การผ่าตัดเนื้องอกในสมองเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมอง โดยมีเป้าหมายหลักในการนำเนื้องอกออกไปและลดความเสี่ยงจากอาการที่เกิดจากเนื้องอก
การเตรียมตัวอย่างถูกต้องและการดูแลหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน บทความนี้จะพามาเจาะลึกทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมตัว การผ่าตัด ไปจนถึงการดูแลและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
สารบัญ
ขั้นตอนการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาหลักที่ใช้ในการรักษาเนื้องอกในสมอง โดยวิธีการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและลักษณะของเนื้องอก
1. การผ่าตัดแบบเปิด (Craniotomy)
การผ่าตัดแบบเปิดคือการเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงเนื้องอกในสมอง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น เนื้องอกที่อยู่ใกล้พื้นผิวสมอง โดยแพทย์จะพยายามนำเนื้องอกออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ขั้นตอนการผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บปวดหรือมีสติในระหว่างการผ่าตัด
- แพทย์จะทำ CT Scan หรือ MRI เพื่อช่วยในการวางแผนการผ่าตัดและระบุแนวทางการเข้าถึงเนื้องอก
- แพทย์จะเปิดแผลที่หนังศีรษะและเปิดกระโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงสมอง
- ใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อดึงหรือกำจัดเนื้องอกออกอย่างระมัดระวัง
- หลังจากนำเนื้องอกออกแล้ว แพทย์จะปิดกระโหลกศีรษะและเย็บแผลหนังศีรษะกลับเข้าที่
2. การผ่าตัดด้วยเทคนิค Minimally Invasive Neurosurgery
เทคนิคนี้ใช้กล้อง Microscope และกล้อง Endoscope ในการผ่าตัด มีข้อดีตรงที่ช่วยลดขนาดของแผลผ่าตัดและเพิ่มความแม่นยำในการเข้าถึงเนื้องอก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตำแหน่งที่เข้าถึงยากหรือมีขนาดเล็ก
ขั้นตอนการผ่าตัด
- แพทย์จะทำแผลเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตรบนหนังศีรษะ แล้วสอดกล้องและเครื่องมือผ่าตัดลงไป
- แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษ เช่น CUSA จะใช้ในการสลายและดูดเนื้องอกออก โดยใช้พลังงานจากคลื่นเสียง
- หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการผ่าตัดเนื้องอก แพทย์จะเย็บหรือปิดแผลอย่างระมัดระวัง เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด
1. การเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดแบบเปิด
- การตรวจสุขภาพทั่วไป แพทย์จะตรวจร่างกายและซักประวัติผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการผ่าตัด เช่น ตรวจความดันโลหิต การทำงานของหัวใจ และการทำงานของระบบต่างๆ
- การหยุดยา หากผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพรินหรือวาร์ฟาริน แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาเหล่านั้นล่วงหน้ าเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกระหว่างการผ่าตัด
- การงดน้ำ งดอาหาร ปกติแล้วผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและน้ำประมาณ 6-8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด เพื่อป้องกันการอาเจียนระหว่างการให้ยาสลบ
- การพูดคุยกับทีมแพทย์ ควรสอบถามแพทย์เกี่ยวกับขั้นตอนการผ่าตัด ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม
2. การเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดด้วยเทคนิค Minimally Invasive
- การตรวจสุขภาพและการทดสอบเพิ่มเติม ผู้ป่วยจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพทั่วไปและการทดสอบที่แพทย์แนะนำ เช่น การตรวจเลือดหรือการตรวจภาพสมอง
- การหยุดยา หากผู้ป่วยใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพรินหรือวาร์ฟาริน แพทย์อาจแนะนำให้หยุดยาเหล่านั้นล่วงหน้ าเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเลือดออกระหว่างการผ่าตัด
- การอธิบายวิธีการผ่าตัด แพทย์จะอธิบายถึงวิธีการและขั้นตอนของการผ่าตัด โดยเฉพาะการใช้กล้องและเครื่องมือพิเศษในการผ่าตัด รวมทั้งผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- การงดน้ำ งดอาหาร เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบเปิด ควรงดอาหารและน้ำตามคำแนะนำของแพทย์
การดูแลหลังการผ่าตัด
ช่วงเวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล
- ในช่วง 1-2 วันแรกหลังผ่าตัด แพทย์จะสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการตรวจสอบสัญญาณชีพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และการหายใจ เพื่อเฝ้าระวังโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน
- หลังผ่านพ้นช่วงเฝ้าระวัง แพทย์จะให้ความสำคัญต่อการเสริมสมรรถภาพการทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย การใช้อุปกรณ์เสริมการเดิน การเดินเข้าห้องน้ำ การขับถ่าย เนื่องจากการผ่าตัดสมองจะทำให้ความดันในสมองลดลงไประดับหนึ่ง สามารถส่งผลให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะหรืออ่อนแรงได้
- ผู้ป่วยบางรายอาจต้องอยู่ที่โรงพยาบาลและทำกายภาพบำบัดตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด หรือจนกว่าแพทย์จะมั่นใจว่า หลังออกจากโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด และความสามารถในการฟื้นตัวของแต่ละคน
ทั้งนี้ก่อนเดินทางกลับบ้าน แพทย์และเจ้าหน้าที่จะมีการให้คำแนะนำการดูแลตัวเองอย่างละเอียด เพื่อลดโอกาสการเกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และแพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยกลับมาตรวจติดตามผลการผ่าตัดอีกครั้ง
การดูแลตัวเองที่บ้าน
- ผู้ป่วยควรพักฟื้นที่บ้านอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูอย่างเต็มที่
- แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารประเภทโปรตีนมากขึ้น เพื่อช่วยในการฟื้นฟูร่างกาย
- ดูแลแผลให้สะอาดและแห้ง หากมีอาการผิดปกติ เช่น บวม แดง หรือมีหนอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ
- ผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเพิ่มเติม เช่น หากผู้ป่วยมีไข้สูง ง่วงซึม ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน มึนงง หรืออาการอื่นๆ ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
- รับประทานยาและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูร่างกาย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- อาการปวดหัว ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดหัวหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการปกติและอาจเกิดจากการบวมของเนื้อเยื่อ หรือการกระตุ้นประสาทที่เกิดจากการผ่าตัด
- ปัญหาทางการมองเห็น บางครั้งผู้ป่วยอาจพบปัญหาการมองเห็นชั่วคราว เช่น มองเห็นเบลอหรือมองเห็นภาพซ้อน ซึ่งอาจเกิดจากการกระทบกระเทือนของเส้นประสาทตา หรือการบวมของเนื้อเยื่อในสมอง
- ปัญหาทางอารมณ์ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ เช่น มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลหลังการผ่าตัด ซึ่งอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพในสมองหรือผลกระทบจากการรักษา
การผ่าตัดเนื้องอกในสมองเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนแต่มีความสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วย การเตรียมตัวอย่างถูกต้อง การดูแลหลังการผ่าตัด และการสังเกตอาการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้อย่างดีที่สุด
ผ่าตัดเนื้องอกในสมองวิธีไหนดี? วิธีไหนเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคเนื้องอกในสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย