โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือ “อาการตื่นตกใจกลัวอย่างรุนแรง” เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จัก และบางครั้งผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดก็อาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอาการที่แสดงออกมานั้นเป็นอาการของโรคแพนิค
ผู้ป่วยโรคแพนิคจะตื่นตระหนกต่อบางสิ่งบางอย่างโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนั้น จะต่างจากความรู้สึกหวาดกลัว หรือความวิตกกังวลทั่วไป ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเอง หรือดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้
อาการตื่นกลัวอย่างรุนแรงนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้กำลังเผชิญหน้า หรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายก็ตาม หรือแม้กระทั่งในขณะที่กำลังนอนหลับ คนที่เป็นโรคแพนิคจึงมักเป็นกังวลอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่รู้ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร
สารบัญ
อาการของโรคแพนิค
อาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงเป็นลักษณะเด่นของโรคแพนิค ซึ่งจะรุนแรงกว่าความรู้สึกกังวล หรืออาการเครียดทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่นาที แต่ก็อาจกลับไปเป็นอีกภายในไม่กี่ชั่วโมง
อาการที่แสดงถึงภาวะตกใจกลัวอย่างรุนแรงสังเกต ได้ดังนี้
อาการแพนิคทางกาย
- ใจสั่น ใจเต้นแรง ใจเต้นรัว หรือใจเต้นเร็วมาก
- หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจขัด
- เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
- สำลัก
- อ่อนแรง มึนศีรษะ มึนงง รู้สึกโคลงเคลง หวิวๆ คล้ายจะเป็นลม
- มีอาการสั่นเทา
- เหงื่อออก
- รู้สึกร้อนผิดปกติ
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน
- มีอาการเหน็บชาตามร่างกาย ปวดจี๊ดตามปลายมือหรือปลายเท้า
อาการแพนิคทางจิตใจ
- มีการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ บิดเบือนไป
- รู้สึกกลัวตาย
- ควบคุมตนเองไม่ได้เหมือนจะเป็นบ้าหรือเหมือนกำลังจะตาย หรือแสดงอาการบางอย่างที่น่าอายออกมา
ผู้ที่มีภาวะแพนิคกำเริบ (Panic attack) จะมีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นอย่างน้อย 4 อาการ หากมีอาการน้อยกว่า 4 อย่าง แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นเพียงอาการแพนิคที่ยังเป็นไม่มากหรือยังไม่ครบเกณฑ์ (Limited-symptom panic attack)
นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีอาการครบตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมา แพทย์อาจวินิจฉัยว่ามีโรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia) ร่วมด้วย เนื่องจากผู้ป่วยหลายรายมักมีอาการแพนิค และโรคกลัวชนิดนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การวินิจฉัยดังกล่าวมีไว้ให้คุณประเมินตัวเองเบื้องต้นเท่านั้น แต่เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ และถูกต้อง คุณควรเข้ารับการตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากโรคแพนิคอาจมีอาการคล้ายคลึงกับกลุ่มโรควิตกกังวลอื่นๆ ได้
สาเหตุของโรคแพนิค
สาเหตุของโรคแพนิคนั้นยังเป็นที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่ก็มีหลายปัจจัยที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคนี้ เช่น
- ปัจจัยด้านพันธุกรรม หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคแพนิคมาก่อน ก็มีความเสี่ยงที่คนอื่นๆ ที่เป็นผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดจะเป็นโรคนี้ด้วย
- โครงสร้างของสมอง เนื่องจากส่วนต่างๆ ในสมองของคนแต่ละคนจะทำหน้าที่ควบคุมความกลัว และความวิตกกังวลต่างกัน
- การบาดเจ็บ หรือเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อจิตใจในวัยเด็ก
- เหตุการณ์ความเครียดในชีวิต เช่น การเรียนมหาวิทยาลัย การแต่งงาน การมีลูกคนแรก การถูกคนรักนอกใจ หรือถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังโดยไม่ทันได้เตรียมตัว
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแพนิค
โรคแพนิคอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และอาจทำให้เกิดพฤติกรรมหลีกเลี่ยงบางสิ่งบางอย่างอย่างรุนแรง เพราะกลัวว่าจะเกิดอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงอีกครั้ง เช่น
หากเคยมีอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงในลิฟต์ หรือเคยเกิดอุบัติเหตุในลิฟต์มาก่อน ก็อาจทำให้คุณมักจะหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ และเกิดอาการกลัวลิฟต์ในภายหลัง
นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคแพนิคส่วนมากจะมีอาการของโรคกลัวที่ชุมชนร่วมด้วย ส่งผลให้ไม่กล้าไปไหนมาไหนคนเดียว กลัวสถานที่บางแห่ง หรือกลัวสถานการณ์ที่หลีกหนีจากผู้คนได้ยาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเก็บตัวอยู่ในบ้าน หรือในอาคารตลอดเวลา
โรคแพนิคยังอาจนำไปสู่ภาวะ หรือผลกระทบอื่นๆ ต่อไปนี้
- เป็นโรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวล และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายอื่นๆ
- ติดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใช้สารเสพติด
- เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยารักษาโรค
- มีปัญหาทางการเงิน เนื่องจากต้องจ่ายค่ารักษา
- ต้องพึ่งพาผู้อื่นในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก
- มีปัญหากับที่ทำงาน หรือกับทางโรงเรียน
การตรวจวินิจฉัยโรคแพนิค
การวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคแพนิคหรือไม่ แพทย์จะตรวจร่างกายและตรวจเลือด เพื่อหาโรคที่อาจเป็นสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเกี่ยวกับระบบไทรอยด์
แพทย์จะให้คุณทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา รวมถึงอาจให้ทำแบบทดสอบสุขภาพจิต หรือให้คุณพบกับนักจิตวิทยามืออาชีพ เพื่อวินิจฉัยอาการของคุณ
นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับในการช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคแพนิคได้แม่นยำมากขึ้นด้วย นั่นคือ ให้คุณจดบันทึกเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้คุณเกิดอาการของโรค แล้วแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด
การทราบเกี่ยวกับสาเหตุ และที่มาที่ไปของอาการจะเป็นตัวช่วยในการรักษาโรคอย่างมาก
การทำจิตบำบัดเพื่อรักษาโรคแพนิค
การรักษาที่นิยมนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคแพนิคคือ การทำจิตบำบัด วิธีการรักษานี้มีหลายเป้าหมาย เช่น
- หาสิ่งกระตุ้นของอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรง
- รับมือกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอาการกลัว โดยเปลี่ยนสถานการณ์นั้นให้กลายเป็นเรื่องเล็กและควบคุมได้
- หาเทคนิคในการรับมือกับอาการตกใจกลัวอย่างรุนแรงให้ดีขึ้น เช่น การออกกำลังกายเพื่อฝึกการหายใจ และการคิดเชิงบวก
- สัมผัสกับอาการบางอย่างที่รุนแรงของโรค เพื่อเรียนรู้วิธีป้องกันในกรณีที่เกิดอาการเหล่านี้ขึ้นโดยสมบูรณ์
สำหรับเทคนิคจิตบำบัดที่ใช้ในการรักษาโรคแพนิคคือ “การบำบัดความคิด และพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)” ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่า อาการแพนิคที่เกิดขึ้นไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด
นอกจากนี้การบำบัดความคิด และพฤติกรรมรวมถึงเป็นการบำบัดความคิดที่บิดเบือน ให้ผู้ป่วยสามารถกลับมารับรู้สิ่งต่างๆ ตามสภาพความเป็นจริงได้
อีกทั้งเทคนิคการทำจิตบำบัดดังกล่าว ยังเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยปรับวิธีคิด เรียนรู้การตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัว หรืออาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น เรียนรู้การผ่อนคลาย เปลี่ยนแปลงความคิดในแง่ลบ จัดการกับความเครียด และเพิ่มความมั่นใจในตนเองเพื่อรับมือกับโรคแพนิค
นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งที่นักบำบัดใช้ก็คือ “การทำพฤติกรรมบำบัดด้วยเทคนิคเผชิญหน้ากับความกลัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Systematic Desensitization)” โดยเป็นการค่อยๆ ให้ผู้ป่วยเผชิญความกลัวหรือความตื่นเต้นที่เกิดขึ้น แล้วสอนให้ผ่อนคลายขณะที่ผู้ป่วยเริ่มกังวล เช่น
หากผู้ป่วยตื่นกลัวเวลาขับรถบนทางด่วน นักบำบัดก็จะเริ่มด้วยการให้จินตนาการว่า ผู้ป่วยกำลังขับอยู่บนทางด่วน และพยายามคิดว่ารถวิ่งบนทางด่วนไว้ตลอด เมื่อเริ่มเห็นความตึงเครียดเกิดขึ้น
จากนั้น นักบำบัดจะคอยแนะนำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจขณะที่นึกถึงสิ่งที่กลัวอยู่ตลอด และหลังจากทำไปแล้วหลายๆ ครั้ง นักบำบัดจึงค่อยๆ เพิ่มความรู้สึกกลัวขึ้นไปอีก เช่น
จากที่ให้จินตนาการว่าตนเองกำลังขับรถอยู่บนทางด่วน ก็ให้ผู้ป่วยคิดว่าตนเองไปเป็นผู้โดยสารบนรถที่ขับบนทางด่วนจริงๆ จนถึงให้ขับรถด้วยตนเอง ซึ่งระหว่างที่เพิ่มความกลัวขึ้นทีละขั้นนั้น นักบำบัดก็จะให้ผู้ป่วยเรียนรู้การอยู่ในความสงบ และการจัดการกับความรู้สึกตื่นกลัว
การใช้ยารักษาโรคแพนิค
ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้ใช้ยารักษาโรคแพนิคก็ต่อเมื่อมีอาการแสดงตลอด หรือมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งที่พยายามควบคุมด้วยการบำบัด และการรับมือด้วยตนเองอย่างเต็มที่แล้ว โดยแพทย์จะสั่งให้ใช้ในช่วงสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งได้แก่
1. ยาต้านซึมเศร้า
- ยาเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors: SSRI) เป็นยาที่มีกลไกเพิ่มระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) จึงช่วยบรรเทาอาการตื่นกลัว และลดอาการซึมเศร้าซึ่งมักเกิดร่วมกับโรคแพนิค
แพทย์มักให้ผู้ป่วยเริ่มกินยาในปริมาณน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเมื่อร่างกายของผู้ป่วยปรับตัวได้แล้ว ตัวยาในกลุ่มยา SSRI ที่ใช้รักษาโรคแพนิค ได้แก่- ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine)
- พาร็อกซีทีน (Paroxetine)
- เซอร์ทราลีน (Sertraline)
- ไซตาโลแพรม (Citalopram)
- ยาเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors: SNRIs) เป็นกลุ่มยาที่มักใช้รักษาโรคซึมเศร้า และโรคแพนิค มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “ยาเวนลาฟาซีน (Venlafaxine)”
- ยาไตรไซลิก (Tricylic Antidepressants) แพทย์จะใช้ยานี้ในกรณีที่รักษาด้วยยากลุ่ม SSRI เป็นเวลา 12 สัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น ยากลุ่มนี้จะช่วยปรับระดับนอร์อิพิเนฟริน (Norepinephrine) และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทในสมอง ทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น
สำหรับตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่- อิมิพรามีน (Imipramine)
- โคลมิพรามีน (Clomipramine)
ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ น้ำหนักเปลี่ยนแปลง และมีปัญหาในการนอนหลับ ดังนั้นหากต้องการใช้ยาต้านซึมเศร้า คุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยา และประสิทธิภาพของยาให้แน่ใจ และห้ามหยุดยากะทันหันโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
2. ยากล่อมประสาท หรือยาระงับประสาทกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
เป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ลดความกังวล และบรรเทาความตื่นกลัว มักนำมาใช้บ่อยๆ ในผู้ป่วยโรคแพนิค เพื่อลดอาการกระวนกระวายอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ยาลอร่าซีแปม (Lorazepam) และยาโคลนาซีแปม (Clonazepam)
ข้อควรระวังของยาเหล่านี้คือ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดยาได้ โดยเมื่อใช้ไปเป็นเวลานาน ผู้ป่วยจะต้องการยาในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลเท่าเดิม และเมื่อผู้ป่วยหยุดใช้ยา อาการกระวนกระวายจะกลับมาอีกได้ หรืออาจแย่ลงกว่าเดิม
ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับข้อสงสัยและความกังวลต่างๆ ก่อนจะเริ่มใช้ยานี้
3. ยากันชัก
ได้แก่ ยาพรีกาบาลิน (Pregabalin) ยานี้จะช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวลได้
การรับมือกับโรคแพนิคด้วยตนเอง
คุณสามารถดูแลตัวเองและรับมือกับโรคแพนิคด้วยตนเองตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ ควบคู่ไปกับการรักษาวิธีอื่นๆ ดังข้างต้น
- ใช้เทคนิคในการผ่อนคลาย เช่น การยืดเหยียดร่างกาย และการหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ
- ให้กำลังใจ และพูดคุยกับตัวเองในแง่ดี
- จินตนาการ และบอกตัวเองให้รู้สึกสงบสุข และมั่นใจเข้าไว้
- หมั่นบันทึก และเขียนสิ่งต่างๆ เพื่อรู้เท่าทันความคิดและความรู้สึกของตนเอง
- ฝึกสมาธิ และผ่อนคลายโดยการใช้ศิลปะบำบัด เช่น การวาดรูป
- ดูแลสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ปรับเปลี่ยนระบบความเชื่อในแง่ลบให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ หากิจกรรมที่ชอบ หรือทำให้ตนเองรู้สึกแจ่มใส ภูมิใจในตนเองทำดู
- งด หรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต
- เมื่อเกิดอาการ ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น
การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิค
ในการดูแลผู้ป่วยโรคแพนิคนั้น ญาติของผู้ป่วยเองจำเป็นดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยเป็นพิเศษ โดยสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ศึกษาสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาโรคที่ถูกต้อง ควรทำความเข้าใจว่า อาการโรคแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ไม่ใช่อาการผิดปกติเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และไม่ตอกย้ำหรือกดดันว่า เป็นความผิดของผู้ป่วย
- ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยา ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
- ให้ผู้ป่วยรับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียดด้วยตนเองเป็นประจำ เช่น ฝึกหายใจลึกๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
- คอยระวังไม่ให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาชนิดใดก็ตามด้วยตนเอง เนื่องจากการได้รับยาไม่ครบอาจเสี่ยงทำให้โรคกำเริบซ้ำได้มากขึ้น
อาหารที่ผู้ป่วยโรคแพนิคควรหลีกเลี่ยง
อาหารบางอย่างอาจกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล และมีอาการของโรคแพนิคกำเริบได้ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคจะไวต่ออาหารต่อไปนี้มากกว่าคนทั่วไป
- กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย การได้รับคาเฟอีนทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลและกระสับกระส่าย และทำให้ผู้ป่วยโรคแพนิคมีอาการกำเริบขึ้นได้เช่นกัน
- แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น ก็คือ ความวิตกกังวล กระสับกระส่าย และนอนไม่หลับมากกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้นไปอีก
- ลูกอม และขนมหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียหลังจากรับประทานได้
เนื่องจากของหวานจะไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด ร่างกายจึงต้องปล่อยอินซูลินออกมา เพื่อปรับระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นภาวะน้ำตาลต่ำ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และกระตุ้นให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงในที่สุด - อาหารแปรรูปและครีมเทียม เช่น ไส้กรอก เค้ก อาหารทอด และอาหารมันๆ ทั้งหลาย ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลตามมา
โรคแพนิคเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ทั้งหมด ด้วยตัวอาการของโรคซึ่งค่อนข้างหลากหลายกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย การรักษาที่ได้ผลในผู้ป่วยคนหนึ่งจึงอาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอีกคนก็ได้
อย่างไรก็ตาม คุณสามารถควบคุมความรุนแรงและการกำเริบของโรคแพนิคไม่ให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยวิธีการรักษาหลักๆ ที่ใช้คือ การบำบัดทางจิตและการใช้ยา ซึ่งอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือต้องใช้ทั้ง 2 วิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และความต้องการของตัวผู้ป่วย