breast cancer screening comparison scaled

6 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แบบไหนเหมาะกับคุณที่สุด

มะเร็งเต้านม (Breast Center) เป็นชนิดของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะถ้าตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็มีโอกาสที่จะรักษาหายและมีอัตราการรอดชีวิตสูง แล้วเราสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีไหนได้บ้าง ควรเริ่มตรวจตอนอายุเท่าไหร่ บทความนี้มีคำตอบ

เปรียบเทียบ 6 วิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

ในปัจจุบัน การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จะมีอยู่ 5 วิธีหลักๆ ได้แก่

1. ตรวจเต้านมด้วยตนเอง

การตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นวิธีดูแลสุขภาพเต้านมที่ง่ายที่สุด และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากความผิดปกติในเต้านมส่วนใหญ่ จะมีอาการแสดงที่สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น คลำพบก้อนที่เต้านม สามารถตรวจได้ 3 ท่าดังนี้

1.1 ตรวจเต้านมขณะยืนอาบน้ำ

ให้ยกแขนข้างที่จะตรวจเต้านมขึ้นเหนือศีรษะ (ถ้าเต้านมใหญ่ ให้ประคองด้านล่างแทน) หลังจากนั้นใช้มืออีกข้างคลำบริเวณเต้านม โดยใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ (ห้ามบีบเนื้อเต้านม) หลังจากนั้นให้สลับไปทำอีกข้าง และบีบลานนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีของเหลวไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่

1.2 ตรวจเต้านมขณะยืนหน้ากระจก

ให้ยืนตัวตรง ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวสบายๆ แล้วดูว่าทั้งสองข้างมีการบิดเบี้ยวของหัวนม หรือมีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แล้วให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ และโน้มตัวไปด้านหน้า เพื่อดูว่ามีการดึงรั้งของหัวนมหรือไม่ หลังจากนั้นให้คลำเต้านมเพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยสามารถทำได้ 3 ท่า ดังนี้

  • คลำในแนวก้นหอย : ให้เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมตามแนวก้นหอยเข้าไปจนถึงฐานนมบริเวณรอบรักแร้
  • คลำในแนวรูปลิ่ม : ให้เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมจนถึงฐาน แล้วกลับขึ้นสู่ยอด ทำไปเรื่อยๆ จนทั่วทั้งเต้านม
  • คลำในแนวขึ้นลงจากใต้เต้านม : ให้เริ่มคลำจากใต้เต้านมจนถึงกระดูกไหปลาร้า แล้วขยับนิ้วทั้งสามนิ้ว คลำในแนวขึ้นลงสลับกันไปเรื่อยๆ จนทั่วเต้านม

1.3. ตรวจเต้านมด้วยท่านอนราบ

ให้นอนราบบนเตียงนอน แล้วยกแขนข้างที่ตรวจเหรือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ จากนั้นให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้าง คลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยในระหว่างที่คลำ ห้ามบีบเต้านมเด็ดขาด เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจลก้อนเนื้อ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ และเมื่อตรวจเสร็จแล้ว ให้สลับไปทำอีกข้างหนึ่ง

อ่านต่อ วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเองโดยละเอียด พร้อมภาพประกอบ คลิกเลย

หลังจากที่ตรวจเต้านมทั้ง 3 ท่าที่แนะนำไปในข้างต้นแล้ว พบอาการผิดปกติเหล่านี้

  • ตรวจพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้
  • ผิวหนังบริเวณเต้านม หรือรักแร้เปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการนูนของผิว บวมแดง ร้อน มีรอยบุ๋ม มีการหดรั้ง หรือมีผิวเหมือนเปลือกส้ม
  • มีอาการคัน หรือมีผื่นขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหัวนม
  • หัวนมบุ๋ม หรือมีการดึงรั้งเข้าไป
  • มีของเหลวไหลออกจากหัวนม ไม่ว่าจะเป็น สีใส สีขุ่น สีดำ เลือด หรือน้ำนม
  • มีแผลเรื้อรังบริเวณเต้านมและหัวนม

ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโดยเร็วที่สุด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านมได้

2. ตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านม 

เป็นการตรวจเต้านมที่สถานพยาบาลที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพไม่แพ้กัน มีขั้นตอนการตรวจคล้ายกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง แต่จะตรวจโดยแพทย์ หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านมโดยเฉพาะ ทำให้มีความแม่นยำมากกว่า

การตรวจเต้านมโดยแพทย์ จะมีขั้นตอนดังนี้

  • ซักประวัติสุขภาพ
  • ตรวจดูความผิดปกติภายนอกของเต้านม
  • คลำต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ เหนือกระดูกไหปลาร้า และใต้กระดูกไหปลาร้า
  • ตรวจเต้านมด้วยท่านอนราบ
  • เมื่อตรวจเต้านมเสร็จแล้ว แพทย์จะให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพเต้านมอย่างเหมาะสม หรือถ้าตรวจพบความผิดปกติ ก็จะส่งตรวจเชิงลึกด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป

3. ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม (Breast Ultrasound)

การตรวจอัลตราซาวด์เต้านมจะใช้ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี เพื่อลดการสัมผัสรังสีที่บริเวณหน้าอก หรือใช้ตรวจร่วมกับการตรวจแมมโมแกรมในผู้ที่มีเต้านมหนาแน่นมาก โดยสามารถใช้บอกความแตกต่างขององค์ประกอบเนื้อเยื่อเต้านมได้ว่า เป็นเนื้อเยื่อเต้านมปกติ ถุงน้ำ ซีสต์เต้านม หรือก้อนเนื้อ

การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม มีขั้นตอนดังนี้

  • แพทย์จะทาเจลลงบนเต้านม เพื่อช่วยในการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจไปสู่ผิวหนังได้
  • จากนั้นจะใช้หัวตรวจทรานสดิวเซอร์ (Transducer) วางแนบลงบนเต้านมและเคลื่อนไปรอบๆ เพื่อส่งและรับคลื่นเสียงความถี่สูง โดยในระหว่างที่ตรวจจะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดแต่อย่างใด
  • คลื่นเสียงจะเข้าไปตกกระทบกับเนื้อเยื่อภายในเต้านม และสะท้อนกลับมาที่เครื่องรับทรานสดิวเซอร์ แล้วแสดงเป็นภาพบนจอมอนิเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อเต้านมกับก้อนเต้านมได้

หมายเหตุ : การตรวจอัลตราซาวด์เต้านมจะไม่สามารถตรวจหาหินปูนขนาดเล็กได้ ถ้าอยากได้ประสิทธิภาพการตรวจมะเร็งเต้านมที่แม่นยำที่สุด จะต้องตรวจร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม

4. ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจโดยใช้รังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ แต่จะใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป จึงมีความปลอดภัยสูง และมีข้อดีตรงที่ภาพเอกซเรย์คมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของเต้านมได้ชัดเจน 

ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความหนาแน่นของเนื้อเต้านม การกระจายของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติ หรือจุดหินปูนในเต้านมได้ จัดเป็นวิธีตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ระบุตำแหน่งความผิดปกติของเต้านมได้แม่นยำและรวดเร็ว

การตรวจแมมโมแกรม มีขั้นตอนดังนี้

  • นักรังสีเทคนิคจะให้ผู้เข้ารับการตรวจหันหน้าเข้าเครื่องแมมโมแกรม และจัดท่าทางให้ถูกต้อง
  • จากนั้นจะให้วางเต้านมข้างที่ต้องการตรวจลงบนฐาน
  • เครื่องแมมโมแกรมจะค่อยๆ บีบเต้านมเข้าหากัน แล้วทำการถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้าง จนได้ภาพเอกซเรย์ออกมา หรือบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยจากภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้เลย

ในระหว่างที่ทำการตรวจแมมโมแกรมอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บได้ สำหรับใครที่กังวลเรื่องความเจ็บ แนะนำให้ตรวจหลังมีประจำเดือน 7 – 14 วันก็จะช่วยได้ เนื่องจากในช่วงที่มีประจำเดือน หรือใกล้มีประจำเดือน เต้านมจะมีการคัดตึงและไวต่อความเจ็บมากกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ตรวจ ถ้ารู้สึกเจ็บมากจนทนไม่ไหว สามารถบอกนักรังสีเทคนิคให้หยุดพัก หรือเปลี่ยนการจัดท่าเพื่อผ่อนคลายอาการเจ็บได้เช่นกัน

