อาการปวดท้อง จุกเสียดบริเวณลิ้นปี่ เป็นๆ หายๆ ปวดเรื้อรัง หรืออยู่ๆ ก็ปวดขึ้นมาแบบเฉียบพลัน อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน ไปจนถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยหนึ่งในวิธีการตรวจวินิจฉัยแยกโรคที่มีประสิทธิภาพคือ การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น คืออะไร ตรวจอะไรได้บ้าง มีขั้นตอนอย่างไร เจ็บไหม ต้องเตรียมตัวอย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
สารบัญ
- การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น คืออะไร?
- ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ใช้เวลานานไหม? ขั้นตอนเป็นอย่างไร
- ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เจ็บไหม?
- การเตรียมก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- การดูแลตนเองหลังส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- ค่าใช้จ่ายสำหรับส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น คืออะไร?
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Esophagogastroduodenoscopy: EGD) คือ การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ผ่านการสอดลำกล้องขนาดเล็กเข้าทางช่องปากของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพและลักษณะของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนต้นได้อย่างชัดเจน
กลุ่มที่มีอาการบ่งชี้ ซึ่งแพทย์มักแนะนำให้รับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ หรือดูความผิดปกติด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ได้แก่
- ผู้ที่เคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร
- ผู้ที่กลืนสิ่งแปลกปลอมหรือสารกัดกร่อนลงไปในหลอดอาหาร เช่น ก้างปลา กระดูกสัตว์ เหรียญ ถ่าน น้ำยาล้างห้องน้ำ
- ผู้ที่ถ่ายอุจจาระเป็นสีเข้ม สีดำ หรือมีเลือดปน ร่วมกับมีภาวะโลหิตจาง
- ผู้ที่มีอาการปวดท้องช่วงบนแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือปวดเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์
- ผู้ที่มีอาการท้องเสียสลับท้องผูก
- ผู้ที่ตรวจพบเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น
- ผู้ที่จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อ เก็บของเหลว หรือน้ำย่อยเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติม
- ผู้ที่ตรวจพบเนื้องอกในทางเดินอาหาร
- ผู้ที่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป และมีอาการที่เป็นสัญญาณของความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น
- กลืนลำบาก หรือกลืนแล้วเจ็บ
- คลำพบก้อนบนท้อง
- เบื่ออาหาร
- อาเจียนบ่อยอย่างผิดสังเกต
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น ใช้เวลานานไหม? ขั้นตอนเป็นอย่างไร
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นโดยเฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความผิดปกติหรือรอยโรคที่แพทย์ต้องการวินิจฉัย โดยมีขั้นตอนหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์พ่นยาชาในลำคอของผู้ป่วย (บางรายอาจมีการวางยานอนหลับ ยาสลบ หรือยาลดความวิตกกังวลให้ด้วย)
- ผู้ป่วยขึ้นนอนบนเตียงในท่านอนตะแคงข้างซ้าย และใส่อุปกรณ์กันกัดในช่องปาก
- แพทย์จะสอดกล้องตรวจทางเดินอาหารที่มีลักษณะเป็นท่อยาวที่โค้งงอได้เข้าไปในช่องปาก ให้ผู้ป่วยกลืนกล้องลงไป ระหว่างนั้นหากมีน้ำลายไหล ให้ปล่อยไหลได้เลย จะมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยดูดน้ำลายด้วยเครื่องดูดเสมหะให้
- ภาพจากลำกล้องที่ผู้ป่วยกลืนลงไปจะฉายขึ้นบนจอมอนิเตอร์ ให้แพทย์มองเห็นลักษณะของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่หลอดอาหาร ไปจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น
ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เจ็บไหม?
