รู้จักฝีคัณฑสูตร สาเหตุ อาการ เป็นแล้วหายเองได้ไหม รักษายังไง scaled

รู้จักฝีคัณฑสูตร สาเหตุ อาการ เป็นแล้วหายเองได้ไหม รักษายังไง?

ฝีคัณฑสูตร คือฝีหนองที่อยู่บริเวณทวารหนักด้านในแล้วทะลุออกมายังผิวหนังภายนอก เกิดจากการอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บปวด อาจถ่ายอุจจาระออกมาแล้วมีมูกเลือดปน อาการบางอย่างใกล้เคียงกับริดสีดวง

ฝีคัณฑสูตรมักเกิดกับผู้ที่อายุประมาณ 40 ปี แต่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบฝีคัณฑสูตรได้ และส่วนใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

การรักษาฝีคัณฑสูตรแบบมาตรฐานคือการผ่าตัด โดยปัจจุบันมีหลายเทคนิคการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการฝีคัณฑสูตรที่แตกต่างกัน ข้อสำคัญของการผ่าตัดคือกำจัดฝีออกไป และรักษากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักของผู้ป่วยไว้

ฝีคัณฑสูตร คืออะไร?

ฝีคัณฑสูตร คือภาวะอักเสบติดเชื้อเรื้อรังบริเวณทวารหนัก ซึ่งทำให้เกิดช่องทางผิดปกติระหว่างตำแหน่งที่เป็นฝีด้านในกล้ามเนื้อหรือชั้นไขมันบริเวณทวารหนักออกมายังชั้นผิวหนัง

ทางเชื่อมระหว่างด้านในทวารหนักกับผิวหนังภายนอกอาจมีเพียงทางเดียว หรือหลายช่องทางก็ได้ รวมถึงอาจลามไปสู่อวัยวะข้างเคียงได้ด้วย

แบบจำลองโรคฝีคัณฑสูตร

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ฝีคัณฑสูตรแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  1. ฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้นหรือไม่ซับซ้อน (Simple Fistula)

มีการเชื่อมต่อระหว่างด้านในรูทวารหนักกับผิวหนังเพียงหนึ่งทาง

  1. ฝีคัณฑสูตรชนิดที่ลึกหรือมีความซับซ้อน (Complex Fistula)

มีทางออกสู่ผิวหนังหลายทาง หรืออาจเชื่อมโยงกับอวัยวะข้างเคียง หรืออาจเกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก

สาเหตุของโรค ฝีคัณฑสูตร คืออะไร?

สาเหตุ ฝีคัณฑสูตร ส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียในต่อมที่ทำหน้าที่ผลิตมูกในทวารหนัก (Anal Gland) เมื่ออาการติดเชื้อและของเสียหมักหมมนานเข้าก็กลายเป็นฝีหนอง หนองเหล่านี้จะค่อยๆ กัดเซาะขั้นกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนักจนทะลุออกมายังชั้นผิวหนัง

ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นโรคฝีคัณฑสูตรมากขึ้น ได้แก่

  • การผ่าตัดระบายหนองออกจากทวารหนักครั้งก่อน
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังชนิดโครห์น (Crohn) หรือโรคอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการอักเสบบริเวณทวารหนัก
  • การติดเชื้อโรคบางชนิดบริเวณทวารหนัก เช่น Actinomycosis, Syphillis โดยเฉพาะเมื่อเป็นอย่างเรื้อรัง
  • การผ่าตัดหรือการฉายแสงรักษามะเร็งบริเวณทวารหนัก

อาการของโรค ฝีคัณฑสูตร เป็นอย่างไร?

อาการของโรค ฝีคัณฑสูตร ได้แก่

  • คันที่ผิวหนังรอบรูทวารหนัก
  • มีรูหรือเนื้อแข็งๆ รอบรูทวารหนัก
  • รอบรูทวารหนักหรือแก้มก้นมีอาการอักเสบ บวม แดง
  • เวลาอุจจาระสังเกตพบมูก เลือด หรือน้ำเหลืองปนออกมาด้วย ถ้าเป็นระยะเรื้อรังอาจพบหนองปนออกมา มูกและนำ้เหลืองเหล่านี้อาจมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกเจ็บปวดรอบๆ หรือภายในรูทวารหนัก โดยเฉพาะเวลาเบ่งอุจจาระ นั่ง หรือไอ
  • มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน

ผู้เป็นฝีคัณฑสูตรบางรายอาจรู้สึกเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ หรือรู้สึกกลั้นอุจจาระไม่อยู่ แต่สองอาการนี้พบได้น้อย

แม้ว่าเป็นฝีคัณฑสูตรแล้ว แต่เมื่อส่องกระจกบริเวณทวารหนักด้วยกระจก อาจพบสิ่งผิดปกติ หรือไม่พบก็ได้ และอาการข้างต้นอาจไม่ได้เป็นตลอดเวลา แต่เป็นๆ หายๆ

อาการที่เป็นอยู่ใช่โรค ฝีคัณฑสูตร รึเปล่า อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

ตรวจฝีคัณฑสูตร ทำยังไง เจ็บไหม? อ่านต่อคลิกเลย

วิธีรักษาโรค ฝีคัณฑสูตร มีวิธีไหนบ้าง

ฝีคัณฑสูตรโดยส่วนใหญ่ไม่สามารถหายเองได้ จำเป็นต้องได้รับการรักษา

แนวทางการ รักษาฝีคัณฑสูตร แนวทางหลักคือ การผ่าตัด โดยปัจจุบันมีหลายเทคนิค ได้แก่

1. ผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรเพื่อระบายสิ่งสกปรกและทำความสะอาด (Fistulotomy)

แบบจำลองการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ-Fistulotomy

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

การผ่าตัดเปิดโพรงฝีคัณฑสูตรแล้วทำความสะอาด มักใช้รักษาฝีคัณฑสูตรชนิดที่อยู่ตื้นหรือไม่ซับซ้อน

วิธีผ่าตัด แพทย์จะสอดแท่งเล็กๆ (Probe) เข้าไปในโพรงฝี แล้วใช้มีดหรือจี้ไฟฟ้าผ่าโพรงฝีตามแนวยาว แล้วนำเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกจนหมด รอยผ่าตามแนวยาวจะกลายเป็นผิวเรียบ ช่วยให้แผลสมานตัวกลายเป็นพังผืดเรียบ (Flat Scar) แล้วอุดบริเวณที่เคยเป็นโพรงฝีไปทั้งหมด โดยใช้เวลาดูแลรักษาแผลประมาณ 4-5 สัปดาห์ เนื้อเยื่อจึงจะขึ้นมาจนเต็ม

วิธีผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ Fistulotomy ให้ประสิทธิภาพในการรักษาประมาณ 95% จำเป็นต้องรับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้ชำนาญการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เสียกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักมากเกินไป ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหากลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดได้ 

2. ผ่าตัดเลาะโพรงฝีคัณฑสูตรออกทั้งหมด (Fistulectomy)

เป็นการผ่าตัดที่คล้ายคลึงกับการผ่าตัดแบบ Fistulotomy แตกต่างกันตรงที่ การผ่าตัดนี้จะเอาโพรงฝีคัณฑสูตร ส่วนของเส้นทางทะลุออกไปทั้งหมดด้วย จากนั้นใช้เนื้อเยื่อบางส่วนจากลำไส้ตรงมาปิดและซ่อมแซมกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงทำลายกล้ามเนื้อหูรูดมากที่สุด

3. รักษาฝีคัณฑสูตรด้วยการคล้องไหม (Seton)

ซีตอน (Seton) คือ ไหมชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อถูกติดตั้งไว้ในร่างกายแล้วจะไม่สลายตัวไปเอง

การใช้ซีตอนรักษาฝีคัณฑสูตรแบ่งออกเป็น 2 เทคนิค ได้แก่

3.1 การใช้ซีตอนเพื่อระบายของเหลวที่เกิดจากการอักเสบภายในทวารหนัก (Seton Drain) แพทย์จะใส่ซีตอนเข้าไปในทางระหว่างด้านในของทวารหนักที่เกิดการอักเสบซึ่งเชื่อมกับผิวหนังภายนอก ของเหลวจากการอักเสบจะถูกระบายออกทางเส้นไหมซีตอน และทางเชื่อมดังกล่าวจะค่อยๆ แคบลง จนในที่สุดจะเกิดการสร้างเนื้อเยื่อแผลเป็นขึ้นภายใน ทำให้เชื้อโรคไม่สามารถผ่านได้

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยวิธีนี้อาจตามด้วยการผ่าตัดแล้วนำไหมซีตอนออก หรืออาจทิ้งไหมค้างไว้เลยก็ได้

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Seton-Drain

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

3.2 การใช้ซีตอนเพื่อผ่าตัด (Cutting Seton) แพทย์จะติดตั้งไหมไว้ในโพรงของฝีคัณฑสูตร โดยปลายข้างหนึ่งของไหมจะออกมาทางรูทวารหนัก ส่วนปลายอีกข้างจะออกมาจากผิวหนังใกล้ๆ ทวารหนัก จากนั้นให้ผู้ป่วยค่อยๆ ดึงไหมซีตอนทีละนิด อาจใช้เวลาเป็นหลักหลายเดือนหรือเป็นปี ไหมจะค่อยๆ ตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก ร่วมกับร่างกายค่อยๆ สมานแผล สร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซ่อมแซมตัวเองกลับมา จนในที่สุดไหมจะหลุดออก

แบบจำลองการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรเทคนิค-Cutting-Seton

