disease relate obesity disease definition

8 โรคอันตรายที่มากับน้ำหนักตัว

จะรู้ว่าเป็น โรคอ้วน (Obesity) หรือไม่ ทราบได้จากการนำส่วนสูงและน้ำหนักไปคำนวณค่า BMI แล้วนำตัวเลขที่ได้มาดูว่าตัวเราอยู่ในเกณฑ์ไหน อาจเป็นน้ำหนักน้อยเกินไป ปกติ อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน

เมื่อมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเริ่มเป็นโรคอ้วน ไม่ใช่เพียงรูปร่างภายนอกที่จะเปลี่ยนไปเท่านั้น ระบบต่างๆ ภายในร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีไขมันสะสมมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวปกติ ระดับไตรกลีเซอไรด์ ระดับคอเลสเตอรอล ระดับไขมัน LDL-C (ไขมันเลว) สูงขึ้น กระบวนการเผาผลาญไขมันทำงานหนักขึ้น ระบบประสาทและการทำงานของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง อวัยวะในร่างกายทำงานผิดไปจากปกติ ฯลฯ

เมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ คนเป็นโรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกินจึงมักมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะเป็นโรคต่อไปนี้

โรคเบาหวานชนิดที่ 2

เบาหวาน คือโรคที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง เบาหวานชนิดที่พบมากที่สุดคือเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดเบาหวานที่เกิดจากร่างกายผู้ป่วยดื้ออินซูลิน หรือตอบสนองกับอินซูลินได้น้อยกว่าปกติ

“อินซูลิน” ที่ว่า เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่พาน้ำตาลเข้าสู่เนื้อเยื่อของร่างกายเพื่อเผาผลาญเป็นพลังงาน ถ้าการรับประทานอาหารกับการใช้พลังงานสมดุลกัน น้ำตาลที่ร่างกายรับเข้ามาจะถูกฮอร์โมนอินซูลินจัดการ แล้วน้ำตาลในเลือดก็จะเข้าสู่ระดับปกติ

แต่ในผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งมีไขมันสะสมอยู่มาก จะส่งผลให้ตัวรับอินซูลินในร่างกายทำงานได้ไม่ดี จึงนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้น้อย น้ำตาลที่เหลือในเลือดจึงสูงขึ้น ตับอ่อนซึ่งทำหน้าที่ผลิตอินซูลินก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตอินซูลินเพิ่ม ในที่สุดตับอ่อนก็จะทำงานน้อยลง น้ำตาลในเลือดยิ่งสูงขึ้น และกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในที่สุด

เบาหวานเป็นโรคเรื้อรัง ทำให้เกิดผลเสียรุนแรงต่อสุขภาพได้ เช่น หลอดเลือดส่วนปลายอุดอัน เป็นแผลแล้วหายยาก โดยเฉพาะปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า ในผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเบาหวานขึ้นตา อาจถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นไป

โรคความดันโลหิตสูง

ภาวะอ้วนทำให้ระบบของร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงอยู่ตลอดเวลา และยิ่งน้ำหนักมาก โรคความดันโลหิตสูงก็มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากยิ่งน้ำหนักเยอะ ร่างกายยิ่งต้องการเลือดไปเลี้ยงเพื่อนำพาสารอาหารและออกซิเจนเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆ มากขึ้น

ความดันโลหิตสูงอาจนำไปสู่โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต โรคเกี่ยวกับสมองและความจำ นอกจากนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมด้วย

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากการที่มีการอุดกั้นของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองขาดออกซิเจน หากสมองขาดเลือดเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้

ลำพังภาวะน้ำหนักเกินก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แล้วถึง 22% ถ้ายิ่งน้ำหนักมากจนอยู่ในกลุ่มเป็นโรคอ้วน ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองจะยิ่งสูงถึง 64%

สาเหตุเป็นเพราะโรคที่มักมากับภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน อย่างโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคเหล่านี้มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้

โรคหลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจ คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจตีบแคบลงหรืออุดตัน มักเกิดจากไขมันสะสมในผนังหลอดเลือด เมื่อนานวันเข้า เลือดจะไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน ยิ่งถ้าไขมันสะสมเกิดแตกออกกลายเป็นลิ่มเลือด ไปอุดตันหลอดเลือด ก็ยิ่งอันตราย อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

นอกจากนี้โรคอ้วนยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นอีกด้วย

โรคหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น

ผู้ที่เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับเนื่องจากทางเดินหายใจอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea) คือผู้มีกล้ามเนื้อด้านหลังลำคออ่อนแรง ไม่สามารถพยุงช่องรับอากาศหายใจให้เปิดอยู่ตลอดเวลาขณะนอนหลับได้ ทำให้หยุดหายใจเป็นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างนอนหลับ นอนกรน รบกวนวงจรการนอนหลับที่มีคุณภาพ

ภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อมากขึ้น นำไปสู่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ และอาจหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

โรคนิ่วถุงน้ำดี

ตามปกติแล้ว ถุงน้ำดีเป็นตัวเก็บพักน้ำดี (Bile) ที่ผลิตออกมาจากตับ เมื่อได้ความเข้มข้นมากพอจึงค่อยหลั่งน้ำดีออกมาทำให้ไขมันที่เรารับประทานเข้าไปแตกตัว พร้อมสำหรับการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

น้ำดีตามปกติเป็นของเหลว แต่ในคนอ้วน ซึ่งมีคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงเกินไป อาจทำให้น้ำดีเปลี่ยนสภาพเป็นก้อนแข็งแล้วสะสมอยู่ในถุงน้ำดี กลายเป็นก้อนนิ่วขึ้นมาได้

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนนิ่วออกจากถุงน้ำดีได้ ผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องผ่าเอาถุงน้ำดีทั้งหมดออกจากร่างกาย หลังจากนั้นอาจต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพการย่อยไขมันของร่างกายที่น้อยลง

โรคไต

ไต เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กรองของเสีย และรักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย โรคอ้วนส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้น การไหลเวียนเลือดภายในไตมากขึ้น ทำให้ไตมีขนาดใหญ่กว่าปกติ แรงดันในไตเพิ่มขึ้น เกิดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เนื้อไตบาดเจ็บ และในที่สุดประสิทธิภาพการทำงานของไตก็จะลดต่ำลง

นอกจากนี้ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ที่มักมากับโรคอ้วน ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตเรื้อรังได้เช่นกัน

โรคข้อเข่าเสื่อม

ความอ้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อม โดยโรคนี้คือการที่ผิวข้อกระดูกอ่อนสึกหรอ จนทำให้มีอาการอักเสบ ปวด บวม นานเข้าข้อเข่าอาจเปลี่ยนรูปร่างไป เช่น เข่าโก่ง ถ้าไม่ได้รับการรักษา ในที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อการนั่งหรือเดิน เช่น นั่งขอเข่าไม่ได้ เดินไม่ได้

ถึงปัจจุบันจะมีการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมหลากหลายวิธี แม้กระทั่งผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าก็ทำได้ แต่ถ้าไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุ คือภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน ผลผ่าตัดก็มักไม่ดีเมื่อเทียบกับผู้ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ

จะเห็นได้ว่า โรคอ้วน ทำให้ระบบการทำงานภายในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอื่นๆ มากมาย ดังที่กล่าวไป

การลดน้ำหนักเป็นวิธีลดความเสี่ยงของโรคเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่มีภาวะอ้วนเรื้อรัง การลดอาหารและออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวอาจได้ผลช้า หรืออาจเห็นผลไม่ทันต่อภาวะของโรคที่รุนแรงขึ้น การลดน้ำหนักด้วยวิธีทางการแพทย์อย่างการใช้ยาควบคุมความหิว หรือการผ่าตัดกระเพาะ จึงอาจเป็นแนวทางรักษาที่ให้ผลดีกว่า

ยังไม่แน่ใจว่าเป็นโรคอ้วนรึเปล่า จำเป็นรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์รึยัง? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top