วิตามินเอ หนึ่งในวิตามินสำคัญที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลากหลายด้าน เช่น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังช่วยรักษาสิวได้อีกด้วย มาทำความรู้จักประโยชน์ของวิตามินเอ แหล่งอาหารที่พบได้ในธรรมชาติ และปริมาณที่ควรรับประทานต่อวัน
สารบัญ
วิตามินเอคืออะไร
วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงต้องการไขมันและแร่ธาตุในการช่วยดูดซึมเข้าร่างกาย สามารถเก็บสะสมในร่างกายได้จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานทุกวัน วิตามินเอนั้น แบ่งเป็น 2 รูปแบบคือ วิตามินเอแบบสำเร็จเรียกว่า เรตินอล (Retinol) พบในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น และโปร-วิตามินเอ (Pro-Vitamin A) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แคโรทีน (Carotene) พบในอาหารที่มาจากพืชและสัตว์
หน่วยวัดของวิตามินเอ
วิตามินเอมีหน่วยวัดเป็น USP (United States Pharmacopeia) หรือเรียกว่า IU ซึ่งเป็นหน่วยที่นิยมใช้มากที่สุด และหน่วย RE (Retinol Equivalents)
ปริมาณวิตามินเอที่แนะนำต่อวัน
- ผู้ชายควรรับประทานวิตามินเอ ขนาด 1,000 RE (5,000 IU) ต่อวัน
- ผู้หญิงควรรับประทานวิตามินเอ ขนาด 800 RE (4,000 IU) ต่อวัน
- หญิงตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้รับประทานเพิ่ม
- หญิงให้นมบุตร ในช่วงหกเดือนแรกอาจรับประทานเพิ่ม 100 IU และเพิ่มอีก 80 IU ในช่วงหกเดือนหลัง
ยังไม่มีขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene) เนื่องจากไม่ได้รับการจัดให้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเป็นทางการ แต่โดยทั่วไปขนาดประมาณ 10,000 ถึง 15,000 IU ถือเป็นปริมาณที่เพียงพอ และเทียบเท่าได้กับขนาดที่แนะนำสำหรับวิตามินเอ
เบต้าแคโรทีนดีอย่างไร
เบต้าแคโรทีนนั้นเป็นหนึ่งในชนิดของแคโรทีน หรือโปรวิตามินเอ จะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ในยามที่ร่างกายต้องการ ส่วนที่ไม่ถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอจะทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ โดยมีข้อดีดังนี้
- ไม่มีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษจากการสะสมเหมือนวิตามินเอ เนื่องจากเบต้าแคโรทีนละลายในน้ำได้ จึงสามารถขับออกจากร่างกายได้ดี
- มีสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งช่วยป้องกันโรคมะเร็งบางชนิดได้
- ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดที่ต่อสู้กับการติดเชื้อต่างๆ
- เบต้าแคโรทีนเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
9 ประโยชน์ที่ควรรู้เกี่ยวกับวิตามินเอ
- ช่วยป้องกันอาการตาบอดกลางคืน เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็น และช่วยในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับดวงตาหลายโรค
- เสริมสร้างภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อในทางเดินหายใจ
- ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น
- ลดระยะเวลาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ
- ช่วยให้เนื้อเยื่อชั้นนอกของอวัยวะมีสุขภาพดี
- ช่วยลดเลือนจุดด่างดำ รักษารอยแผลเป็นที่ผิวหนัง
- ส่งเสริมการเจริญเติบโต ความแข็งแรงของกระดูก สุขภาพของผิวพรรณ ผม ฟัน และเหงือก
- เมื่อใช้ทาบริเวณผิวจะมีส่วนช่วยในการรักษาสิว ริ้วรอยตื้นๆ โรคผิวหนังชนิดที่เป็นตุ่มพุพองที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ฝี ชันนะตุ และแผลเปิดต่างๆ
- ช่วยในการรักษาโรคถุงลมโป่งพองและไทรอยด์เป็นพิษ
โรคจากการขาดวิตามินเอ
โรคนัยน์ตาแห้ง และอาการตาบอดตอนกลางคืน เกิดจากการดูดซึมไขมันบกพร่องเรื้อรัง พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
แหล่งอาหารที่พบวิตามินเอ
น้ำมันตับปลา ตับ แครอท ผักสีเหลืองและเขียวเข้ม ฟักทอง คะน้า ยอดกระถิน ผักตำลึง ยอดชะอม บรอกโคลี ไข่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม มาการีน และผลไม้สีเหลือง เช่น มะละกอ (ความเข้มของสีผักและผลไม้ไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้ปริมาณเบต้าแคโรทีนที่เชื่อถือได้เสมอไป)
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
โดยทั่วไปมีวางขาย 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่สกัดจากน้ำมันตับปลาธรรมชาติ และรูปแบบที่กระจายตัวในน้ำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ควรรับประทานน้ำมันมากเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสิวง่าย
ขนาดที่แนะนำโดยทั่วไปคือ 5000-10,000 IU
กรดวิตามินเอแบบทา หรือเรตินเอ (Retin-A) ใช้ในการรักษาสิวเป็นหลัก เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
อาการเป็นพิษและสัญญาณเตือนว่ารับประทานวิตามินเอมากเกินไป
หากรับประทานมากกว่า 50,000 IU ต่อเนื่องกันทุกวันเป็นเวลาหลายเดือนอาจเป็นอันตรายได้ในผู้ใหญ่
หากรับประทานมากกว่า 18,500 IU ต่อเนื่องกันทุกวันอาจก่อให้เกิดผลที่เป็นอันตรายในเด็กทารกจนเกิดการแท้งบุตรได้
หากรับประทานเบต้าแคโรทีนมากกว่า 34,000 IU ต่อเนื่องกันทุกวันอาจทำให้ผิวออกเหลืองได้
อาการที่บ่งชี้ว่ามีวิตามินเอสะสมในร่างกายมากเกินไป ได้แก่ ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวลอก ตามัว ผื่น ปวดกระดูก ประจำเดือนมาไม่ปกติ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และตับบวมโต
ศัตรูของวิตามินเอ
กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน และแคโรทีน โดยแคโรทีนจะทำงานขัดแย้งกันกับวิตามินเอหากมีสารต้านอนุมูลอิสระไม่เพียงพอ
ข้อแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินเอ
- หากกำลังรับประทานวิตามินอีขนาด 400 IU ต่อวัน ควรรับประทานวิตามินเออย่างน้อย 10,000 IU ควบคู่ไปด้วย
- การรับประทานยาคุมกำเนิดจะทำให้ร่างกายมีความต้องการวิตามินเอลดลง
- หากคุณรับประทานตับ แครอท ผักขม มันเทศ หรือแคนตาลูปในปริมาณมากเป็นประจำทุกสัปดาห์ ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานวิตามินเอเสริมอีก
- ไม่ควรรับประทานวิตามินเอร่วมกับน้ำมันสกัดจากธรรมชาติ
- วิตามินเอทำงานร่วมกับวิตามินบีรวม วิตามินดี วิตามินอี แคลเซียม ฟอสฟอรัส และสังกะสีได้ดีที่สุด (ตับต้องการสังกะสีเป็นตัวช่วยในการนำวิตามินเอออกมาใช้)
- วิตามินเอช่วยป้องกันวิตามินซีจากการถูกออกซิไดซ์ได้
- ไม่ควรให้สุนัขหรือแมวรับประทานวิตามินเอเสริม นอกเสียจากว่าสัตวแพทย์แนะนำให้รับประทาน
- ยาลดระดับคอเลสเตอรอล เช่น คอเลสไทรามีน (Cholestyramine) ร่างกายจะดูดซึมวิตามินเอได้น้อยลง และอาจต้องรับประทานวิตามินเอเสริม
- อนุพันธ์ของวิตามินเอในรูปแบบรับประทานที่ใช้ในการรักษาปัญหาผิวหนังเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง อาจทำให้เด็กในครรภ์พิการได้ หญิงตั้งครรภ์จึงไม่ควรรับประทานเด็ดขาด