การทำหมันหญิง เป็นทางเลือกในการคุมกำเนิดในผู้หญิงที่ไม่ต้องการจะมีบุตรอีก ซึ่งทำโดยการตัดหรือผูกท่อนำไข่เพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ที่ตกมาจากรังไข่นั้นสามารถเดินทางไปยังมดลูกซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะเกิดการปฏิสนธิได้
แม้ว่าการทำหมัน จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่ก็ยังมีโอกาสเล็กน้อยที่หมันอาจจะหลุดและทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้
การทำหมัน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งเป็นภาวะที่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วนั้นเกิดการฝังตัวที่ท่อนำไข่แทนที่จะมาฝังตัวที่มดลูก ภาวะนี้สามารถเป็นภาวะฉุกเฉินได้ ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการที่เกิดขึ้น
สารบัญ
โอกาสในการตั้งครรภ์หลังจากทำหมัน
เวลาที่แพทย์ทำหมัน จะทำการผูก ตัด ปิดท่อนำไข่ แต่หากหลังจากนั้นท่อนำไข่ทั้ง 2 ด้าน เกิดการเชื่อมกันใหม่ก็อาจจะทำให้ตั้งครรภ์ได้
ผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดหมันหลุด มักจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยในขณะที่ทำหมัน อัตราการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันแล้วคือ
- 5% ในผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 28 ปี
- 2% ในผู้หญิงที่อายุระหว่าง 28-33 ปี
- 1% ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 34 ปี
หลังจากทำหมัน ผู้หญิงคนนั้นอาจจะเพิ่งพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ได้หากมีไข่ที่ได้รับการผสมแล้วฝังตัวในมดลูกก่อนที่จะทำหมัน ดังนั้นผู้หญิงที่เลือกทำหมันส่วนใหญ่ จึงมักจะเลือกทำหมันหลังจากที่เพิ่งคลอดบุตรหรือเพิ่งมีประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีโอกาสในการตั้งครรภ์ต่ำ
อาการของการตั้งครรภ์
หากหมันหลุด คุณก็อาจจะตั้งครรภ์ตามปกติได้ มีผู้หญิงหลายคนที่มาทำการต่อหมันหลังจากที่ทำไปแล้ว ซึ่งเป็นการทำให้ท่อนำไข่ กลับมาติดกันอีกครั้ง วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้ป่วยทุกคนที่ต้องการตั้งครรภ์แต่ก็จะเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ได้
อาการที่เกิดร่วมกับการตั้งครรภ์
- คัดตึงที่เต้านม
- อยากอาหารบางชนิด
- รู้สึกป่วยเวลาคิดถึงอาหารบางชนิด
- ประจำเดือนขาด
- คลื่นไส้ โดยเฉพาะในตอนเช้า
- อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
หากคุณคิดว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ สามารถซื้อชุดทดสอบที่บ้านได้ ชุดทดสอบนี้ไม่ได้เชื่อถือได้ 100% โดยเฉพาะในการตั้งครรภ์ระยะแรก แพทย์สามารถตรวจเลือดหรือตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
การที่มีประวัติผ่าตัดในอุ้งเชิงกรานหรือทำหมัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก รวมถึงการใช้ห่วงคุมกำเนิด
อาการของการตั้งครรภ์นอกมดลูก มักจะมีลักษณะคล้ายกับการตั้งครรภ์ในระยะแรก เช่นหากตรวจการตั้งครรภ์จะพบว่าเป็นบวก แต่ไข่ที่ผสมนั้นไม่ได้ฝังตัวอยู่ในบริเวณที่สามารถโตได้ ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์จนครบกำหนดได้
อาการที่อาจจะพบในภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก
- ปวดท้อง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย
- ปวดท้องน้อย
- รู้สึกแน่นในท้องน้อยโดยเฉพาะในระหว่างที่ขับถ่าย
หากมีอาการเหล่านี้ไม่ควรละเลย เพราะการตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจทำให้ท่อนำไข่แตกและทำให้เลือดออกภายในซึ่งอาจทำให้หมดสติและความดันโลหิตต่ำได้
อาการที่ควรพบแพทย์
- รู้สึกเวียนหัวอย่างรุนแรงหรือจะเป็นลม
- ปวดท้องหรือท้องน้อยอย่างรุนแรง
- เลือดออกทางช่องคลอดปริมาณมาก
- เจ็บหัวไหล่
หากแพทย์พบว่ามีการตั้งครรภ์นอกมดลูกในระยะเริ่มต้น อาจจะใช้ยาที่ชื่อว่า methotrexate ซึ่งจะหยุดการเจริญเติบโตของไข่และป้องกันไม่ให้มีเลือดออก แพทย์จะทำการตรวจติดตามระดับฮอร์โมน human chorionic gonadotropin (hCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่พบในระหว่างที่ตั้งครรภ์
แพทย์จะรักษาท่อนำไข่ที่แตกด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมหรือจัดออก หากมีการเสียเลือดมากอาจจะต้องมีการให้เลือด แพทย์ยังจะต้องติดตามอาการของการติดเชื้อเช่นไข้หรือการมีความดันโลหิตที่ควบคุมให้เป็นปกติได้ยาก
แม้ว่าการทำหมัน จะเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ไม่ได้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% และไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากคุณและคู่นอนของคุณ มีคู่นอนหลายคน อย่าลืมใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ควรปรึกษาแพทย์หากคุณกังวลว่าหมันอาจจะหลุด หากคุณเคยทำหมันในขณะที่อายุน้อยหรือผ่านมานานหลายปีแล้ว คุณอาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในการตั้งครรภ์ คุณและคู่ของคุณอาจจะเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วยเพื่อช่วยลดความเสี่ยง เช่น การใช้ถุงยางอนามัยหรือการทำหมันผู้ชาย