5. ตรวจเต้านมด้วย MRI

ตรวจตรวจเต้านมด้วย MRI (Magnetic Resonance Imaging Breast) เป็นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอที่สร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ จะใช้ตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูง หรือใช้ตรวจในผู้ที่เข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือตรวจแมมโมแกรมแล้ว ไม่สามารถระบุรอยโรคได้แน่ชัด หรือเป็นโรคเต้านมที่มีความซับซ้อน 

การตรวจเต้านมด้วย MRI นั้น สามารถใช้เพิ่มความชัดเจนในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเต้านมได้ และมีข้อดีตรงที่ไม่มีรังสี จึงมีความปลอดภัยสูง แต่จะไม่สามารถใช้ตรวจในผู้ที่ไม่สามารถนอนคว่ำเป็นเวลานาน กลัวที่แคบ มีการฝังอุปกรณ์โลหะในร่างกาย หรือสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

สำหรับใครที่ต้องการตรวจเต้านมด้วย MRI แนะนำให้เข้ารับการตรวจหลังจากมีประจำเดือน 7 – 14 วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลบวกลวง และจะต้องตรวจค่าไตก่อน เพื่อดูว่าสามารถฉีดสารเปรียบต่าง  (Gadolinium Contrast Agent) ได้หรือไม่ 

โดยการตรวจเต้านมด้วย MRI มีขั้นตอนดังนี้

  • เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบผลเลือดค่าการทำงานไตของผู้เข้ารับการตรวจก่อนทุกครั้ง
  • จากนั้นจะให้เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ และจะต้องทำความสะอาดใบหน้า และถอดเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้ออกทั้งหมด
  • พยาบาลฉีดสารเปรียบต่างเข้าหลอดเลือดดำที่บริเวณหลังมือ หรือข้อพับแขน
  • จากนั้นจะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนคว่ำบนเตียง และเตียงจะค่อยๆ เลื่อนเข้าอุโมงค์ของเครื่อง MRI โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ภาพชัดเจนที่สุด
  • เมื่อตรวจเสร็จแล้ว สามารถไปพบแพทย์เพื่อฟังรายงานผลตรวจได้เลย

6. เจาะชิ้นเนื้อตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยเข็ม Core Needle Biopsy และเครื่องอัลตราซาวด์

การเจาะชิ้นเนื้อตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยเข็ม Core Needle Biopsy และเครื่องอัลตราซาวด์ (Core Needle Breast Biopsy Under Ultrasound) จะใช้ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบก้อนเนื้องอก แล้วสงสัยว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่

วิธีนี้แพทย์มองเห็นตำแหน่ง รูปร่าง และขนาดของก้อนเนื้อ รวมถึงเส้นเลือดที่อยู่โดยรอบได้อย่างแม่นยำ และยังวินิจฉัยลักษณะภายในก้อนเนื้อได้ว่า เป็นก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม หรือถุงน้ำ รวมทั้งยังได้ตัวอย่างชิ้นเนื้อมาตรวจหาเซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการอีกด้วย

ขั้นตอนการเจาะชิ้นเนื้อตรวจหามะเร็งเต้านม มีดังนี้

  • แพทย์จะให้ผู้รับบริการยกแขนขึ้นแนบกับศีรษะ แล้วเอาหมอนใบเล็กมาหนุนที่แขนกับไหล่
  • จากนั้นพยาบาลจะทำความสะอาดเต้านมด้วยแอลกอฮอล์
  • แพทย์ใช้อุปกรณ์อัลตราซาวด์นาบที่เต้านมเพื่อค้นหาตำแหน่งของก้อนเนื้อ
  • แพทย์ฉีดยาชาในตำแหน่งที่จะเจาะชิ้นเนื้อ แล้วเปิดผิวหนังเพื่อสอดเข็มเจาะชิ้นเนื้อเข้าไป โดยภาพจากเครื่องอัลตราซาวด์จะฉายให้เห็นตำแหน่งของเข็มได้อย่างชัดเจน
  • แพทย์ใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อออกมาประมาณ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 1 ชิ้น แล้วนำชิ้นเนื้อส่งเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป
  • จากนั้นกดไล่เลือดที่อาจค้างอยู่ แล้วปิดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ

หลังการเจาะชิ้นเนื้อหากไม่มีอาการเลือดซึมหรืออาการข้างเคียงอื่นๆ ก็สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน โดยระยะเวลารอผลประมาณ 3 วันขึ้นไป ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง

เราควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตอนอายุเท่าไหร่?

แนวทางการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมสำหรับสตรีไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำให้ผู้หญิงไทยทุกคนเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเอง เมื่อมีอายุครบ 20 ปีขึ้นไป และตรวจซ้ำทุกๆ เดือน 

ส่วนการตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการตรวจเต้านม ทางสถาบันโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้หญิงที่มีอายุ 20 – 30 ปี ตรวจเต้านมด้วยวิธีนี้อย่างน้อยทุก 3 ปี และผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปให้ตรวจทุก 1 ปี

สำหรับการตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวด์เต้านม จะแนะนำให้เริ่มตรวจตอนอายุ 35 – 40 ปีขึ้นไป โดยตรวจทุก 1 – 2 ปี ยกเว้นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เช่น

  • ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม หรือครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่
  • ผู้ที่เคยได้รับการเจาะชิ้นเนื้อ หรือผ่าตัดเต้านมแล้วเป็น LCIS (Lobular Carcinoma In Situ) เป็นโรคมะเร็งเต้านมที่ไม่เป็นมะเร็ง หรือ ADH (Atypical Ductal Hyperplasia) เป็นภาวะเซลล์ของท่อน้ำนมมีการแบ่งตัวมากผิดปกติ
  • ผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกตอนอายุมากกว่า 35 ปี
  • ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเสริมทดแทนในวัยทองนานกว่า 5 ปี

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเร็ว หรือถี่กว่ากลุ่มทั่วไป ถ้าอยากทราบว่าตนเองควรตรวจตอนอายุเท่าไหร่ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสมที่สุด

ส่วนการตรวจเต้านมด้วย MRI จะใช้ตรวจร่วมกับการตรวจแมมโมแกรม ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติได้รับการฉายรังสีปริมาณสูงที่หน้าอกตั้งแต่อายุยังน้อย

ยีน BRCA คืออะไร จะรู้ได้อย่างไรว่าผิดปกติ?

ยีน BRCA คือ ยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (Tumor Suppressor Gene) ในเซลล์ปกติโดยถ้าผู้หญิงพบความผิดปกติในยีนเหล่านี้ก็จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่มากขึ้น และมักเป็นตั้งแต่อายุยังน้อย (ก่อนวัยหมดประจำเดือน)

ส่วนจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองมีความผิดปกติที่ยีน BRCA หรือไม่นั้น สามารถรู้ได้ด้วยการตรวจคัดกรองยีน BRCA ซึ่งในปัจจุบันมีให้บริการที่โรงพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศ โดยขั้นตอนการตรวจก็ไม่ยุ่งยาก เพียงเจาะเลือดประมาณ 6 – 10 มิลลิลิตร แล้วส่งตรวจห้องปฏิบัติการเท่านั้น

หากตรวจพบความผิดปกติ ต้องทำอย่างไรต่อ?

หลังจากที่ตรวจพบความผิดปกติที่เต้านมแล้ว ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แพทย์จะส่งตรวจวิธีต่างๆ ต่อไป เพื่อวินิจฉัยว่าความผิดปกติเกิดจากสาเหตุใด และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าตรวจพบก้อนเนื้อที่เต้านม แพทย์จะต้องตรวจดูว่าเป็นก้อนเนื้อเต้านมชนิดปกติ ถุงน้ำ หรือมะเร็ง ถ้าเป็นก้อนเนื้อเต้านมชนิดปกติก็จะดูต่อว่า จำเป็นต้องผ่าตัดออกไหม หรือสามารถปล่อยทิ้งไว้ และให้คอยตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top