ผ่าตัดไทรอยด์ ทางเลือกการรักษาเมื่อต่อมไร้ท่อสำคัญของร่างกายเกิดปัญหา

ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) เป็นอีกต่อมไร้ท่อที่สำคัญต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพราะทั้งช่วยสร้างฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นระบบเผาผลาญ ควบคุมการสร้างพลังงานให้กับร่างกาย เร่งกระบวนการหายใจ การหลั่งเหงื่อ และยังช่วยเสริมระบบเมตาบอลิซึมของร่างกาย โดยประจำตำแหน่งอยู่ที่กลางลำคอของเราทุกคน

แต่ขณะเดียวกัน ต่อมไทรอยด์มักเกิดภาวะและความผิดปกติได้อยู่หลายอย่าง เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ โรคต่อมไทรอยด์อักเสบ โรคคอพอก ซึ่งหากตรวจพบรอยโรคแล้ว แพทย์ก็จะมีการวางแผนการรักษาให้เหมาะกับพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ต่อไป ซึ่งหากความผิดปกติยังไม่ถึงระดับรุนแรง ก็มักจะเริ่มต้นการรักษาด้วยการกินยาก่อน

แต่หากการรักษาด้วยวิธีกินยานั้นไม่ช่วยให้อาการผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์ดีขึ้น หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีความเสียหายรุนแรงขึ้นกว่าเดิม แพทย์ก็อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยวิธี “ผ่าตัดต่อมไทรอยด์” แทน

ผ่าตัดต่อมไทรอยด์คืออะไร?

การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (Thyroidectomy) คือ การรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับต่อมไทรอยด์ ผ่านกระบวนการผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์นิยมเลือกใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยใช้วิธีรักษาด้วยการกินยา หรือกินแร่รักษาต่อมไทรอยด์แล้ว แต่ยังอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการของโรครุนแรงกว่าเดิม

ผ่าตัดไทรอยด์มีกี่แบบ?

เทคนิคการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันแบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. การผ่าตัดไทรอยด์แบบแผลเปิด เป็นการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยแพทย์จะกรีดเปิดแผลบริเวณกลางลำคอของผู้ป่วย แล้วนำเครื่องมือเข้าไปทำการรักษาหรือตัดก้อนเนื้อร้ายที่ต่อมไทรอยด์ออกมา
  2. การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดรูปแบบใหม่ที่ใช้กล้องผ่าตัดขนาดเล็กเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวช่วยการผ่าตัดด้วย มีจุดเด่นตรงที่แพทย์ไม่จำเป็นต้องกรีดเปิดแผลที่ผิวหนังด้านนอกเสมอไป แต่สามารถเลือกกรีดเปิดแผลตรงบริเวณอื่นที่ทำให้แผลผ่าตัดแนบเนียน หรือซ่อนตัวจากสายตาภายนอกได้ดีกว่า เช่น ภายในช่องปาก ทางหลังหู

ใครอาจต้องผ่าตัดไทรอยด์?

กลุ่มผู้ป่วยเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่มีโอกาสจะต้องเลือกใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด ได้แก่

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid cancer)
  • ผู้ป่วยที่พบก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (Thyroid nodules)
  • ผู้ป่วยโรคคอพอก (Goiter)
  • ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
  • ผู้ป่วยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroid)

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรรับการผ่าตัดหรือไม่ หรือว่าผ่าตัดวิธีไหน เพราะอาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น อายุของผู้ผ่าตัด และโรคประจำตัว

ผ่าตัดไทรอยด์อันตรายไหม?

ปัจจุบันการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ได้มีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีการผ่าตัดใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้การผ่าตัดแม่นยำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดต่อมไทรอยด์จึงจัดว่าเป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างปลอดภัย และมักมีแผลเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเก่าๆ ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนี้ก็ยังมีความเสี่ยงบางประการ เนื่องด้วยท่อมไทรอยด์ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับกล่องเสียงและต่อมพาราไทรอยด์ หากแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดไม่มีความแม่นยำหรือเกิดข้อผิดพลาดในการผ่าตัด ก็อาจไปกระทบต่อส่วนสำคัญของร่างกายที่มีผลต่อการออกเสียงและการดูดซึมแคลเซียมของร่างกายได้

ผ่าตัดไทรอยด์แล้วมีแผลเป็นไหม?

หากเลือกใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้อง ผู้ป่วยจะไม่มีแผลเป็นจากการผ่าตัดที่เห็นได้จากภายนอกแต่อย่างใด โดยส่วนมากแผลผ่าตัดจะอยู่ภายในช่องปาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่แพทย์จะเลือกกรีดแผลในผู้ป่วยแต่ละท่าน

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีพยาธิสภาพของโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ที่รุนแรงมาก หรือตรวจพบก้อนเนื้อ ก้อนมะเร็งที่มีขนาดใหญ่ การผ่าตัดแบบส่องกล้องอาจไม่ตอบโจทย์การรักษา และต้องใช้การผ่าตัดแบบแผลเปิดแทน ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ป่วยจะมีแผลเป็นจากการผ่าตัดที่บริเวณกึ่งกลางลำคอ

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไทรอยด์

หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าควรใช้การผ่าตัดไทรอยด์ในการรักษา แพทย์จะแนะนำการเตรียมตัวก่อนถึงวันนัดผ่าตัด ซึ่งแต่ละคนอาจมีคำแนะนำในการเตรียมตัวต่างกันออกไป แต่โดยหลักๆ แล้วอาจมีดังนี้

  • ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะต้องแจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ยาประจำตัวที่กินอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมถึงวิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิด เพราะอาจต้องมีการงดยาล่วงหน้าก่อนผ่าตัด
  • ผู้ป่วยต้องรับการตรวจสุขภาพเพื่อเช็กความพร้อมของร่างกายก่อนผ่าตัด แพทย์จะเป็นผู้ระบุรายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นให้แก่ผู้ป่วยเอง เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจเอกซเรย์ปอด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจปัสสาวะ
  • งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • พาญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เนื่องจากการผ่าตัดจะต้องมีการดมยาสลบ ซึ่งเมื่อผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาอาจมีอาการมึนเบลอ หรือเวียนศีรษะจากยาสลบได้
  • ทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดเสียก่อน โดยเฉพาะส่วนลำคอและใบหน้าซึ่งเป็นบริเวณที่แพทย์จะผ่าตัด
  • ต้องถอดฟันปลอม คอนแทกต์เลนส์ ของมีค่าทุกชนิดเอาไว้ก่อนเข้าห้องผ่าตัด เพื่อป้องกันการสูญหายควรฝากญาติเอาไว้

ขั้นตอนการผ่าตัดไทรอยด์

กระบวนการผ่าตัดไทรอยด์จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย โดยส่วนมากขั้นตอนการผ่าตัด อาจมีดังนี้

  1. เริ่มต้นจากให้ยาสลบกับผู้เข้ารับการผ่าตัด
  2. จากนั้นแพทย์จะกรีดเปิดแผลยังตำแหน่งที่กำหนด หากเป็นการผ่าตัดแบบแผลเปิด จะกรีดแผลที่ลำคอ แต่หากเป็นผ่าตัดส่องกล้อง แพทย์จะกรีดเปิดแผลภายในช่องปาก หรือตามตำแหน่งที่แพทย์เห็นว่าเหมาะสม
  3. หลังจากนั้นแพทย์จะเริ่มทำการผ่าตัดและรักษาความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์
  4. หลังจากนั้นเย็บปิดแผล แล้วพาผู้ป่วยไปนอนพักฟื้นต่อยังห้องพักฟื้น

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไทรอยด์

เพื่อให้ผลลัพธ์การผ่าตัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดโอกาสเสี่ยงจากอาการแทรกซ้อนต่างๆ จึงต้องมีการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ดังนี้

  • แพทย์อาจต่อท่อระบายจากบริเวณแผลเพื่อลดโอกาสเลือดคั่งบริเวณแผลผ่าตัด แต่หลังจากประเมินว่า ผู้ป่วยสามารถกินยาและกินอาหารได้มากขึ้น มีสารเหลวไหลออกมาจากแผลได้น้อยลง แพทย์จะนำท่อระบายออกให้
  • กินยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวด ยาละลายเสมหะที่แพทย์สั่งจ่ายให้หมด
  • งดการขากเสมหะแรงๆ ในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
  • งดการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก การกีฬา การออกกำลังกายหนักๆ การยกของหนักในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
  • กินอาหารเหลวและไม่เผ็ด เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม ในช่วง 1 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด
  • เดินทางมาตรวจแผล พังผลการตรวจชิ้นเนื้อ หรือผลลัพธ์จากการผ่าตัดเพิ่มเติมกับแพทย์ตามนัดหมาย

ผ่าตัดไทรอยด์พักฟื้นกี่วัน?

การพักฟื้นหลังจากผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักกินระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยหลังจากผ่าตัดเสร็จสิ้น ผู้ป่วยจะนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 3 วัน หากไม่มีอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายก็จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านได้

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดไทรอยด์

ผู้ป่วยอาจรู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ในลำคอ ร่วมกับรู้สึกว่าเสียงตัวเองเปลี่ยนไป แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด

โดยสรุปแล้ว ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่สำคัญมากต่อร่างกายของเราทุกคน ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย โดยเฉพาะด้านของภาพลักษณ์ หากขาดต่อมไทรอยด์ไปแล้ว ร่างกายของเราก็จะทรุดโทรมลงหลายด้าน เช่น ผมร่วง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ขนคิ้วบางลง เป็นตะคริวง่าย

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่อาจรู้ได้ว่า ต่อมไทรอยด์ของตนเองยังคงทำงานปกติดีหรือไม่ นอกเสียจากการเดินทางไปตรวจสุขภาพกับแพทย์อยู่เป็นประจำ ซึ่งจะทำให้เราได้ตรวจเช็กประสิทธิภาพการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้


เช็กราคาตรวจไทรอยด์ และผ่าตัดไทรอยด์ 


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top