“ปวดมือ ชามือ เป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน” สัญญาณสำคัญของโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาแบบผ่าตัด…บทความนี้ชวนมาเปรียบเทียบให้เข้าใจถึงความแตกต่างของแต่ละวิธี แบบไหนเหมาะกับอาการอย่างไร และมีข้อดี ข้อจำกัดอย่างไรบ้าง
สารบัญ
โรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท คืออะไร? เกิดจากสาเหตุใด?
โรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท หรือ Carpal Tunnel Release คือโรคที่เกิดจากการใช้งานมือในท่าเดิมนานๆ หรือใช้งานข้อมือหนัก ทำให้พังผืดบริเวณข้อมือหนาขึ้น จนไปกดทับเส้นประสาทมีเดียน (Median Nerve) ในช่องลอดของข้อมือ ทำให้เกิดการอักเสบของเอ็นหรือเนื้อเยื่อที่อยู่ในช่องลอดข้อมือ ส่งผลให้มีอาการเจ็บปวด ชาตามนิ้วมือ
วิธีการรักษาพังผืดที่มือแบบไม่ผ่าตัด
การรักษาโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทแบบไม่ผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น ที่อาการยังไม่รุนแรงมากนัก ส่วนใหญ่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน โดยมีวิธีรักษาหลากหลายวิธี ดังนี้
1. การปรับพฤติกรรมการใช้มือและข้อมือ
การปรับพฤติกรรม เป็นวิธีพื้นฐานที่แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำเป็นอย่างแรก เพราะเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุโดยตรง เพื่อลดแรงกดบนเส้นประสาท โดยหลีกเลี่ยงการใช้มือในท่าเดิมนานๆ เช่น การพิมพ์คอมพิวเตอร์นานๆ หรือการยกของหนักๆ และควรพักการใช้งานมือและข้อมือระหว่างวัน เช่น พักการพิมพ์ทุกๆ 30 นาที และยืดกล้ามเนื้อมือและข้อมือ
ข้อดี: ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง
ข้อจำกัด: ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวรในกรณีที่พังผืดมีขนาดใหญ่หรือรุนแรง และต้องมีวินัยในการปรับพฤติกรรม
2. การใช้อุปกรณ์ดามข้อมือ
การสวมอุปกรณ์ดามข้อมือ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน โดยอุปกรณ์ดามข้อมือ จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของข้อมือ ป้องกันการเคลื่อนไหวที่ผิดท่า รวมทั้งลดแรงกดบนเส้นประสาทได้ด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดหรือชาในช่วงเริ่มต้น
ข้อดี: ช่วยลดอาการปวดและชาได้ ไม่เจ็บ และสามารถทำได้ง่ายๆ
ข้อจำกัด: ไม่เหมาะกับผู้ที่มีพังผืดที่มือขนาดใหญ่ ต้องสวมใส่ตลอด อาจไม่สะดวกในการทำกิจวัตรประจำวัน
3. การใช้ยาต้านการอักเสบ
การรับประทานยาต้านการอักเสบ ลดปวด เช่น ไอบูโพรเฟน แอสไพริน และนาพรอกเซน เป็นวิธีช่วยบรรเทาอาการปวดข้อมือได้เช่นกัน แต่เป็นการบรรเทาอาการในระยะสั้นเท่านั้น หากผู้ป่วยยังมีพฤติกรรมการใช้งานมือเช่นเดิม เมื่อหยุดรับประทานยาก็จะกลับมาเป็นเป็นซ้ำ
ข้อดี: เป็นวิธีการรักษาที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก
ข้อจำกัด: หากไม่ปรับพฤติกรรม ก็จะกลับมาเป็นซ้ำ และอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาในระยะยาว
4. การฉีดสเตียรอยด์
การฉีดสเตียรอยด์ เป็นการใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูง ฉีดบริเวณที่มีพังผืด ช่วยบรรเทาอาการปวดชั่วคราว โดยแพทย์มักจะให้การรักษาควบคู่ไปกับการรับประทานยาด้วย
ข้อดี: สามารถลดอาการปวดได้รวดเร็ว
ข้อจำกัด: อาจต้องฉีดซ้ำและมีความเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากสเตียรอยด์
5. การกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดหรือชาจากโรคพังผืดที่มือได้ โดยใช้วิธีการนวดบริเวณที่มีพังผืด เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลดการอักเสบ ยืดกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ ใช้คลื่นอัลตราซาวด์ หรือการฝังเข็ม เพื่อช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ
ข้อดี: เป็นวิธีที่ไม่มีผลข้างเคียง ช่วยลดอาการปวด เพิ่มความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อ
ข้อจำกัด: อาจต้องใช้เวลาในการรักษานาน และรักษาได้ในบางกรณีเท่านั้น
วิธีการรักษาพังผืดที่มือแบบผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับผู้ป่วยโรคพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท ที่อาการของโรคค่อนข้างรุนแรง ไม่สามารถใช้งานมือและข้อมือได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน หรือในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีรักษาอื่นๆ โดยมีการรักษา 2 รูปแบบหลักๆ ได้แก่
1. การผ่าตัดแบบเปิด
การผ่าตัดพังผืดที่มือแบบเปิด (Open Carpal Tunnel Release) เป็นการผ่าตัดเส้นเอ็นบริเวณกลางฝ่ามือ เพื่อคลายพังผืดที่กดทับเส้นประสาท โดยแผลจากการผ่าตัดมีความยาวประมาณ 3-4 ซม. ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 30 นาที
ข้อดี: เป็นการผ่าตัดมีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้อาการบรรเทาลงจนรักษาหายในที่สุด ลดโอกาสบาดเจ็บต่อเส้นประสาท และผ่าตัดเพื่อรักษาอาการอื่นพร้อมกันได้
ข้อจำกัด: มีแผลผ่าตัดใหญ่กว่า และใช้เวลาในการพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง
2. การผ่าตัดแบบส่องกล้อง
การผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Endoscopic Carpal Tunnel Release) เป็นเทคนิคที่ใช้กล้องขนาดเล็กและเครื่องมือผ่าตัดที่ออกแบบมาเฉพาะ เพื่อผ่าตัดผ่านรอยแผลขนาดเล็กบริเวณข้อมือ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 20 นาที
ข้อดี: แผลผ่าตัดเล็ก พักฟื้นเร็วกว่า และเจ็บน้อยกว่า เกิดพังผืดได้น้อยกว่าผ่าตัดแบบเปิด
ข้อจำกัด: ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เนื่องจากใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือเฉพาะทาง
หลังผ่าตัดพักฟื้นนานไหม?
หลังจากผ่าตัดรักษาพังผืดที่ข้อมือ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดแบบเปิด หรือการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจต้องใส่เฝือก เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวข้อมือประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะเริ่มกลับมาใช้งานมือและข้อมือได้ตามปกติ
แต่หากผู้ป่วยเลือกวิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง อาจจะใช้เวลาพักฟื้นสั้นกว่า เพราะแผลมีขนาดเล็กกว่านั่นเอง
ผ่าตัดรักษาพังผืดที่มือเจ็บไหม?
การผ่าตัดพังผืดที่มือแบบเปิด อาจทำให้รู้สึกเจ็บมากกว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้อง และต้องใช้ยาแก้ปวดบรรเทาอาการในระยะแรกหลังผ่าตัด
ส่วนการผ่าตัดแบบส่องกล้องให้ความรู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่า และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วกว่า
ใช้ประกันสังคมได้ไหม?
การรักษาพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาทสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ ทั้งในกรณีการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการผ่าตัด แต่ก็ขึ้นอยู่กับสิทธิ์และเงื่อนไขของแต่ละบุคคล
จะเห็นได้ว่า การรักษาพังผืดที่มือมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีข้อดี ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน การตัดสินใจเลือกใช้วิธีการใดนั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง
มีอาการปวดมือ ชามือ หรือกำลังสงสัยว่าเป็นพังผืดที่มือ นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดรักษาพังผืดที่มือกดทับเส้นประสาท จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย