โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติในหลอดเลือดสมอง สิ่งที่น่ากังวลคือ โดยทั่วไปหลอดเลือดสมองโป่งพองมักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ แม้มีหลอดเลือดสมองโป่งพองหลายตำแหน่ง ผู้ป่วยก็อาจไม่รู้ตัวเลย
แต่เมื่อโรคพัฒนาขึ้นจนเกิดการกดเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทในสมอง หรือมีการรั่ว แตก จนมีเลือดออกในสมอง จะทำให้เกิดอันตรายที่เฉียบพลันและรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถตรวจพบและรักษาได้ด้วยหลายวิธี HDcare รวบรวมทางเลือกต่างๆ ไว้แล้วในบทความนี้
สารบัญ
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คืออะไร?
- สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- อาการโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- วิธีตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
- 1. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยวิธีผ่าตัด
- 2. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีฉีดสี อุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยขดลวด (Endovascular Coiling)
- 3. การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีฉีดสี อุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยกาวอุดหลอดเลือด (Glue Embolization)
- 4. การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือด
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง คืออะไร?
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Brain Aneurysm) คือโรคที่หลอดเลือดสมองส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการขยายตัวโป่งออกออกเป็นกระเปาะ เนื่องจากผนังหลอดเลือดส่วนนั้นเสื่อมจนบางลง
หลอดเลือดสมองโป่งพองแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- Succular Aneurysm หลอดเลือดสมองโป่งออกเป็นกระเปาะกลมคล้ายผลเบอร์รี มักเกิดบริเวณขั้วของหลอดเลือดที่แตกแขนงในสมอง เป็นชนิดหลอดเลือดสมองโป่งพองที่พบได้บ่อยที่สุด
- Fusiform Aneurysm หลอดเลือดสมองโป่งพอง ณ บริเวณหนึ่ง แบบโป่งพองทุกด้านของหลอดเลือด
- Mycotic Aneurism หลอดเลือดสมองโป่งพองจากการติดเชื้อ แล้วเชื้อนั้นทำให้ผนังหลอดเลือดในสมองอ่อนแอกว่าปกติ
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เนื่องจากเมื่อเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง บริเวณกระเปาะที่โป่งพองนั้นจะถูกความดันเลือดทำให้โป่งพองมากขึ้นเรื่อยๆ ผนังหลอดเลือดจึงยิ่งบางลง ในที่สุดอาจถึงขั้นแตก ตามมาด้วยเลือดออกในสมองได้ในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ประมาณ 10-30% มักมีหลอดเลือดสมองโป่งพองมากกว่า 1 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นหลอดเลือดโป่งพองขนาดเล็ก และไม่ทำให้เกิดอาการแสดงที่ผิดปกติใดๆ
สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพองเกิดจากผนังหลอดเลือดในสมองบางบริเวณอ่อนแอและบางลง โดยอาจเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Arteriovenous Malformation) หรือเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคผิวหนังยืด (Vascular Ehlers-Danlos Syndrome) โรคถุงน้ำในไตชนิดพันธุกรรมเด่น (Autosomal Dominant Polycystic Kidney Disease) กลุ่มอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome)
นอกจากนี้โรคอื่นๆ บางโรคก็อาจก่อให้เกิดหลอดเลือดสมองโป่งพองได้ เช่น หลอดเลือดไตตีบ (Fibromuscular Dysplasia)
นอกจากนี้ พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลให้หลอดเลือดสมองบางลง นำไปสู่การเป็นโรคหลอดหลอดสมองโป่งพองได้ เช่น
- สูบบุหรี่
- ใช้สารเสพติด โดยเฉพาะโคเคน
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- รับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม มากเกินไปจนส่งผลให้ความดันโลหิตสูง
อาการโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
โดยทั่วไป แม้ว่าผู้ป่วยจะมีกระเปาะหลอดเลือดที่โปงพองในสมองหลายตำแหน่ง แต่ถ้ากระเปาะนั้นมีขนาดเล็กและไม่โตขึ้นจนกดทับบางส่วนของสมองหรือแตกออก ก็มักไม่ก่อให้เกิดอาการใดๆ ผู้ป่วยบางรายทราบถึงโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองก็เมื่อตรวจ CT Scan หรือ MRI สมองเพื่อหาสาเหตุของโรคอื่น
กรณีที่กระเปาะหลอดเลือดสมองที่โป่งพองมีขนาดใหญ่จนไปกดเนื้อเยื่อหรือเส้นประสาทในสมอง แต่ยังไม่แตก ผู้ป่วยอาจมีอาการต่อไปนี้
- ปวดบริเวณเหนือดวงตาหรือด้านหลังลูกตา
- ม่านตาขยาย
- การเห็นภาพเปลี่ยนไปจากเดิม มองไม่เห็น หรือเห็นภาพซ้อน
- ชาด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า
- พูดลำบาก
- ปวดศีรษะ
- เสียการทรงตัว
- มีปัญหาการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือมีปัญหาด้านความจำระยะสั้น
กรณีที่กระเปาะหลอดเลือดสมองที่โป่งพองเกิดการรั่วซึม ผู้ป่วยอาจมีอาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงเฉียบพลัน กินเวลายาวนานหลายวันหรือเป็นต่อเนื่องถึง 2 สัปดาห์ ถ้าสังเกตพบอาการที่ว่านี้ควรรีบพบแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดหลอดเลือดสมองแตกตามมา เป็นภาวะอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ถ้าหลอดเลือดสมองที่โป่งพองเกิดแตกออก ผู้ป่วยมักมีอาการแสดงแบบเฉียบพลัน อาการที่เด่นชัดคือ ปวดศีรษะรุนแรงอย่างไม่เคยรู้สึกมาก่อนในชีวิต ส่วนอาการอื่นๆ ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน
- คอแข็ง
- มองไม่ชัดหรือเห็นภาพซ้อน สู้แสงไม่ค่อยได้
- ชัก
- หนังตาตก
- หมดสติ
- สับสน
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
อายุ เพศ และภาวะสุขภาพ เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง โดยมักพบโรคนี้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับหลอดเลือด ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่มีโรคเหล่านี้
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ได้แก่
- การดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะแบบดื่มปริมาณมากในครั้งเดียว
- การสูบบุหรี่ หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับควันบุหรี่
- การใช้ยาเสพติด เช่น โคเคน ยาบ้า
- การรับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดความดันโลหิตสูง
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การติดเชื้อ
วิธีตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
การตรวจหาหลอดเลือดสมองโป่งพอง สามารถทำได้โดยวิธีการต่อไปนี้
1. ตรวจหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วย CT Scan
เป็นเทคนิคการตรวจที่ใช้รังสีเอกซ์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ ถ่ายภาพสมองแบบตัดขวาง 2 มิติออกมา แพทย์มักใช้การทำ CT Scan นี้เป็นวิธีแรก เพื่อดูว่ามีเลือดไหลออกจากหลอดเลือดสมองหรือไม่ โดยบางครั้งอาจทำร่วมกับการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือดบริเวณขาหนีบ ช่วยให้เห็นรายละเอียดการไหลเวียนของเลือดชัดเจนขึ้น
การตรวจ CT Scan ทำเห็นขนาด ตำแหน่ง และรูปร่างของหลอดเลือดสมองที่โป่งพองได้
2. ตรวจหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วย MRI
