ขูดหินปูน ราคาเท่าไหร่? ใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่?

แผ่นคราบแบคทีเรีย (Plaque) ที่เกาะตามฟัน โคนฟัน หรือซอกฟัน เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำลายในช่องปากจะทำให้เกิดการจับตัวสะสมกันเป็น “หินน้ำลาย” หรือ “คราบหินปูน (Tartar)”  เป็นคราบแข็งติดกับเนื้อฟัน เป็นสาเหตุของโรคเหงือกและโรคปริทันต์

ขั้นตอนการขูดหินปูน

หินน้ำลาย หรือคราบหินปูน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถขจัดออกด้วยการแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน หรือบ้วนน้ำยาบ้วนปาก แถมยังสามารถสะสมเพิ่มความหนาได้ตลอดเวลา แม้จะไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ทันตแพทย์จึงมีคำแนะนำให้ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน ปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน ที่คลินิกทันตกรรม หรือแผนกทันตกรรมในโรงพยาบาล

เช่นเดียวกับควรเข้ารับการขูดหินปูนทุก 6 เดือน หรือปีละ 2 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในช่องปาก

เมื่อทันตแพทย์ตรวจพบคราบหินปูนตามเนื้อฟันและซอกฟันทั่วทั้งช่องปาก ทันตแพทย์จะเริ่มขูดหินปูนตามขั้นตอนต่อไปนี้

  • ใช้เครื่องขูดหินน้ำลายไฟฟ้าขูดคราบหินปูน (Dental Scaling) ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บ เสียวฟัน และมีเลือดออกอยู่บ้าง
  • จากนั้นทันตแพทย์จะใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนแบบด้ามจับขูดคราบหินปูนที่ติดอยู่ตามซอกฟัน เหนือเหงือก ใต้เหงือก หรือบริเวณที่อุปกรณ์ชิ้นใหญ่เข้าไม่ถึงได้อีกครั้งจนกว่าจะหมด
  • ทันตแพทย์จะขูดทำความสะอาดบนตัวฟันและรากฟันส่วนบนที่มีหินปูน เพื่อไม่ให้มีเชื้อโรคสะสม
  • จากนั้นอาจใช้หัวขัด ขัดฟันเพิ่ม เพื่อกำจัดคราบหินปูนออกไปให้หมดจดจากเนื้อฟัน เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการขูดหินปูน

ระยะเวลาในการขูดหินปูนจะขึ้นอยู่กับปริมาณสะสมของคราบหินปูน โดยปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง โดยทั่วไปการขูดหินปูนจะไม่ใช้ยาชา แต่หากผู้ป่วยรู้สึกเสียวฟันมาก เจ็บปวดเหงือกมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาฉีดยาชาให้

ภายหลังจากการขูดหินปูนอาจรู้สึกเจ็บ หรือเสียวฟัน และอาจมีเลือดซึมบริเวณเหงือกประมาณได้เล็กน้อย ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปเอง

ใครที่ต้องเฝ้าระวังก่อนขูดหินปูน

  • ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคตับ และโรคที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ควรขูดหินปูนภายใต้การดูแลร่วมกันของทันตแพทย์และแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขูดหินปูนได้
  • ผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจไม่ควรขูดหินปูนด้วยเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้าชนิด Magnetostrictive Ultrasonic เพราะการขูดหินปูนด้วยเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้าชนิด Magnetostrictive Ultrasonic จะรบกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ จนอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้ ทันตแพทย์จะต้องทำการขูดด้วยเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้าชนิด Piezoelectric เท่านั้นจึงจะปลอดภัย หรือถ้าไม่มี ต้องขูดด้วยมือแทน

ดังนั้นผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการรักษาทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย

การใช้สิทธิประกันสังคมเพื่อขูดหินปูนมีขั้นตอนอย่างไร

ผู้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมในการขูดหินปูน จะต้องเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 และจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างน้อย 3 เดือน (หากลาออกจะยังคุ้มครองต่ออีก 6 เดือน)

การใช้สิทธิจะเริ่มจากการเช็คสถานบริการที่เข้าร่วมบริการ หรือสถานบริการเครือข่าย (สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานบริการได้ที่สำนักงานประกันสังคม) เมื่อตรวจสอบแล้วสามารถเข้าใช้บริการทางทันตกรรมได้เลย

ไม่ว่าจะเป็นขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน รวมทั้งผ่าฟันคุด ในวงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนและต่อปี โดยไม่จำเป็นต้องสำรองจ่าย

อย่างไรก็ตาม หากใช้บริการทันตกรรมในสถานบริการที่ไม่ใช่เครือข่ายที่เข้าร่วมให้ขอใบเสร็จรับเงินและใบรับรองแพทย์ รวมทั้งต้องมีใบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-16)

จากนั้นให้นำใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ สำเนาบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร มายื่นขอคืนเงินได้ที่สำนักงานประกันสังคมของแต่ละจังหวัดได้ภายใน 2 ปี

โดยธนาคารที่สามารถยื่นขอรับได้คือ

  • ธ.กรุงไทย
  • ธ.กรุงศรีอยุธยา
  • ธ.กรุงเทพ
  • ธ.กสิกรไทย
  • ธ.ไทยพาณิชย์
  • ธ.ทหารไทย
  • ธ.ธนชาติ
  • ธ.อิสลาม
  • ธ.ซีเอ็มบีไทย
  • ธ.ออมสิน
  • ธ.เกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ก่อนเข้าใช้บริการขูดหินปูนด้วยสิทธิประกันสังคม ควรตรวจสอบสิทธิก่อนทุกครั้งว่า สามารถใช้สิทธิได้หรือไม่ หากมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการขูดหินปูน เช่น มีโรคประจำตัว ใช้ยาบางชนิดอยู่ ควรสอบถามกับทันตแพทย์ก่อนว่า จะสามารถขูดหินปูนได้หรือไม่

หากยังไม่สามารถขูดหินปูนได้ในตอนนั้น ทันตแพทย์จะแนะนำวิธีดูแลช่องปากอย่างไรบ้าง เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

Scroll to Top