“ฟันผุ” เป็นปัญหาช่องปากที่พ่อแม่คงกังวลอยู่ไม่น้อย นอกจากบั่นทอนความมั่นใจและรอยยิ้มที่สดใสของลูกไปแล้ว อาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปถ้าได้รับการรักษาช้า
บทความนี้ได้รวบรวมพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกของคุณเสี่ยงต่อโรคฟันผุ พร้อมวิธีสังเกตฟันผุของลูก และวิธีรักษาฟันผุที่ไม่ได้มีแค่การถอนฟันเท่านั้น เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก และป้องกันฟันผุได้ทันตั้งแต่ฟันซี่แรกของลูกน้อย
สารบัญ
พฤติกรรมเสี่ยงฟันผุในทารกและเด็กเล็ก
ฟันผุเกิดจากแบคทีเรียในช่องปากได้รวมตัวกับเศษอาหารและน้ำลาย สะสมกันเป็นคราบเหนียวเกาะอยู่บนผิวของฟันที่เรียกว่า คราบพลัค หรือคราบแบคทีเรีย
คราบแบคทีเรียจะเปลี่ยนสภาพน้ำตาลและแป้งจากอาหารที่กินเข้าไปให้กลายเป็นกรด ซึ่งไปทำลายแร่ธาตุที่ผิวฟันจนทำให้เกิดรูฟันผุเล็ก ๆ จนลุกลามไปเป็นฟันผุแบบรุนแรงได้ โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดฟันผุเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่สาเหตุพบบ่อย ๆ ที่ทำให้เด็กฟันผุ คือ
การติดขวดนม
การปล่อยให้ลูกดื่มนมจากขวดนมแล้วหลับคาขวดนมเป็นส่วนหนึ่งทำให้ลูกฟันผุ เพราะน้ำตาลในน้ำนมหรือนมผงจะไปสะสมในช่องปาก พอสะสมเป็นเวลานานจะถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์แล้วเกิดเป็นกรดทำลายแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ในฟัน จนนำไปสู่ปัญหาฟันผุได้
การใช้ขวดนมควรใช้ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นพ่อแม่ต้องค่อย ๆ ให้ลูกดื่มนมจากขวดน้อยลง โดยสามารถเอาเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ เพื่อลดโอกาสฟันผุจากการที่ลูกติดขวดนม
- จำกัดการกินนมเป็นมื้อ ๆ ไม่ให้กินจุกจิก
- ไม่ปล่อยให้ลูกหลับไปพร้อมกับขวดนม หลังดื่มนมเสร็จให้ลูกดื่มน้ำตาม เพราะน้ำจะช่วยล้างคราบนมที่ติดในช่องปากได้
- เมื่อลูกอายุ 6 เดือนถึง 1 ปีค่อย ๆ เปลี่ยนจากการดื่มนมจากขวดมาป็นการดื่มนมจากแก้วแทน และให้ลูกดื่มน้ำตาม หรือแปรงฟันหลังดื่มนม
- เอาขวดนมไปซ้อนไว้ในที่ที่ลูกมองไม่เห็น วิธีนี้พ่อแม่ต้องใจแข็งมาก ๆ เพราะเริ่มแรกลูกอาจจะร้องไห้หนัก แต่พอเวลาผ่านไปสักพัก อาการอยากขวดนมของลูกจะน้อยลง
- ให้รางวัลและกล่าวชม กล่าวชมลูกหรือให้รางวัลเวลาลูกหยุดกินนมจากขวดได้ เพื่อเป็นกำลังใจในการเลิกครั้งต่อไป
การติดขวดนมไม่เพียงทำให้ลูกเสี่ยงฟันผุเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้มีปัญหาฟันเหยินหรือฟันยื่นอีกด้วย เนื่องจากการดูดขวดนมจะต้องใช้แรงในการดูดมากกว่าดูดจากเต้า ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของขากรรไกรส่วนบน จึงทำให้ฟันเหยินและฟันยื่น
การแปรงฟันไม่สะอาด
ความสะอาดในช่องปากป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด และควรดูแลตั้งแต่แรกเกิด เพราะถ้าช่องปากไม่สะอาดจะทำให้แบคทีเรียสะสมมากขึ้นในช่องปากจนนำไปสู่ฟันผุได้
ถ้าเป็นทารกหรือลูกน้อยของฟันยังไม่ขึ้น พ่อแม่สามารถใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดคราบนมและคราบอื่น ๆ ตามเหงือกของลูก วิธีนี้จะทำให้เด็กคุ้นชินกับการทำความสะอาดในปากและไม่มีการต่อต้านในภายหลัง
เมื่อเด็กเริ่มมีฟันหน้าเริ่มขึ้นหรืออายุราว 6 เดือน ต้องเปลี่ยนวิธีทำความสะอาดมาเป็นการแปรงฟันแทน
โดยพ่อแม่ควรช่วยแปรงสีฟันให้ลูกวันละ 2 ครั้ง เช้า–เย็น เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปีมักจะแปรงฟันไม่สะอาดเท่าที่ควร พอลูกโตพอจะรู้เรื่องหรืออายุราว 3 ปีขึ้นไป พ่อแม่ควรสอนให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และคอยเช็กความสะอาดของฟันซ้ำอีกครั้ง
วิธีแปรงฟันให้สะอาดและถูกต้องสำหรับลูกน้อย
- วางแปรงสีฟันทำมุม 45 องศาบริเวณรอยเหงือกและฟัน
- ถูแปรงสีฟันไปมาในช่วงสั้น ๆ อย่างเบามือตามแนวฟันและเหงือก
- แปรงให้ครบทุกด้าน ด้านนอกฟัน ด้านในฟัน และด้านบดเคี้ยว
- แปรงลิ้นและกระพุ้งแก้ม เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และลดกลิ่นปาก
การแปรงฟันให้สะอาดเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันฟันจากโรคฟันผุ พ่อแม่ต้องใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าลูกจะโตพอที่จะสามารถแปรงฟันเองให้สะอาดและถูกวิธีได้
สังเกตอย่างไร เมื่อลูกน้อยมีฟันผุ
- เกิดรอยขาวขุ่นบริเวณร่องฟันหรือเคลือบฟัน นี่คือสัญญาณเตือนฟันผุในระยะเริ่มต้น
- มีจุดดำหรือสีน้ำตาลเล็ก ๆ บนผิวฟัน
- มีเศษอาหารติดตามซอกฟันบ่อยขึ้น
- ฟันเป็นรู มีอาการปวดฟัน หรือเสียวฟันแปลบ ๆ อาการเหล่านี้บ่งบอกถึงรอยผุบนฟันมีขนาดใหญ่ขึ้น
ฟันผุช่วงแรกอาจสังเกตเห็นได้ยาก เพราะมักไม่มีอาการปวดหรืออาการผิดปกติใด ๆ บางครั้งฟันอาจผุในมุมที่สังเกตเห็นได้ยาก พ่อแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกหรืออายุราว 6 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุที่จะเกิดขึ้น
เมื่อลูกน้อยมีฟันผุ อย่าปล่อยไว้ รีบรักษา
ถ้าลูกรักของคุณเริ่มมีอาการฟันผุแล้ว พ่อแม่ต้องรีบไปพาพบทันตแพทย์โดยเร็ว มิเช่นนั้น ฟันอาจผุมากขึ้นจนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของลูก ซึ่งการรักษาฟันผุมีหลายวิธี ทันตแพทย์จะรักษาตามอาการและการลุกลามของรอยผุดังนี้
การอุดฟันน้ำนม
การอุดฟันเป็นการรักษาฟันผุที่ไม่ลึกมาก ฟันผุเป็นรูลึกลงไปถึงส่วนเนื้อฟัน โดยจะใช้วัสดุทางการแพทย์ เพื่อช่วยซ่อมแซมเนื้อฟันที่มีรอยผุให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยวัสดุอุดฟันที่นิยมใช้ เช่น
- อุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุคอมโพสิตเรซิน (Composite resin) เป็นวัสดุที่มีสีเดียวกับเนื้อฟัน มีความแข็งแรงที่ใกล้เคียงกับเนื้อฟัน
- อุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุอมัลกัม (Amalgam) เป็นวัสดุสีเงินที่มีความแข็งแรงสูง เหมาะกับฟันกรามที่ต้องใช้แรงในการบดเคี้ยว และไม่เหมาะกับการอุดฟันบริเวณที่ต้องการความสวยงาม
- อุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass ionomor) เป็นวัสดุอุดฟันสีขาวเหมือนสีฟัน เหมาะกับเด็กเล็กหรือคนที่เสี่ยงฟันผุง่าย เพราะช่วยปล่อยฟลูออไรด์จากเนื้อวัสดุได้
ส่วนมากคนจะเข้าใจว่าฟันน้ำนมเดียวก็หลุดล่วงไป ไม่จำเป็นต้องอุดฟันก็ได้ แท้จริงแล้ว การอุดฟันน้ำนมเมื่อมีฟันผุยังมีจำเป็นอยู่ เพราะฟันน้ำนมที่ผุอาจลุกลามลงไปยังชั้นโพรงประสาทจนเกิดการติดเชื้อที่รากฟันตามมาได้
ลูกน้อยมีฟันผุ ไม่จำเป็นต้องถอน รีบพบคุณหมอขออุดฟันก่อนลุกลาม HDmall.co.th รวม แพ็กเกจอุดฟัน แพ็กเกจทำฟันเด็ก ครอบคลุมคลินิคทันตกรรมทั่วประเทศ มาไว้แล้วในเว็บเดียว คลิกจองราคาโปรได้ก่อนในเว็บ
การครอบฟันน้ำนม
ถ้ารอยผุบนฟันมีขนาดใหญ่ ฟันผุหลายด้าน หรือฟันผุจนไม่สามารถอุดฟันได้ ทันตแพทย์จะใช้การครอบฟันน้ำนมแทน เพื่อช่วยให้เคี้ยวอาหารได้ และเลี่ยงการถอนฟันน้ำนมซี่นั้นจนกว่าฟันแท้จะขึ้น
ส่วนวัสดุครอบฟันก็มีอยู่หลายแบบ เช่น
- ครอบฟันสีเงินจากโลหะ (Stainless steel crown) วัสดุครอบฟันเป็นสีเงิน มีความแข็งแรง ทนทาน และราคาที่ไม่สูงมาก นิยมทำกับฟันด้านในมากกว่า เพราะสีครอบฟันค่อนข้างแตกต่างจากสีฟันจริงมาก
- ครอบฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Strip Crown) เป็นครอบฟันสำเร็จรูปคล้ายพลาสติก จะใช้ร่วมกับวัสดุอุดฟันสีใกล้เคียงฟันจริง ทำให้ดูกลมกลืนกับฟันเดิม ส่วนใหญ่เลยมักจะครอบฟันน้ำนมซี่หน้า แต่ครอบฟันสามารถแตกหรือบิ่นจากการเคี้ยวหรือกัดอาหารแรง ๆ ได้
- ครอบฟันเซรามิก (Zirconia Ceramic Crown) วัสดุครอบฟันทำจากทำจากเซรามิก มีความมันวาวเหมือนเนื้อฟันจริง ๆ ทนทานต่อการแตกหัก และสีไม่เปลี่ยน แต่ราคาจะสูงกว่าการครอบฟันแบบอื่น
การรักษารากฟันน้ำนม
การรักษารากฟันน้ำนมนั้นจะทำกรณีที่ฟันผุขั้นรุนแรงจนถึงลึกลงไปถึงโพรงประสาทฟัน และมีความเสี่ยงที่เชื้อจะลุกลามไปส่วนอื่น ๆ การรักษารากฟันจะช่วยเก็บรักษาฟันน้ำนมไว้ และรอให้ฟันแท้ขึ้นมาแทนที่ เพื่อลดปัญหาฟันแท้ขึ้นผิดรูปหรือเรียงตัวไม่สวยในภายหลัง และช่วยหยุดอาการปวดฟันได้
การถอนฟันน้ำนม
ถ้าฟันผุจนไม่สามารถรักษาด้วยวิธีใด ๆ ได้แล้ว การถอนฟันน้ำนมจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่คุณหมอเลือกใช้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามลงไปถึงหน่อฟันแท้ที่อยู่ใต้ฟันน้ำนม
นอกจากนี้ ถ้าฟันแท้ยังไม่ขึ้นในตำแหน่งที่ฟันถูกถอนออกไปนานเกิน 6 เดือน คุณหมออาจแนะนำให้ใส่เครื่องกันฟันล้มด้วย โดยจะใส่ไว้จนฟันแท้ซี่ที่อยู่บริเวณนั้นขึ้นมาถึงจะถอดออก
รอยยิ้มที่สดใส และสุขภาพฟันที่ดีของลูก เป็นสิ่งที่พ่อแม่อยากเห็นในทุก ๆ วัน พ่อแม่ควรใส่ใจในการดูแลสุขภาพช่องปากของลูก สอนให้ลูกแปรงฟันอย่างถูกวิธี และอย่าลืมพาลูกไปพบทันตแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็กปัญหาช่องปากลูกได้อย่างครอบคลุม
ลูกน้อยมีปัญหาฟันผุหรือฟันผิดปกติ อย่ารอช้า ปล่อยไว้นานรักษายาก ลูกเสี่ยงต้องถอนฟัน ลดความกังวลใจคุณพ่อคุณแม่ด้วย แพ็กเกจตรวจสุขภาพฟันเด็ก จองผ่าน HDmall.co.th รับส่วนลดเพิ่มทุกการจอง