อาการง่วงนอนตลอดเวลา หรือที่เรียกว่า “ภาวะง่วงนอนเกินปกติ” (Excessive Daytime Sleepiness) เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของหลายคน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกหมดพลังงานและขาดสมาธิ สาเหตุของอาการนี้มีหลายปัจจัย ตั้งแต่การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียดสะสม ไปจนถึงปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคไทรอยด์ หรือโรคเบาหวาน การทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่แท้จริงจะช่วยให้สามารถรักษาและปรับปรุงการนอนหลับให้ดีขึ้นได้
ง่วงนอนตลอดเวลา นอนวันละ 8 ชั่วโมง
ง่วงนอนบ่อยมาก ทั้งๆที่กลางคืนนอน 8 ชม.ต่อวัน เป็นเพราะอะไรคะ ?
อาการง่วงนอนบ่อย หรือ อ่อนเพลียเรื้อรัง คือกลุ่มอาการอิดโรยเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติจากระบบกลไกของร่างกาย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง และอาการอื่น ๆ เช่น ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว พอกลางคืนก็นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท ตื่นเช้ามาก็ไม่สดชื่น
นอกจากนี้แล้วอาการง่วงนอนบ่อย ๆ ยังอาจเกิดขึ้นได้กับคนที่อดนอนหรือนอนน้อยสะสมเป็นเวลานาน รวมทั้งคนที่ทำงานเป็นกะ ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด คนที่มีอาการเมาค้าง และกลุ่มคนที่ขาดการออกกำลังกาย จนร่างกายไม่ไหวที่จะกระปรี้กระเปร่าด้วยนะคะ
อาจจะมีการนอนทั้งคืนจริงแต่อาจจะนอนหลับได้ไม่สนิท ถ้ารู้สึกว่าอาการเป็นมาก ทำให้การทำงานบกพร่องต้องหาสาเหตุ โดยการทดสอบการนอน สามารถปรึกษา แพทย์หู คอ จมูกได้
ตอบโดย พญว. รัชนี รุ่งราตรี
ง่วงนอนตลอดเวลา ฝันเยอะมาก
หนูง่วงนอนตลอดเวลา หาววันละหลายรอบ เวลาหนูนอนหนูก็จะฝันเยอะมาก เวลาหนูเรียนหรือทำอย่างอื่นสักพักหนูก็จะปวดระหว่างตากับกลางหัวมากจนหนูหลับไปเลยหนูพยายามฝืนจนเป็นสัปหงกแต่ก็ไม่เคยฝืนได้เลย รักษาอย่างไรดีคะ?
อาการง่วงตอนกลางวันอาจเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอในช่วงกลางคืน ซึ่งสาเหตุของการนอนไม่หลับอาจมาจากทั้งสาเหตุทางร่างกายและจิตใจ สาเหตุทางร่างกาย เช่น การนอนกรน (ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอในขณะหลับ) หรือสุขอนามัยการนอนไม่ดี
สำหรับสาเหตุทางจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า ความเครียด หรือความวิตกกังวล อาจทำให้นอนหลับตื้น หรือนอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ทำให้รู้สึกเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ หมอแนะนำให้ลองสำรวจพฤติกรรมที่อาจทำให้นอนไม่หลับและปฏิบัติตามสุขอนามัยการนอนที่ดี ดังนี้
- หลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลต่อการนอน เช่น การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การออกกำลังกายหนักก่อนนอน การใช้ยานอนหลับต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน (ยกเว้นตามคำแนะนำของแพทย์) และการทำงานที่มีความเครียดในช่วงก่อนนอน
- เพิ่มปัจจัยเสริมเพื่อการนอนหลับที่ดี ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ห้องนอนควรมืด เงียบ อากาศไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป ปรับที่นอนและเครื่องนอนให้เหมาะกับสรีระ นอนต่อเนื่องอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ถ้านอนไม่หลับหลังตื่นกลางดึก อย่ากดดันตัวเอง ให้ลุกขึ้นทำกิจกรรมเบา ๆ เช่น อ่านหนังสือฟังเพลงเบา ๆ ควรนอนและตื่นในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน หากง่วงระหว่างวัน ควรงีบไม่เกิน 1 ชั่วโมงและไม่ควรงีบในช่วงหัวค่ำ อาหารและนมบางชนิดสามารถช่วยให้หลับได้ดีขึ้น ลองทานเป็นมื้อเบา ๆ ก่อนนอน และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส
อย่างไรก็ตาม หากยังมีปัญหานอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหรือจิตแพทย์ เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติมว่ามีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้นอนไม่หลับหรือไม่ เช่น การนอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการนอนหลับ
ตอบโดย พญ. พิศุทธิกาญจญ์ รังคกูลนุวัฒน์
ง่วงนอนตลอดเวลา เป็นโรคซึมเศร้า
หนูเป็นโรคซึมเศร้าค่ะ แต่รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ซึ่งอาการนี้เป็นมาก่อนที่จะเป็นโรคซึมเศร้า บางครั้งอยู่ ๆ ก็เผลอหลับไปเหมือนจะเป็นลม แต่จริง ๆ ไม่ใช่ นอนเท่าไหร่ก็รู้สึกว่ายังไม่พอ รู้สึกอยากนอนนาน ๆ และง่วงตลอดเวลา พอจะรู้ไหมคะว่าหนูเป็นอะไร แต่เป็นก่อนหน้านี้มีอาการแบบนอนไม่พออยากนอนทั้งวันตลอดเวลา มีโอกาสจะเป็นโรคลมหลับได้หรือไม่คะ?
อาการง่วงนอนทั้งวันนั้นอาจเป็นอาการที่เกิดจากโรคซึมเศร้าได้ครับ แต่ถ้าหากอาการดังกล่าวเป็นก่อนที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าก็อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- เป็นอาการนำในช่วงแรกของโรคซึมเศร้า
- มีภาวะทางเดินหายใจอุดกลั้นระหว่างนอนหลับ
- โรคลมหลับ
- Kleine-Levin syndrome
- อาการง่วงนอนที่สัมพันธ์กับการมีประจำเดือน
ในกรณีนี้จำเป็นต้องอาศัยการตรวจประเมินอาการโดยละเอียดเพิ่มเติมก่อน รวมถึงอาจต้องมีการตรวจประเมินการนอนใน sleep lab เพิ่มเติมด้วย ซึ่งในเบื้องต้นก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ที่ดูแลอยู่เพื่อประเมินอาการเหล่านี้ก่อนได้ครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจการนอนหลับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
คำถามสุขภาพที่พบบ่อย