โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อย 1 ใน 5 ของประเทศไทย มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นโรคร้ายที่มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น จะทราบอาการก็ต่อเมื่อโรคอยู่ในระยะรุนแรงแล้ว และยังมีอาการทับซ้อนกับโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เช่น ท้องเสีย ท้องผูก ฯลฯ ซึ่งเป็นโรคที่ดูไม่รุนแรงอีกด้วย ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้หลายรายไม่ทราบว่าตัวเองกำลังป่วยอยู่
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงเป็นอีกรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง
การตรวจคัดกรองลำไส้ใหญ่มีรายการตรวจอะไรบ้าง และตรวจอย่างไร ใครบ้างที่ควรตรวจ บทความนี้มีคำตอบ
สารบัญ
ใครควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่บ้าง?
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งเพศหญิงและเพศชาบย ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้เป็นประจำทุกปี
แต่สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 45 ปี แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น มีประวัติเคยเกิดอาการเจ็บป่วยเรื้อรังเกี่ยวกับลำไส้ หรือคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมถึงโรคมะเร็งอื่นๆ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเช่นกัน
ทั้งนี้ช่วงอายุที่ควรเริ่มรับการตรวจ ให้คำนวณโดยนำอายุตอนที่ตรวจพบมะเร็งของคนในครอบครัว ลบด้วย 10 เช่น หากญาติตรวจพบมะเร็งตอนอายุ 40 ปี คุณก็ควรเริ่มตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่ออายุครบ 30 ปี เป็นต้น
รายการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะใช้หลายรายการตรวจร่วมกัน เพื่อความแม่นยำของผลตรวจ โดยรายการตรวจที่จำเป็น มีดังต่อไปนี้
1. การตรวจเลือดดูสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจเลือดดูสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือที่เรียกได้ว่า การตรวจเลือด CEA คือ การตรวจเลือดเพื่อดูค่าสารแอนติเจน CEA หรือสาร Carcinoembryonic Antigen ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ผลิตจากเซลล์ที่ลำไส้และตับ มีค่าปกติอยู่ที่ 2.5-5 นาโนกรัม/มิลลิลิตร
แต่เมื่อไรก็ตามที่ค่าของสาร CEA เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ก็มีโอกาสที่จะเป็นสัญญาณของการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งลำไส้
ขั้นตอนการตรวจเลือด CEA นั้น มีไม่ต่างจากการตรวจเลือดทั่วไป เพียงเจาะเลือด และรอฟังผลตรวจ ทั้งนี้การตรวจเลือด CEA มักจะตรวจร่วมกับการตรวจอื่นๆ ด้วย เพื่อความแม่นยำ เช่น การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
2. การตรวจอุจจาระ
การตรวจอุจจาระ (Fecal Occult Test) คือ การเก็บตัวอย่างอุจจาระของผู้ตรวจ เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดที่อาจแฝงอยู่ในอุจจาระ และไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
ตามปกติอุจจาระจะต้องไม่มีเลือดปะปนอยู่ แต่หากพบเลือดปนอยู่ อาจเป็นสัญญาณของภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งบ่งชี้ถึงโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้หลายโรค เช่น ภาวะลำไส้ติดเชื้อ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้
ขั้นตอนการตรวจอุจจาระไม่ยุ่งยาก โดยทั่วไปไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร และไม่ต้องเน้นกินอาหารที่มีกากใยมากเป็นพิเศษ แต่แพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อให้อุจจาระมีเนื้อนิ่ม ขับถ่ายได้สะดวก เมื่อเก็บตัวอย่างอุจจาระเสร็จ ก็รอฟังผลตรวจกับแพทย์
3. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) คือ การตรวจส่องกล้องเพื่อให้แพทย์เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ส่วนต้นจนถึงส่วนปลาย รวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายได้อย่างละเอียด สามารถหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของโรคในระบบทางเดินอาหารได้อย่างแม่นยำ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อในลำไส้ โรคลำไส้อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้รับบริการนอนบนเตียงในท่านอนตะแคงซ้าย งอเข่าขึ้นชิดกับหน้าอก ตำแหน่งของก้นอยู่ชิดกับขอบเตียง
- วิสัญญีแพทย์ให้ยานอนหลับและยาระงับปวด เพื่อให้ผ่อนคลายและไม่รู้สึกตัวระหว่างการตรวจ
- แพทย์สอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก สามารถโค้งงอได้เข้าทางทวารหนัก ภาพภายในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กส่วนปลายจะปรากฎขึ้นบนจอภายในห้องตรวจ
- บางราย แพทย์อาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อระหว่างที่ตรวจเพื่อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย
4. การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) คือ การส่องกล้องเพื่อตรวจดูความผิดปกติที่ผนังลำไส้ใหญ่ ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น
- อาการปวดท้อง
- มีเลือดออกจากทวารหนัก
- มีติ่งเนื้อที่ลำไส้
- น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- ตรวจเพื่อติดตามดูอาการของโรค เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ
ขั้นตอนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย จะคล้ายกับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ โดยให้ผู้รับบริการขึ้นนอนตะแคงบนเตียงตรวจ พร้อมได้รับยานอนหลับและยาระงับปวดจากวิสัญญีแพทย์ จากนั้นแพทย์จะสอดกล้องที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กและโค้งงอได้เข้าทางทวารหนักไปจนถึงส่วนล่างของลำไส้ใหญ่
ในระหว่างการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แพทย์ยังอาจเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
5. การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Colonoscopy) คือ การถ่ายภาพลำไส้ใหญ่ทั้งแบบ 2 มิติแบบระนาบ และแบบ 3 มิติหลายมุมมอง ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิด Multidetector ทำให้แพทย์ตรวจความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ได้อย่างชัดเจน และละเอียด มีขั้นตอนการตรวจโดยหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
- เจ้าหน้าที่ให้ยาทางหลอดเลือดดำเพื่อลดการหดเกร็งของลำไส้ใหญ่ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคจากผลเอกซเรย์ได้ง่ายขึ้น และเพื่อเตรียมลำไส้ในกรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสีก่อนตรวจ
- แพทย์ใส่สายสวนทางทวารหนัก เพื่อใส่ลมเข้าลำไส้ใหญ่
- ในผู้ที่ต้องฉีดสารทึบรังสีอาจรู้สึกร้อนตามร่างกายระหว่างฉีดสารได้
- ผู้รับบริการนอนลงบนเตียง ซึ่งจะอยู่กึ่งกลางเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะคล้ายลูกโดนัทเจาะรูตรงกลาง ระหว่างการตรวจ เตียงจะมีการขยับเข้าออกตามการควบคุมของนักรังสีเทคนิคภายในห้องควบคุม และภายในห้องตรวจจะมีลำโพงที่เชื่อมกับห้องควบคุมเพื่อให้นักรังสีเทคนิคสามารถพูดคุยกับผู้รับบริการระหว่างการตรวจได้
- ระหว่างการตรวจ ผู้รับบริการจะต้องนอนหงายและนอนคว่ำตามคำบอกของนักรังสีเทคนิค เพื่อให้ถ่ายภาพลำไส้ได้อย่างครบถ้วน
6. การตรวจวัดการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก
การตรวจวัดการทำงานของทวารหนัก และหูรูดทวารหนัก (Anorectal Manometry) คือ การตรวจดูประสิทธิภาพการทำงานของทวารหนัก และกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเบ่งถ่ายอุจจาระ
การตรวจวัดการทำงานของทวารหนักและหูรูดทวารหนัก เป็นการตรวจที่ไม่ได้เป็นที่นิยมสำหรับหาความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่จะนิยมใช้ตรวจในผู้ป่วยโรคท้องผูก หรือผู้ที่มีปัญหาในการเบ่งถ่ายอุจจาระ ซึ่งหากไม่รีบรักษา ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารตามมาได้
การตรวจวัดการทำงานของทวารหนัก และหูรูดทวารหนัก ใช้ระยะเวลาตรวจประมาณ 30 นาที โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อเป็นชุดสำหรับตรวจของโรงพยาบาล จากนั้นขึ้นนอนในท่านอนตะแคง
- แพทย์จะสอดสายสวนขนาดเล็กเข้าทางทวารหนัก ความลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ที่สุดปลายสายสวนอีกด้านจะต่อเข้ากับเครื่องวัดแรงดัน
- แพทย์ปล่อยน้ำเข้าไปในลูกโป่ง ในระหว่างนั้นจะให้ผู้ป่วยลองขมิบ เบ่ง และคลายทวารหนักเป็นระยะ ๆ เพื่อตรวจสอบการตอบสนองของทวารหนัก และความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลาย
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ รวมทั้งโรคทางระบบทางเดินอาหารอื่นๆ เป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันโรคที่ดี และทุกคนควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ เพราะยิ่งตรวจพบความผิดปกติได้เร็ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็มีสูงตามไปด้วย
อยากตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ถึงเวลาตรวจแล้วหรือยัง ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย