การทำหมัน เป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ได้รับความนิยมสูง โดยผู้หญิงถึงร้อยละ 23 ที่มีอายุระหว่าง 15-44 ปี จะเข้ารับการทำหมันหลังจากที่มีลูกเพียงพอแล้ว
แต่พบว่าร้อยละ 5-10 ของผู้หญิงที่ทำหมันกลับมีความต้องการแก้หมันในภายหลัง หรือเรียกอีกอย่างว่า การต่อหมัน เพราะต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันการแก้หมันสามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก
HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูล การแก้หมันหรือการต่อหมัน เพื่อให้คนที่ต้องการตั้งครรภ์อีกครั้งมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ รวมถึงการทำความเข้าใจถึงโอกาสสำเร็จและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย
สารบัญ
แก้หมันหญิงคืออะไร?
การแก้หมันหญิง (Tubal Ligation Reversal) คือ การผ่าตัดเชื่อมต่อบริเวณท่อนำไข่ทั้งสองข้างที่ถูกตัดให้ขาดออกจากกันเมื่อครั้งทำหมัน โดยการทำหมันมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิสามารถเดินทางมาผสมกับไข่ได้ จึงทำการตัด ผูก รัด หรือปิดกั้นท่อนำไข่ (Fallopian Tube) ทั้งสองข้าง
การแก้หมันจึงเป็นการเชื่อมต่อบริเวณท่อนำไข่ เพื่อให้กลับมาตั้งครรภ์ได้อีกครั้ง โดยปัจจุบันการผ่าตัดแก้หมันสามารถทำได้ 2 แบบ ดังนี้
- การผ่าตัดแก้หมันแบบผ่าเปิดหน้าท้อง (Minilaparotomy or Abdominal Incision) เป็นการผ่าตัดแบบเดิม โดยแพทย์จะเปิดแผลขนาดเล็กที่หน้าท้องส่วนล่างเพื่อให้เห็นท่อนำไข่ และทำการเชื่อมต่อท่อนำไข่ แล้วจึงเย็บปิดแผล
- การผ่าตัดแก้หมันผ่านกล้องทางหน้าท้อง (Laparoscopic Surgery) เป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน โดยแพทย์ทำการเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร ที่หน้าท้องส่วนล่าง 3 จุด เพื่อสอดอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายท่อ ซึ่งปลายท่อติดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัด เช่น คีมจับไว้ เพื่อทำการต่อเชื่อมท่อนำไข่ แล้วจึงเย็บปิดแผล
โดยภายหลังการผ่าตัดเย็บต่อท่อนำไข่ทั้งสองแบบเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะฉีดสีเข้าไปบริเวณท่อที่เย็บต่อกัน เพื่อตรวจสอบว่าท่อนำไข่รั่ว ตัน หรือ สมบูรณ์พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือไม่
การแก้หมันหญิงเหมาะกับใคร?
การแก้หมันหญิงเหมาะกับผู้ที่ต้องการกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้ง โดยการแก้หมันจะมีโอกาสสำเร็จมากน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย และเหมาะกับบุคคล ดังนี้
- ผู้ที่ต้องการตั้งครรภ์อีกครั้ง ภายหลังทำหมันแล้ว
- ผู้มีอายุไม่เกิน 40 ปี เนื่องจากหากอายุมาก โอกาสในการแก้หมันสำเร็จและการกลับมาตั้งครรภ์จะยิ่งน้อยลง รวมถึงมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นด้วย
- ผู้มีสุขภาพด้านการสืบพันธุ์สมบูรณ์ เช่น รังไข่หรือมดลูกทำงานปกติ ไม่มีเนื้องอกมดลูกหรือโรคภายในระบบสืบพันธุ์อื่นที่จะกระทบต่อการตั้งครรภ์
- ผู้มีสุขภาพทั่วไปดีและไม่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดันโลหิตสูง หรือปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการตั้งครรภ์
- ผู้ที่ผ่านการทำหมันมาไม่นานมาก เนื่องจากหากระยะเวลาการทำหมันนาน โอกาสความสำเร็จในการแก้หมันจะมีน้อยลง
- ผู้ที่ทำหมันในรูปแบบตัดท่อนำไข่เพียงเล็กน้อย การผูกท่อ การหนีบ หรือรัดท่อด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ในการป้องกันไข่ตก ซึ่งโอกาสแก้หมันสำเร็จได้มากกว่าการทำหมันแบบอื่น
- ผู้ที่แพทย์ประเมินว่า มีความยาวท่อนำไข่เหลือจากการทำหมันไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร
ใครไม่ควรแก้หมันหญิง
- ผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพราะอายุมากนอกจากอัตราการตั้งครรภ์ลดลงภายหลังการแก้หมันแล้ว ถึงแม้การแก้หมันจะสำเร็จและตั้งครรภ์ได้ ก็อาจมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงด้วย
- ผู้ที่ทำหมันด้วยการใช้ไฟฟ้าจี้เพื่อปิดท่อนำไข่ จะไม่สามารถแก้หมันได้
- ผู้ที่ทำหมันมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 10 ปี
- ผู้มีน้ำหนักตัวมากเกินไป
- ผู้ที่มีโรคภายในที่มีผลต่อการสืบพันธุ์ เช่น มะเร็งปากมดลูก เนื้องอกในมดลูก
- ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีข้อห้ามในการตั้งครรภ์ เช่น โรคหัวใจ โรคไต เนื่องจากมักมีอายุมาก และมีผลกระทบต่อการตั้งครรภ์
กรณีผู้ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดแก้หมัน แพทย์อาจแนะนำวิธีอื่นที่อาจช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (In-Vitro Fertilization: IVF) เป็นต้น
การเตรียมตัวก่อนแก้หมันหญิง
การผ่าตัดแก้หมันหญิงต้องมีการเตรียมตัวก่อนวันนัดเช่นเดียวกับการผ่าตัดชนิดอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้มากที่สุด โดยการเตรียมตัวหลักๆ อาจมีดังนี้
- พบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับฟังคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้หมัน
- รับประทานอาหารมีประโยชน์เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วและลดโอกาสในการติดเชื้อหลังผ่าตัด
- งดสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
- งดใช้ยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้าและยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างน้อย 7 วันก่อนการผ่าตัด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน หรือยาในกลุ่มระงับอาการปวด เพราะทำให้เลือดออกมากขึ้นในขณะการผ่าตัด
- งดใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริมทุกชนิด และวิตามินบางประเภท ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาว่าอาหารเสริมและวิตามินชนิดใดควรหยุดและชนิดใดควรรับประทานต่อได้
- งดอาหารและน้ำ 8 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด กรณีต้องดมยาสลบ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และถอดเปลี่ยนได้ง่ายในวันผ่าตัด
ขั้นตอนการแก้หมันหญิง
เมื่อแพทย์ประเมินด้วยการสอบถามพูดคุย และให้คำปรึกษาแล้ว จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจสแกนภาพภายในร่างกาย และตรวจด้านอื่นเพื่อประเมินความพร้อมร่างกายของผู้ที่เข้ารับการแก้หมัน จากนั้นเริ่มขั้นตอนการแก้หมัน ดังนี้
- ผู้รับการแก้หมันดมยาสลบ
- แพทย์เปิดแผลหน้าท้องเป็นช่องขนาดเล็ก สอดกล้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อตรวจดู และประเมินสภาพของท่อนำไข่ โดยพิจารณาจากความยาวที่เหลือของท่อนำไข่ทั้งสองข้างว่าเพียงพอที่จะเชื่อมต่อได้ไหม และตันหรือไม่ หากพบว่าท่อนำไข่ที่เหลือยาวเพียงพอและไม่ตัน จึงจะทำการแก้หมันต่อไป
- แพทย์แก้หมันโดยการเย็บต่อเชื่อมท่อนำไข่ทั้งสองข้างเข้าหากัน
- จากนั้นฉีดสีเข้าไปในมดลูก เพื่อตรวจสอบท่อนำไข่ว่าสีสามารถผ่านเข้าไปได้ยังมดลูกได้หรือไม่ และตรวจเช็กความสมบูรณ์ของท่อนำไข่ มดลูก ว่าพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์หรือไม่
- แพทย์เย็บปิดแผล รวมระยะเวลาในการผ่าตัดแก้หมันประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- ผู้รับการผ่าตัดพักฟื้นในโรงพยาบาล 1-3 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนกลับบ้านได้
- แพทย์นัดเปิดแผลภายหลังการผ่าตัด 7 วัน เพื่อตรวจเอกซเรย์ และนัดฉีดสีท่อนำไข่ในช่วง 1-2 เดือน เพื่อตรวจซ้ำอีกครั้งว่าสีสามารถผ่านไปยังปลายท่อนำไข่ได้หรือไม่
นอกจากนี้ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้ฝ่ายชายตรวจน้ำเชื้ออสุจิ เพื่อให้ทราบความสมบูรณ์ที่จะมีผลต่อการตั้งครรภ์ด้วย
การดูแลตัวเองหลังแก้หมันหญิง
หลังการผ่าตัดแก้หมันเสร็จสิ้น และแพทย์อนุญาตให้สามารถกลับบ้านได้แล้ว ผู้รับการผ่าตัดควรดูแลตัวเอง ดังนี้
- งดอาบน้ำ ภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด เพื่อป้องกันแผลเปียกและติดเชื้อ
- งดมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าแพทย์จะอนุญาต เพื่อป้องกันแผลปริ
- ทำความสะอาดแผลตามที่แพทย์แนะนำ
- รับประทานยาแก้ปวด หากรู้สึกปวดบริเวณแผลหลังผ่าตัด
- สามารถเริ่มทำกิจกรรมได้ตามปกติภายใน 2-7 วัน
- หลีกเลี่ยงการยกสิ่งของหนัก อย่างน้อย 3 สัปดาห์
ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการแก้หมันหญิง
การแก้หมันหญิงเป็นการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง นอกจากจะเกิดความเสี่ยงเช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไปแล้ว ยังอาจมีความเสี่ยง ดังต่อไปนี้
- อวัยวะใกล้เคียงอาจได้รับความเสียหาย ได้แก่ ลำไส้ หรือกระเพาะปัสสาวะ หรือหลอดเลือดแดงที่อาจมีเลือดออกมากผิดปกติ
- แผลผ่าตัดอาจติดเชื้อ
- อาการปวดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่าตัดบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือช่องท้อง
- อาการแพ้ยาชาหรือยาสลบ
- อาจเกิดการอุดตันของท่อนำไข่ เพราะแผลเป็นที่เกิดจากการผ่าตัด
- อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังการแก้หมัน ซึ่งอาการแตกต่างกันไป เช่น การเวียนศีรษะ การปวดไหล่ มีตะคริว ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้องมาก ถ่ายเป็นเลือด เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย หรืออาการผิดปกติอื่น ที่เกิดขึ้นติดต่อกันนานหลายวัน ควรรีบไปพบแพทย์
- การท้องนอกมดลูก ดังนั้นหากตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์ทันที
- การแก้หมันไม่สำเร็จ หรือแก้หมันได้เพียงข้างเดียวที่อาจทำให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้น้อยมาก
แก้หมันหญิงมีโอกาสสำเร็จเยอะไหม?
การผ่าตัดแก้หมันทั้งแบบเปิดแผลหน้าท้อง และผ่านกล้องทางหน้าท้อง มีอัตราความสำเร็จใกล้เคียงกันประมาณ 40-60% และหลังจากผ่าตัดแก้หมันหญิงไปแล้วประมาณ 3 เดือน หากตรวจท่อนำไข่แล้วไม่พบการอุดตัน โอกาสในการกลับมาตั้งครรภ์อาจอยู่ที่ประมาณ 15-90%
อย่างไรก็ตาม การแก้หมันเป็นเพียงขั้นตอนที่เข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการปฏิสนธิให้เกิดขึ้น และแม้เบื้องต้นจะผ่านการประเมินการผ่าตัดแก้หมันจากแพทย์แล้ว แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่จะทำให้การแก้หมันสำเร็จ ได้แก่
- ความชำนาญของแพทย์ในการผ่าตัดแก้หมัน
- เครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด
- วิธีการผ่าตัดทำหมันที่ทำมาก่อน
- ความยาวของท่อนำไข่ที่เหลือ และตำแหน่งที่ถูกตัดท่อนำไข่
- ระยะเวลาหลังจากการผ่าตัดทำหมัน
- อายุของผู้ต้องการแก้หมัน
- สุขภาพของผู้รับการแก้หมันและสามี
แก้หมันหญิงพักฟื้นนานไหม?
ภายหลังการผ่าตัดแก้หมันหญิง แพทย์อาจแนะนำให้นอนพักฟื้นรอดูอาการ หากเป็นการผ่าตัดแบบเปิดแผลหน้าท้อง จะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาล 2-3 วัน ส่วนการผ่าตัดผ่านกล้องทางหน้าท้องใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้
แต่บางกรณีที่มีอาการบางอย่าง แพทย์อาจให้พักฟื้นรอดูอาการ 1-2 วัน ซึ่งหากไม่มีอาการผิดปกติก็สามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการดูแลตนเองและการทำความสะอาดแผลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดเพื่อให้การฟื้นฟูร่างกายที่รวดเร็วขึ้น
แก้หมันหญิงแล้วตั้งครรภ์ได้ไหม?
ภายหลังการแก้หมันหญิงแล้ว โอกาสตั้งครรภ์อาจเกิดขึ้นในปีแรกหลังจากการแก้หมัน และจะมีสัดส่วนความสำเร็จอยู่ระหว่าง 15-90% โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการกลับมาตั้งครรภ์ ได้แก่
- อายุของผู้หญิงที่แก้หมัน หากมากกว่า 40 ปีขึ้นไป โอกาสตั้งครรภ์จะน้อย
- ความสมบูรณ์ของระบบเจริญพันธุ์
- ระยะเวลาการแก้หมัน ยิ่งทำหมันมานานโอกาสตั้งครรภ์จะน้อยลง เช่น แก้หมันหลังทำหมันภายใน 5 ปี โอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 74% หากแก้หมันหลังทำหมันภายใน 6–10 ปี โอกาสตั้งครรภ์เหลือเพียง 63% เป็นต้น
- วิธีการทำหมัน เช่น หากใช้กล้องส่องยิงแล้วใช้แถบหนังยางหรือคลิปรัดท่อมดลูก ท่อนำไข่จะไม่เสียหายมากนัก เมื่อแก้หมันจึงมีโอกาสตั้งครรภ์สูงกว่าการตัดท่อนำไข่ออกไป หรือวิธีตัดส่วนปลายที่รับไข่ หรือการใช้ไฟฟ้าจี้ทำลายท่อมดลูกเป็นวงกว้าง เมื่อแก้หมันโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้น้อย
- ความสมบูรณ์ของท่อนำไข่หลังการต่อหมัน เช่น กรณีมีการอักเสบของปีกมดลูกบ่อยๆ หรือท่อนำไข่ไม่สมบูรณ์ แม้ต่อหมันแล้วโอกาสตั้งครรภ์ก็มีน้อย
- สุขภาพทั่วไปของผู้แก้หมัน หากมีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด ภูมิแพ้
- ปัจจัยจากฝ่ายชาย เช่น ความแข็งแรงของน้ำอสุจิ และสุขภาพของฝ่ายชาย
เมื่อตัดสินใจแก้หมันหญิง ซึ่งปัจจุบันกระบวนการและวิธีการไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก แต่ขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การพูดคุย ปรึกษา และรับฟังการประเมินจากแพทย์เกี่ยวกับอัตราการสำเร็จของการแก้หมัน และโอกาสในการตั้งครรภ์หลังจากการแก้หมัน เพราะจะทำให้คู่สามีภรรยามีความเข้าใจและสามารถยอมรับผลลัพธ์ที่จะตามมาได้เป็นอย่างดี