การตรวจคัดกรองโรคหัวใจ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยทั่วไปแล้วมีหลายวิธีในการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ซึ่งแต่ละวิธีมีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทุกคนไม่จำเป็นต้องตรวจครบทุกวิธี เพราะบางวิธีอาจจำเป็นต้องมีอาการบ่งชี้ที่ แพทย์จึงสั่งตรวจ บทความนี้จะพามาดูกันว่า การตรวจคัดกรองโรคหัวใจแต่ละวิธี มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
สารบัญ
- 1. การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์
- 2. การตรวจเลือดหาความเสี่ยงโรคหัวใจ
- 3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram – ECG/EKG)
- 4. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test – EST)
- 5. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
- 6. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- 7. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)
- 8. การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี (Coronary Artery Angiography หรือ CAG)
- 9. การตรวจหัวใจแบบ Holter Monitoring
- 10. การตรวจหัวใจแบบ Event Recorder
1. การซักประวัติและตรวจร่างกายโดยแพทย์
วิธีนี้คือวิธีขั้นพื้นฐานที่สุด เพื่อใช้คัดกรองอาการของโรคหัวใจในเบื้องต้น โดยแพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการ ประวัติครอบครัว ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับโรคประจำตัวที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และภาวะไขมัน หรือคอเลสเตอรอลสูง
จากนั้นแพทย์จะฟังเสียงหัวใจและปอด ตรวจความดันโลหิต วัดอัตราการเต้นของหัวใจ และตรวจอาการบวมที่ขาหรือข้อเท้า
2. การตรวจเลือดหาความเสี่ยงโรคหัวใจ
การตรวจเลือดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถคัดกรองโรคหัวใจได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่แพ็กเกจตรวจสุขภาพหัวใจ จะครอบคลุมตั้งแต่การตรวจขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอล ไขมัน ระดับน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต ฯลฯ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดประเมินความเสี่ยงโรคหัวใจ High-Sensitivity C-Reactive Protein หรือ การตรวจ hs-CRP เป็นการตรวจหาระดับโปรตีนในเลือดที่มีชื่อว่า C-Reactive Protein หากเซลล์เกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง ระดับ CRP ก็จะสูงตาม โดยการอักเสบนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของโรคร้ายแรงหลายโรค เช่น โรคมะเร็ง ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งที่นำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้
นอกจากนี้สำหรับผู้ที่แพทย์สงสัยว่าอาจมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาจมีการตรวจเลือดเพื่อดูระดับเอนไซม์หัวใจ (Cardiac Enzymes) ซึ่งจะสะท้อนภาวะการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง
3. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram – ECG/EKG)
เป็นอีกหนึ่งวิธีพื้นฐานในการคัดกรองความผิดปกติของหัวใจที่พบได้ทั่วไปในแพ็กเกจตรวจสุขภาพ โดยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจนี้ จะใช้เพื่อวัดการทำงานของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ตรวจหาการเต้นผิดจังหวะ ปัญหาของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะหัวใจวายที่อาจเกิดขึ้น
การตรวจนี้ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 5-10 นาที และไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด โดยผู้ป่วยจะต้องติดเครื่องมือบนหน้าอก แขน และขา สามารถทราบผลได้ทันที
4. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test – EST)
วิธีนี้เป็นการประเมินการทำงานของหัวใจขณะทำงานหนัก หรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีการออกแรง หรือเครียด โดยการกระตุ้นหัวใจให้เต้นเร็วขึ้น มักให้ผู้รับการตรวจเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่ง หรือปั่นจักรยาน ควบคู่กับการเครื่องมือเพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตามตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย จำนวน 10 จุด พร้อมพันผ้าวัดความดันโลหิตที่แขนอีก 1 จุด
ขณะทดสอบ หากผู้เข้ารับการตรวจมีภาวะหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลงไป บางรายอาจเกิดอาการเจ็บหรือจุกแน่นหน้าอก ดังนั้นการตรวจด้วยวิธีนี้จะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด
หลังการตรวจเสร็จสิ้น ข้อมูลที่ได้จากการตรวจเป็นกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอีกหลายโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ
อย่างไรก็ตาม การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย ไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ ผู้ป่วยโรคหัวใจโต รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้
5. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography)
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือบางคนอาจรู้จักในชื่อ Echo เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ส่งเข้าไปที่ตำแหน่งหัวใจ และแปลงเป็นภาพเพื่อแสดงผลบนจอมอนิเตอร์
โดยจะแสดงให้เห็นโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ ไม่ว่าจะเป็น รูปร่าง ขนาดของหัวใจโดยภาพรวม ขนาดของหัวใจแต่ละห้อง รวมไปถึงการทำงานบีบ-คลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ ทั้งยังแสดงให้เห็นการไหลเวียนเลือดในหัวใจ และตำแหน่งของหลอดเลือดที่เข้า-ออกจากหัวใจด้วย
ข้อมูลนี้สามารถนำมาวินิจฉัยปัญหาหัวใจที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจได้อย่างละเอียด
การตรวจ Echo เหมาะกับผู้ที่สงสัยหรือเริ่มมีอาการบ่งชี้ของโรคหัวใจ เช่น มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก บวม หรือผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือผิดจังหวะ ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที เป็นวิธีที่ปลอดภัย ไม่เจ็บ และสามารถตรวจซ้ำได้ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา
อย่างไรก็ตาม การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงนี้ จะเห็นเฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ และอาจมองเห็นไม่ชัดเจนในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมาก หรือเป็นโรคอ้วน เพราะไขมันอาจขัดขวางคลื่นความถี่สูงได้
6. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
การตรวจคัดกรองความผิดปกติของหัวใจด้วยเครื่องใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT Scan) นั้น แบ่งย่อยได้อีก 2 รูปแบบ ได้แก่
6.1 การตรวจหินปูนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Calcium Score หรือ CAC)
เป็นการตรวจโดยใช้เครื่อง CT Scan เพื่อวัดปริมาณแคลเซียมที่เกาะภายในผนังหลอดเลือดแดง ซึ่งปริมาณแคลเซียมนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้รับการตรวจมีแนวโน้มเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
หากตรวจไม่พบหินปูนที่หลอดเลือด หรือค่า Calcium Score เป็น 0 หมายความว่า มีความเสี่ยงต่ำ แต่หากค่า Calcium Score สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสูงกว่า 400 แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงมาก และอาจเกิดโรคหัวใจได้ภายในระยะเวลา 2-5 ปี แม้ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม
การตรวจ CAC นี้ง่าย และสะดวก เพียงนอนยกแขนสูงเหนือศรีษะ กลั้นหายใจเป็นช่วงๆ ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ใช้เวลาในการตรวจประมาณ 10 นาที
6.2 การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography หรือ CTA)
เป็นการตรวจที่คล้ายคลึงกับการตรวจ CAC แตกต่างกันที่จะมีการให้สารทึบรังสีผ่านทางเส้นเลือดที่แขน ร่วมกับการตรวจด้วยเครื่อง CT scan
ทำให้เห็นลักษณะทางกายภาพของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างครอบคลุมและชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถบอกระดับความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเห็นความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดได้ด้วย
การตรวจ CTA ผู้รับการตรวจต้องกลั้นหายใจเป็นช่วงๆ เช่นกัน แต่อาจจะใช้เวลาตรวจนานกว่า ประมาณ 15-60 นาที แตกต่างกันไปตามอัตราการเต้นของหัวใจ หลังตรวจแล้วไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล สามารถกลับบ้านได้เลย
7. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (Cardiac MRI)
เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุส่งเข้าไปในร่างกาย เพื่อสร้างภาพจำลองหัวใจ โดยสามารถแสดงได้ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของห้องหัวใจทั้ง 4 ห้อง กล้ามเนื้อหัวใจ การหนาตัวและการเคลื่อนไหวของผนังหัวใจ โครงสร้างของเส้นเลือด การอักเสบหรือความเสียหายต่างๆ
ทำให้แพทย์นำภาพและข้อมูลเหล่านี้ไปใช้วินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติที่เกี่ยวกับหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น