เป็นเทคนิคการใช้หลักการสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ คลื่นวิทยุ และคอมพิวเตอร์ สร้างภาพสมองขึ้นมาแบบ 2 หรือ 3 มิติ การตรวจ MRI ทำให้เห็นว่ามีเลือดออกในสมองหรือไม่
มีเทคนิคสำหรับดูหลอดเลือดโดยเฉพาะ เรียกว่า Magnetic Resonance Angiography (MRA) ซึ่งจะให้ภาพรายละเอียดหลอดเลือดในสมองที่ชัดเจน สามารถระบุขนาด ตำแหน่ง และรูปร่างของหลอดเลือดสมองที่โป่งพองได้
3. ตรวจหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยวิธีฉีดสีตรวจหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดคอ แคโรติด (Cerebral Angiography)
เป็นเทคนิคสอดลวดนำเข้าไปในหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบ ตามด้วยท่อพลาสติกขนาดเล็กที่ยืดหยุ่นได้ แล้วค่อยๆ ดันเข้าไปจนถึงบริเวณคอ จากนั้นฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่ท่อพลาสติก แล้วถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซ์ การตรวจนี้จะช่วยให้เห็นรายละเอียดการไหลเวียนของเลือด รวมถึงตำแหน่งที่หลอดเลือดมีปัญหา เช่น อุดตัน บาง โป่งพอง
เทคนิคการตรวจนี้สามารถวิเคราะห์ต้นตอของหลอดเลือดสมองโป่งพอง ขนาด และตำแหน่งของหลอดเลือดที่โป่งพองในสมองอย่างแม่นยำ
4. ตรวจหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยการวิเคราะห์น้ำไขสันหลัง Cerebrospinal Fluid (CSF) Analysis
การตรวจนี้ เจ้าหน้าที่จะเจาะน้ำไขสันหลังผู้ป่วย ซึ่งเป็นของเหลวที่ทำหน้าที่ปกป้องสมองและไขสันหลัง นำมาตรวจสอบส่วนประกอบ ถ้ามีเลือดออกในสมอง เทคนิคนี้จะทำให้ตรวจพบได้ มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยแสดงอาการของเส้นเลือดในสมองแตก แต่ตรวจด้วย CT Scan แล้วไม่พบ
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาจากขนาด ตำแหน่งของกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพอง และสภาพของสมองผู้ป่วยแต่ละคน
นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาร่วมกับภาวะสุขภาพของผู้ป่วยด้วยว่าสามารถรับการรักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง โดยดูจากอายุ โรคประจำตัว น้ำหนัก ประวัติความเจ็บป่วยของผู้ป่วยและญาติใกล้ชิด ไปจนถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อาจส่งผลต่อการรักษา
1. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยวิธีผ่าตัด
แพทย์มักพิจารณาให้ผ่าตัด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่หลอดเลือดสมองจะแตกเท่านั้น เนื่องจากการผ่าตัดเองก็มีความเสี่ยง เช่น อาจทำให้เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
การผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ใช้ทั่วไป เรียกว่า Surgical Clipping ใช้เทคนิคผ่าเปิดกะโหลกศีรษะเพื่อเข้าถึงบริเวณผ่าตัดในสมอง เมื่อพบหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง แพทย์ก็จะทำการติดคลิปโลหะขนาดเล็กเพื่อปิดทางไหลเวียนเลือด ไม่ให้ไปเลี้ยงกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพองในสมองได้อีก
ส่วนใหญ่ผู้ที่รักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยเทคนิคนี้ มักจะต้องพักสังเกตอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วันหลังผ่าตัด และพักฟื้นประมาณ 4-6 สัปดาห์
กรณีที่เส้นเลือดสมองแตกไปแล้ว ก็ยังอาจรักษาได้ด้วยวิธีนี้เช่นกัน แต่มักต้องพักฟื้นนานกว่ากรณีที่หลอดเลือดโป่งพอง ยังไม่แตก
2. การรักษาโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีฉีดสี อุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยขดลวด (Endovascular Coiling)
เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาหลอดเลือดในสมองโป่งพองโดยไม่ผ่าตัดเปิดกระโหลกศีรษะ จัดว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่าการผ่าตัดเปิดกระโหลก
ขั้นตอนสำคัญคือใส่สายสวนเล็กๆ เข้าไปทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบผู้ป่วย แล้วใส่ขดลวดผ่านสายสวนนี้เข้าไปไว้ในกระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพองในสมอง ขดลวดจะเหนี่ยวนำให้เกิดลิ่มเลือด ทำให้กระเปาะหลอดเลือดที่โป่งพองอุดตัน ไม่มีเลือดไหลเวียนมายังจุดนี้อีก
3. การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีฉีดสี อุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยกาวอุดหลอดเลือด (Glue Embolization)
เป็นอีกทางเลือกในการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยไม่ผ่าตัดเปิดกระโหลก โดยใช้สารที่เรียกว่า N-Butyl Cyanoacrylate เข้าไปอุดเส้นเลือดที่โป่งพอง โดยทั่วไปจัดว่าเป็นเทคนิคที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าการผ่าตัดเปิดกระโหลก
สาร N-Butyl Cyanoacrylate มีคุณสมบัติคล้ายกาวในรูปแบบของเหลว แต่จะแข็งตัวอย่างรวดเร็วและติดอยู่กับที่ถาวรเมื่อสัมผัสกับสารประกอบอื่นๆ เช่น เลือด ผนังหลอดเลือด
ขั้นตอนการรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีฉีดสี อุดหลอดเลือดสมองโป่งพองด้วยกาวอุดหลอดเลือด คล้ายกับการรักษาด้วยการใช้ขดลวด ต่างกันตรงแทนที่จะปล่อยขดลวดเข้าสู่สายสวนหลอดเลือด แพทย์จะปล่อยกาวอุดหลอดเลือดแทน และก่อนใส่กาวอุดหลอดเลือด บางครั้งแพทย์อาจใช้บอลลูนเพื่ออุดการไหลเวียนของเลือดชั่วคราวร่วมด้วย
4. การรักษาหลอดเลือดสมองโป่งพอง ด้วยวิธีเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือด
การเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือด (Flow Diversion) แพทย์จะใส่ตาข่ายลวด (Stent) เข้าไปในหลอดเลือดผู้ป่วย เพื่อเปลี่ยนทางไหลของเลือดให้ไม่ไปเลี้ยงบริเวณที่โป่งพอง
เมื่อเลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวน้อยลง โอกาสที่หลอดเลือดโป่งพองจะแตกก็ลดน้อยลง นอกจากนี้ ตาข่ายลวดยังช่วยเตรียมร่างกายให้พร้อมสร้างเซลล์ใหม่ และปิดบริเวณที่โป่งพองไปในที่สุด
วิธีเปลี่ยนทางไหลเวียนเลือดมักให้ผลดีในกรณีที่หลอดเลือดโป่งพองมีขนาดใหญ่จนเกินกว่าจะรักษาด้วยวิธีการอื่น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากคุณตรวจพบหลอดเลือดสมองโป่งพองโดยบังเอิญก็ไม่ต้องกังวลใจจนเกินไปนัก ถ้าแพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วว่าภาวะหลอดเลือดสมองที่โป่งพองนั้นไม่ก่อให้เกิดอันตราย อาจไม่จำเป็นต้องรักษาเลยก็ได้
กลับกันถ้าพบว่าหลอดเลือดสมองที่โป่งพองนั้นมีความเสี่ยงที่หลอดเลือดนั้นจะแตก ก็จำเป็นต้องรักษาให้ทันท่วงที
โดยทั่วไป กระเปาะของหลอดเลือดที่ใหญ่กว่า 7 มิลลิเมตรจะมีโอกาสแตกสูงในเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนที่เล็กกว่า 7 มิลลิเมตรมีโอกาสแตก 0.1%
โรคหลอดเลือดสมองโป่งพองถือเป็นภัยเงียบที่รุนแรง เนื่องจากในหลายกรณีไม่แสดงอาการใด ๆ แต่หากหลอดเลือดที่โป่งพองเกิดรั่วหรือแตก อาจส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตได้ การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองและป้องกันตั้งแต่ระยะแรก จึงอาจเป็นหนทางช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายจากโรคนี้
รู้สึกถึงความผิดปกติ แต่ไม่แน่ใจว่าเกิดจากหลอดเลือดสมองโป่งพองหรือเปล่า กลัวเกิดเส้นเลือดในสมองแตกในอนาคต ไม่รู้ว่าควรเริ่มตรวจที่ไหน? อย่างไรดี? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดสมอง จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย