มะเร็งมดลูก พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิง แต่หากได้รับการตรวจคัดกรองและรักษาได้เร็ว จะมีโอกาสที่จะรักษาหายได้
สารบัญ
มะเร็งมดลูกคืออะไร?
มะเร็งมดลูก (Uterine Cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นภายในมดลูก โดยเซลล์ภายในมดลูกมีเนื้อเยื่อเจริญเติบโตผิดปกติและกลายเป็นก้อนเนื้อร้าย (Malignant Tumor) แล้วแพร่กระจายลุกลามไปทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงและส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อีกทั้งยังมีโอกาสแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองอีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ของมะเร็งมดลูกจะเป็นมะเร็งที่เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial Cancer) มากถึงประมาณ 95-97% อีกประมาณ 3-5% จะเป็นมะเร็งที่กล้ามเนื้อหรือผนังมดลูก (Uterine Sarcoma)
มะเร็งมดลูกเกิดจากอะไร?
ในปัจจุบัน ยังไม่รู้ถึงสาเหตุของมะเร็งมดลูกที่ชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่สามารถพบได้จากปัจจัยความเสี่ยงของโรคดังต่อนี้
- อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมดลูกก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งสามารถพบในช่วงอายุประมาณ 40-70 ปี และส่วนใหญ่จะพบในวัยหมดประจำเดือนแล้ว
- ฮอร์โมน เมื่อมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงกว่าปกติหลังจากหมดประจำเดือนไปแล้ว
- การใช้ฮอร์โมนทดแทน เมื่อมีการใช้ฮอร์โมนทดแทนสำหรับรักษาอาการวัยทอง และหลังจากการผ่าตัดมดลูก
- การมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ หรือมีประจำเดือนก่อนอายุ 12-13 ปี
- การมีประจำเดือนหมดช้ากว่าปกติ คือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายมีช่วงระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงนานมากกว่าปกติ
- ภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป จะทำให้เนื้อเยื่อไขมันผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมามาก จึงทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนชนิดนี้สูงผิดปกติ
- ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome: PCOS) การมีถุงน้ำในรังไข่หลายใบ จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ โดยจะมาไม่เป็นประจำทุกเดือนหรือไม่มาเลย และมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นผิดปกติ
- การเป็นโรคเบาหวาน จะทำให้มีระดับอินซูลินในร่างกายสูงกว่าปกติ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะทำให้น้ำหนักตัวมากเกินผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นได้
- การเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia) จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนามากกว่าปกติและทำให้มีประจำเดือนมากเกินไป หรือมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน หรือมาแบบกะปริบกะปรอย
- การเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Hereditary Non-Polyposis Colorectal Cancer: HNPCC) ซึ่งทำให้ได้รับยีนก่อมะเร็ง (Oncogenes) ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์จนควบคุมไม่ได้มาด้วย
- การไม่มีบุตร จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูกได้มากกว่าการมีบุตร เนื่องจากช่วงที่ตั้งครรภ์จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง และส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมดลูกลดลงไปด้วย
- กรรมพันธุ์ หากมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมดลูก อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน
- ยาและการรักษาบางอย่าง เช่น การใช้ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen) สำหรับรักษามะเร็งเต้านมและอาการที่มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ หรือการที่ได้รับฉายรังสีในปริมาณมากเพื่อการรักษามาก่อน
อาการของมะเร็งมดลูกเป็นอย่างไร?
อาการของมะเร็งมดลูกที่เกิดขึ้นมีดังต่อไปนี้
- มีประจำเดือนผิดปกติ เช่น มีประจำเดือนแบบเดือนเว้นเดือน หรือมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง จะทิ้งช่วงนานหลายเดือน หรือประจำเดือนที่มีในแต่ละครั้งจะมามากกว่าปกติ เป็นต้น
- มีเลือดออกจากช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน
- เกิดตกขาวและมีกลิ่นเหม็น
- คลำเจอก้อนเนื้อที่บริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
- ปวดประจำเดือนรุนแรง
- ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานเรื้อรัง
- ปวดท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปวดหลังและปวดขา เนื่องจากมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติไปเบียดและกดทับเส้นประสาท
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกที่เจริญเติบโตผิดปกติไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
- คลื่นไส้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งมดลูกเข้าสู่ระยะที่ 4
- หอบ ไอ ปวดกระดูก หรือต่อมน้ำเหลืองโต โดยจะพบในระยะที่มะเร็งมดลูกได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย
หากพบอาการเหล่านี้ อย่านิ่งนอนใจและไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจคัดกรองหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และจะได้รักษาอย่างทันท่วงที โดยไม่ปล่อยให้มะเร็งมดลูกลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้
ใครเสี่ยงมะเร็งมดลูก?
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งมดลูกมีดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- ผู้ที่มีประจำเดือนก่อนอายุ 12-13 ปี
- ผู้ที่มีประจำเดือนหมดช้า หรือหลังอายุ 55 ปี
- ผู้ที่หมดประจำเดือนแล้วช่วงอายุประมาณ 51-70 ปี
- ผู้ที่ไม่เคยตั้งครรภ์ หรือมีบุตรเพียง 1-2 คน เนื่องจากมีช่วงมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงนานกว่าผู้ที่ตั้งครรถ์บ่อย
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
- ผู้ที่เป็นโรคความดันสูง
- ผู้ที่เคยเป็นโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ เป็นต้น
- ผู้ที่ได้รับยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen)
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งมดลูก หรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดถ่ายทอดทางพันธุกรรมมาก่อน
- ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงหลังจากที่หมดประจำเดือนแล้ว
- ผู้ที่ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนมาเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ เป็นต้น
- ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial Hyperplasia)
มะเร็งมดลูกมีกี่ระยะ?
มะเร็งมดลูกจะมีลักษณะของการเกิดโรคอยู่ 4 ระยะ ดังต่อไปนี้
- เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายอยู่แค่ภายในมดลูกเท่านั้น
- เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณปากมดลูก
- เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายออกนอกมดลูก และลุกลามไปยังบริเวณเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียงที่ต่อมน้ำเหลืองท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
- เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายและลุกลามไปยังเนื้อเยื่อภายในช่องท้องหรืออวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ ปอด ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือไหปลาร้า และอาจมีเซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และกระดูก
มะเร็งมดลูกอันตรายไหม?
โรคมะเร็งมดลูกถือว่าเป็นภัยร้าย ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการตรวจคัดกรองและรักษาตั้งแต่ในระยะแรกๆ ของโรค และปล่อยให้เซลล์มะเร็งแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย
มะเร็งมดลูกป้องกันได้ไหม?
ในปัจจุบันยังไม่พบวิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่ได้ผล 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ โดยการดูแลสุขภาพและคอยสังเกตความผิดปกติของตนเองดังต่อไปนี้
- ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ควรตรวจสุขภาพร่างกายและตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง
- หากมีประจำเดือนที่มีลักษณะผิดปกติ หรือมีเลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์ทันที
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป จนกลายเป็นโรคอ้วน
- หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันสูง
- หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
มะเร็งมดลูกรักษาอย่างไร?
โรคมะเร็งมดลูกมีการรักษาหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยว่าวิธีไหนเหมาะสมที่สุด ขึ้นอยู่กับชนิดของก้อนเนื้อร้าย ระยะของอาการ อายุ และสุขภาพของผู้รับบริการ โดยมีวิธีรักษาดังต่อไปนี้
1. การผ่าตัด (Surgery)
เป็นวิธีการรักษามะเร็งมดลูกด้วยการผ่าตัดเอามดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง ช่องคลอด ปากมดลูก และต่อมน้ำเหลืองภายในท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานออก โดยหากตรวจคัดกรองพบมะเร็งมดลูกได้เร็ว และรักษาด้วยการผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกๆ จะสามารถรักษาให้หายได้มากถึง 90% ซึ่งแพทย์จะผ่าตัดจะนำอวัยวะไหนออกบ้างนั้น จะขึ้นอยู่กับว่าโรคมะเร็งมดลูกได้แพร่กระจายอยู่ในระยะที่เท่าไหร่ ดังนี้
- การผ่าตัดมะเร็งมดลูกระยะที่ 1 เป็นการผ่าตัดนำเอามดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ทั้งสองข้างออกทั้งหมด เพราะระยะของโรคนี้ เซลล์มะเร็งยังคงแพร่กระจายอยู่ภายในของมดลูกเท่านั้น
- การผ่าตัดมะเร็งมดลูกระยะที่ 2 และ 3 เป็นการผ่าตัดนำเอาตั้งแต่ปากมดลูก ช่องคลอด มดลูก รังไข่ ท่อนำไข่ทั้งสองข้าง และต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก เพราะทั้งสองระยะของโรคนี้ เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังบริเวณปากมดลูก และได้ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน อาจมีการฉายรังสีและทำเคมีบำบัดหลังผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคซ้ำ
- การผ่าตัดมะเร็งมดลูกระยะที่ 4 เป็นการผ่าตัดนำเอาเซลล์มะเร็งที่มองเห็นออกไปให้ได้มากที่สุด (Debulking Surgery) ซึ่งการผ่าตัดของระยะนี้ไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการบรรเทาอาการให้ลดน้อยลงเท่านั้น
2. การฉายรังสีหรือรังสีรักษา (Radiation Therapy)
เป็นวิธีการรักษาเพื่อกำจัดและลดความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายและลุกลามไปยังบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานซ้ำอีกครั้ง และในกรณีที่ไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดได้ โดยจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ เช่น ผิวหนังบริเวณที่ถูกฉายรังสีจะมีอาการแสบและรอยแดง ขนร่วง รู้สึกไม่สบายท้อง และท้องร่วง ซึ่งการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งมดลูกจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ รังสีรักษาแบบภายใน (Internal Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีผ่านท่อพลาสติกที่สอดเข้าไปภายในมดลูก เพื่อให้รังสีจะผ่านเข้าไปรักษาเซลล์มะเร็งมดลูก และการฉายรังสีจากภายนอก (External Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีไปยังบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกราน
3. การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy)
เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้ยากำจัดเซลล์มะเร็ง ซึ่งมักจะใช้รักษามะเร็งมดลูกระยะที่ 2 และ 3 หลังจากผ่าตัดมาแล้ว เพื่อลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยังเป็นการบรรเทาอาการของโรคอีกด้วย โดยจะใช้เคมีบำบัดตามชนิดของมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มือชา เท้าชา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือผมร่วง อีกทั้ง ยังอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เพราะการใช้เคมีบำบัดจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง
4. การใช้ฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy)
เป็นวิธีการรักษามะเร็งมดลูกระยะสุดท้าย หรือการเกิดเซลล์มะเร็งซ้ำขึ้นมาใหม่ โดยใช้การรับประทานฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสังเคราะห์ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตและลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น เป็นตะคริว คลื่นไส้ หรือน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
การหมั่นดูแลและใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ หากพบมีความผิดปกติของร่างกายดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเกิดความรุนแรงของโรค และสามารถรักษาได้ทันท่วงที