ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย ท้องผูก รู้หรือไม่ว่า อาการที่ดูธรรมดานี้ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคในระบบทางเดินอาหารได้มากมาย ตั้งแต่โรคทั่วๆ ไปอย่าง โรคกระเพาะอาหาร ไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างโรคมะเร็งลำไส้
โดยส่วนใหญ่โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารนั้น มักมีอาการผิดปกติคล้ายคลึงกัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายๆ คนเข้าใจผิด หรือละเลย เพราะคิดว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรง จนบางครั้งเมื่อรู้ว่าป่วย โรคก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว
บทความนี้จะขอยกตัวอย่าง 5 โรคในระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อยว่ามีอะไรบ้าง เกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีตรวจคัดกรองที่แม่นยำ เพื่อให้คุณสามารถสังเกตอาการเบื้องต้น เมื่อป่วยจะได้รีบรักษาโดยเร็ว
สารบัญ
1. โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?
โรคกระเพาะอาหาร (Dyspepsia) คือ ภาวะที่กรดภายในกระเพาะอาหารเสียสมดุล และทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร จนเกิดแผลหรือการอักเสบ ส่งผลทำให้เกิดเป็นอาการผิดปกติขึ้น เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง เรอเปรี้ยว ซึ่งอาการมักเป็นๆ หายๆ หรือเรื้อรังจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารมักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม โดยสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารที่พบได้บ่อย ได้แก่
- พฤติกรรมกินอาหารไม่ตรงเวลา
- พฤติกรรมอดอาหาร
- การกินอาหารรสจัด รสเปรี้ยวจัด หรือรสเผ็ดจัด
- การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การสูบบุหรี่
- ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
- การกินยาหรือวิตามินที่สร้างความระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
- การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter pylori: H.pylori)
อาการของโรคกระเพาะอาหาร
- ปวดท้อง หลายคนมักมีอาการปวดช่วงก่อนหรือหลังกินอาหาร รวมถึงช่วงที่ท้องว่าง หรือช่วงกลางคืน
- อาการปวดท้องมักเป็นเรื้อรัง ในผู้ป่วยบางรายอาจกินระยะเวลาเป็นปี
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- จุกเสียดแน่นท้อง
- แน่นบริเวณลิ้นปี่
- เรอเปรี้ยว
- คลื่นไส้หรืออาเจียน โดยเฉพาะช่วงหลังกินอาหาร
- บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร และทำให้น้ำหนักตัวลดลง
- ในผู้ป่วยบางรายที่อาการเริ่มรุนแรง อาจอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือดร่วมด้วย
2. โรคกรดไหลย้อน คืออะไร?
โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) คือ ภาวะที่สารคัดหลั่งในกระเพาะอาหารซึ่งมีทั้งที่เป็นกรด ด่าง หรือแก๊สไหลย้อนขึ้นไปยังหลอดอาหาร จนให้ให้เกิดการระคายเคือง อักเสบ หรือเป็นแผล ส่งผลทำให้เกิดอาการจุกแน่น แสบร้อนยอดอกตามมา
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
โรคกรดไหลย้อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยความผิดปกติของร่างกาย และพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ดังนี้
- ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร
- ความดันของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารลดลงกว่าปกติ
- ความผิดปกติของการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
- การตั้งครรภ์ ที่เป็นการเพิ่มความดันในช่องท้อง และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลงด้วย
- พฤติกรรมการกินอาหารแล้วนอนทันที
- การกินอาหารปริมาณมากๆ ต่อมื้อ
- พฤติกรรมกินอาหารที่มีไขมันสูง
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ
- การสูบบุหรี่
- ความเครียด
- ภาวะอ้วน
อาการของโรคกรดไหลย้อน
- รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในคอ ทำให้กลืนลำบาก
- แสบร้อนที่ลิ้นปี่ และมักลามขึ้นไปที่กลางหน้าอกและคอ
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- เรอเปรี้ยว
- คลื่นไส้อาเจียน
- บางรายอาจมีกลิ่นปากหรือฟันผุ
- รู้สึกเปรี้ยวหรือขมปาก
- ท้องอืด
- จุกเสียดแน่นท้อง
3. โรคลำไส้อักเสบ คืออะไร?
โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) คือ ภาวะที่เยื่อบุผนังลำไส้ใหญ่เกิดการติดเชื้อ บาดเจ็บ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับภูมิต้านทาน จนเกิดเป็นอาการอักเสบภายใน รวมถึงทำให้เกิดแผลหรือเลือดออกที่ผนังลำไส้ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบขับถ่าย ในผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ
- การกินอาหารที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนเชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมจนทำให้ลำไส้ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อปรสิต
- การกินยาปฏิชีวนะบางชนิด
- ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานผิดปกติ จนทำให้ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น หรือภูมิคุ้มกันได้ย้อนกลับมาทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายแทน ซึ่งในกรณีของโรคลำไส้อักเสบจะอยู่ที่เนื้อเยื่อบริเวณผนังลำไส้
อาการของโรคลำไส้อักเสบ
- ปวดท้อง ในบางรายอาจปวดบีบอย่างรุนแรง
- ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
- คลื่นไส้อาเจียน
- อ่อนเพลีย
- มีไข้ต่ำๆ
- เบื่ออาหาร
- ปวดเมื่อยตามตัว
- เกิดภาวะขาดน้ำ มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้อักเสบในระดับเรื้อรังแล้ว และขับถ่ายบ่อยจนร่างกายขาดน้ำ
- ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นถ่ายมีเลือดปนหรือมีมูกเลือด
ท้องเสียบ่อย ปวดท้อง เป็นโรคอะไรกันแน่ กังวลใจ อยากตรวจให้แน่ชัด ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทางได้เลย
4. โรคลำไส้แปรปรวน คืออะไร?
โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS) คือ ภาวะการบิดตัวที่ผิดปกติหรือการไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไปของลำไส้ส่วนปลาย จนทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร รวมถึงระบบขับถ่าย
สาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวน
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคลำไส้แปรปรวนได้แน่ชัด แต่มีความเชื่อว่า โรคนี้มีปัจจัยร่วมที่สามารถกระตุ้นทำให้ลำไส้มีความแปรปรวนเกิดขึ้นได้ เช่น
- กรรมพันธุ์ โดยผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน มีโอกาสที่ผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดคนอื่นๆ จะเป็นโรคนี้ด้วย
- ความไวต่ออาหารบางชนิด เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
- ภาวะความเครียด
- ความผิดปกติของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้
อาการของโรคลำไส้แปรปรวน
- เรอบ่อย
- ผายลมบ่อย
- กิจวัตรการขับถ่ายเปลี่ยนไป โดยบางรายอาจอุจจาระบ่อยขึ้น หรืออุจจาระน้อยลงจนคล้ายอาการท้องผูก
- ลักษณะอุจจาระเปลี่ยนไป โดยผู้ที่เคยถ่ายเป็นก้อน อาจมีอาการถ่ายเหลวอย่างผิดสังเกต หรือบางรายก็อาจถ่ายเป็นก้อนแข็งขึ้นจนเบ่งอุจจาระได้ยาก
- ปวดท้องบ่อย โดยเฉพาะบริเวณช่วงท้องส่วนล่าง ในบางรายอาจปวดแค่เบาๆ บางรายอาจปวดมากจนต้องไปพบแพทย์
- ท้องเสีย และ/หรือ สลับกับท้องผูก
- ท้องอืด หรือมีอาการแน่นท้อง
5. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) คือ ภาวะที่เซลล์ภายในลำไส้ใหญ่เกิดการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ และเจริญเติบโตกลายเป็นเซลล์มะเร็ง โรคมะเร็งลำไส้ จัดเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุประมาณ 60-65 ปี
สาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า ปัจจัยใดที่เป็นสาเหตุของการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์บริเวณลำไส้ แต่ก็มีความเชื่อว่า ปัจจัยดังต่อไปนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ผู้ที่มีประวัติเคยพบติ่งเนื้อที่ลำไส้ใหญ่
