Default fallback image

รักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

หลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นภาวะอันตรายที่มักซ่อนตัวอยู่ ถ้ากระเปาะเลือดไม่โตขึ้น อาจไม่มีอาการใดๆ เลย อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจกลายเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตขึ้นได้เช่นกัน ถ้ากระเปาะเลือดแตกออก

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด เป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคนี้ ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ เพียงใช้สายสวนหลอดเลือด และสามารถหยุดการไหลเวียนเลือดได้อย่างรวดเร็ว

สารบัญ

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด คืออะไร

การรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด (Glue Ambolizations) เป็นการรักษาหลอดเลือดสมองชนิดโป่งพองโดยใช้วิธีใส่สายสวนหลอดเลือดแดง แล้วนำพาสารที่เรียกว่า N-Butyl Cyanoacrylate (NBCA) เข้าไปอุดเส้นเลือดบริเวณที่มีปัญหา โดยทั่วไปจัดว่าเป็นเทคนิคที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ

สาร NBCA ที่ว่านี้ ปกติมีคุณสมบัติเป็นของเหลว คล้ายกาว แต่เมื่อสัมผัสกับสารประกอบอื่น เช่น เลือด ผนังหลอดเลือด จะแข็งตัวอย่างรวดเร็วและติดอยู่กับที่ถาวร

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด เหมาะกับใคร

การรักษาด้วยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ป่วยหลอดเลือดสมองโป่งพอง ที่มีจุดโป่งพองขนาดเล็ก หรือมีหลอดเลือดสมองแตกขนาดเล็กๆ ที่ต้องการปิดการไหลของเลือดอย่างรวดเร็ว 

ข้อดีของการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

เมื่อเปรียบเทียบการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด กับวิธีอื่นๆ เช่น อุดหลอดเลือดด้วยขดลวด หรือผ่าตัดเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือด การรักษาด้วยกาวอุดหลอดเลือดมีข้อดี ได้แก่

  • หยุดเลือดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ระดับวินาที
  • ให้ผลการรักษาถาวร
  • เมื่อรักษาเสร็จแล้วไม่มีโลหะหรือวัสดุแปลกปลอมหลงเหลือในร่างกาย
  • เป็นเทคนิคที่สามารถเข้าถึงหลอดเลือดที่มีลักษณะคดงอหรือมีขนาดเล็กได้ดี
  • ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านเกล็ดเลือดเมื่อรักษาเสร็จ

ข้อจำกัดของการการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยเหล่านี้

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้กาวอุดหลอดเลือด หรือสาร Cyanoacrylate
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติอย่างควบคุมไม่ได้
  • ตำแหน่งหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง ไม่อยู่ใกล้ตำแหน่งหลอดเลือดสำคัญเกินไป
  • จำเป็นต้องทำในสถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางรังสีร่วมรักษา (Interventional Radiologist) และมีประสบการณ์ใช้วัสดุอุดชนิดนี้แล้ว มีความเชี่ยวชาญการด้านผ่าตัดเส้นเลือดในสมอง เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

ความเสี่ยงจากการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

แม้ว่าการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด จะมีประสิทธิภาพสูง แต่มีความเสี่ยงหลักๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ มีโอกาสที่กาวจะไปอยู่ผิดตำแหน่ง และด้วยคุณสมบัติของกาวชนิดนี้ที่แข็งตัวอย่างรวดเร็ว จึงอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดได้ กรณีที่การทำหัตถการผิดพลาด

ผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อรับการรักษากับแพทย์ผู้ชำนาญการ มีการเตรียมตัวก่อนตรวจเป็นอย่างดี ให้ข้อมูลสุขภาพแก่แพทย์อย่างครบถ้วน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด ได้แก่

  • หลอดเลือดแดงบาดเจ็บจากการสวนหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด หรือภาวะหลอดเลือดอุดตัน
  • อาการแพ้สารทึบรังสี หรือแพ้กาวอุดหลอดเลือด
  • ไตเสียหายเนื่องจากสารทึบรังสี
  • ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตาม การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด จัดว่าเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงน้อย เมื่อเทียบกับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบเปิดกะโหลกศีรษะ

ขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด มีขั้นตอนดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยนอนบนเตียง มีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เพื่อติดตามสัญญาณชีพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต ระดับออกซิเจน ชีพจร จากนั้นจะระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยการให้ยากล่อมประสาทระดับปานกลางทางสายน้ำเกลือ หรืออาจใช้วิธีรมยาสลบ เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวดขณะรักษา
  2. พยาบาลทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณที่จะใส่สายสวน (มักเป็นบริเวณขาหนีบ) แล้วคลุมด้วยผ้าปลอดเชื้อ
  3. แพทย์ฉีดยาชาบริเวณที่จะสอดสายสวน ก่อนจะกรีดเปิดผิวหนังเป็นแผลเล็กๆ จากนั้นสอดสายสวนหลอดเลือด (Catheter) เข้าที่หลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบของผู้ป่วย แล้วค่อยๆ เคลื่อนสายสวนผ่านหลอดเลือดไปถึงสมอง ยังตำแหน่งที่มีหลอดเลือดสมองโป่งพอง ระหว่างนี้มีการใช้เทคนิคถ่ายภาพรังสีเพื่อช่วยให้สายสวนเข้าสู่ตำแหน่งที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ
  4. เมื่อถึงตำแหน่งหลอดเลือดสมองโป่งพอง แพทย์จะทำการฉีดกาวทางการแพทย์ เพื่ออุดหลอดเลือดบริเวณนั้น กาวจะจับตัวแข็งอย่างรวดเร็วเมื่อสัมผัสกับเลือดหรือผนังหลอดเลือด ทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดบริเวณดังกล่าวอีก ทำให้ไม่มีการโตเพิ่มของหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง
  5. เมื่ออุดหลอดเลือดเสร็จเรียบร้อย แพทย์จะถอดสายสวนออก แล้วกดแผลให้เลือดหยุดไหล จากนั้นปิดแผลเล็กๆ ด้วยผ้าปิดแผล ไม่มีการเย็บ และพยาบาลจะถอดสายน้ำเกลือออกให้

บางกรณีอาจมีการทำบอลลูนหลอดเลือดร่วมด้วย เพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือดชั่วคราวระหว่างรักษา ขั้นตอนทั้งหมดนี้โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง

การเตรียมตัวก่อนรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

ถ้าต้องระงับความรู้สึกผู้ป่วยด้วยการวางยาสลบ แพทย์จะให้งดเครื่องดื่มและอาหารล่วงหน้า เพื่อป้องกันการสำลักระหว่างรักษา

การดูแลตัวเองหลังจากรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด

หลังรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยกาวอุดหลอดเลือด ผู้ป่วยอาจต้องพักสังเกตอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน โดยช่วง 12-24 ชั่วโมงแรก ควรนอนราบบนเตียง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

เมื่อแพทย์ให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน ควรหมั่นสังเกตตนเอง อาจยังเจ็บแผลบริเวณที่สอดสายสวน หรือมีเลือดไหลออกมาบ้างเล็กน้อย ตามปกติอาการเหล่านี้มักค่อยๆ ดีขึ้นภายในไม่กี่วันหรือภายใน 2-3 สัปดาห์

ถ้าเกิน 3 สัปดาห์ไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบติดต่อแพทย์ เนื่องจากอาจบ่งบอกถึงอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย

  • เป็นไข้ หนาวสั่น
  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ใส่สายสวนหลอดเลือดมาก หรือพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นแดง บวม หรือมีเลือดหรือของเหล่วอื่นๆ ไหลซึมออกมา
  • รู้สึกหนาว ชา หรือเจ็บแปลบอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาตามนัด เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาได้ผลดี

โอกาสหายจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง เมื่อรักษาด้วยกาวอุดหลอดเลือด

โดยทั่วไป การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยกาวอุดหลอดเลือดมักทำให้เลือดหยุดไหลเวียนไปเลี้ยงตำแหน่งที่โป่งพองอย่างถาวร ให้ผลโดยทันทีเมื่อกาวแข็งตัว (ซึ่งใช้เวลาสั้นมากระดับวินาที) หลังจากนั้นมักไม่มีอาการหลอดเลือดโป่งพองเกิดซ้ำบริเวณที่เคยรักษาไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาวะหลอดเลือดโป่งพองยังอาจเกิดได้อีกที่บริเวณอื่นในสมอง โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ อายุ พฤติกรรมการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร โรคประจำตัว

ปรับพฤติกรรม ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง อ่านต่อ คลิกเลย!

การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยกาวอุดหลอดเลือด แม้จะไม่ใช่แนวทางหลัก แต่เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและยังสามารถประยุกต์ใช้กับหลอดเลือดบริเวณอื่นที่ต้องการหยุดการไหลเวียนของเลือด การรักษาอื่นๆ สำหรับหลอดเลือด ได้แก่ อุดหลอดเลือดด้วยขดลวด ผ่าตัดเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือด 

ในบางกรณีอาจมีการทำบอลลูนหลอดเลือดร่วมกับการหยุดทางไหลเวียนเลือดด้วย ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของหลอดเลือดที่ต้องการปิดการไหลเวียนเลือด ขนาดของหลอดเลือดบริเวณนั้น รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกเทคนิคที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้การรักษาปลอดภัยและได้ผลดีที่สุด

อายุเยอะแล้ว อยากตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง ตรวจดูว่ามีโอกาสเป็นหลอดเลือดสมองโป่งพองมั้ย? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top