มีสภาวะและโรคหลายชนิดที่เป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน เช่น การติดเชื้อ เป็นโรคไต เป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเลือดบางชนิด ซึ่งเลือดที่ปนมาในปัสสาวะอาจมีปริมาณมากจนเห็นได้ชัดเจน หรือมีปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า สามารถอธิบายได้ดังนี้
- ปัสสาวะมีเลือดปนที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (Gross Hematuria) : ถ้ามีเลือดปนในปัสสาวะปริมาณมากเพียงพอ จะสังเกตเห็นสีปัสสาวะเป็นสีชมพู หรือสีแดง หรือมองเห็นเป็นจุดเลือด
- ปัสสาวะมีเลือดปนที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (Microscopic Hematuria) : ถ้าปริมาณเลือดที่ปนมาในปัสสาวะมีปริมาณน้อย ทำให้ไม่สามารถสังเกตเห็นสีเลือดในปัสสาวะได้ ต้องนำปัสสาวะไปตรวจในห้องปฏิบัติการ หรือส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะตรวจพบ
การพบเลือดในปัสสาวะเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หากพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการของโรคร้ายแรงนั้นแย่ลงได้
สารบัญ
สาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน
บางครั้งอาจพบว่าเลือดที่ปนมากับปัสสาวะ มาจากเลือดในช่องคลอดของเพศหญิง การหลั่งน้ำอสุจิในเพศชาย หรือมาจากการเคลื่อนไหวของลำไส้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ถ้าตรวจสอบแล้วว่าไม่ได้เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ ก็อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การติดเชื้อ : เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปนที่พบได้บ่อย อาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดๆ ของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรือไต ผู้ป่วยจะมีอาการปวด และต้องการปัสสาวะบ่อยครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะปัสสาวะมีเลือดปนได้ทั้งที่มองเห็นได้ หรือมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า
- นิ่ว (Stones) : นิ่วคือผลึกของแข็งที่ก่อตัวขึ้นจากแร่ธาตุในน้ำปัสสาวะ เกิดขึ้นที่ไตหรือในกระเพาะปัสสาวะก็ได้ ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่จะทำให้เกิดการอุดตันของระบบปัสสาวะ และเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะปนเลือด ซึ่งอาจทำให้มีอาการปวดมาก
- ต่อมลูกหมากโต (Enlarged Prostate) : มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนจนถึงวัยสูงอายุ ต่อมลูกหมากเป็นต่อมที่อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะ เมื่อต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้เกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะออกไม่หมด จนทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- โรคไต (Kidney disease) : การป่วยเป็นโรคไตหรือมีการอักเสบที่ไตทำให้เกิดอาการปัสสาวะมีเลือดปนได้ ในเด็กอายุ 6-10 ปี โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส (Post-Streptococcal Glomerulonephritis) อาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะมีเลือดปน
- มะเร็ง (Cancer) : มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งที่ไต มะเร็งต่อมลูกหมาก อาจทำให้เกิดอาการปัสสาวะปนเลือด แต่จะพบได้เมื่อโรคมะเร็งมีการลุกลามแล้ว (Advanced Cancer)
- การใช้ยาบางชนิด : ยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการปัสสาวะมีเลือดปนได้ ได้แก่
- Penicillin
- Aspirin
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Heparin และ Warfarin
- Cyclophosphamide ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาโรคมะเร็งบางชนิด
- สาเหตุอื่นๆ : ยังมีสาเหตุอื่นๆ ของอาการปัสสาวะมีเลือดปน แต่พบได้น้อย ได้แก่
- โรคเลือด เช่น โรคโลหิตจางชนิดเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Anemia), กลุ่มอาการอัลพอร์ต (Alport Syndrome) โรคความผิดปกติที่มีความเสียหายที่หลอดเลือดฝอยในไต และภาวะฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)
- การออกกำลังกายอย่างหักโหม
- การกระแทกที่ไต
การวินิจฉัยอาการปัสสาวะมีเลือดปน
แพทย์จะทำการสอบถามอาการเบื้องต้น ได้แก่ ปริมาณเลือดที่มองเห็นในปัสสาวะ เริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อไร จำนวนครั้งของการปัสสาวะต่อวัน มีอาการปวดร่วมด้วยหรือไม่ มีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้นหรือไม่ และใช้ยาอะไรอยู่ในขณะนี้
จากนั้น แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและให้ผู้เข้ารับการตรวจเก็บปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันว่าพบเลือดในปัสสาวะ และพบแบคทีเรียในกรณีที่มีการติดเชื้อหรือไม่ ในบางกรณีแพทย์อาจให้ตรวจซีทีสแกน (CT scan) หรือใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ อาจมีการตรวจชิ้นเนื้อไต (Kidney Biopsy) ซึ่งเป็นการเจาะตรวจชิ้นเนื้อเยื่อในไตโดยห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยการวินิจฉัยปัสสาวะเป็นเลือดที่มีสาเหตุมาจากโรคไต
การรักษาปัสสาวะเป็นเลือด
เนื่องจากไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะเจาะจงสำหรับอาการปัสสาวะเป็นเลือด แพทย์จึงมุ่งเน้นการรักษาตามสาเหตุของโรคตัวอย่างเช่น ให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ให้ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต หรือทำลายนิ่วในไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะด้วยคลื่นกระแทก (Shock Wave Therapy) ผ่าตัดหรือฉายแสงในกรณีที่เป็นจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
การป้องกันอาการปัสสาวะมีเลือดปน
การป้องกันอาการปัสสาวะเป็นเลือด ทำได้โดยการดูแลตัวเองด้วยวิธีการ ดังนี้
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์เสร็จให้ไปทำความสะอาดและปัสสาวะทันที รวมถึงควรรักษาสุขอนามัยให้ดีเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอตลอดทั้งวัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีเกลือมากเกินไป รวมถึงอาหารบางชนิด เช่น ผักโขม และผักรูบาร์บ (Rhubarb) เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ จำกัดการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เพื่อป้องกันมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