gastroscopy colonoscopy screening selfcheck scaled

ส่องกล้องทางเดินอาหาร VS ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ อาการแบบไหนควรตรวจอะไร

การส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นอีกกระบวนการตรวจวินิจฉัยที่จำเป็นสำหรับการรักษาความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากสามารถช่วยให้แพทย์มองเห็นลักษณะหรือความผิดปกติภายในอวัยวะของระบบนี้ได้อย่างละเอียดและแม่นยำ โดยแบ่งประเภทการตรวจได้ 2 แบบ คือ 

  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เป็นการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กผ่านทางช่องปาก เพื่อให้แพทย์มองเห็นภาพลักษณะอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นได้อย่างละเอียด ซึ่งได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น 
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้มองเห็นลักษณะหรือความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจนถึงส่วนปลาย รวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย และทวารหนัก

อย่างไรก็ตาม หลายคนก็อาจสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการแบบไหนควรส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น อาการแบบไหนควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ในบทความนี้ เราจะมาแจกแจงความต่างของอาการที่เหมาะต่อการตรวจ 2 ประเภทนี้พร้อมกัน

อาการที่ควรส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น

อาการที่ควรส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นนั้นค่อนข้างหลากหลาย โดยอาการที่เด่นชัดที่ควรตรวจมีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่อายุ 40-45 ปี สามารถตรวจได้เลย โดยไม่ต้องรอให้มีอาการก่อน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เสี่ยงพบความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างมาก
  • ผู้ที่อายุ 40-45 ปี และมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ แพทย์มักจะประเมินให้รับการส่องกล้องทางเดินอาหาร 
    • อาเจียนบ่อย
    • น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
    • กลืนลำบาก กลืนแล้วเจ็บ
    • คลำพบก้อนบนท้อง
    • เบื่ออาหาร
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ที่กลืนสิ่งแปลกปลอม หรือกลืนสารกัดกร่อนเข้าไปในหลอดอาหาร เช่น เหรียญ ถ่าน ก้างปลา กระดูกสัตว์ น้ำยาล้างห้องน้ำ
  • ผู้ที่ตรวจพบเนื้องอกในอวัยวะระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ที่ตรวจพบเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
  • ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารและจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อ เก็บของเหลว หรือน้ำย่อยไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
  • ผู้ที่มีอาการปวดท้องช่วงบนแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีอาการท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • ผู้ที่ถ่ายอุจจาระมีสีเข้มผิดปกติ มีสีแดงคล้ายกับมีเลือดปน หรือสีดำ ร่วมกับมีภาวะโลหิตจาง

อาการที่ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่

อาการที่บ่งชี้ว่าควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่มักสังเกตเห็นได้จากลักษณะของอุจจาระ แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มอาการอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารที่ควรเข้ารับตรวจเช่นกัน ดังนี้

  • ผู้ที่อายุ 40-45 ปี สามารถตรวจได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีอาการก่อน เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่เสี่ยงพบความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างมาก
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ ให้สังเกตว่า สมาชิกคนดังกล่าวเป็นโรคมะเร็งตอนอายุเท่าไร จากนั้นให้ลบอายุนั้นด้วย 10 จะได้เลขอายุที่ควรเริ่มส่องกล้องลำไส้ใหญ่ 
  • อ่อนเพลียง่าย หรือตัวซีดอย่างหาสาเหตุไม่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • ปวดท้องเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ท้องผูกเรื้อรังผิดปกติ
  • ท้องผูกสลับท้องเสีย
  • ปวดเบ่งเวลาถ่ายอุจจาระ
  • รู้สึกขับถ่ายยากขึ้น
  • รู้สึกอุจจาระไม่สุดหลังขับถ่ายเสร็จ
  • อุจจาระมีสีเข้ม หรือมีเลือด หรือมูกเลือดปน
  • อุจจาระมีเม็ดเล็กหรือลีบลงผิดปกติ 
  • คลำพบก้อนในท้อง

แต่ทั้งนี้ คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีส่องกล้องทางเดินอาหารก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินอาการจากแพทย์ให้กับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป 

อย่างไรก็ตามหากใครคิดว่า การส่องกล้องทางเดินอาหารนั้นน่ากลัว หรือต้องเจ็บมากแน่ๆ อยากให้คลายความกังวลใจ เนื่องจากการส่องกล้องทางเดินอาหารในปัจจุบัน มีขั้นตอนที่เรียบง่าย มีการให้ยาชาหรือยาสลบก่อนตรวจเพื่อป้องกันอาการเจ็บ นอกจากนี้ยังสามารถกลับบ้านหลังตรวจได้เลย ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด

ฉะนั้นใครที่มีอาการตรงตามเช็กลิสต์ข้างต้น แนะนำให้ตรวจแต่เนิ่นๆ เพื่อความปลอดภัย

อยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองแพ็กเกจส่องกล้องทางเดินอาหาร พร้อมมีพยาบาลส่วนตัวคอยอยู่เป็นเพื่อน ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคในระบบทางเดินอาหาร จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top