abnormal vaginal bleeding disease definition

เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ สัญญาณเสี่ยงโรคอะไรบ้าง

มีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน อาจเป็นเลือดออกแบบกะปริบกะปรอย เลือดสีแดงสด สีน้ำตาล หรือมีมูกเลือด ฯลฯ รู้ไหมว่าอาการเหล่านี้อาจสัมพันธ์กับภาวะสุขภาพ โดยเป็นได้ทั้งการอักเสบ ติดเชื้อ ที่รักษาได้ด้วยการรับประทานยา หรืออาจเป็นโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอก มะเร็ง ที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดหรือรักษาเฉพาะทางอื่นๆ

การที่ผู้หญิงมีเลือดออกทางช่องคลอด บ่งบอกโรคอะไรบ้าง เลือดออกแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ บทความนี้มีคำตอบให้คุณแล้ว

สารบัญ

เลือดออกทางช่องคลอด แบบไหนคือผิดปกติ?

การมีเลือดออกทางช่องคลอดนอกเหนือจากเลือดประจำเดือน ถือเป็นอาการผิดปกติ ที่ควรปรึกษาแพทย์ 

ผู้ป่วยควรสังเกตรายละเอียดอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อจะได้ให้ข้อมูลแก่แพทย์เวลาซักประวัติ เช่น ปริมาณ สีของเลือด ของเหลวอื่นๆ หรือสิ่งใดๆ ที่ออกมากับเลือดนั้น กลิ่น จำนวนวันที่มีเลือดออก อาการที่เป็นร่วมกับเลือดออกทางช่องคลอด เช่น อาการเจ็บปวดท้องน้อย คัน ปวดในช่องคลอด เป็นต้น

เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ เป็นสัญญาณโรคอะไร?

การที่มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นสัญญาณความผิดปกติของร่างกายได้หลายประการ ซึ่งมีทั้งโรคที่ไม่รุนแรง และรักษาได้ด้วยการรับประทานยา หรือโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด โดยอาการเลือดออกทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณของโรคต่อไปนี้

ภาวะเลือดไหลเวียนผิดปกติ (Bleeding Disorder)

ภาวะเลือดไหลเวียนผิดปกติ ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติได้ สาเหตุของภาวะนี้อาจมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคทางพันธุกรรม เซลล์เม็ดเลือดแดงมีปริมาณต่ำ ขาดวิตามินเค หรือเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดก็ได้เช่นกัน

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroid)

โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือ ไฮโปไทรอยด์ คือ ภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานลดลงหรือทำงานน้อยกว่าปกติ ทำให้มีฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำเกินไป

ความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์สามารถรบกวนวงจรประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือประจำเดือนขาด จนสังเกตพบเป็นเลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติได้

โรคติ่งเนื้อในโพรงมดลูก (Endometrial Polyp)

ติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือ ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยอาจมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนกับโพรเจสเตอโรน

เมื่อมีติ่งเนื้อในโพรงมดลูก อาจทำให้มีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดท้อง หรือมีภาวะมีบุตรยาก

ติ่งเนื้อนี้มักไม่ใช่มะเร็ง แต่รอยโรคของติ่งเนื้อในโพรงมดลูกอาจดูใกล้เคียงกับมะเร็งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก หรือคล้ายกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาผิดปกติได้ จึงจำเป็นต้องให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค และบางกรณี ติ่งเนื้อในโพรงมดลูกอาจพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้ภายหลัง

โรคเนื้องอกมดลูก (Uterine Fibroids)

เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงอายุประมาณ 25-30 ปี มีสาเหตุส่วนหนึ่งจากกรรมพันธุ์หรือฮอร์โมน ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อใดๆ เนื้องอกนี้พบได้หลายขนาด และอาจฝ่อไปได้เองเมื่อหมดประจำเดือน

จากสถิติพบว่า 99% ของเนื้องอกมดลูกไม่ใช่มะเร็ง แต่บางกรณีอาจพัฒนาเป็นมะเร็งในภายหลัง

เนื้องอกมดลูกอาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน อาการอื่น เช่น คลำพบก้อนที่ท้องน้อย

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis)

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญที่บริเวณอื่นนอกเหนือจากภายในโพรงมดลูก โดยอาจไปอยู่บริเวณอื่นๆ ของมดลูก หรือรังไข่ รวมทั้งอาจไปเจริญที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย เช่น ตับ ปอด ไต หรือแม้แต่สมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายบริเวณอวัยวะนั้นๆ

อาการหลักของโรคนี้คือ ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องมากเวลามีประจำเดือน มีเลือดออกผิดปกติที่ช่องคลอด และอาจมีอาการอื่นที่พบร่วมด้วย ได้แก่ คลำเจอก้อนในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณช่องท้องส่วนล่าง หรือเจ็บภายในช่องคลอดเมื่อมีเพศสัมพันธ์

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia)

ตามปกติแล้ว เยื่อบุโพรงมดลูกคือส่วนที่จะหนาขึ้น เพื่อเตรียมเป็นที่ฝังตัวอ่อนถ้ามีการปฏิสนธิ แต่ถ้าไม่มี เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกกลายเป็นเลือดประจำเดือนออกมาทางช่องคลอด

แต่ในบางคน เยื่อบุโพรงมดลูกนี้กลับก่อตัวจนหนาขึ้นกว่าปกติ สาเหตุหลักมาจากฮอร์ไมนเพศไม่สมดุล

ผู้ที่เป็นโรคนี้ส่วนใหญ่มักสังเกตพบเลือดออกจากโพรงมดลูกปริมาณมาก หรือประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ โดยอาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

ถ้าเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ก็มีโอกาสที่โรคจะพัฒนากลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

โรคปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis)

ปากมดลูก คือ ส่วนที่อยู่ล่างสุดของมดลูก ที่จะเปิดออกสู่ช่องคลอด โรคปากมดลูกอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ หรืออาจเริ่มจากอาการแพ้ เช่น แพ้ถุงยางอนามัย แพ้ผลิตภัณฑ์สำหรับจุดซ่อนเร้น แล้วจึงพัฒนาเป็นการอักเสบขึ้น นอกจากนี้ปากมดลูกอักเสบยังอาจเกิดจากแบคทีเรียในช่องคลอดเติบโตเพิ่มปริมาณมากเกินไป

อาการปากมดลูกอักเสบ ได้เแก่ มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือน เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์หรือเวลาตรวจภายใน รวมถึงมีตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีปริมาณมาก ตกขาวสีเหลือง สีเทา ลักษณะคล้ายหนอง หรือมีกลิ่นเหม็น

อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่โรคปากมดลูกอักเสบจะไม่แสดงความผิดปกติใดๆ ออกมาเลย ผู้ป่วยจะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจภายใน

โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง (Cancers of The Female Reproductive System)

โรคมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิงก็เป็นอีกสาเหตุให้เกิดเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติได้ มะเร็งที่ว่านี้ ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งท่อรังไข่

สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอด

เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติไม่จำเป็นต้องแสดงถึงโรคร้ายแรงเสมอไป มีสาเหตุอื่นๆ อีกที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • ผลข้างเคียงจากยา
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ห่วงคุมกำเนิด
  • ฮอร์โมน
  • ภาวะหมดประจำเดือน
  • อาการบาดเจ็บที่ช่องคลอดหรือบริเวณโดยรอบ
  • ความเครียด
  • การติดเชื้อ

ไม่แน่ใจว่าที่เป็นอยู่เป็นแค่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ผลจากความเครียด หรือที่จริงมีโรคร้ายแรงอะไรซ่อนอยู่ จะเป็นมะเร็งไหม? อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่ 

วิธีรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอด มีอะไรบ้าง?

ตัวอย่างวิธีรักษาภาวะเลือดออกทางช่องคลอด มีดังนี้

1. รักษาเลือดออกทางช่องคลอดด้วยยา

ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ร้ายแรงส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้ยา เช่น

  • ยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเพศหญิง จะช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอขึ้น
  • ห่วงคุมกำเนิด โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกชนิดห่วงคุมกำเนิดให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อใช้ทั้งคุมกำเนิดและช่วยลดปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอด
  • ยาปฏิชีวนะ ช่วยรักษาเลือดออกทางช่องคลอดที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ 

2. รักษาเลือดออกทางช่องคลอดด้วยหัตถการอื่นๆ หรือการผ่าตัด

    • การจี้ทำลายเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Ablation) ทำโดยการใส่อุปกรณ์เข้าไปทางช่องคลอด แล้วปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูง หรือคลื่นไมโครเวฟ หรือของเหลวที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นจัด เข้าไปทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก วิธีนี้ไม่ต้องผ่าตัดเปิดผิวหนัง
  • ขูดมดลูก (Dilation and Curettage: D&C) ถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ทำแล้วกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องนอนค้างที่สถานพยาบาล โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า คิวเรตต์ ขูดเนื้อเยื่อในมดลูกออกมา โดยอาจทำเพื่อนำเนื้อเยื่อนั้นไปตรวจสอบ หรือทำเพื่อรักษาโรคก็ได้
  • ผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy) เป็นการผ่าตัดเฉพาะเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งออกจากมดลูก หลังผ่าตัดคนไข้จะยังมีมดลูกอยู่ ทำให้ยังสามารถตั้งครรภ์ได้
  • ผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด (Hysterectomy) เป็นการผ่าตัดนำมดลูกทั้งหมดออกจากร่างกาย ทำให้หลังผ่าตัดคนไข้ไม่สามารถมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ได้อีก

การรักษาเลือดออกทางช่องคลอดอาจมีผลข้างเคียงต่อภาวะเจริญพันธุ์หรือการตั้งครรภ์ในอนาคต จึงควรสอบถามข้อมูลให้แน่ชัดจากแพทย์ เพื่อจะได้วางแผนรักษาร่วมกันให้เหมาะสม

เลือดออกทางช่องคลอดอาจเป็นอาการผิดปกติที่เกิดเพียงชั่วคราว หรืออาจเป็นสัญญาณบอกโรคที่ซ่อนอยู่ เมื่อพบอาการนี้ ไม่ควรละเลยหรือซื้อยามากินเอง 

แต่ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง วิธีตรวจเพื่อรักษาเลือดออกทางช่องคลอด ได้แก่ ซักประวัติเกี่ยวกับรอบเดือน วันแรกที่ประจำเดือนมาของเดือนล่าสุด ลักษณะของเลือดที่ออกมาทางช่องคลอด หรือแพทย์อาจตรวจภายใน สั่งตรวจปัสสาวะ ทำอัลตราซาวนด์ ทำ MRI ฯลฯ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง และทำการรักษาอย่างทันท่วงที

สังเกตว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด แต่ปกติประจำเดือนก็มาไม่ค่อยตรง เลยไม่แน่ใจว่าผิดปกติหรือเปล่า ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคเกี่ยวกับสูตินรีเวช จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top