- อายุที่มากขึ้น โดยผู้สูงอายุจะมีโอกาสพบโรคนี้ได้มากกว่า
- ภาวะอ้วน
- ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
- การสูบบุหรี่
- กรรมพันธุ์ โดยผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน มีโอกาสที่จะพบโรคนี้ได้มากกว่ากลุ่มคนทั่วไป
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการที่พบได้บ่อยจากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีความใกล้เคียงกับอาการของโรคทางเดินอาหารอื่นๆ จนทำให้หลายครั้งที่ผู้ป่วยโรคนี้ไม่รู้ว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น
- ท้องเสีย
- ท้องผูก ในบางรายมีอาการขับถ่ายไม่สุด
- รู้สึกปวดแสบร้อนท้อง
- อาหารไม่ย่อย
- อ่อนเพลียง่ายขึ้น
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- อุจจาระปนเลือด หรือมีสีคล้ำมาก
การตรวจวินิจฉัยโรคระบบทางเดินอาหาร
โรคระบบทางเดินอาหารทั้ง 5 โรคที่กล่าวมาข้างต้น มีกระบวนการตรวจบางรายการที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากเป็นโรคที่อยู่ในระบบการทำงานเดียวกัน โดยกระบวนการตรวจโรคระบบทางเดินอาหารที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
- การตรวจร่างกาย ซักประวัติสุขภาพและสอบถามอาการจากแพทย์
- การตรวจเลือด
- การตรวจอุจจาระ เพื่อช่วยหาเลือดแฝงในอุจจาระ ซึ่งสามารถบ่งชี้รอยโรคในระบบทางเดินอาหารได้
- การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
- การส่องกล้องทางเดินอาหาร ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกได้หลายเทคนิค ช่วยให้แพทย์ตรวจความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารได้อย่างละเอียด แม่นยำ และคัดแยกโรคในระบบทางเดินอาหารแต่ละชนิดออกจากกันได้ง่ายขึ้น เช่น
- ตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นหรือบน ด้วยการส่องกล้อง เป็นการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ประมาณ 1 เซนติเมตร เข้าทางช่องปากผู้ป่วย ผ่านลงไปยังกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อวินิจฉัยโรคที่อาจเกิดกับหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
- การตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้อง เป็นการสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาด 1 เซนติเมตรเข้าทางทวารหนักของผู้ป่วย เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลาย โดยสามารถตรวจวินิจฉัยแยกโรคได้ค่อนข้างแม่นยำ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อที่ลำไส้ โรคลำไส้อักเสบ อาการปวดท้อง หรือท้องเสียเรื้อรัง
- ตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนต้นหรือบน และลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้อง เป็นการตรวจดูอวัยวะในระบบทางเดินอาหารผ่านทั้งทางปากและทางทวารหนัก 2 ช่องทาง เพื่อให้สามารถเห็นความผิดปกติครอบคลุมได้ตั้งแต่หลอดลมไปจนถึงลำไส้ใหญ่ และลำไส้เล็ก
จะเห็นได้ว่าโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารล้วนมีหลายอาการที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นท้อง ท้องเสีย ท้องผูก ฯลฯ หากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตแล้ว บางครั้งโรคที่เป็นยังอาจลุกลามและรุนแรงขึ้นจนรักษาได้ยาก หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่มีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ท้องเสีย โดยเป็นติดต่อกันนาน โดยไม่ทราบสาเหตุ ควรพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา หากพบสัญญาณความผิดปกติใดๆ จะได้รักษาได้ทันท่วงที
ยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคกระเพาะ กรดไหลย้อน หรือโรคเกี่ยวกับลำไส้รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ส่วนปลาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย