น้ำยาบ้วนปากมีประโยชน์อย่างไร ใช้อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ที่สุด scaled

น้ำยาบ้วนปากมีประโยชน์อย่างไร ใช้อย่างไรจึงจะมีประโยชน์ที่สุด

การดูแลสุขภาพช่องปากสำหรับหลายๆ คนไม่ใช่แค่การแปรงฟันเท่านั้น แต่ยังมีการใช้น้ำยาบ้วนปากเข้ามาเสริมการกำจัดเชื้อโรคในช่องปากอีก

อย่างไรก็ตาม น้ำยาบ้วนปากไม่ได้มีแค่ประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ก็มีข้อควรระวังบางอย่างในการใช้ด้วยเช่นกัน เพราะหากใช้น้ำยาบ้วนปากไม่เหมาะสม หรือมากเกินไป ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพเหงือก และฟันได้

ความหมายของน้ำยาบ้วนปาก

น้ำยาบ้วนปาก (Mouthwash) คือ น้ำยาสำหรับทำความสะอาดช่องปากซึ่งโดยหลักๆ จะมีประโยชน์ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรีย ขจัดคราบสกปรกที่ยังติดอยู่ตามซอกเหงือกและฟัน ซึ่งมีส่วนช่วยลดโอกาสการเกิดหินปูนและปัญหาฟันผุ น้ำยาบ้วนปากยังช่วยลดกลิ่นปาก และลดอาการปากแห้งได้ด้วย

นอกจากนี้น้ำยาบ้วนปากยังมีสูตรป้องกันเหงือกอักเสบ ควบคุมคราบจุลินทรีย์ในช่องปากได้ แต่น้ำยาบ้วนปากสูตรเหล่านี้ควรใช้ภายใต้การควบคุมของทันตแพทย์จะปลอดภัยกว่า

สารที่จำเป็นในน้ำยาบ้วนปาก

ปัจจุบันมีน้ำยาบ้วนปากหลากหลายยี่ห้อ กลิ่น และรสชาติให้เลือกซื้อ แต่สารสำคัญที่ต้องมีในน้ำยาบ้วนปากเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างมีประโยชน์สูงสุดนั้น ได้แก่

  • ฟลูออไรด์ (Fluoride) เป็นสารสำคัญที่ต้องมีในยาสีฟันเช่นกัน โดยจะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับเนื้อฟันไม่ให้ง่ายต่อการเกิดฟันผุ
  • สารเซทิลไพริดิเนียม คลอไรด์ (Cetylpyridinium chloride) เป็นสารช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และลดอาการมีกลิ่นปาก
  • สารคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และโอกาสเกิดโรคเหงือกอักเสบ (Gingivitis) นอกจากนี้ยังช่วยเสริมความสะอาดในช่องปากของผู้สูงอายุได้ด้วย
  • คาร์บาไมด์ เปอร์ออกไซด์ (Carbamide peroxide) เป็นสารช่วยเพิ่มความขาวให้เนื้อฟัน

นอกจากนี้ในน้ำยาบ้วนปากยังมีน้ำมันหอมระเหยบางชนิดเพื่อลดการเกิดกลิ่นปากได้ประมาณ 2-3 ชั่วโมงด้วย แต่โดยปกติกลิ่นเหล่านี้จะอยู่ได้ไม่เกิน 30 นาทีก็จะค่อยๆ จางลงไป เช่น น้ำมันเมนทอล (Menthol) น้ำมันกานพลู (Clove oil) หรือน้ำมันเปปเปอร์มินต์ (Peppermint)

วิธีใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างเหมาะสม

วิธีใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างเหมาะสม และให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ห้ามกลืนน้ำยาบ้วนปาก เพราะน้ำยาบ้วนปากบางยี่ห้อผสมแอลกอฮอล์เข้าไปในน้ำยา ทำให้เป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหารได้
  • ต้องแปรงฟันควบคู่ไปกับการใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถทดแทนการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันได้ แต่เป็นเพียงวิธีทำความสะอาดช่องปากแบบชั่วคราว เนื่องจากขจัดคราบสิ่งสกปรกได้ไม่ละเอียดมากเท่ากับทั้งสองวิธีที่กล่าวมา
    ส่วนลำดับการทำความสะอาดควรเริ่มจากการใช้ไหมขัดฟันและแปรงฟันให้เรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยใช้น้ำยาบ้วนปากตามทีหลัง
  • ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะตัวน้ำยาอาจมีความเข้มข้นรุนแรงเกินไปสำหรับเหงือก และฟันของเด็ก รวมถึงอาจทำให้เด็กมีปัญหาฟันตกกระจากการกลืนฟลูออไรด์ทั้งจากยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปากมากเกินไปด้วย
  • หลังจากบ้วนปากแล้ว หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร น้ำ อมลูกอม หรือสูบบุหรี่อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สารในน้ำยาบ้วนปากได้ทำความสะอาดช่องปากให้เรียบร้อยเสียก่อน
  • เลือกใช้น้ำยาบ้วนปากที่เหมาะกับสุขภาพเหงือกและฟันของตนเอง โดยอาจปรึกษากับทันตแพทย์ว่า ควรใช้สูตรใด ความเข้มข้นเท่าไร เพราะน้ำยาบ้วนปากที่เข้มข้นเกินไป อาจทำให้เยื่อบุช่องปากระคายเคือง ทั้งยังทำให้เนื้อฟันบางลงกว่าเดิมจนเกิดอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานของเย็น หรืออาหารรสเปรี้ยวจัดได้
  • ดูปริมาณ และความถี่ในการน้ำยาบ้วนปากแต่ละครั้งอย่างเหมาะสม โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ช้อนชา ส่วนระยะเวลาที่อมกลั้วไว้ในปากจะอยู่ที่ประมาณ 15-30 วินาที จำนวนครั้งในการใช้อยู่ที่วันละ 1-2 ครั้งก็พอ แต่อาจแตกต่างกันไปตามสูตร ความเข้มข้นของน้ำยาและการแนะนำของทันตแพทย์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาก่อนใช้ เพราะการใช้น้ำยาบ้วนปากในปริมาณและความเข้มข้นมากเกินไป อาจส่งผลเสียให้เกิดคราบสีเหลือง หรือสีน้ำตาลบนผิวฟันได้นอกจากนี้น้ำยาบ้วนปากที่ใช้ถี่เกินไปยังจะไปทำลายเชื้อแบคทีเรียดีที่คอยสร้างความสมดุลในช่องปากให้เสียหายไปด้วย และอาจทำให้รู้สึกเจ็บแสบเหงือกจากน้ำยาที่ความเข้มข้นแรงเกินไปได้

น้ำยาบ้วนปากเป็นเพียงอุปกรณ์ทำความสะอาดกับช่วยเสริมความแข็งแรงของเหงือกกับฟันอีกทางหนึ่งเท่านั้น แต่น้ำยาชนิดนี้ไม่สามารถทดแทนการแปรงฟันและการไปตรวจสุขภาพฟันได้แต่อย่างใด

ดังนั้นเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี เราทุกคนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง ถึงแม้จะใช้ หรือไม่ได้ใช้น้ำยาบ้วนปากก็ตาม

สำหรับผู้ที่มีโรค หรือความผิดปกติในช่องปาก ควรเข้าใจว่า น้ำยาบ้วนปากไม่ได้มีส่วนช่วยรักษาให้อาการหายดีขึ้นได้ การรักษาโรคและความผิดปกติในช่องปากจะต้องผ่านการรักษาโดยทันตแพทย์เท่านั้น


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top