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

วิธีนี้เป็นการตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูด แต่ร่างกายจะค่อยๆ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อไปเรื่อยๆ เมื่อรักษาเสร็จผู้ป่วยจึงไม่เสียความสามารถในการกลั้นอุจจาระ ข้อเสียคือต้องใช้เวลานาน และถ้าดึงไหมเร็วเกินไป อาจรักษาอาจไม่สำเร็จ

4. ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรโดยเก็บรักษาหูรูด LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract)

แบบจำลองการผ่าตัดผูกท่อฝีคัณฑสูตร-LIFT-Ligation-of-Intersphincteric-Fistula-Tract

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

วิธีนี้ใช้รักษาฝีคัณฑสูตรที่อยู่ระหว่างกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักด้านนอกกับด้านใน โดยไม่ให้กล้ามเนื้อหูรูดเสียหาย

แพทย์จะค่อยๆ กรีดเปิดเข้าไประหว่างชั้นกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เข้าไปยังโพรงฝี (Fistula Tract) แล้วผูกเย็บทางเชื่อมโพรงฝีด้านใน จากนั้นขูดทำความสะอาดเนื้อเยื่อที่โพรงฝีด้านนอก ก่อนเย็บปิด เป็นการป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ข้างในทวารหนักเข้ามาในโพรงฝีได้อีก

การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ LIFT มักทำหลังจากใช้เทคนิค Seton แล้ว ถือเป็นการผ่าตัดรักษาที่มีประสิทธิภาพประมาณ 75% แต่มีข้อดีคือจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการผิดปกติและไม่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระ

5. ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบปิดโพรงฝีจากด้านใน (Advancement Rectal Flap)

ทำเพื่อปิดทางเข้าของเชื้อที่จะทำให้เกิดทางเชื่อมระหว่างทวารหนักด้านในกับผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่จะกระทบกระเทือนหูรูดทวารหนัก

เทคนิคนี้ แพทย์จะผ่าตัดนำเนื้อเยื่อด้านในทวารหนักส่วนที่ติดเชื้อออก จากนั้นกรีดลอกแผ่นเนื้อเยื่อส่วนที่ดีซึ่งอยู่ใกล้เคียง พับลงมาปิดโพรงฝี หลังการผ่าตัดรักษา หนองที่อยู่ในโพรงฝีควรค่อยๆ ระบายออกไป และเมื่อแบคทีเรียไม่สามารถเข้าสู่โพรงฝีได้ โพรงฝีจะค่อยๆ สมานตัวและปิดเอง

เทคนิคนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาฝีคัณฑสูตรประมาณ 70% ในบางกรณีผู้ป่วยอาจกลับมาเป็นโรคซ้ำ และมีความเสี่ยงประมาณ 30% ที่กล้ามเนื้อหูรูดผู้ป่วยจะเสียหายจากการผ่าตัด

6. ผ่าตัดฝีคัณฑสูตรด้วยเลเซอร์

การรักษาฝีคัณฑสูตรด้วยเลเซอร์ แพทย์จะใส่แท่งปล่อยลำแสงเลเซอร์ (Laser Probe) เข้าไปในโพรงฝีจากผิวหนังด้านนอก จากนั้นควบคุมเลเซอร์ให้ค่อยๆ ปล่อยพลังงานออกมาทำลายเนื้อเยื่อในโพรงฝี ค่อยๆ ปิดไล่ออกมาจากรูเปิดด้านในจนถึงรูเปิดด้านนอก

เทคนิคนี้ทำให้เนื้อเยื่อหดตัวกลายเป็นแผลเป็น (Scar Tissue) ส่งผลให้โพรงฝีตันลงในที่สุด

หนึ่งในสิ่งที่ควรสอบถามแพทย์ให้แน่ชัดก่อนผ่าตัดฝีคัณฑสูตร คือ เรื่องผลกระทบของการผ่าตัดที่อาจมีต่อกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนนี้มีความสำคัญ ถ้าเสียหายไปอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ในอนาคต

ส่วนการรักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ผ่าตัด ปัจจุบันมีเพียงวิธีเดียวเท่านั้น คือ การรักษาโพรงฝีด้วยกาวทางการแพทย์

การป้องกันโรค ฝีคัณฑสูตร

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคฝีคัณฑสูตร เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่หากเคยเป็นฝีคัณฑสูตรแล้ว ควรป้องกันตัวเองเพื่อไม่ได้กลับมาเป็นโรคนี้ซ้ำอีก ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีกากใย ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงหลีกเลี่ยงการอั้นอุจจาระหรือเบ่งอุจจาระแรงๆ เพื่อให้ลำไส้ทำงานอย่างปกติและป้องกันท้องผูก
  • รักษาความสะอาดบริเวณทวารหนัก และควรให้อยู่ให้สภาพแห้งเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโรค

ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรค ฝีคัณฑสูตร รึเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top