ล้างแผลอย่างถูกวิธี ลดการติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายเร็ว

อุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหกล้ม เดินเตะตู้ ถูกมีดบาด ถูกประตูหนีบจนเป็นแผล หากแผลไม่หนักมากก็สามารถรักษาให้หายได้เอง ในขณะที่แผลบางชนิดก็อาจต้องรีบไปพบแพทย์ เช่น แผลรถล้มจนเกิดแผลขนาดใหญ่

แต่ไม่ว่าจะเกิดแผลในรูปแบบใด สิ่งสำคัญคือการดูแลรักษาความสะอาดของแผลเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งหนึ่งในวิธีพื้นฐานก็คือการ “ล้างแผล (Wound Irrigation หรือ Wound Cleansing)”

ทาง HDmall จึงรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบาดแผลแบบต่างๆ ไปจนถึงการล้างแผลอย่างถูกวิธี เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและลดโอกาสที่แผลจะติดเชื้อต่อไป

บาดแผลมีกี่ชนิด?

บาดแผล (Wound) สามารถแบ่งชนิดได้หลายวิธี ไม่ว่าจะแบ่งตามความสะอาด แบ่งตามระยะเวลาที่เกิดบาดแผล หรือลักษณะการทำลายของผิวหนัง ดังนี้

  • แผลสะอาด คือ แผลที่ไม่มีการติดเชื้อหรือเป็นแผลที่เคยปนเปื้อนเชื้อ แต่ได้รับการดูแลจนแผลสะอาดไม่มีการติดเชื้อแล้ว โดยลักษณะเนื้อเยื่อแผลเป็นสีชมพูอมแดง หรือเป็นแผลที่เกิดจากการตรวจรักษาและมีการควบคุมภาวะปราศจากเชื้อ เช่น แผลผ่าตัด แผลเจาะหลัง แผลให้น้ำเกลือ เป็นต้น
  • แผลกึ่งสะอาดกึ่งปนเปื้อน จะมีลักษณะของแผลคล้ายแผลสะอาด แต่เป็นแผลผ่าตัดในระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ที่ยังไม่เกิดการติดเชื้อ
  • แผลปนเปื้อน เป็นแผลที่ไม่สะอาด ได้แก่ แผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น แผลรถล้ม แผลถลอก แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก แผลถูกรังสี แผลถูกกรดด่าง ไฟฟ้าช็อต หรือแผลผ่าตัดที่มีการปนเปื้อนเชื้อในระหว่างการผ่าตัด โดยแผลจะมีการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน แต่ยังไม่มีการติดเชื้อ
  • แผลติดเชื้อหรือแผลสกปรก เป็นแผลที่มีการปนเปื้อนเชื้อ จนเกิดการติดเชื้อ เกิดการอักเสบ มีหนอง ส่วนใหญ่เป็นแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุ
  • แผลสด หมายถึง แผลที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่
  • แผลเก่า หมายถึง แผลที่กำลังจะหาย
  • แผลเรื้อรัง คือ แผลที่มีการติดเชื้อ มีเนื้อเยื่ออักเสบ เป็นหนอง และแผลกดทับผิวหนังเป็นเวลานาน จนเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ ทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อบริเวณนั้น
  • แผลปิด (Close Wound) หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุไม่ฉีกขาดออกจากกัน แต่เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ ส่วนมากเกิดจากของไม่มีคม ได้แก่ แผลฟกช้ำ แผลกระทบกระเทือน แผลแตกที่เป็นการฉีกขาดของอวัยวะภายใน และ แผลผ่าตัดที่ถูกเย็บปิดไว้
  • แผลเปิด (Open Wound) เป็นแผลที่มีการฉีกขาดหรือทำลายผิวหนัง ให้แยกออกจากกัน เช่น แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลตัดจากของมีคม แผลทะลุจากของแหลม เป็นต้น
  • แผลไหม้พองเกิดจากความร้อน ได้แก่ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สารเคมี และไฟฟ้าช็อต
  • แผลเรื้อรัง (Chronic wound) คือแผลที่หายยาก เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อ หรือมีสิ่งแปลกปลอมทำให้แผลหายช้ากว่าระยะเวลาที่ควรจะเป็น โดยทั่วไปนานกว่า 3-4 เดือน พบได้ในผู้สูงอายุหรือวัยกลางคน ส่วนมากมีสาเหตุจากแผลหลอดเลือดดำขอด แผลเบาหวานที่นิ้วเท้า ฝ่าเท้า แผลกดทับที่เกิดในผู้ป่วยอัมพาต หรือผู้ป่วยหมดสติไม่คลื่อนไหว และแผลจากการขาดเลือดแดงที่ปลายนิ้วเท้า ปลายนิ้วมือ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลชนิดไหน การปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่ควรทำ ได้แก่ เมื่อมีบาดแผลสดจากอุบัติเหตุ แผลรถล้ม ต้องห้ามเลือดให้หยุดไหลก่อน และถ้ามีสิ่งแปลกปลอมภายในแผลให้รีบนำสิ่งแปลกปลอมออกโดยเร็ว จากนั้นจึงล้างแผลให้สะอาด แต่หากเป็นบาดแผลเก่าที่มีการติดเชื้อโรคมาแล้ว ควรปฐมพยาบาลโดยการยกบาดแผลให้สูง ไม่เคลื่อนไหวบาดแผล และทำการประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นต่อไป

ล้างแผลต้องเตรียมอะไรบ้าง?

การล้างแผล เป็นหนึ่งในขั้นตอนการปฐมพยาบาลบาดแผล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แผลหายตามระยะเวลาที่ควรจะเป็น และเป็นการป้องกันแผลจากการติดเชื้อได้ โดยการล้างแผลจะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากผู้ทำการล้างแผลมีความรู้ความเข้าใจในอุปกรณ์ทำแผลแต่ละชนิด สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงการเลือกใช้น้ำยาสำหรับใส่แผลได้อย่างเหมาะกับบาดแผล ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบ และส่งเสริมการหายของแผลได้เร็วขึ้นโดยอุปกรณ์ที่ต้องเตรียม และยาล้างแผลที่ต้องพิจารณาเลือกใช้ มีดังนี้

  • ปากคีบชนิดไม่มีเขี้ยว และปากคีบมีเขี้ยว
  • ถ้วยใส่น้ำยา
  • สำลี
  • ผ้าก๊อต
  • น้ำยาฆ่าเชื้อ
  • น้ำเกลือล้างแผล (โซเดียมคลอไรด์)
  • แอลกอฮอล์ 70% ใช้สำหรับเช็ดผิวหนังรอบๆ
  • พลาสเตอร์ และผ้าก็อตพันแผล
  • ยาแดง เหมาะสำหรับการทำความสะอาดแผลสดที่มีขนาดเล็ก และมีการถลอกไม่ลึกมาก อาจมีอาการแสบบริเวณแผล แต่จะช่วยให้แผลแห้ง หายเร็ว และไม่ติดเชื้อ
  • แอลกอฮอล์ ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่ควรใช้ล้างแผลโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและทำลายเนื้อเยื่อจนห้ายช้ากว่าเดิม ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบริเวณบาดแผล เพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่บนผิวหนัง
  • ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 3% หรือ ยาฟู่ เมื่อเทลงบนแผลจะเกิดฟองฟู่ขึ้น เหมาะสำหรับแผลที่สกปรก มีหนอง และมีเนื้อเยื่อตาย
  • ทิงเจอร์ไอโอดีน จะมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์สูง ทำให้มีอาการแสบเช่นเดียวกับไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และระคายเคืองเนื้อเยื่อ จึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน
  • โพวิโดนไอโอดี ยาโพวินโดนไอโอดี หรือ เบตาดีน เมื่อใช้ทาบนแผลจะไม่ทำให้รู้สึกแสบ ส่วนใหญ่ใช้สำหรับทาแผลสด แผลไฟไหม้ แผลถลอก เป็นต้น
  • น้ำเกลือล้างแผล 0.9% ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่แสบ ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อ จึงเหมาะกับการใช้ล้างแผลประเภทแผลเปิด

ขั้นตอนการล้างแผล

การล้างแผลด้วยตนเองและโดยแพทย์มีขั้นตอนที่ต้องทำตามลำดับ ดังนี้

การล้างแผลด้วยตัวเอง

  1. ประเมินลักษณะบาดแผลเพื่อการพยาบาลได้อย่างถูกต้อง
  2. เตรียมอุปกรณ์และเลือกยาล้างแผลให้เหมาะสมกับชนิดบาดแผล
  3. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ปิดประตู กั้นม่าน เปิดไฟ ปิดพัดลม เพื่อป้องกันการฟุ้ง กระจายของเชื้อโรค
  4. จัดท่าให้สบายและสะดวกในการล้างแผล
  5. ล้างมือให้สะอาด เช็ดให้แห้ง และสวมถุงมือ
  6. กดห้ามเลือดและยกส่วนที่เกิดแผลให้สูงขึ้น เพื่อให้เลือดหยุดไหล และลดอาการบวม
  7. ล้างสิ่งสกปรกออกจากแผล และล้างแผลให้สะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำเกลือล้างแผล 0.9% แล้วซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด
  8. ใช้สำลีสะอาดชุบแอลกอฮอล์เช็ดรอบๆ แผลเท่านั้น ห้ามเช็ดในบาดแผลเพราะอาจทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อของแผลได้
  9. ใส่ยาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน ลงบนแผลเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ
  10. ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรือผ้าก็อต ไม่ควรใช้สำลีปิดแผลเพราะเมื่อแผลแห้งแล้วจะติดกับสำลีทำให้ดึงออกยาก เจ็บแผล หรืออาจเลือดไหลได้อีก
  11. หากเป็นแผลขนาดเล็กอาจไม่ต้องปิดปากแผล แต่ในบางกรณีควรปิดหรือพันด้วยผ้าพันแผลที่ปลอดเชื้อ
  12. ถอดถุงมือทิ้ง และล้างมือให้สะอาด
  13. อาจประคบน้ำแข็งบริเวณผิวหนังรอบบาดแผลที่เป็นรอยช้ำหรือบวมในระยะแรกที่เกิดบาดแผล
  14. รักษาความสะอาดและดูแลให้แผลแห้ง บาดแผลที่ไม่รุนแรงอาจฟื้นฟูและหายดีในเวลาไม่กี่วัน
  15. หากมีอาการเจ็บปวดจากบาดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการได้ หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน เพราะอาจมีผลทำให้เลือดไหลเพิ่มมากขึ้นหรือนานขึ้นได้

การล้างแผลโดยแพทย์

  1. แพทย์ล้างทำความสะอาดบาดแผล
  2. แพทย์จะใช้ยาชาทาหรือฉีดบริเวณที่เกิดแผล กรณีที่อาจมีการเย็บแผล เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดในขณะทำแผล
  3. ในบางกรณี แพทย์อาจต้องเย็บปิดแผลหรือใช้กาวติดผิวหนังบริเวณที่เกิดแผลเข้าด้วยกัน และนัดหมายให้ผู้ป่วยมารับการตัดไหมหรือตรวจแผลประมาณ 5-10 วัน
  4. ในกรณีที่ผู้ป่วยมีบาดแผลและสูญเสียเนื้อเยื่อไปมาก แพทย์อาจพิจารณาไม่เย็บปิดแผลที่เกิดขึ้น แต่จะเปิดแผลทิ้งไว้เพื่อให้แผลสมานตัวตามกลไกธรรมชาติ
  5. แพทย์ใช้ผ้าปิดหรือพันรอบแผลไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรกเข้าสู่แผลหลังล้างแผลเสร็จ
  6. กรณีที่แผลมีการปนเปื้อน แพทย์อาจให้เปิดแผลไว้ก่อนจนกว่าจะมั่นใจว่าแผลสะอาดดีแล้ว และไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เพราะการเย็บปิดแผลทันที อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียได้ หลังจากนั้นแพทย์จึงเย็บปิดแผลอีกที
  7. ในบางกรณี แพทย์อาจฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักให้ผู้ที่มีแผลถูกวัตถุปลายแหลมแทงเข้าไปค่อนข้างลึก หรือแผลที่ถูกสัตว์กัด
  8. แพทย์สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ กรณีที่แผลมีการติดเชื้อ หรือแผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
  9. กรณีมีเนื้อเยื่อติดเชื้อและเกิดความเสียหายบอบช้ำ แพทย์จะนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อและเนื้อเยื่อบางส่วนในบริเวณใกล้เคียงออกไป
  10. กรณีมีบาดแผลรุนแรง เช่น บาดแผลมีชิ้นส่วนอวัยวะหลุดออกไป แพทย์จะผ่าตัดเพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การดูแลตัวเองหลังล้างแผล

ผู้มีบาดแผลควรดูแลตัวเองหลังล้างแผล และควรปฏิบัติตัวเพื่อช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้แผลโดนน้ำ
  • หลีกเลี่ยงฝุ่นและการอยู่ใกล้สัตว์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • หมั่นทายา ล้างแผลให้สะอาดอยู่เสมอ และเปลี่ยนผ้าพันแผลบ่อยๆ หากผ้าพันแผลชื้นสกปรก ควรมาทำความสะอาดแผลใหม่ทันที
  • ไปทำความสะอาดแผลที่โรงพยาบาล คลินิก หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน ตามแพทย์สั่ง และหากแพทย์ไม่ได้นัดให้มาทำแผลแล้ว ก็สามารถล้างแผลเองที่บ้านได้ทุกวัน แต่หากมีเลือดซึมออกมาให้กลับมาแผลล้างที่โรงพยาบาลทันที
  • งดใช้สมุนไพร หรือผงโรยแผลปิดลงบนแผล เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้
  • งดพันแผลรัดแน่นเกินไป เพราะจะทำให้การไหลเวียนโลหิตมายังบาดแผลและไหลเวียนกลับไม่ดี
  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น ตามลักษณะและระยะเวลาของการเกิดบาดแผล โดยการประคบเย็นใช้ในระยะแรกของบาดแผลจากการถูกกระแทก โดยความเย็นจะทำให้หลอดเลือดหดตัว ปริมาณเลือดที่ไหลมาสู่บริเวณแผลลดลง ช่วยลดอาการบวมได้ ส่วนการประคบร้อนมักใช้ภายหลังจากเกิดบาดแผลไปแล้ว 1-2 วัน โดยความร้อนช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณบาดแผลมากขึ้น และยังช่วยให้หลอดน้ำเหลืองขยายตัวช่วยให้มีการระบายของเสียได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้แผลหายเร็ว
  • ยกบริเวณที่มีบาดแผลไว้สูง เช่น ที่บริเวณแขน ขา มือ และเท้า เพื่อให้เลือดและน้ำเหลืองไหลกลับสะดวก ช่วยลดอาการบวม
  • หากมีอาการปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้
  • งดแกะ แคะ เกา เมื่อแผลเริ่มแห้งและมีสะเก็ดของแผล เพราะจะทำให้แผลหายช้าลง
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา เพราะจะทำให้แผลหายช้า
  • รับประทานอาหารที่ช่วยส่งเสริมการหายของแผล เช่น อาหารพวกเนื้อสัตว์ ถั่ว ไข่ขาว นม ผัก ผลไม้รสเปรี้ยว หลีกเลี่ยงของหมักดอง อาหารที่ทำให้เลือดออก เช่น โสม เครื่องดื่มชูกำลัง คอลลาเจน
  • พักผ่อนร่างกายและอวัยวะที่มีบาดแผลให้มากที่สุด เพื่อจะลดกระบวนการเผาผลาญภายในเซลล์ที่ไม่จำเป็น และการพักบริเวณที่มีบาดแผลจะช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนบาดแผลด้วย
  • กรณีมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานที่ต้องมีการเจาะเลือดวัดค่าน้ำตาลทุกสัปดาห์ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น จะทำให้การหายของแผลช้ากว่าปกติ หากมีการรับประทานยาละลายลิ่มเลือด ต้องแจ้งแพทย์ทุกครั้ง
  • หากมีไข้ มีอาการปวดแผลมากขึ้น และมีรอยแผลบวม แดง ควรกลับมาพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็กอีกครั้ง
  • พบแพทย์ตามตารางนัดทุกครั้ง
  • เมื่อแผลหายดีแล้ว ควรใช้ครีมกันแดดเป็นเวลาต่อประมาณ 3-6 เดือน และทาโลชั่นเพื่อลดอาการแห้งและคัน

ล้างแผลอย่างไรไม่ให้แสบ?

การใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (Sodium Chloride 0.9%) ถือเป็นน้ำยาล้างแผลที่ดีที่สุด ไม่เพียงช่วยชะล้างเชื้อแบคทีเรีย สิ่งปนเปื้อน และสิ่งสกปรกอื่นๆ ออกจากแผล และลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อที่จะตามมาเท่านั้น แต่ยังไม่ทำให้แสบแผลหรือระคายเคือง เพราะเป็นสารละลาย Isotonic มีความสมดุลกับน้ำในเซลล์ร่างกาย ช่วยรักษาสภาพของเซลล์เนื้อเยื่อ และเซลล์เม็ดเลือด ไม่ระคายเคืองแผล และไม่ทำให้แสบแผล และยังมีข้อดีอีก ดังนี้

  1. ปราศจากเชื้อ ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง ด้วยกระบวนการ Autoclave ช่วยลดโอกาสการเกิดแผลติดเชื้อได้ดี
  2. ปราศจากสารไพโรเจน (Pyrogen คือ สารก่อไข้ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว เมื่อสารไพโรเจนเข้าสู่ร่างกาย จะทำให้เกิดอาการไข้ หนาวสั่น) จึงใช้ล้างบาดแผลลึกได้อย่างปลอดภัย
  3. ไม่ใส่วัตถุกันเสีย จึงไม่ระคายเคืองแผล และสามารถใช้ได้ในผู้ที่แพ้วัตถุกันเสีย

ล้างแผลเองต่างกับให้แพทย์ล้างให้อย่างไร?

การล้างแผลด้วยตนเอง และล้างแผลโดยแพทย์ จะแตกต่างกันในกระบวนการ ขั้นตอน การใช้อุปกรณ์ และรายละเอียดการใช้ยาอื่นนอกเหนือจากน้ำยาล้างแผลเข้ามา โดยแพทย์จะพิจารณาจากความรุนแรง ขนาดของบาดแผล และผลที่จะตามมา หากเป็นแผลที่มีขนาดเล็ก ไม่ลึก ผู้มีบาดแผลสามารถทำได้ด้วยตนเอง แต่หากบาดแผลมีความรุนแรง ขนาดใหญ่ ลึก มีเลือดออกมาก และมีการติดเชื้อ ควรพบแพทย์เพื่อทำการล้างแผลและรักษาในขั้นตอนต่อไปอย่างถูกวิธี

อาการแบบไหนควรไปพบแพทย์ทันที?

บาดแผลบางประเภท แพทย์อาจสั่งให้ทำการล้างแผลเองที่บ้านได้ แต่ให้ผู้มีบาดแผลสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ และต้องรีบกลับมาพบแพทย์หากพบอาการ ดังนี้

  • แผลไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไปหลายวัน
  • บาดแผลมีเลือดหรือหนองไหลออกมา
  • แผลมีอาการบวมมากขึ้น
  • รอบแผลมีอาการแดงและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น หรือมีรอยแดงเกิดขึ้นตามผิวหนังรอบ
  • เจ็บปวดแม้หลังรับประทานยาแก้ปวดแล้ว หรือความเจ็บปวดนั้นขยายออกไปเป็นวงกว้างจากบาดแผลมากขึ้น
  • บาดแผลมีสีคล้ำและแห้ง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีความลึกมากขึ้น
  • มีหนองสีเขียว เหลือง หรือสีน้ำตาล และหนองมีกลิ่นเหม็น
  • มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ยาวนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง
  • มีก้อนที่กดแล้วเจ็บเกิดขึ้นบริเวณรักแร้หรือขาหนีบซึ่งเป็นเพราะต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อลุกลาม

ล้างแผลต้องทำกี่วัน?

กรณีล้างแผลด้วยตนเองที่บ้าน ควรทำความสะอาดแผลทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ซึ่งต้องทำความสะอาดรอบแผลด้วยเพื่อลดการติดเชื้อ และต้องเปลี่ยนผ้าก็อตทันทีหากแผลซึมเปียกชุ่ม ส่วนกรณีผู้ที่ได้รับการเย็บแผลและแพทย์สั่งให้กลับมาล้างแผลที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ควรปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด และมาตรวจซ้ำตามตารางนัด

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการล้างแผลเย็บอาจไม่ต้องทำทุกวัน ขึ้นอยู่กับชนิดของบาดแผลและวิธีการทำแผล แต่จะต้องไปตัดไหมตามเวลาที่แพทย์กำหนด โดยทั่วไปประมาณ 7 วัน หรืออาจน้อยกว่านี้สำหรับแผลที่ใบหน้า หรือนานกว่านั้นสำหรับแผลบริเวณแขน ขา หรือในส่วนที่เคลื่อนไหวบ่อย

ข้อควรระวังของการล้างแผล

หลังการล้างแผล ทั้งการล้างแผลโดยแพทย์หรือการล้างแผลด้วยตนเอง หากไม่ระมัดระวังอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับร่างกายได้ เช่น โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก เกิดผิวหนังเน่า ฯลฯ ดังนั้นสิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่ง คือ

  • การดูแลรักษาความสะอาดแผล หลีกเลี่ยงสาเหตุที่จะทำให้แผลสกปรก
  • ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำ
  • เฝ้าสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการพักฟื้น เพราะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาและเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นจากบาดแผลอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างแผล ควรผ่านการฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว
  • ควรอ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง
  • ควรเลือกซื้อน้ำยาล้างแผลขวดเล็กหรือขนาดที่พอเหมาะกับการใช้งาน ไม่ควรจะเลือกซื้อขวดใหญ่ เพราะหลังจากการเปิดใช้แล้ว จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง ทำให้ความเข้มข้นในการฆ่าเชื้อโรคไม่เพียงพอ
  • ควรบันทึกวันที่เปิดใช้ขวดน้ำเกลือล้างแผล เพราะอาจมีแบคทีเรียเกิดขึ้นกับน้ำยาได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากเปิดใช้
  • หากใช้น้ำเกลือล้างแผลแล้วยังมีอาการเจ็บปวด บวมแดง มีหนองไหลออกมาจากแผล หรือสังเกตเห็นวัตถุติดอยู่ภายในแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม

ปัจจุบันการรักษาบาดแผลได้มีนวัตกรรมใหม่เข้ามาช่วยการรักษาแผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ นวัตกรรมการปิดแผล (Temporary Closure) ที่มีการทำจากวัสดุที่หลากหลายขึ้น จากเดิมที่ใช้ผ้าก๊อต หรือสารที่มีส่วนผสมจากขี้ผึ้งเพื่อยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค ปัจจุบันการปิดแผลพัฒนาเป็นวัสดุหน้าสัมผัสซิลิโคน ทำให้ออกซิเจนสามารถซึมผ่านแผลได้ดี จึงทำให้บาดแผลไม่แห้งหรือแฉะเกินไป หรือวัสดุปิดแผลบางชนิดผสมสารทำจากอนุภาคเงินช่วยยับยั้งการเจริญของเชื้อ หรือวัสดุที่ทำจากสารสังเคราะห์สาหร่าย เมื่อสัมผัสกับของเหลวจะหลายเป็นเจล ช่วยดูดเชื้อโรคจากแผลได้

และนวัตกรรมการรักษาแผลที่ทำให้เซลล์แบ่งตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ (Epidermal Growth Factor: EGF) ลักษณะคล้ายฮอร์โมนในร่างกายที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เยื่อบุ กระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเจริญเติบโต หรือกระตุ้นให้เซลล์ข้างเคียงเกิดการแบ่งตัวและเกิดการเจริญพัฒนา สร้างเนื้อเยื่อใหม่เพื่อทดแทนเนื้อเยื่อที่เสียหายไป

ในชีวิตประจำวัน บาดแผล เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งแผลจากของมีคม แผลรถล้ม แผลจากอุบัติเหตุนอกบ้าน การที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการล้างแผล ซึ่งเป็นการรักษาเบื้องต้นจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่ความต้องการให้แผลให้หายโดยเร็ว แต่ยังเป็นการป้องกันการลุกลาม จากแผลเล็กเป็นแผลใหญ่ กลายแผลเรื้อรัง และเป็นโรคแทรกซ้อนอื่นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะรักษาให้หายเป็นปกติได้

Scroll to Top