ผักขึ้นฉ่าย (Root Celery) เป็นผักและสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม นิยมใช้ในการปรุงอาหาร มีอยู่ 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์แรกคือ ขึ้นฉ่ายฝรั่ง ลักษณะต้นจะอวบใหญ่มาก ลำต้นมีความสูงประมาณ 40-60 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม และอีกสายพันธุ์คือ ขึ้นฉ่ายจีน จะมีขนาดของลำต้นที่เล็กกว่า มีความสูงประมาณ 30 เซนติเมตร สีใบจะอ่อนกว่าขึ้นฉ่ายฝรั่ง
หมายเหตุ : ในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับตั้งโอ๋ ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Chrysanthemum coronariu ซึ่งหลายคนมักสับสนว่าขึ้นฉ่ายกับตั้งโอ๋คือพืชชนิดเดียวกัน
สารบัญ
คุณค่าทางโภชนาการของผักขึ้นฉ่าย
ขึ้นฉ่ายน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 67 กิโลแคลลอรี่
- คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
- น้ำตาล 1.4 กรัม
- เส้นใย 1.6 กรัม
- ไขมัน 0.2 กรัม
- โปรตีน 0.7 กรัม
- น้ำ 95 กรัม
- วิตามินเอ 22 ไมโครกรัม 3%
- วิตามินบี 1 0.021 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 2 0.057 มิลลิกรัม 5%
- วิตามินบี 3 0.323 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินบี 6 0.074 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 9 36 ไมโครกรัม 9%
- วิตามินซี 3 มิลลิกรัม 4%
- วิตามินอี 0.27 มิลลิกรัม 2%
- วิตามินเค 29.3 ไมโครกรัม 28%
- ธาตุแคลเซียม 40 มิลลิกรัม 4%
- ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุแมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุฟอสฟอรัส 24 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุโพแทสเซียม 260 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุโซเดียม 80 มิลลิกรัม 5%
- ธาตุสังกะสี 0.13 มิลลิกรัม 1%
เปอร์เซ็นต์ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
สรรพคุณของผักขึ้นฉ่าย
ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
- ใช้ทั้งต้น ซึ่งมีรสขมเย็น ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และกระเพาะปัสสาวะ ใช้เป็นขับปัสสาวะ เจริญอาหาร ห้ามเลือด ทำให้เลือดเย็น ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้จากตับ ใช้เป็นยากล่อมตับ (ยาบำรุงตับ) แก้ปวดศีรษะ
- เมล็ด ใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดตามข้อ แก้ข้ออักเสบ
ผักขึ้นฉ่ายช่วยลดความดัน ลดน้ำตาล และลดไขมันได้จริงหรือไม่ ?
ผักขึ้นฉ่าย จัดเป็นสมุนไพรที่มีรายงานวิจัยทางคลินิกรองรับว่าสามารถลดความดันโลหิตและลดระดับน้ำตาลในเลือดได้จริง ทั้งนี้การใช้ผักขึ้นฉ่ายในการรักษาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน จะใช้เพื่อบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรงและเป็นเพียงตัวยาเสริมการรักษามาตรฐานเท่านั้น เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ส่วนฤทธิ์ลดไขมันของผักขึ้นฉ่าย พบเฉพาะงานวิจัยในระดับสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงต้องมีการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันของผักขึ้นฉ่ายในระดับคลินิกอีกต่อไป
แนวทางการใช้ผักขึ้นฉ่ายในการรักษา
- กรณีใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ใช้ต้นสดล้างน้ำให้สะอาด นำมาคั้นน้ำผสมกับน้ำผึ้ง รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 50-100 CC หรือใช้ขึ้นฉ่ายสดทั้งต้น ล้างให้สะอาด นำมาตำแล้วต้มกับพุทราจีน 10 ลูก รับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อ 2 สัปดาห์
- กรณีขับปัสสาวะ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ให้ใช้รากขึ้นฉ่ายสด 50 กรัม นำมาตำแล้วต้มกับน้ำ 500 CC ต้มเคี่ยวจนเหลือ 200 CC รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์
- กรณีรับประทานเพื่อช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ให้ใช้ผักขึ้นฉ่ายมาปรุงอาหาร
- กรณีใช้เป็นยาขับลมและแก้ปวดข้อ ให้นำเมล็ดของผักขึ้นฉ่ายมาต้มในน้ำเดือด ดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร
การปรุงอาหาร
ผักขึ้นฉ่าย ช่วยเพิ่มรสชาติ และดับกลิ่นคาวอาหาร และช่วยเพิ่มความหอมของน้ำซุป เพราะในขึ้นฉ่ายมีสารจำพวกน้ำมันหอมระเหย ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดกลิ่นหอมเฉพาะตัว ผักขึ้นฉ่ายสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เมนูผักขึ้นฉ่าย เช่น ปลาผัดขึ้นฉ่าย ปลากะพงผัดขึ้นฉ่าย ปลาทับทิมผัดขึ้นฉ่าย ปลานิลผัดขึ้นฉ่าย ขึ้นฉ่ายยำวุ้นเส้น ผัดเต้าหู้ขึ้นฉ่าย กะเพราหมูผัดขึ้นฉ่าย เป็นต้น
ข้อห้ามและข้อควรระวังของผักขึ้นฉ่าย
- การรับประทานผักขึ้นฉ่ายในปริมาณมากเกินไป ในเพศชายอาจจะทำให้เป็นหมันได้ และจะทำให้อสุจิลดลงถึง 50% แต่ถ้าหากหยุดรับประทานแล้ว จำนวนของเชื้ออสุจิจะกลับสู่ระดับปกติ
- การใช้ขึ้นฉ่ายประกอบอาหาร ไม่ควรผัดหรือต้มผักขึ้นฉ่ายให้สุกนานเกินไป เพราะความร้อนจะไปทำลายวิตามินและเกลือแร่ที่มีอยู่ให้หมดไป