bartholin cyst disease definition scaled

ปวด แสบช่องคลอด คลำเจอถุงน้ำ มีหนอง เสี่ยงเป็นฝีต่อมบาร์โธลิน

ฝีต่อมบาร์โธลิน เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการ ปวดแสบบริเวณช่องคลอด คลำเจอถุงน้ำ หรือตุ่มหนองที่อวัยวะเพศ

หลายคนกังวลใจว่าฝีต่อมบาร์โธลินคืออะไร มีวิธีรักษาอย่างไร จะลุกลามจนกลายเป็นโรคร้ายได้หรือเปล่า บทความนี้มีคำตอบ

ทำความรู้จัก ‘ต่อมบาร์โธลิน’ คืออะไร

ต่อมบาร์โธลิน (Bartholin Glands) เป็นต่อมสำคัญของเพศหญิง มีขนาดเล็กประมาณเมล็ดถั่ว อยู่บริเวณข้างซ้ายและข้างขวาของรอยต่อข้างในแคม ทำหน้าที่สำคัญคือ การผลิตของเหลวที่ช่วยหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์

ต่อมบาร์โธลินมีขนาดเล็กมาก หากอยู่ในภาวะปกติจะคลำไม่พบ แต่หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นอาจทำให้เกิดอาการบวม แดง และคลำพบก้อน หรือถุงน้ำได้

โรคฝีต่อมบาร์โธลินคืออะไร

โรคฝีต่อมบาร์โธลิน (Bartholin’s Cyst) ฝีปากช่องคลอด หรือฝีอวัยวะเพศหญิง คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมบาร์โธลิน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการอุดตันของต่อมบาร์โธลิน จนน้ำหล่อลื่นที่ถูกสร้างขึ้น ไม่สามารถผ่านออกมาได้ และเกิดการสะสมค้างอยู่ในท่อ จนบวมขึ้นเรื่อยๆ และอักเสบ เป็นฝีหนองได้

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อต่างๆ เช่น เชื้อสแตฟฟิโลคอกคัส (Staphylococcus) หรือ เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ (Gonorrhea) หรือหนองในเทียม (Chlamydia)

โรคฝีต่อมบาร์โธลินเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของโรคฝีต่อมบาร์โธลินนั้นไม่ซับซ้อน โดยอาจเกิดจากการรักษาสุขอนามัยทางเพศไม่ดี จนเกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกบริเวณช่องคลอด เช่น เหงื่อ สารคัดหลั่ง ปัสสาวะ จนเกิดการติดเชื้อได้

นอกจากนี้ การเสียดสีบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ เช่น การปั่นจักรยาน หรือการสวมชุดชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป ก็เป็นสาเหตุของการอักเสบได้เช่นกัน

โรคฝีต่อมบาร์โธลินมีอาการอย่างไร

อาการส่วนใหญ่ของโรคฝีต่อมบาร์โธลิน ที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์ มีดังนี้

  • รู้สึกเจ็บ ปวด บริเวณช่องคลอดหรือขาหนีบ
  • คลำเจอก้อนหรือถุงน้ำใกล้ช่องคลอด
  • บริเวณที่เป็นฝี บวม แดง และร้อน
  • อาจมีไข้ต่ำๆ เนื่องจากการติดเชื้อ
  • มีอาการเจ็บปวดเมื่อเคลื่อนไหว เช่น เดินหรือ ลุก-นั่ง

การตรวจวินิจฉัยฝีต่อมบาร์โธลิน

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นฝีต่อมบาร์โธลิน แพทย์จะซักประวัติและตรวจภายใน อาจมีการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งบริเวณช่องคลอดส่งตรวจโรคและการติดเชื้อเพิ่มเติม

การรักษาฝีต่อมบาร์โธลิน

การรักษาฝีต่อมบาร์โธลิน มีหลากหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ดังนี้

  1. กรณีที่อาการไม่รุนแรง ฝีมีขนาดเล็ก เป็นเพียงถุงน้ำ ยังไม่มีหนอง อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่แพทย์จะแนะนำแนวทางในการดูแลตัวเองเบื้องต้นคือ ให้ผู้ป่วยนั่งแช่น้ำอุ่น หรือประคบอุ่นวันละ 2-3 ครั้ง อาการอักเสบก็จะค่อยๆ ทุเลาลง หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้
  2. กรณีที่อาการรุนแรง ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ อักเสบ บวมแดงมาก มีหนอง อาจจำเป็นต้องรักษาโดยแพทย์ โดยมีแนวทางการักษาดังนี้
    1. ใช้ยาปฏิชีวนะ หากผลตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ โดยต้องกินให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
    2. เจาะถุงน้ำเพื่อระบายของเหลว กรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ เป็นหนอง แพทย์อาจแนะนำให้เจาะถุงน้ำเพื่อระบายของเหลวออก
    3. ผ่าและเย็บปากถุงน้ำบาร์โธลิน (Marsupialization) ในกรณีที่เกิดถุงน้ำซ้ำ แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเปิดปากถุงน้ำออก เพื่อเอาสารคัดหลั่งและหนองออกให้หมด แล้วเย็บปากถุงน้ำกับขอบแผล เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ
    4. ผ่าตัดนำต่อมบาร์โธลินออก หากรักษาด้วยวิธีการข้างต้นแล้ว อาการผิดปกติยังไม่หายไป แพทย์อาจแนะนำให้ตัดต่อมบาร์โธลินออก แต่มักจะพบได้น้อย

โรคฝีต่อมบาร์โธลิน เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่ไม่ร้ายนัก แต่ส่งผลกระทบและความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยค่อนข้างมาก ดังนั้นการรักษาสุขอนามัยทางเพศที่ดี รวมทั้งตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคลงได้

คลำเจอถุงน้ำเล็กๆ บริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกเจ็บๆ ปวด แสบ มีหนอง อยากปรึกษาคุณหมอ ตรวจให้แน่ชัด ทักหาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top