สุขภาพช่องปากและฟันของลูกเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ให้ความสำคัญ เพราะไม่อยากให้ลูกต้องปวดฟัน หรือกลัวการไปหาหมอฟัน เลยอยากพาลูกไปหาหมอฟันแต่เล็ก ๆ
แต่ก็อาจมีข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น ลูกควรไปหาหมอฟันครั้งแรกเมื่อไร ต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนพาเด็ก ๆ ไปทำฟัน หรือมีเรื่องไหนควรระวัง เพื่อให้การหาหมอฟันทุกครั้งของลูกไม่น่ากลัว บทความนี้เตรียมคำตอบไว้ให้แล้ว
สารบัญ
- 1. ควรพาลูกไปหาหมอฟันเมื่อไร?
- 2. พาลูกไปหาหมอฟันบ่อยแค่ไหน?
- 3. ทำไมลูกต้องทำฟันกับหมอฟันเด็กโดยเฉพาะ?
- 4. ลูกไปหาหมอฟันครั้งแรก เตรียมตัวยังไง?
- 5. เลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลทำฟันเด็กอย่างไรดี?
- 6. ฟันน้ำนมผุต้องพาลูกไปหาหมอฟันไหม?
- 7. ลูกหาหมอฟันครั้งแรก จะตรวจอะไรบ้าง?
- 8. การดูแลฟันน้ำนมในแต่ละช่วงวัย ควรดูแลอย่างไร
1. ควรพาลูกไปหาหมอฟันเมื่อไร?
คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกเมื่อฟันน้ำนมซี่แรกขึ้น หรือช้าสุดไม่เกิน 1 ขวบปีแรก แม้เด็กยังไม่มีฟันผุ เพื่อให้หมอฟันตรวจสุขภาพช่องปาก วางแผนการดูแลฟันแต่เนิ่น ๆ และรับคำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปากของลูกอย่างถูกวิธี
ขณะเดียวกันก็ช่วยปลูกฝังนิสัยการดูแลฟันของตัวเองแต่เด็ก ช่วยให้เด็กมีความคุ้นชินกับการไปหาหมอฟัน ไม่กลัวการทำฟัน เพราะอาจก่อให้เกิดความกลัว ความเครียด และความเจ็บปวดได้มากกว่าวัยผู้ใหญ่
2. พาลูกไปหาหมอฟันบ่อยแค่ไหน?
เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แม้ว่าลูกจะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฟันก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจสุขภาพฟันและช่องปากทุก ๆ 3–6 เดือน หรือตามคำแนะนำหมอ เพื่อติดตามพัฒนาการของฟันให้เป็นไปตามช่วงวัย และป้องกันปัญหาฟันผุที่มักเจอบ่อย
3. ทำไมลูกต้องทำฟันกับหมอฟันเด็กโดยเฉพาะ?
ทันตแพทย์เด็กหรือหมอฟันเด็กจะมีความเชี่ยวชาญในการดูแลและรักษาฟันเด็กโดยเฉพาะ เนื่องจากช่องปากและฟันของเด็กมีลักษณะแตกต่างจากผู้ใหญ่ ยิ่งเป็นฟันน้ำนมที่เป็นฟันชุดแรก ควรต้องได้รับการดูแลอย่างดี
นอกจากนี้ หมอฟันเด็กยังมีวิธีการสื่อสารและเทคนิคที่ช่วยให้เด็กผ่อนคลาย ลดความกลัวการไปหาหมอฟัน ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยให้เด็กรู้สึกสบายใจกับการทำฟัน ซึ่งส่งผลต่อการดูแลช่องปากที่ดีในอนาคตด้วย
4. ลูกไปหาหมอฟันครั้งแรก เตรียมตัวยังไง?
ความประทับใจและความทรงจำครั้งแรกของเด็กส่งผลต่อความรู้สึกในระยะยาว การพาลูกไปหาหมอฟันเด็กครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเตรียมตัวมากเป็นพิเศษ โดยมีคำแนะนำในการพาลูกไปหาหมอฟันครั้งแรก ดังนี้
- เล่าให้ลูกฟังตามความจริงว่าจะไปหาหมอฟัน อย่าโกหกว่าจะพาไปเที่ยว เพราะจะทำให้เด็กต่อต้าน ร้องงอแง ไม่ยอมเชื่อฟังอีก
- อ่านหนังสือนิทานหรือเปิดการ์ตูนที่แฝงความสำคัญของการหาหมอฟันให้กับเด็ก
- ไม่ปลูกฝังความกลัวในการทำฟัน เช่น การขู่ว่าหากดื้อจะพาไปเจอหมอฟัน
- ไปถึงคลินิกหรือโรงพยาบาลก่อนเวลา เพื่อให้เด็กได้ผ่อนคลายก่อนพบหมอฟัน
- ควรงดอาหาร 2 ชั่วโมง และนมอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนทำฟัน เพื่อป้องกันการอาเจียน
- ควรเตรียมร่างกายของลูกให้พร้อม ให้ลูกนอนให้เต็มอิ่ม หากลูกไม่สบาย ควรเลื่อนนัดออกไปก่อน เพราะเด็กจะรู้สึกไม่สบายตัว ไม่ให้ความร่วมมือกับคุณหมอ
- คุณพ่อคุณแม่เองควรเลี่ยงการแสดงท่าทีที่เป็นกังวล ใช้คำพูดเชิงลบ อย่างเจ็บไหม หากเด็กงอแง ไม่ให้ความร่วมมือกับทันตแพทย์ ควรทำตามคำขอของหมอ อย่างการออกไปรอนอกห้อง เพื่อให้เด็กสงบลง
5. เลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลทำฟันเด็กอย่างไรดี?
การเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลทำฟันเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยอาจเลือกจากเกณฑ์ต่อไปนี้
- คลินิกทำฟันหรือโรงพยาบาลมีความน่าเชื่อถือ ผ่านมาตรฐาน และสะอาด
- คลินิกทำฟันหรือโรงพยาบาลเหมาะกับเด็ก เช่น การตกแต่ง หรือบรรยากาศอื่นที่ช่วยให้เด็กผ่อนคลาย
- มีทันตแพทย์เด็ก และมีอุปกรณ์เฉพาะทางสำหรับเด็ก
- เดินทางได้สะดวก ช่วยให้พาลูกไปตรวจสุขภาพช่องปากได้ตามกำหนด
- คลินิกหรือโรงพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่ายชัดเจน ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล หากเกินงบที่กำหนดอาจเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่แบ่งจ่าย มีโปร ไม่ควรเลือกเพียงเพราะราคาถูกเกินไป เพราะอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับฟันตามมา
- อ่านรีวิวออนไลน์ หรือสอบถามจากผู้ที่เคยใช้บริการ เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม
6. ฟันน้ำนมผุต้องพาลูกไปหาหมอฟันไหม?
มีความเข้าใจผิดว่าฟันน้ำนมอยู่เพียงแค่ชั่วคราว ไม่ต้องดูแลเยอะ เดียวก็หลุดไปเอง จริง ๆ แล้ว ฟันน้ำนมมีความเปราะบางและอ่อนแอกว่าฟันแท้มาก หน้าที่ของฟันน้ำนมคือ ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ช่วยในการออกเสียง และกั้นพื้นที่ว่างให้ฟันแท้ขึ้นมาอย่างเหมาะสม
หากฟันน้ำนมผุแล้วไม่ได้รับการรักษา ย่อมกระทบกับการเคี้ยวอาหาร เด็กจะกินข้าวได้น้อยลง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตตามวัยของลูก กรณีต้องถอนฟันน้ำนมออก ฟันแท้ที่ต้องขึ้นมาใหม่อาจล้ม เก หรือเอียง คุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกมีฟันน้ำนมผุ ควรรีบพาลูกไปพบหมอฟัน
7. ลูกหาหมอฟันครั้งแรก จะตรวจอะไรบ้าง?
การตรวจฟันหรือทำฟันเด็กครั้งแรกมักเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ใช้เวลาไม่นาน ไม่เจ็บปวดเกินไป เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย ไม่กลัวการมาหาหมอฟัน เช่น การทำความสะอาดฟัน การขัดฟัน หรือการเคลือบฟลูออไรด์
รวมถึงคุณหมอจะให้ความสำคัญกับการพูดคุยการตรวจฟันของลูกให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ กรณีลูกไม่มีปัญหาในช่องปาก คุณหมอจะแนะนำถึงวิธีป้องกันฟันผุ และการดูแลฟันให้เป็นไปตามวัย
หากลูกมีฟันผุหรือปัญหาในช่องปาก คุณหมอจะอธิบายเพิ่มเติมถึงการรักษาฟันซี่ที่ผุ ทั้งแนวทางการรักษา ขั้นตอน และอื่น ๆ แล้วค่อยนัดหมายให้มาพบในครั้งต่อไป
8. การดูแลฟันน้ำนมในแต่ละช่วงวัย ควรดูแลอย่างไร
การดูแลฟันน้ำนมแบ่งออกได้ 2 ช่วงด้วยกัน ดังนี้
ฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก–12 เดือน: ทำความสะอาดด้วยแปรงสีฟันที่ขนนุ่มสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ร่วมกับยาสีฟันฟลูออไรด์ขนาดเท่าเมล็ดข้าว แปรงให้ทั่วแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดยาสีฟันออก
อายุ 1–2 ปี ขึ้นไป: แปรงฟันให้ลูกด้วยแปรงสีฟันขนนุ่ม ร่วมกับยาสีฟันฟลูออไรด์แปรงให้ทั่วทุกซี่นาน 1–2 นาที 2 ครั้ง/วัน ช่วงเช้า และก่อนนอน เมื่อแปรงเสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดเช็ดยาสีฟันออก
การดูแลสุขภาพฟันของเด็กเป็นสิ่งที่เริ่มได้ตั้งแต่เล็ก เพื่อสร้างพื้นฐานสุขภาพฟันที่แข็งแรงในอนาคต คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็กตามตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น และตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน ร่วมกับการดูแลสุขภาพฟันตามที่ทันตแพทย์แนะนำ เพื่อพัฒนาการของฟันตามช่วงวัย และสุขภาพช่องปากที่ดีของลูกน้อย
ให้ฟันลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์ พร้อมรอยยิ้มที่สวยงามด้วยการดูแลที่เหมาะสม จอง แพ็กเกจทำฟันเด็ก โดยทันตแพทย์เด็กโดยเฉพาะ ราคาสบายกระเป๋าได้ที่ HDmall.co.th