ก่อนเริ่มส่องกล้อง แพทย์จะมีการพ่นยาชาในลำคอให้ผู้ป่วยก่อน เพื่อลดความรู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองในระหว่างการส่องกล้อง ซึ่งในระหว่างที่พ่นยา ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบในลำคอได้ชั่วคราว แต่หลังจากที่ยาจะออกฤทธิ์เต็มที่ ก็จะไม่รู้สึกเจ็บหรือแสบอีก
การเตรียมก่อนส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว และยาประจำตัวทุกชนิดให้แพทย์ทราบ
- งดน้ำและงดอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนการส่องกล้อง
- 2 วันก่อนส่องกล้อง ให้กินอาหารอ่อนๆ รวมถึงมีกากใยน้อย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก ไข่ เนื้อปลา
- ถอดเครื่องประดับทุกชนิดก่อนเริ่มการส่องกล้อง รวมถึงผู้ป่วยที่ใส่ฟันปลอมจะต้องถอดฟันปลอมออกก่อน นอกจากนี้หากมีปัญหาฟันโยก จะต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบล่วงหน้าก่อนด้วย
- ควรพาญาติมาด้วย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้วิธีวางยาสลบ หรือฉีดยาคลายกังวลก่อนส่องกล้อง
การดูแลตนเองหลังส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- งดขับรถ งดการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือสารเคมีอันตรายในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังส่องกล้อง
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังส่องกล้อง
- งดกินอาหารและงดดื่มน้ำจนกว่าคอจะหายชา แต่สามารถบ้วนน้ำล้างปากได้
- เมื่อคอหายชา ให้ค่อย ๆ จิบน้ำทีละนิด อย่าเพิ่งดื่มแบบปกติทันที เพื่อป้องกันการสำลัก
- ควรให้กินอาหารอ่อนๆ ในช่วง 2-3 วันแรก หลังจากนั้นหากไม่มีอาการสำลักและกลืนอาหารได้ตามปกติ ก็สามารถกลับไปกินอาหารได้ตามปกติ
- กลั้วคอด้วยน้ำอุ่นหรืออมยาแก้เจ็บคอ เพื่อบรรเทาอาการเจ็บคอที่อาจเกิดขึ้นได้ 1-2 วันแรกหลังส่องกล้อง
- งดออกกำลังกาย งดทำกิจกรรมที่ออกแรงมากในช่วง 1-2 วันแรก
- กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- อาการข้างเคียง ในกรณีที่มีการดมยาสลบด้วย เช่น คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ง่วงซึม
- ระหว่างที่ยาชายังไม่หมดฤทธิ์ ผู้ป่วยมักจะรู้สึกมีก้อนหรือเสมหะอยู่ในคอ แต่หลังจากยาหมดฤทธิ์แล้ว อาการนี้จะหายไปเอง
- ในช่วง 1-2 วันแรก ผู้ป่วยอาจพบเสมหะปนเลือดได้เล็กน้อย ซึ่งพบได้ปกติหลังการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
- ในช่วง 1-2 วันแรก ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ แต่สามารถบรรเทาอาการนี้ได้ด้วยการกลั้วคอกับน้ำเกลืออุ่น ๆ หรือยาอมแก้เจ็บคอ
- ท้องอืด หรือแน่นท้อง ปวดมวนท้อง เป็นอาการที่พบได้ปกติเช่นกัน และจะค่อย ๆ ดีขึ้นเองภายใน 1-2 วัน
- ผลข้างเคียงที่ควรเดินทางกลับมาพบแพทย์โดยทันที ได้แก่
- หนาวสั่น มีไข้สูง
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- เจ็บหน้าอก
- อาเจียนเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นเลือดหรือมีสีเข้มคล้ายมีเลือดปน
- พบลิ่มเลือดจำนวนมากออกมาทางทวารหนัก
ค่าใช้จ่ายสำหรับส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล
การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เป็นอีกกระบวนการตรวจวินิจฉัยโรคที่ช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาความผิดปกติที่ระบบทางเดินอาหารได้อย่างแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เวลาไม่นาน และไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล
ดังนั้นหากคุณมีอาการปวดท้อง เป็นๆ หายๆ เบื่ออาหาร อาเจียนบ่อยอย่างผิดสังเกต น้ำหนักลด อุจจาระมีสีเข้ม ฯลฯ ควรเข้ารับการส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อทำการรักษาต่อไป
อยากเช็กให้ชัวร์ อาการแบบนี้ต้องส่องกล้องทางเดินอาหารไหม ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจส่องกล้องทางเดินอาหาร จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย