การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ด้วยการใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการซ่อมแซมหลอดเลือดที่ขยายตัว โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดเปิดหน้าอกหรือช่องท้อง บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจขั้นตอนการรักษา และข้อควรรู้ต่างๆ ที่หลายคนสงสัยอย่างละเอียด
สารบัญ
การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน (EVAR) คืออะไร?
การผ่าตัดสอดใส่หลอดเลือดเทียมผ่านสายสวน หรือ EVAR (Endovascular Aneurysm Repair) เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) โดยการใส่หลอดเลือดเทียม (Stent Graft) เข้าไปในหลอดเลือดที่โป่งพองหรือเสียหาย เพื่อซ่อมแซมและป้องกันการแตกของหลอดเลือด โดยไม่ต้องตัดเอาหลอดเลือดเดิมที่โป่งพองออก
ในอดีตการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองนั้น จะต้องผ่าตัดเปิดช่องอกหรือหน้าท้องเพื่อใส่หลอดเลือดเทียมทดแทน นับเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง
แต่ปัจจุบันแพทย์นิยมรักษาด้วยการทำ EVAR แทน เพราะไม่จำเป็นต้องผ่าเปิดช่องอก เพียงเปิดแผลเล็กๆ ที่ขาหนีบแล้วใส่หลอดเลือดเทียมเข้าไป บาดแผลจึงมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ภาวะแทรกซ้อนน้อย มีความปลอดภัยสูง และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้มาก
การทำ EVAR เหมาะกับใคร?
การทำ EVAR เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโป่งพอง ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องทำการผ่าตัดใหญ่ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนี้ ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic Aneurysm) มากกว่า 5 – 5.5 ซม. หรือโป่งพองขึ้น 3-5 มม. ภายใน 1 ปี ซึ่งเสี่ยงต่อการแตกและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะสุขภาพทั่วไปไม่แข็งแรง หรือผู้สูงอายุที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัดค่อนข้างนาน
- ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่ง ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ผ่านขาหนีบหรือข้อมือ
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจรักษาด้วยการทำ EVAR นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
ขั้นตอนการทำ EVAR
- แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ที่จะทำการสอดสายสวนหัวใจ
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกด้วยการดมยาสลบ
- แพทย์ผ่าตัดเปิดแผลขนาดเล็กที่ขาหนีบหรือข้อมือ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งหลอดเลือดที่โป่งพอง
- จากนั้นสอดท่อนำทางเข้าไปในหลอดเลือด จนถึงตำแหน่งที่โป่งพอง
- แพทย์ฉีดสารทึบรังสี เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองอีกครั้ง
- สอดสายสวนสำหรับปล่อยหลอดเลือดเทียมตามเข้าไป
- จากนั้นจึงปล่อยหลอดเลือดเทียมเข้าไปยังตำแหน่งหลอดเลือดที่โป่งพอง โดยส่วนมากใช้เป็นหลอดเลือดเทียมชนิดขวดลวดหุ้มกราฟต์ (Stent Graft)
- หลอดเลือดเทียมจะขยายตัวจนเท่าหลอดเลือดแดงปกติ และแนบติดกับผนังหลอดเลือดแดงใหญ่เองโดยไม่ต้องใช้การเย็บติด
- แพทย์ฉีดสารทึบรังสีอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบรอยรั่วที่อาจเกิดขึ้นที่หลอดเลือด หากไม่มีจะนำอุปกรณ์ผ่าตัดออก และเย็บปิดแผล
ตลอดกระบวนการทำ EVAR ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และหลังผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน เพื่อติดตามอาการ
การเตรียมตัวก่อนทำ EVAR
- ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ
- แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด
- งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำผ่าตัด
- งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนผ่าตัด
- แพทย์อาจให้โกนขนบริเวณรอบขาหนีบหรือบริเวณที่มีการกรีดเปิดแผล
- แพทย์อาจแนะนำให้ญาติหรือคนสนิทที่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกันบริจาคเลือดสำรองไว้ให้ผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่เสี่ยงต้องใช้เลือดมาก
- ลางานล่วงหน้าอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ เพื่อพักฟื้นร่างกาย
- วันผ่าตัดพาญาติมาด้วย เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก
ดูแลตัวเองอย่างไรหลังการผ่าตัด
-
- ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ และงดอาบน้ำ 24-48 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด
- หลังผ่าตัดแพทย์จะค่อยๆ ให้เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายทีละน้อย เช่น การลุกและเดินรอบเตียง นอกจากนี้ผู้ป่วยควรหมั่นเดินเบาๆ ทุกวัน เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
- ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก อาจรู้สึกอ่อนเพลียง่าย ควรพักผ่อน และนอนหลับให้เพียงพอ
- งดขับรถเองในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด
- งดยกของหนัก งดทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากประมาณ 3 เดือน หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
- กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด กรณีที่มีอาการปวด สามารถกินยาแก้ปวดได้ตามแพทย์สั่ง
- ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
- ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที
ข้อดีของการทำ EVAR
- แผลมีขนาดเล็กบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ทำให้ฟื้นตัวได้เร็ว
- ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อ การสูญเสียเลือด และภาวะหัวใจล้มเหลว
- ลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด เนื่องจากไม่ต้องผ่าเปิดช่องท้องหรือหน้าอก
ข้อจำกัดของการทำ EVAR
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือหลายครั้งติดต่อกัน ภาวะหัวใจวาย ไม่สามารถทำวิธีนี้ได้
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพองที่รุนแรง และคาดว่าจะไม่สามารถเอาเครื่องช่วยหายใจออกได้หลังผ่าตัด หรือมีภาวะหายใจหอบเหนื่อยขณะพัก
- ผู้เป็นมะเร็งในระยะแพร่กระจาย
การทำ EVAR เจ็บไหม?
การทำ EVAR โดยทั่วไปจะรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัดเปิด เพราะมีแผลขนาดเล็ก และไม่ต้องเปิดช่องท้องหรือหน้าอก
แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบายตัว ระคายเคือง หรือเจ็บปวดแผลผ่าตัดได้บ้าง บริเวณที่ทำการกรีดเปิดแผล แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ หากผู้ป่วยดูแลตัวเองตามที่แพทย์แนะนำ
การทำ EVAR ต้องพักฟื้นกี่วัน?
การพักฟื้นหลังการทำ EVAR จะใช้เวลาน้อยกว่าผ่าตัดเปิด โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยมักจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
หลังกลับจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องพักฟื้นต่อที่บ้านประมาณ 3-4 สัปดาห์ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก
ผลข้างเคียงจากการทำ EVAR
- ผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่
- อาการเจ็บแผลผ่าตัดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
- การติดเชื้อจากแผลผ่าตัด
- อาการแพ้ยาสลบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่นๆ
- รู้สึกชาหรือบวมช้ำบริเวณที่ได้รับการผ่าตัด
- มีเลือดออกจากแผลหรือมีเลือดคลั่งใต้ผิวหนัง
- อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ทันที
- ไข้สูงและหนาวสั่น อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อน
- หัวใจเต้นผิดปกติ ไม่สม่ำเสมอ หรือรู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- หายใจลำบาก รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจได้ยาก
- เจ็บแผลอย่างรุนแรง แม้กินยาแก้ปวดก็ไม่ลดลง
- แผลบวมแดงและมีของเหลวไหลซึมออกมา
- แผลปริแตก
- ปวดหลัง น่อง ต้นขา หรือขาหนีบ อาจเป็นสัญญาณของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น แต่มีโอกาสค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ภาวะหัวใจวาย ไตวาย เลือดคั่งใต้ผิวหนัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
อย่างไรก็ตาม การดูแลหลังการผ่าตัดอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยง และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
การทำ EVAR ราคาเท่าไหร่?
การทำ EVAR มีราคาแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาล ส่วนใหญ่แล้วโรงพยาบาลเอกชนราคาเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 500,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
จะเห็นได้ว่า การทำ EVAR เป็นทางเลือกการรักษาโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองที่มีประสิทธิภาพ โดยมีข้อดีคือ ฟื้นตัวเร็วและมีความเสี่ยงต่ำกว่าการผ่าตัดแบบเปิด อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกวิธีรักษานั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทยเฉพาะทาง
รักษาโรคหัวใจด้วยการทำ EVAR ดีไหม? วิธีนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย