adenoid screening process scaled

ขั้นตอนตรวจต่อมอะดีนอยด์ ตรวจยังไง เจ็บไหม

หากพูดถึง ต่อมอะดีนอยด์ หลายคนอาจคุ้นเคยว่ามักเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเด็ก เช่น ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ ต่อมอะดีนอยด์โต จนส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่จริงๆ แล้วก็สามารถเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์ในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ขั้นตอนการตรวจความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์จะเป็นอย่างไร เจ็บไหม ผู้ใหญ่ตรวจเหมือนกับเด็กหรือเปล่า บทความนี้มีคำตอบ

ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร?

ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก เป็นต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกับต่อมทอนซิล ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อโรคที่หลุดเข้าไปโพรงจมูก พร้อมๆ กับผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น

ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีความสำคัญมากในเด็กอายุ 1-10 ปี เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัยของร่ายกาย เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ต่อมอะดีนอยด์จะโตและอักเสบขึ้น

อาการบอกให้รู้ว่า ต่อมอะดีนอยด์ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่ เมื่อต่อมอะดีนอยด์ผิดปกติ ร่างกายจะแสดงอาการดังต่อไปนี้

  • เจ็บบริเวณหลังโพรงจมูก
  • เจ็บคอ กลืนอาหารลำบาก
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอบวม
  • หูอื้อ หรือหูหนวกชั่วคราว จากการที่หูชั้นกลางอักเสบ
  • หายใจทางจมูกลำบาก ทำให้ต้องหายใจทางปาก
  • ริมฝีปากแห้ง ลอก มีกลิ่นปาก
  • น้ำมูกไหลเรื้อรัง
  • ไซนัสอักเสบ ทำให้มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ

ขั้นตอนการตรวจต่อมอะดีนอยด์ในผู้ใหญ่

โดยทั่วไป เมื่อร่างกายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ต่อมอะดีนอยด์จะมีขนาดเล็กลง และไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในผู้ใหญ่ แต่ก็ยังสามารถเกิดความผิดปกติได้เช่นกัน

หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการต่อมอะดีนอยด์โต หรืออักเสบ แพทย์จะมีขั้นตอนการตรวจดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น

แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจดูความผิดปกติภายนอก เช่น คลำบริเวณลำคอ อาจใช้ไฟฉายส่อง เพื่อตรวจดูบริเวณภายในช่องปาก เพื่อตรวจหาความผิดปกติในเบื้องต้น หากสงสัยว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์ จึงใช้วิธีตรวจในขั้นถัดไป

ขั้นตอนที่ 2 เตรียมร่างกายก่อนการส่องกล้องตรวจหลังโพรงจมูก

การส่องกล้องตรวจหลังโพรงจมูกนี้ ผู้เข้ารับการตรวจ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร เพียงแค่นั่งเก้าอี้ในท่าปกติ จากนั้นแพทย์จะพ่นยาชาเข้าไปในรูจมูก เพื่อระงับความรู้สึก

ขั้นตอนที่ 3 ส่องกล้องตรวจหลังโพรงจมูก

เมื่อยาชาออกฤทธิ์เต็มที่ แพทย์จะสอดกล้อง ซึ่งเป็นท่อโลหะขนาดเล็กเข้าไปทางโพรงจมูก ซึ่งกล้องจะแสดงภาพทางจอมอนิเตอร์ด้านนอก แพทย์จะตรวจดูว่าต่อมอะดีนอยด์ มีอาการบวมแดง อักเสบ โต หรือไม่ จากนั้นนำกล้องออกจากโพรงจมูก เป็นอันเสร็จ

หลังการส่องกล้อง ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกระคายเคือง หรือคลื่นไส้เล็กน้อย และมีอาการชาในรูจมูก ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นอาการต่างๆ จะค่อยๆ ทุเลาลงจนหายไปในที่สุด

ขั้นตอนการตรวจต่อมอะดีนอยด์ในเด็ก

การตรวจความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์ในเด็กจะมีขั้นตอนที่เหมือนและแตกต่างจากการตรวจในผู้ใหญ่อยู่ในบางขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น

ขั้นตอนนี้จะเหมือนกับการตรวจในผู้ใหญ่ คือแพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจดูความผิดปกติภายนอก เช่น คลำบริเวณลำคอ และให้เด็กอ้าปากกว้าง ใช้ไฟฉายส่อง เพื่อตรวจดูบริเวณภายในช่องปากและลำคอ

ขั้นตอนที่ 2 เลือกวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับเด็ก

วิธีการตรวจความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์นั้นมี 2 วิธีหลักๆ ซึ่งแพทย์จะเลือกวิธีไหน ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเด็กด้วย ดังนี้

  • ในกรณีที่เด็กไม่ตื่นกลัว และให้ความร่วมมือดี แพทย์จะใช้วิธีการส่องกล้องเช่นกัน แต่แพทย์จะใช้กล้องชนิดพิเศษคือ Flexible Fiberoptic Rhino-Scope เหมาะสำหรับการตรวจวินิจฉัยเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งกล้องนี้จะมีลักษณะอ่อนนิ่ม ทำให้เด็กไม่รู้สึกเจ็บ หากขยับหรือเคลื่อนไหวขณะตรวจ ซึ่งกล้องนี้จะทำให้เห็นต่อมอะดีนอยด์ได้อย่างชัดเจน ว่ามีอาการบวมแดงหรืออักเสบหรือไม่ โดยวิธีการส่องกล้อง รวมทั้งอาการข้างเคียงนั้น คล้ายคลึงกับการส่องกล้องในผู้ใหญ่
  • ในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือ หรือมีความตื่นกลัว แพทย์จะเลือกใช้การตรวจเอกซเรย์ทางด้านข้างของศีรษะของเด็กแทน ซึ่งจะทำให้เห็นเงาของต่อมอะดีนอยด์ว่ามีลักษณะผิดปกติ หรือโตขึ้นหรือไม่ 

adenoid screening process 02 scaled

นอกจากการขั้นตอนการตรวจข้างต้นแล้ว แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละคน ซึ่งตรวจได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เช่น 

  • การตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) สำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านการนอน เช่น นอนกรน นอนอ้าปาก เป็นต้น เพื่อทดสอบว่าต่อมอะดีนอยด์โตจนอุดกั้นทางเดินหายใจ จนเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับหรือไม่
  • การเพาะเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria Culture Test) หากต่อมอะดีนอยด์มีการอักเสบ หรือติดเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างเชื้อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อระบุชนิดของเชื้อแบคทีเรีย เพื่อจะได้วางแผนการรักษาต่อไป

หากคุณสงสัยว่าตัวเองหรือบุตรหลาน มีอาการคล้ายคลึงกับโรคที่เกี่ยวข้องกับต่อมอะดีนอยด์ แนะนำให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยแพทย์ เพื่อจะได้เลือกวิธีการรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด

ยังมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์หรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต่อมอะดีนอยด์จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top