การตรวจด้วยวิธีทำ MRI ตามปกติจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งอยู่กับลักษณะ อาการ และความซับซ้อนของโรค นับเป็นวิธีที่ปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่มีความเสี่ยงในการรับรังสี หรือสารกัมมันตรังสีใดๆ เพียงแต่ต้องนอนนิ่งๆ เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดมากที่สุด
8. การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี (Coronary Artery Angiography หรือ CAG)
เป็นใช้สายสวนขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร ใส่เข้าไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือหรือขาหนีบ ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย
จากนั้นจะใช้สารไอโอดีน ซึ่งเป็นสารทึบรังสีฉีดเข้าไป เพื่อตรวจหาการอุดตันหรือการตีบของหลอดเลือดรวมทั้งดูสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ และการทำงานของลิ้นหัวใจด้วย
นอกจากนี้หากพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันจริง ก็สามารถดำเนินการรักษาต่อได้ทันที ด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนและขดลวด ซึ่งใช้เวลารักษาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น
วิธีนี้ถือเป็นการ ‘วินิจฉัยและรักษา’ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ในคราวเดียวกัน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และตรงจุด ทั้งยังสะดวก รวดเร็ว ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่ำ เพียงแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่ต้องใช้ยาสลบ หลังการรักษาผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ก็กลับบ้านได้
การตรวจหัวใจด้วยการฉีดสี จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และแพทย์ประเมินแล้วว่าอาการเข้าข่ายเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
อย่างไรก็ตามปกติสารไอโอดีนอาจมีผลข้างเคียงในผู้ที่แพ้อาหารทะเล ดังนั้นหากผู้ป่วยรู้ตัวว่าแพ้อาหารทะเล ต้องแจ้งแก่แพทย์ก่อนทำการรักษา
9. การตรวจหัวใจแบบ Holter Monitoring
เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา (Holter Monitoring) ไว้กับตัวผู้ป่วย เพื่อบันทึกการเต้นของหัวใจเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง โดยเครื่อง Holter Monitoring นี้จะมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเชื่อมต่อกับแผ่น Electrode ใช้ติดบริเวณผิวหนัง
มักใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่น เป็นลม หรือรู้สึกว่าหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
ข้อมูลที่ได้จากเครื่อง จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างวัน ประเมินอัตราการเต้นเฉลี่ยของหัวใจ รวมทั้งการตอบสนองของหัวใจขณะที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ยังใช้ประเมินประสิทธิภาพหลังการรักษาโรคหัวใจ ทั้งจากการรักษาด้วยยาหรือการรักษาด้วยการทำหัตถการต่างๆ อีกด้วย
การตรวจนี้แทบไม่มีความเสี่ยงเลย ไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจรู้สึกไม่สบายตัว หรือระคายเคืองบริเวณที่ติดเทปกาวได้บ้าง
10. การตรวจหัวใจแบบ Event Recorder
เป็นการตรวจที่คล้ายคลึงกับ Holter Monitoring แต่ใช้เวลาติดเครื่องนานกว่าหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน เพื่อตรวจหาการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ และใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นๆ หายๆ โดยเครื่อง Event Recorder นี้มี 2 ชนิด คือ
- ชนิดที่บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้อัตโนมัติ
- ชนิดที่ผู้รับการตรวจต้องกดบันทึกด้วยตัวเองเมื่อมีอาการ
ข้อดีของเครื่อง Event Recorder คือ บ่อยครั้งที่อาการหัวใจเต้นผิดปกติมักเกิดในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 1 นาที ซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดขึ้นขณะที่รับการตรวจอยู่ ทำให้แพทย์ไม่สามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ขณะที่เกิดความผิดปกติได้
แต่หากใช้เครื่อง Event Recorder ก็จะสามารถบันทึกความผิดปกติได้ทันทีที่มีอาการ ทำให้แพทย์วินิจฉัยความผิดปกติได้แม่นยำยิ่งขึ้น
จะเห็นได้ว่าการตรวจคัดกรองโรคหัวใจมีหลายวิธี แต่ละวิธีมีความเหมาะสมกับกรณีที่แตกต่างกัน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับสุขภาพของคุณที่สุด
สงสัยว่าเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย