การร้อยไหมแก้กรน ใช้ยาชาหรือยานอนหลับ
การร้อยไหมแก้กรนจะเลือกใช้เป็นการวางยาสลบคนไข้
ขั้นตอนการร้อยไหมแก้กรนเป็นอย่างไร? ใช้เวลานานหรือไม่?
การร้อยไหมแก้กรนใช้ระยะเวลาในการทำหัตถการประมาณ 20-30 นาที โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์วางยาสลบคนไข้
- แพทย์ใช้อุปกรณ์ถ่างช่องปากให้กว้างเพื่อเปิดพื้นที่ในการผ่าตัด
- แพทย์ร้อยไหมเข้าด้านในเพดานปาก
- เมื่อคนไข้ตื่นจากยาสลบจะรู้สึกตึง ๆ ข้างในช่องปากได้เล็กน้อย
ร้อยไหมแก้กรน ใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลและที่บ้านนานแค่ไหน?
หลังร้อยไหมแก้กรน คนไข้จะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อให้แพทย์เฝ้าสังเกตอาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ รวมถึงอาการเจ็บแผล และเพื่อให้แน่ใจว่า คนไข้สามารถกินอาหารเองได้ จากนั้นจะอนุญาตให้คนไข้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่อ 1-2 สัปดาห์
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการร้อยไหมแก้กรน?
หลังร้อยไหมแก้กรน คนไข้อาจเผชิญอาการข้างเคียงบางประการได้ แต่มักเป็นเพียงช่วงแรก ๆ หลังการผ่าตัดเท่านั้น หลังจากนั้นอาการก็จะค่อย ๆ บรรเทาหายดีเอง โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อาการสำลักอาหาร
- อาการเจ็บตึงแผล แต่โดยส่วนมากไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด คนไข้ก็จะหายเจ็บ
- อาการชาที่เพดานปาก
- อาการหายใจติดขัดในช่องปาก เนื่องจากแผลยังบวมอยู่
หลังร้อยไหม อาการนอนกรนจะดีขึ้นเลยหรือไม่?
การสังเกตผลลัพธ์หลังร้อยไหมแก้กรนจะอยู่ที่ 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว แผลผ่าตัดจะเริ่มหายดี เพดานปากหายบวมและมีความตึงตัวมากขึ้น เมื่อนั้นคนไข้จะเริ่มสังเกตได้ว่า ตนเองหายจากอาการนอนกรนหรือไม่
การดูแลตนเองหลังร้อยไหมแก้กรน
- กินอาหารเหลวเย็น รสไม่จัด และไม่มีกาก เป็นเวลา 2 สัปดาห์
- นอนยกศีรษะสูงเพื่อลดอาการแผลบวม
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้อย่างเคร่งครัด โดยประกอบไปด้วยยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด และยาแก้ไอ
- งดพูดเยอะ ๆ งดการขากเสมหะ งดไอ เพื่อป้องกันไม่ให้เพดานปากกลับมาหย่อนตกลงอี
ร้อยไหมแก้กรน ทำให้อาการหายถาวรหรือไม่?
ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยปกติคนไข้ทุกรายจะมีอาการนอนกรนดีขึ้นหลังร้อยไหม แต่ในบางรายก็อาจกลับมามีอาการซ้ำอีกได้ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย โดยส่วนมากมักมาจากสาเหตุ 2 ประการ ได้แก่
- อายุที่มากขึ้น ซึ่งทำให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายหย่อนยานลง
- น้ำหนักตัวที่มากขึ้น จนทำให้ร่างกายไปสร้างไขมันสะสมอยู่ตรงตำแหน่งที่แพทย์เคยร้อยไหม ทำให้เพดานปากกลับมาหย่อนตัวลงอีก
ไหมที่ใช้ร้อยเพื่อแก้กรนเป็นไหมอะไร?
ไหมสำหรับร้อยเพื่อรักษาอาการนอนกรนจะเป็นไหมละลายที่มีลักษณะเป็นเงี่ยงที่มีปุ่มนูนเล็ก ๆ ตลอดเส้น โดยแพทย์จะเย็บเส้นไหมและซ่อนปมอยู่ด้านในช่องปาก ทำให้คนไข้ไม่รู้สึกรำคาญหลังจากร้อยไหมเสร็จ
หลังจากเส้นไหมละลายหมดแล้ว อาการนอนกรนจะกลับมาอีกหรือไม่?
หลังจากเส้นไหมละลายไปจนหมด เพดานปากคนไข้จะเกิดเป็นเนื้อเยื่อพังผืดขึ้นมาซึ่งจะยังช่วยป้องกันเสียงกรนในช่วงแรกได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อคนไข้อายุมากขึ้น หรือมีไขมันสะสมในร่างกายมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกรนอีกได้
ปัจจัยที่ทำให้อาการนอนกรนกลับมา
- อายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะในผู้หญิงหรือผู้ชาย ซึ่งทำให้เพดานปากที่เคยตึงจากการร้อยไหมหย่อนตกลงมาอีก
- ไขมันสะสม ภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์ ซึ่งทำให้เกิดไขมันสะสมที่เพดานปากและทำให้กล้ามเนื้อเพดานปากหย่อนตกลงมาอีก
ร้อยไหมแก้กรนกับ พญ. เพชรรัตน์ ด้วยบริการจาก HDcare
มีอาการนอนกรน หรือตื่นนอนมาแล้วไม่สดชื่น ปวดหัว ความจำก็เริ่มเลอะเลือนทั้ง ๆ ที่ชั่วโมงนอนเพียงพอ อย่าละเลยที่มาตรวจกับแพทย์ เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือติดต่อแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษาแพทย์เฉพาะทางผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่โรงพยาบาลที่คุณสะดวก
หรือหากสนใจร้อยไหมแก้กรน ก็สามารถซื้อบริการผ่าตัดในราคาส่วนลดกับแอดมิน HDcare ได้ทันที พร้อมบริการพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวที่จะคอยอยู่เป็นเพื่อน และประสานงานให้คุณที่โรงพยาบาลตลอดระยะเวลาที่ทำการรักษา
สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย